SHARE

คัดลอกแล้ว

ไม่ว่าจะเจอกับวิกฤตโรคระบาดหรือสงคราม ต้องยอมรับว่าปัญหาที่ประเทศไทยเราไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คือ การขาดแคลนอาหาร ซึ่งตามรายงานจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งสำคัญในการเพาะปลูกและผลิตอาหารออกมาได้หลายชนิด จึงทำให้ความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์สูง และนั่นก็ทำให้เรามี ‘ภาคการเกษตร’ ที่เป็นจุดแข็งสำคัญ

แต่ถึงอย่างนั้น เกษตรกรไทยที่มีอยู่กว่า 15 ล้านคน กลับเป็นกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยแค่ 6,000 บาท/เดือน และเมื่อเราพูดถึงอาชีพเกษตรกร หลายๆ คนก็นึกถึงความเหลื่อมล้ำและความยากจน

โดยเกษตรกรไทยต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เงินทุน ปัญหาดินฟ้าอากาศแปรปรวนทำให้การเพาะปลูกไม่เป็นไปตามแผน อีกทั้งการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกทางการเกษตร รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ก็ยังไม่ทั่วถึง

นั่นทำให้ ‘เอิร์น-อุกฤษ อุณหเลขกะ’ อดีตวิศวกรคอมพิวเตอร์ในซิลิคอนวัลเลย์ นำความรู้ที่ร่ำเรียนจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) มาก่อตั้งสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง Ricult บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีใช้งานง่ายเพื่อเกษตรกรไทย จนเป็นหนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกร

แล้ว Ricult ช่วยเกษตรกรไทยได้อย่างไร? รวมทั้งโจทย์ที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ ‘เกษตรกรไทย’ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ กล้าเปิดใจและทดลองใช้เทคโนโลยี ซึ่งน่าทึ่งว่าหลังก่อตั้งมาได้ 4 ปี มีชาวนาชาวไร่ใช้งานแอปพลิเคชั่นของ Ricult เพื่อวางแผนการทำการเกษตรแล้วกว่า 6 แสนคน

รายการ TOMORROW โดย TODAY Bizview พูดคุยกับ ‘อุกฤษ’ พร้อมกระเทาะแก่นปัญหาว่าการพัฒนาภาคการเกษตรไทยยังติดกับดักอยู่ตรงไหน และภาครัฐควรแก้ไขอย่างไรบ้าง? 

[ แรงผลักดันสำคัญคือความเหลื่อมล้ำในสังคม ]

อุกฤษเริ่มต้นเล่าถึงชีวิตของเขาว่าเป็นคนกรุงเทพฯ ครอบครัวทำธุรกิจอสังหาฯ และมีที่ดินในต่างจังหวัดอยู่บ้าง และคุณพ่อของเขาชอบปลูกต้นไม้ทำสวน โดยเฉพาะทุเรียน

ทำให้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณพ่อมักจะพาเขาไปที่สวนทุเรียน นั่นทำให้เขาเข้าใจขั้นตอนการทำการ รวมไปถึงการได้ใกล้ชิดและมีเพื่อนเป็นลูกหลานเกษตรกรที่อยู่รอบๆ สวนของคุณพ่อด้วย

ความที่ครอบครัวของอุกฤษทำธุรกิจ ทำให้ทางบ้านพอจะมีกำลังทรัพย์ส่งเขาเรียนโรงเรียนนานาชาติ ไปจนถึงเรียนต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่เขาเริ่มวางแผนเรียนต่อมหาวิทยาลัย เขาได้ถามเพื่อนๆ ที่เป็นลูกหลานเกษตรกรว่า พวกเขาจะไปเรียนที่ไหน หรือจะทำอะไรต่อ 

แต่ลูกหลานเกษตรกรกลับบอกว่าพวกเขามองไม่เห็นหนทางในอนาคตว่าควรจะไปอย่างไรดี นั่นทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ค่อนข้างสูง ระหว่างคนที่มีโอกาส กับคนที่ไม่ได้มีโอกาสหรือไม่ได้มีกำลังทรัพย์เยอะแบบลูกหลานเกษตรกร

ความรู้สึกและคำถามเหล่านั้นฝังอยู่ในจิตใจ แต่ช่วงที่อุกฤษเรียนปริญญาตรีด้านวิศวะคอมฯ เขายังไม่ได้คิดถึง Ricult หรืออยากทำธุรกิจอะไร คิดเพียงแต่จะออกไปหางาน หรือไปเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ตามที่เด็กวิศวกรใฝ่ฝันกัน และหารายได้ก่อนเพื่อจะเข้าใจการทำธุรกิจ

เขาไปเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ซิลิคอนวัลเลย์อยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นผันตัวเองเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ แม้รายได้จะดีมาก แต่ก็ยังไม่ค่อยตอบความต้องการในชีวิตสักเท่าไหร่

อุกฤษได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำพูดหนึ่งของ Steve Jobs ว่า “You can’t connect the dots looking forward. You can only connect them looking backwards.”

“ผมก็เริ่ม connect the dots ไปเรื่อยๆ ว่า ประสบการณ์ที่เราโตขึ้นมาจากสิ่งที่เราชอบ มีอะไรที่เราอยากทำเป็นงานของเรา ที่เราสามารถตื่นมาแล้วเราชอบทำ โดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์ ถ้าเป็นอะไรที่แทนที่จะนอนอยู่บ้านเล่นเกม เราสามารถคิดถึงมันได้ ทำมันได้ แปลว่าผมชอบแล้ว” 

อุกฤษค้นพบว่าเขาอยากสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อมาเปลี่ยนแปลงสังคม โดยพยายามหาไอเดียทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรและอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสและความหวังให้ลูกหลานเกษตรกรไทย

เมื่อ connect the dots จนพบสิ่งที่ตัวเองต้องการ อุกฤษเลยเรียนต่อปริญญาโท เพื่อเป็นบันไดให้ก้าวเข้าสู่ ‘การทำสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม’ เขาเขียนในใบสมัครเข้าที่ MIT ว่า อยากเรียนที่นี่เพราะเป็นมหาลัยเบอร์ 1 ของโลกด้านเทคโนโลยี และอยากจะนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปช่วยเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรของไทยที่เป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ 

และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ Ricult

[ แอปพลิเคชันใช้ง่าย พัฒนามาเพื่อเกษตรกร ]

Ricult มีความตั้งใจในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปช่วยเหลือชีวิตของเกษตรกร โดยรวบรวมข้อมูลที่สำคัญในการเพาะปลูกการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศปัจจุบัน, พยากรณ์อากาศล่วงหน้าสูงสุดได้ถึง 9 เดือน, แผนที่เมฆฝน, ภาพถ่ายดาวเทียมรายแปลง, การวัดแปลง, ราคาพืชผล รวมถึงระบบโพสต์ถาม-ตอบ

นอกจากนี้ยังนำข้อมูลของเกษตรกรที่ลงทะเบียนใช้ในแอปมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง จนสามารถบอกเกษตรกรได้ว่าควรจะปลูกอะไรที่เหมาะสมที่สุดในพื้นดินของเขา ควรลงเมล็ดวันไหน ใส่ปุ๋ยอะไร เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ พร้อมแจ้งเตือนการเกิดศัตรูพืช การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การตรวจวิเคราะห์ดิน ธาตุอาหาร และยากำจัดศัตรูพืชได้อย่างแม่นยำ

โดยตัวแอปมีการออกแบบ UX/UI ที่เหมาะกับเกษตรกรไทยที่เป็นผู้สูงอายุ มีสีสด ตัวอักษรชัดเจน และง่ายต่อการใช้งาน

แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่โจทย์ที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ ‘เกษตรกรไทย’ ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ กล้าเปิดใจและทดลองใช้เทคโนโลยี

อุกฤษบอกว่า คนเรามักจะลองอะไรใหม่ๆ เมื่อรู้สึกว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อตนเอง ดังนั้น สินค้าและบริการจะต้องมี 1 ใน 3 คุณสมบัติเหล่านี้ คือ

1) Faster – รวดเร็วกว่า หมายถึง สินค้าและบริการนั้นจะต้องทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้รวดเร็วกว่าเดิม อย่างเช่น การเดินทาง ถึงแม้การนั่งมอเตอร์ไซค์จะมีความเสี่ยงที่สูง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แต่คนก็ยอมนั่งมอเตอร์ไซค์เมื่อรถติดอยู่ดี เพราะมันรวดเร็วกว่าการเดินทางรูปแบบอื่นๆ

2) Better – ดีกว่า หมายถึง สิ่งที่ดีกว่าของเดิม อย่างเช่น หลายๆ คนยอมเสียเงิน 200 บาท เพื่อกินผัดไทยระดับมิชลิน แทนที่จะกินผัดไทข้างทาง 50 บาท เพราะผัดไทยที่แพงกว่าทำให้รู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับค่าอาหารที่พวกเขายอมเสียไป

3) Cheaper – ถูกกว่า ประหยัดกว่า หมายถึง คนสิ่งของเหมือนกัน คนเราก็อยากจะหาของที่มันถูกกว่ามาใช้แทน 

“เราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการที่เกษตรกรมาใช้แอป Ricult จะตอบโจทย์ Faster, Better, Cheaper ให้กับเขาได้ ซึ่งในมุมมองของเรา เราเชื่อว่าแอป Ricult จะช่วยเขา make better decision ในการทำเกษตร แล้วก็ทำเกษตรให้ cheaper ก็คือทำให้ต้นทุนเขาถูกลง อันนี้คือจุดขายของเรา”

อุกฤษพบว่า วิธีลดต้นทุนคือการช่วยเกษตรกรในการหาปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ หรืออุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ในราคาที่ถูกลง บริษัทเลยหาพาร์ทเนอร์ หรือซัพพลายเออร์ต่างๆ มาเข้าร่วมแพลตฟอร์ม ทำให้เกษตรกรสามารถซื้อผ่าน Ricult ได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด 

นอกจากนี้ ยังจับมือกับสถาบันการเงิน ทำให้เกษตรกรสามารถกู้ในระบบผ่าน Ricult ได้ พร้อมเป็นช่องทางที่ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตเข้าสู่โรงงาน โดยแอปจะบอกข้อมูลว่าที่ไหนให้ราคารับซื้อได้ดีที่สุด 

อุกฤษพยายามอธิบายให้เกษตรกรเห็นว่า การใช้ Ricult จะทำให้รายได้ดีขึ้น ถ้าทำให้รวยขึ้นได้ และมีเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น ทุกคนก็อยากใช้ โดยวิธีการพิสูจน์คือ หาผู้นำชุมชนหรือคนในพื้นที่ที่กล้าใช้ก่อน เมื่อการใช้งานเห็นผลชัดเจน เกษตรกรคนอื่นๆ ก็จะตามมา

นอกจากนี้ยังมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีความคล้ายกับตัวตนของลูกค้ากลุ่มนี้ คือการเป็นเกษตรกรจริงๆ นั่นทำให้ผู้ใช้รู้สึกเกี่ยวข้อง ผูกพัน และรู้สึกว่าเทคโนโลยีถูกสร้างมาเพื่อเขาอีกด้วย

[ ความสำเร็จของ Ricult ]

หลังก่อตั้งมาได้ 4 ปี Ricult มีความพร้อมแล้วระดับหนึ่ง มีชาวนาชาวไร่ใช้งานแอปกว่า 6 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรไทยก็พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วเช่นกัน

อุกฤษชี้ให้เห็นว่ามีผลลัพธ์ที่แตกต่างระหว่างคนที่ใช้งานแอปจริงๆ (Super User) กับคนที่ลองดู โดยคนที่ใช้จริงคือ คนที่หาปุ๋ย หาเมล็ดพันธุ์ หาโดรน ใช้ข้อมูลของ Ricult วางแผนจริงๆ ทำให้บางคนมีรายได้เพิ่มถึง 50-100% แต่คนที่ใช้แค่ดูพยากรณ์อากาศรายวัน ก็จะได้รับข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น

เขายกตัวอย่างเกษตรกรชาวลพบุรีคนหนึ่งที่ปลูกข้าวโพดและมัน ปกติเวลานำผลผลิตไปขาย เขาขับไปละแวกใกล้ๆ ตำบลที่อยู่ หรือประมาณ 5-10 กิโลเมตร แต่หลังได้ใช้แอป Ricult เขาขับข้ามจังหวัดไปสระบุรี โคราช และบุรีรัมย์ เพราะพบว่าที่นั่นให้ราคามากกว่า และคุ้มค่าที่จะเดินทาง

นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรที่นำแอปมาใช้ดูพยากรณ์น้ำฝนล่วงหน้า 9 เดือนอีกด้วย ทำให้จากปกติที่เขาปลูกข้าวโพดประมาณ 4 เดือนต่อปี เขากลับวางแผนให้เป็น 8 เดือนต่อปีได้ ทำให้รายได้เพิ่มเป็นอีกเท่าหนึ่ง 

ปัจจุบัน Ricult ระดมทุนไปได้กว่า 400 ล้านบาทในไทยแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงสำหรับประเทศไทย และเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพไทยไม่กี่เจ้าที่มีมูลค่าบริษัทแตะระดับพันล้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้อุกฤษจะรู้สึกตื่นเต้นที่อยู่ในไทย แต่ถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ MIT หลายๆ คน ก็ยังเป็นสตาร์ทอัพเล็กๆ อยู่ เพราะบริษัทพวกเขาได้แตะระดับหมื่นล้านกันไปแล้ว

“แต่ผมมองว่าเราก็อยากเป็นตัวขับเคลื่อนคนหนึ่งว่าเราอยากจะไปถึงจุดนั้นให้ได้”

[ ความหวังให้เกษตรกรไทยไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ]

การที่ประเทศไทยมีอาหาร มีการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือความสะดวกสบาย ทำให้เราสามารถอยู่แบบนี้ได้นาน แต่อุกฤษบอกว่า ข้อเสียคือทำให้เราไม่ปรับตัว

“เราไม่ได้แข่งกับตัวเองแล้ว ไม่ได้แข่งแค่ประเทศไทยอย่างเดียว เกษตรกรในบ้านเราไม่ได้แข่งกันเอง เรากำลังแข่งกับเกษตรกรในเวียดนามที่กำลังขึ้นมาแรงมาก หรืออย่างในจีนที่เราจะเริ่มเห็นข่าวที่เกษตรกรจีนปลูกผักขึ้นรถไฟความเร็วสูงมาถึงลาว แล้วข้ามมาเข้าสู่ไทยภายใน 2 วัน ผมคิดว่าอีกหน่อยเราจะเจอการแข่งขันที่อุตลุด”

อุกฤษแนะนำให้ไทยดึงจุดแข็งด้านการเกษตรออกมา เพื่อสร้างการผลิตให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ทำให้การเกษตรมีความพรีเมียมมากขึ้น โดยภาครัฐและเอกชนควรจะทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนและเป็นแรงผลักดัน โดยสร้างนโยบายที่เป็นแบบแผนชัดเจน และมีระยะเวลากำหนด

และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับเกษตรกรไทยได้ อย่างที่หลายประเทศทำและประสบความสำเร็จมาแล้ว คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อิสราเอล ที่รัฐบาลช่วยผลักดันอย่างเต็มที่เรื่องการสร้างนวัตกรรม

อุกฤษอธิบายว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีใต้กับไต้หวันมีความยากจนสูง มีเกษตรกรกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศ จากนั้นเกาหลีใต้ก็เริ่มพัฒนา มีบริษัทเทคโนโลยีกถือกำเนิดขึ้นมากมายอย่าง Samsung และ Hyundai ทำให้เศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดด แถมมีภาครัฐที่คอยเกื้อหนุน

นั่นทำให้คนเริ่มเปรียบเทียบว่า การทำเกษตรกับการทำงานให้บริษัทใหญ่ๆ แบบไหนจะได้เงินเดือนเยอะกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งกลับกลายเป็นว่าคนเกาหลีใต้ยุคใหม่ทิ้งที่นามาทำงานในเมืองกันเป็นจำนวนมาก จำนวนเกษตรกรก็เลยลดลงตามธรรมชาติ โดยในกรณีของไต้หวันก็คล้ายๆ กัน

ส่วนอิสราเอลเป็นประเทศทะเลทรายที่ไม่มีน้ำไม่มีดิน แต่เป็นประเทศที่เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุน Agriculture Technology

“รัฐบาลอิสราเอลบอกว่า ถ้าตลาดคริปโตฯ ล่ม คนก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้าอาหารไม่มี คนจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น เพื่อให้คนในประเทศต้องมีอยู่มีกินเสมอ ทำให้มีการสร้างเทคโนโลยีในการปลูกผักผลไม้ในทะเลทรายขึ้น” 

“ไทยอาจจะอยู่ในประเทศที่ค่อนข้างที่จะสบาย ไปเรื่อยๆ ก็เลยยังไม่ได้โดนเร่งรัดให้ใช้เทคโนโลยีมากขนาดนั้น แต่ถ้าเกิดมีนโนบายรัฐ หรือนโยบายเกษตรอย่างอิสราเอล ไต้หวัน เกาหลีใต้ ผมคิดว่าเราสามารถ copy มาได้เลย”

ทุกวันนี้ เกษตรกรไทยมีรายได้ค่อนข้างน้อย ถ้าไปบอกให้เขาลงทุนเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ก็คงจะไม่ทำ เพราะมีราคาค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยง หากเกษตรกรไทยได้รับเงินสนับสนุนแบบต่างประเทศ ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถการปรับตัวในใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

“ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลบ้านเรามันมาแบบเร็วๆ อยู่ไม่ถึง 4 ปี นโยบายเลยต้องเป็นแบบ quick win แต่การนำนโยบายมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนสังคมจริงๆ อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 4 ปี”

[ ไทยจะส่งเสริม S-curve ต้องดึงและสร้างคนเก่ง ]

ขณะที่ Ricult เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่มีแต่คนเก่ง ไม่ใช่แค่อุกฤษเท่านั้น แต่ผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ ก็ยังมาจากซิลิคอนวัลเลย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากจุดยืนของ Ricult ที่อยากทำให้โลกดีขึ้น

อุกฤษอธิบายว่า ในการทำธุรกิจยุคเก่า หลายๆ บริษัทใช้วิธี Shareholder Capitalism คือวิธีการที่ขยายธุรกิจแล้วทำให้รวยขึ้น และทำให้ผู้ถือหุ้นรวยไปด้วยกัน

แต่อุกฤษกลับมองว่าการทำแบบนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังอาจมีการเอาเปรียบแรงงาน เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด

ทำให้ปัจจุบัน หลายบริษัทเริ่มปรับมุมมองมาทำธุรกิจแบบ Stakeholder Capitalism มากขึ้น ซึ่งเป็นการที่ทำให้ทุกคน Win-Win ไม่ว่าจะเป็น คู่ค้า พนักงาน ซัพพลายเออร์ หรือชุมชน พยายามจะทำงานหรือทำธุรกิจที่คิดถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้ถือผลประโยชน์ร่วม (Stakeholder) เพื่อให้โตไปด้วยกัน 

“ผมคิดว่านี่คือเทรนด์ของ Talent ยุคใหม่ นี่คือสาเหตุที่เราสามารถดึงดูด Talent เก่งๆ ได้ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยอย่างเดียว แต่กับทั่วโลกด้วย”

“Co-founder ผม ตอนที่ผมไป pitch idea นี้ ที่ MIT เราก็ได้ Co-founder ต่างชาติสองคน ที่จริงๆ แล้วเขาทำงานระดับ Google Facebook ที่ได้เงินเดือนมหาศาล เขาบอกมันก็ไม่ได้ตอบโจทย์เขาเท่าไหร่ ถึงแม้รายได้จะเยอะ แต่เขาไม่รู้ว่าการที่เขาไปทำให้ search bar ใน Google เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงมันทำให้โลกดีขึ้นได้ยังไง”

“เขาอยากทำอะไรที่มันตอบโจทย์ต่อโลกจริงๆ เขาก็เลยคิดว่าประเทศไทยน่าสนใจ เขามองว่าถ้าทำในประเทศไทยอย่างเดียวไม่พอ เราสามารถขยายไปประเทศเพื่อนบ้านได้ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ปากีสถาน อินเดียได้ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาสามารถตอบโจทย์ชีวิตเขาด้วย”

คนยุคใหม่ไม่ได้มองว่าการทำงานคือจุดหลักของชีวิต เขาต้องหาอย่างอื่นมาเติมเต็มชีวิตเขาด้วย ถ้าเราหางานที่ตอบโจทย์ทั้ง Passion กับ Purpose ได้ว่าชอบอะไรและอยู่มาเพื่ออะไร ก็จะสามารถดึงคนเก่งๆ มาทำงานนั้นได้ 

โดย Purpose ของ Ricult ค่อนข้างชัดเจนว่า บริษัทก่อตั้งมาเพื่อมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ใช่เกษตรกรอย่างเดียว แต่ทั้งสถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย ผู้รับซื้อ หรือผู้เล่นต่างๆ ที่อยู่ในแวดวงการเกษตร บริษัทจึงดึง Talent ที่ชอบเรื่องการเกษตร เรื่องธรรมชาติ และมี Passion สำหรับเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงสังคมมาอยู่ในบริษัท

อุกฤษยังให้มุมมองเพิ่มเติมว่า ถ้าประเทศไทยอยากขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า หรือมี S-Curve ใหม่ ไทยจะต้องดึงคนเก่งๆ ทั้งจากนอกประเทศเข้ามาในเมืองไทย พร้อมส่งเสริมให้เด็กไทยเก่งเรื่องวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมากกว่านี้ ซึ่งอาจจะต้องใช้นโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย

“เกรดของเด็กไทยที่อยู่ในมหาลัยชั้นนำ เป็นท็อปๆ ของหลายมหาลัยต่างประเทศเลย แล้วหลายๆ คนไปทำงานต่อที่ซิลิคอนวัลเลย์ ทำงานในองค์กรชั้นนำของโลก ตอนนี้ทำงานอยู่สิงค์โปร์ก็เยอะ”

“คำถามคือจะสร้างเมืองไทยอย่างไทยให้ดึงดูดคนเก่งๆ พวกนี้กลับมาอยู่ในประเทศเรา อาจจะสร้างโอกาสให้เขา ให้เขารู้สึกว่ากลับมาอยู่ประเทศไทยดีกว่า มาช่วยกันสร้างประเทศดีกว่า เหมือนกับที่ประเทศจีนหรือเกาหลี ที่พยายามดึงคนเก่งๆ กลับบ้านให้ได้

อย่างที่อุกฤษบอกในช่วงต้น ตอนนี้ไทยไม่ได้แข่งเฉพาะในไทยอีกแล้ว ไทยแข่งกับคนทั่วโลก ถ้าช้าเกินไป หรือมีความอนุรักษนิยมเกินไปก็จะทำให้คนไทยเก่งๆ ย้ายออกจากประเทศได้ เพราะทุกวันนี้คนรุ่นใหม่หลายๆ คนกำลังรู้สึกว่าทำไมจะต้องอยู่เมืองไทย ถ้าได้ทำงานในยุโรป หรือสหรัฐฯ จะดีกว่าไหมด้วยซ้ำไป

ชมคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า