SHARE

คัดลอกแล้ว

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมตอนนี้มีโฆษณาในโลกโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรงกับความต้องการของคุณสักเท่าไหร่ เหมือนถูกยัดเยียดข้อมูลแบบไม่เต็มใจจะรับ ซึ่งบางคนอาจกดปิดโฆษณาเฉย ๆ แต่บางคนอาจรู้สึกรำคาญจนต้องบล็อกโฆษณา หรือแทบจะเลิกเล่น Social Network Service (SNS) บางอย่างไปเลยก็มี สาเหตุคือนักการตลาดใช้ข้อมูลที่เก็บมาได้จากหลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อมูลแบบ Third Party Data ได้มาจากตัวกลางในการเก็บและรวบรวมดาต้าจากแหล่งต่างๆ เพื่อเอามาขายหรือบางครั้งก็ฟรี อาจจะไม่ได้เก็บจาก Consumer หรือ Audience ตรงๆ ทำให้ข้อมูลที่มีขาดความแม่นยำหรือคุณภาพ ซึ่งจะเป็น Behavior Data ที่ไม่ใช่ในปัจจุบัน เช่น ประเภทของความสนใจ พฤติกรรมจากการ Search มาเป็น Insight ที่น่าสนใจในการโฆษณา ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภครู้สึกอึดอัดกับโฆษณา และนักการตลาดไม่สามารถสื่อสารโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไป

เมื่อการตลาดเข้าสู่ยุคของ Social Media ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาเสพย์คอนเทนต์บนดิจิทัลมากขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของ Content Marketing เพื่อจะได้รับความสนใจจากลูกค้าและผู้บริโภค นักการตลาดยังใช้ Advertising Audience Data จาก Google หรือ Facebook รวมไปถึงการติด Cookies จากเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อในการเก็บข้อมูล

กฎหมาย PDPA หรือ “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562” เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.2565 อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถจำกัดการให้ข้อมูลส่วนตัวกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ ทำให้คนในแวดวงดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ที่ต้องขับเคลื่อนแผนการตลาดของแบรนด์ตนเองด้วยข้อมูลเหล่านั้น ต้องเผชิญกับ Cookie-less world” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การที่มีคลังข้อมูล (Data) เกี่ยวกับผู้บริโภคไม่เพียงพออีกต่อไป เช่น ไม่ทราบพื้นที่ที่อยู่อาศัย ไม่ทราบพฤติกรรมการซื้อสินค้า เป็นต้น ประกอบกับข้อมูลที่เก็บได้เยอะมาก ๆ จากหลายแพลตฟอร์ม (Third Party Data) ไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว ไม่อาจสื่อสารโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาอันดับแรกของนักการตลาดคือการลงทุนเก็บข้อมูลเอง ในลักษณะของ (First Party Data) แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกกับการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งนั่นอาจไม่เหมาะกับองค์กรขนาดเล็กที่มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด ทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในยุคนี้จึงกลายเป็น Super App แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการหลากหลายมาไว้ในที่เดียว เพราะพร้อมเปิดโอกาสให้แบรนด์และนักการตลาดได้เข้ามาใช้คลังข้อมูล เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้งานหรือกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ “Robinhood” แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย และบริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์แบบครบวงจร (All-in-one travel service) ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ประกาศจับมือ “Accenture” (NYSE: ACN) ปูทางสู่การเป็น “Super App สัญชาติไทย” ร่วมกันขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ในการโฆษณาและยกระดับประสบการณ์ให้กับแบรนด์ผู้โฆษณา ด้วยการเปิดธุรกิจโฆษณาดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Robinhood (Robinhood Advertising) โดยมี Accenture Song (ชื่อเดิมคือ Accenture Interactive) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก โดดเด่นด้านดิจิทัล คลาวด์ และระบบรักษาความปลอดภัย ที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมกว่า 40 อุตสาหกรรม ร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อช่วยพัฒนาแพลตฟอร์ม Robinhood ให้เป็น Super App สัญชาติไทย ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานในหลากหลายแง่มุม

โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การนำข้อมูลเชิงลึกจากผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Robinhood ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านธุรกิจโฆษณาดิจิทัล “Robinhood Advertising” พร้อมแต่งตั้ง 3 มีเดียเอเจนซี่ชั้นนำของเมืองไทย GroupM (Thailand), dentsu international Thailand และ Entravision MediaDonuts Thailand เป็นตัวแทนจำหน่ายโฆษณาอย่างเป็นทางการ

นายสีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า Robinhood เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรีในประเทศไทยด้วยจุดยืนทางธุรกิจที่แตกต่าง คือต้องการช่วยเหลือคนตัวเล็กในสังคมไทยให้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยไม่มีการเก็บ GP (Gross Profit) จากร้านค้าและไรเดอร์ รวมถึงความสามารถของแพลตฟอร์มที่โดดเด่น ทำให้หลังจากเปิดให้บริการในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี Robinhood สามารถขึ้นอันดับ 2 ผู้ให้บริการด้านฟู้ดเดลิเวอรี ที่ได้รับความนิยมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 225,000 ร้าน มีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานจำนวนกว่า 3 ล้านคน มีไรเดอร์ที่ให้บริการส่งอาหารกว่า 30,000 คน และมีโรงแรมเข้าร่วมบนแพลตฟอร์มกว่า 16,000 แห่ง

“ความร่วมมือระหว่าง Robinhood และ Accenture Song ในครั้งนี้ จะช่วยขยายการให้บริการของ Robinhood ในการนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้งานและเพื่อนำเสนอบริการใหม่แก่กลุ่มนักการตลาดที่มีความสนใจลงสื่อโฆษณาดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Robinhood”

ความน่าสนใจของ Super App ในมุมมองของนักการตลาด

เมื่อ Super App เปรียบเสมือนคลังที่รวบรวมความสะดวกสบายหลายอย่างเอาไว้ในที่เดียว ย่อมทำให้มันพิเศษกว่าแพลตฟอร์มอื่น และกำลังได้รับความนิยมจากทั้งผู้บริโภคและนักการตลาดทั่วโลก ซึ่ง Robinhood ในฐานะที่กำลังจะก้าวสู่การเป็น Super App จึงเป็นธุรกิจที่นักการตลาดในประเทศไทยสนใจ และพร้อมจะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ สำหรับสาเหตุที่เป็นแบบนั้น Accenture Song ได้เปิดไว้ว่า

ความสะดวกสบายของ Super App ช่วยสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ได้ เพราะสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการให้เข้ามาใช้แพลตฟอร์มบ่อยขึ้น และใช้งานหลายบริการในแอปเดียว ทำให้แบรนด์และนักการตลาดเข้าถึง Insight ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้นด้วย รวมทั้งผู้ใช้งานมีความไว้วางใจ (Trust) ในการเก็บข้อมูลส่วนตัวของตนไว้ใน Super App แบรนด์และนักการตลาดสามารถวางใจได้ว่าข้อมูลจะมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ

ขณะที่ผู้บริหารจาก GroupM (Thailand), dentsu international Thailand และ Entravision MediaDonuts Thailand แชร์มุมมองว่า Super App มีการสื่อสารแบบไร้รอยต่อ (Seamless) ทำให้เส้นทางของผู้บริโภคตั้งแต่มีความต้องการซื้อ ตลอดจนถึงตัดสินใจซื้อ และกลับมาซื้อซ้ำ (Customer Journey) สั้นลง และมีการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น เพราะมีทุกอย่างอยู่ในนั้น ทั้งโฆษณาและช่องทางการซื้อสินค้า

นอกจากนั้น Super App โดยเฉพาะ Robinhood ยังเป็นทางเลือกใหม่ที่สามารถเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี และตอบโจทย์สำหรับธุรกิจที่ต้องการขับเคลื่อนด้วย Data-driven Marketing เพราะช่วยลดต้นทุนในการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบ First Party Data และช่วยเติมเต็มในการนำข้อมูลของผู้บริโภคมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ลดปัญหา Walled Garden หรือกำแพงที่ปิดกั้นข้อมูลผู้บริโภคจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย เสิร์ช เอนจิน เป็นต้น

Robinhood Advertising กับการเป็นมากกว่าการสร้างรายได้

เป็นธรรมดาที่เมื่อมีโฆษณาก็ต้องมีการสร้างรายได้ตามมาเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าในเมื่อจุดเริ่มต้นแรกคือการช่วยเหลือคนตัวเล็กโดยที่ไม่ได้คาดหวังกำไร แต่ทำไมวันนี้ Robinhood จึงเปิดบริการ Robinhood Advertising ขึ้นมาเป็นธุรกิจแรกที่จะสร้างรายได้ และต่อไปการบริการด้านฟู้ดเดลิเวอรี หรือการบริการด้านการท่องเที่ยวจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่

นายศรัณย์ ชินสุวพลา หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า Robinhood ยังคงมีจุดยืนเช่นเดิมคือช่วยเหลือคนตัวเล็กในสังคม และจะยังคงไม่เก็บ GP (Gross Profit) จากเดลิเวอรี และ ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นจากโรงแรม เพียงแต่วันนี้ Robinhood มีการมองเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ในเมื่อฟู้ดเดลิเวอรีและการท่องเที่ยวไม่ใช่บริการที่จะหวังสร้างกำไร จึงต้องมองหาโอกาสใหม่ที่จะต่อยอดสิ่งเดิมที่มีอยู่อย่าง “ข้อมูลของผู้บริโภค” เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อและสามารถช่วยเหลือคนตัวเล็กต่อไปได้อีก โดยอยากที่จะเป็น “The Most Admired Super App” เป็นการคิดมุมกลับไม่ได้มองที่กำไรเป็นหลัก แต่มองไปที่การสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ปัญหาของผู้ใช้บริการ (Customer Pain Point) ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ผู้บริโภคที่มักจะเจอโฆษณาที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ และนักการตลาดที่สื่อสารโฆษณาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจโฆษณาดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Robinhood  หรือ Robinhood Advertising เกิดขึ้น

“เราไม่ได้มองแค่การทำกำไร ไม่ได้เปิดแอปมาเพื่อขายโฆษณา แต่จะไปตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าก่อน เพื่อทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำและใช้บริการแอปได้บ่อย เพื่อจุดยืนเดิมคือช่วยคนตัวเล็ก”

ความสำเร็จก้าวแรกของ Robinhood Advertising

ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มีแบรนด์จากหลากหลายอุตสาหกรรมเข้าร่วมกับ Robinhood Advertising แล้วกว่า 12 แบรนด์ จากหลากหลายอุตสาหกรรม เพราะที่นี่เปิดกว้างสำหรับทุกธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการอยู่บน Robinhood ก็ได้ เช่น Index Living Mall ผู้ให้บริการจําหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน, Vitza เครื่องดื่มเสริมวิตามิน, VIU แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง, ธนาคารที่นอกเหนือจากไทยพาณิชย์ เป็นต้น โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากนี้ เพราะความโดดเด่นของ Robinhood ที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ได้แก่

  1. Robinhood มีบัญชีผู้ใช้งานกว่า 3 ล้านบัญชี โดย 49% ของผู้ใช้งาน เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง (Upper Urban) มีฐานเงินเดือนมากกว่า 50,000 บาท เหมาะกับการสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสในการซื้อสินค้า
  2. ผู้ใช้งาน 57% เป็นคนมิลเลนเนียล อายุ 20-49 ปี มีความชอบลองของใหม่ และมีการซื้อซ้ำอยู่เรื่อยๆ
  3. ผู้ใช้งานทั้งหมดมีตัวตนจริง แบรนด์และนักการตลาดสามารถนำข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ใช้งานมาสร้างการรับรู้ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
  4. ผู้ใช้งานมีสัดส่วนในการค้นหาข้อมูลจากการ Search และจากการเลือก Playlist เป็น 50:50 แบรนด์และนักการตลาดจึงสามารถสื่อสารโฆษณาได้ทุก Touch Point เช่น Premium Ads ในหน้า Home Screen, Native Ads ใน Service Landing เป็นต้น
  5. ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเปิด Robinhood เมื่อมีความต้องการซื้อ ดังนั้นโฆษณาบนแพลตฟอร์มจึงจะได้รับความสนใจและเกิดการซื้อได้มากขึ้น
  6. หนึ่งในไฮไลต์ที่น่าสนใจคือ First Party Data ที่สามารถเก็บได้ลึกถึง Dining Context หรือพฤติกรรมการกิน ซึ่งนำมาวิเคราะห์การใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลได้

ดังนั้นสรุปข้อดีของ Robinhood Advertising ได้คือ 1. เข้าถึงฐานลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง 2.100% Brand Safe, Fraud Free ลูกค้าของ Robinhood เป็นลูกค้าจริง มีการทำ Transaction จริงๆ แบรนด์มั่นใจได้ว่าจะสามารถมาอยู่ใน Walled Garden ที่ปลอดภัย 3. Accurate Target the Right Audiences เข้าถึงลูกค้าได้อย่างตรงจุด วิเคราะห์และคาดเดาได้ด้วยข้อมูลที่มีอยู่

นอกจากนี้การที่เป็น Super App ที่ให้บริการอย่างครบวงจร Robinhood จะอยู่ในทุกๆ โมเมนต์การใช้ชีวิตของลูกค้า อีกทั้งลูกค้าของ Robinhood ยังเป็นกลุ่มที่ซื้อบ่อย และซื้อซ้ำ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ลูกค้าสามารถมองเห็นแบรนด์ได้ทุกครั้งที่ใช้บริการในแต่ละวัน

Robinhood กับการมุ่งสู่การเป็น Super App แห่งภูมิภาค

อย่างไรก็ตามนอกจาก Robinhood Food Delivery, Robinhood Travel และRobinhood Advertising ที่ได้เปิดตัวไปแล้วนั้น Robinhood ยังเตรียมเปิดให้บริการ Robinhood Mart ช่วงสิงหาคม 65 Robinhood Express ช่วงไตรมาส 3/65 และ Robinhood Ride-Hailing ช่วงไตรมาส 4/65ด้วย เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และเมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่ สเต็ปถัดไปก็จะมีสินค้า บริการด้านธุรกรรมทางการเงินออกมาด้วยตามลำดับ เพื่อให้ Robinhood เป็น “Super App สัญชาติไทย” อย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในระดับภูมิภาค (Regional Player) ได้

รวมถึงเตรียมขยาย Robinhood ออกไปสู่ประเทศกลุ่มอาเซียน ในลักษณะของการพาร์ทเนอร์กับธุรกิจชั้นนำในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้วขยับขยายบริการให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ โดยเริ่มประมาณปลายปี 65 นี้ แต่จะมีการเดินหน้าในลักษณะของธุรกิจที่ทำกำไร ต่างจากโมเดลธุรกิจในประเทศไทย

ทั้ง Robinhood Advertising และการบริการอื่นๆ ที่จะรวมกันเป็น Robinhood Super App ในอนาคตอันใกล้นี้ WorkpointTODAY มองว่าเป็นโมเดลธุรกิจในยุค Data-driven Marketing ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะสามารถต่อยอดข้อมูลที่มีอยู่ไปสู่บริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ในหลากหลายมิติ ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งานได้ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งผู้บริโภค และพาร์ทเนอร์ที่ต้องการลงโฆษณา

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่ [email protected]

สำหรับผู้ที่สนใจลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Robinhood ติดต่อที่ [email protected] หรือ www.robinhood.co.th/ads

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า