SHARE

คัดลอกแล้ว

“ฉันว่าอีตาคนนี้ต้องได้คู่กับผู้หญิงผมสั้น”

“บ้า! ไม่มีทาง นางดูเหมาะกับอีกคนมากกว่าเหอะ”

 

แม้ไม่ใช่แฟนรายการก็เชื่อว่า ทุกคนน่าจะพอจับสัญญาณความนิยม ของเรียลลิตี้แนวโรแมนติก ที่นำกลุ่มคนจำนวนหนึ่งมาทดลองใช้ชีวิตร่วมกัน มีการสนทนา ทำภารกิจ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่จะพัฒนาต่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้หลังจบรายการ

คอนเซ็ปต์ที่ว่ามานี้ถูกนิยามแบบกว้างๆ ว่า ‘รายการเรียลลิตี้หาคู่ (Reality Dating Shows)’ เนื้อหาซึ่งกำลังมาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชีย ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น หรือกระทั่งไทย หลักฐานเชิงประจักษ์ คือ การที่รายการอย่าง Single’s Inferno ซีซั่น 4 ยังคงเกาะ Top 10 TV Shows ในประเทศได้อย่างเหนียวแน่น แถมไม่มีทีท่าว่าจะตกอันดับ

ความนิยมของเรียลลิตี้จับคู่ นำมาซึ่งจำนวนรายการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากนับเฉพาะฝั่งเกาหลีใต้ สื่ออย่าง The Straits Time รายงานว่า  ปี 2022 แดนกิมจิส่งออกรายการประเภทนี้มากกว่า 20 รายการ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าปีก่อนหน้าถึง 3 เท่าตัว ตอกย้ำได้อย่างดีว่า เนื้อหาลองคุยแอบจีบที่ทางรายการบอกว่า ‘ไม่มีสคริปต์’ กำลังช่วย ‘เติมเต็ม’ ความต้องการบางอย่างของคนดูแบบที่เนื้อหาประเภทอื่นทำไม่ได้

ทั้งที่รายการอย่าง Terrace House กับ REA(L)OVE จากญี่ปุ่น Heart Signal จากจีน หรือ Single’s Inferno, Love Catcher และ EXchange จากเกาหลีใต้ ต่างมีรูปแบบรายการที่คล้ายคลึงกัน แต่ละรายการอาจมีลูกเล่นเป็นของตัวเองบ้าง ทว่าหลักใหญ่ใจความล้วนว่าด้วยการหาคู่ทั้งสิ้น แล้วเพราะอะไร รายการเหล่านี้จึงได้รับความนิยม ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่คนดูไม่รู้สึกเบื่อ หลายรายการไม่ได้มีเซเลบริตี้หรือดาราดัง แต่ก็ยังคว้าความสนใจของคนเอเชียได้อยู่หมัด ผู้ชมตั้งตารอซีซั่นต่อไปยิ่งกว่าซีรีส์ทุนสร้างหลายร้อยล้าน และที่น่าขบคิดต่อคือ ปรากฏการณ์นี้กำลังสะท้อนภาพใหญ่ภาพไหนในสังคมเอเชีย

[ร่วมลุ้นร่วมเชียร์]

มนุษย์เกิดมาพร้อมสัญชาตญาณในการเรียนรู้ เรามีความอยากรู้อยากเห็น ตื่นเต้นเป็นกังวลกับสิ่งที่สงสัยหรือยังไม่เกิดขึ้น นี่คือเหตุผลเดียวกับที่เราอยากรู้ว่า สิ่งที่เขียนอยู่ในหน้าสุดท้ายของหนังสือคืออะไร หรือหนังที่เราดูอยู่จะมีตอนจบแบบไหนกันแน่

ขนาดเป็นเพียงเรื่องแต่ง ผู้ชมยังตื่นเต้นกับเรื่องราวมากขนาดนั้น นับประสาอะไรกับเนื้อหาที่ถูกโปรโมตว่าเป็นเรียลลิตี้ นี่คือเรื่องจริง คนจริง รักจริง เจ็บจริง แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่คนดูไม่เอาใจช่วย ยิ่งรูปแบบรายการมีความดราม่าเข้มข้นเหมือนใน Single’s Inferno กับ Heart Signal คนดูก็ยิ่งอิน มีอารมณ์ร่วม หรือหากเป็นแบบ Terrace House ของญี่ปุ่นที่เน้นความสมจริง เป็นธรรมชาติ คนดูก็จะรู้สึกเหมือนกำลังติดตามชีวิตของเพื่อนสนิทสักคน ร่วมลุ้นว่าเขาจะได้พบรักและมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างที่ใจปรารถนาหรือไม่

เหนือสิ่งอื่นใด ตลอดการรับชม ครีเอทีฟที่อยู่เบื้องหลังเรียลลิตี้ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า จังหวะและการตัดต่อแบบไหน ที่จะกระตุ้นความรู้สึกของคนดู ควรเลือกผู้ร่วมรายการและเล่าเรื่องอย่างไรจึงจะเปิดโอกาสให้จินตนาการของผู้ชมได้ทำงาน ทิ้งเวลาให้ได้เดาว่าใครชอบใคร ปล่อยบางอย่างให้มีความคลุมเครือเพื่อให้คนที่อยู่หน้าจอได้ทำหน้าที่เป็น ‘นักสืบ’ ค้นหาความจริงในความสัมพันธ์ของคนอื่น

[รู้สึกเชื่อมโยง]

“ฉันสนุกกับการดูรายการเหล่านี้พร้อมกับจินตนาการว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วม”

นี่คือความในใจของ จอง ซีอึน แฟนตัวยงวัย 26 ของ EXchange ซีซั่น 2 เรียลลิตี้ที่ชวนอดีตคู่รักสี่คู่มาอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน พร้อมสลับวันใช้เวลากับแฟนเก่าของแต่ละคน

การที่ผู้ชมจินตนาการว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมได้นั้น แปลว่ารายการต้องนำเสนอความสมจริง เล่าเรื่องด้วยท่าทีราวกับไม่มีการตระเตรียมไว้ก่อน ประกอบกับการที่คนในรายการไม่ใช่นักแสดง แต่เป็นผู้ที่มีชีวิตจิตใจ ใช้ชื่อจริงในการตามหาความสัมพันธ์ที่ใช่ไม่ต่างจากคนดู ก็ยิ่งส่งให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงใกล้ชิด หลายครั้งคนดูอาจนำชีวิตจริงไปทาบทับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรียลลิตี้ ทำนองว่า ‘ฉันเข้าใจความรู้สึกเธอดี’ หรือ ‘สิ่งที่เขาเจอช่างเหมือนกับฉันเหลือเกิน’ ความรู้สึกเชื่อมโยงนี้เองที่อาจช่วยเติมเต็มบางอย่างที่ขาดหายไปจากความรู้สึกของผู้ชม

[ตอบโจทย์วัฒนธรรม และข้อจำกัดของสังคมเอเชีย]

Reporter Journey ระบุว่า ในปี 2024 คนเกาหลีใต้ทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1,915 ชั่วโมงต่อปี หนักติด 5 อันดับแรกของโลก ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ต่างกันนัก เรียนหนัก งานเหนื่อย พ่วงด้วยบริบททางวัฒนธรรมที่ไม่ได้เปิดกว้าง ขี้อาย สังคมมองการแสดงความรักในที่สาธารณะว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

เรียลลิตี้หาคู่เข้ามาอุดช่องว่างตรงนี้ ในเมื่อทำงานหนักจนไม่มีเวลาหาคู่ของตัวเอง หรือต่อให้มีเวลา ค่านิยมที่หล่อหลอมก็ปลูกฝังให้เราไม่กล้าแสดงออกเหมือนอย่างชาวตะวันตก พูดง่ายๆ คือหลายครั้งอยากจีบ แต่ไม่กล้า งั้นถ้าไม่กล้า ไม่มีเวลา ก็ขอดูความสัมพันธ์ของคนที่กล้าและมีเวลาในหน้าจอก็แล้วกัน

มากไปกว่านั้น การที่หลายประเทศในเอเชียยังไม่เปิดกว้างต่อการเป็นตัวเองของผู้มีความหลากหลายทางเพศ รายการจากแดนปลาดิบอย่าง The Boy Friend เรียลลิตี้หาคู่ที่เปิดพื้นที่ให้ชายหนุ่ม 9 คนลองใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หรือรายการจากเกาหลีใต้อย่าง His Man ที่มุ่งสะท้อนเรื่องราวความรักของ LGBTQ+ ในประเทศที่ผู้คนไม่สามารถเปิดเผยรสนิยมทางเพศที่มีมากกว่าแค่ชายกับหญิง ก็ไม่ต่างจากการทลายข้อจำกัด ตีแผ่ให้สังคมเห็นว่า คนกลุ่มนี้มีตัวตนอยู่จริง ขณะที่ผู้ชมที่เป็น LGBTQ+ เองก็ได้รับรู้ว่า เขาและเธอไม่ได้โดดเดี่ยว แม้จะยังไม่สามารถเป็นตัวเองได้ในชีวิตจริง แต่อย่างน้อย ขอปลดปล่อยอารมณ์ผ่านการสวมบทบาทเป็นผู้เข้าร่วมรายการก็ยังดี

อีกหนึ่งมุมที่น่าสนใจคือการรับชมในฐานะบุคคลที่ 3 จอง ด็อกฮยอน นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมป๊อบเกาหลีใต้อธิบายว่า คนเกาหลีมีความเหนื่อยล้าเมื่อต้องจัดการความสัมพันธ์ของตัวเอง ทั้งการปฏิสัมพันธ์กับคนรัก และอาจเหนื่อยขึ้นไปอีกเมื่อต้องจัดการการแต่งงานที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน.

“ดังนั้นแทนที่จะเผชิญกับความสัมพันธ์จริง ผู้ชมจึงหันไปหารายการเรียลลิตี้หาคู่แทน”

คำอธิบายของ จอง ด็อกฮยอน สอดคล้องกับแฟนรายการ EXchange อย่าง จอง ซีอึน เพราะเธอเองก็บอกเช่นกันว่า

“ฉันดูรายการออกเดตเหล่านี้ได้สบายใจมากกว่าตอนที่ฉันยังไม่ได้คบกับใคร เพราะตอนนั้น ฉันแค่เฝ้าดูผู้เข้าร่วมรายการในฐานะคนนอก”

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือ ความต้องการในการสร้างครอบครัวของคนเอเชียลดลง โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เผยว่า ในปี 2022 อัตราการแต่งงานในเกาหลีใต้อยู่ที่ 3.8 คู่ต่อประชากร 1,000 คน เป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติครั้งแรกในปี 1970 ทำนองเดียวกับอัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศในปี 2023 (Total Fertility Rate – TFR) ซึ่งอยู่ที่ 0.72 คน ต่อผู้หญิงหนึ่งคน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

ความไม่ต้องการสร้างครอบครัวอาจเป็นผลจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่พุ่งสูง สภาวะการทำงาน ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทว่าอย่างไรเสีย มันส่งผลให้รายการหาคู่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะนี่คือความโรแมนติกที่ไม่แทบไม่ต้องใช้เงิน มีเวลาเมื่อไหร่ก็ดูเมื่อนั้น ไม่ต้องมีปัญหาความสัมพันธ์ของตัวเอง และที่แน่ ๆ ไม่มีวันมีลูก

[กระตุ้นการสร้างครอบครัว]

ถึงจะย้อนแย้งกับประเด็นก่อนหน้า แต่ดูเหมือนว่า นี่จะเป็นความจริงอีกด้านที่ส่งเสริมความนิยมให้กับรายการหาคู่เดต ยกตัวอย่างรายการ Somebody ของเกาหลีที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความหลงใหลในการเต้นมาพบเจอกัน สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมรู้สึกว่า โลกภายนอกจะต้องมีคนที่ชื่นชอบอะไรคล้ายกับเรา พูดคุย และเข้าใจกันได้อย่างลึกซึ้ง หรือรายการสมมติอย่าง We Got Married ก็แสดงให้เห็นการใช้ชีวิตคู่ของสามีภรรยา ไม่มากก็น้อย มันเชื้อเชิญให้ผู้ชมลองคิดถึงการมีชีวิตแต่งงานเป็นของตัวเอง

“ฉันได้ย้อนกลับไปทบทวนความสัมพันธ์ของตัวเองผ่านการดูคู่รักทะเลาะกันในรายการ”

คำสัมภาษณ์ของ อีบอมยอล ผู้ชมรายการ Change Days ซีซั่น 2 สะท้อนว่า นอกจากจะจุดประกายให้คนดูบางส่วนลองคิดถึงการสร้างครอบครัวแล้ว เรียลลิตี้หาคู่ยังมีส่วนช่วยประกอบติดความสัมพันธ์ที่มีรอยร้าว เท่ากับว่า มันตอบโจทย์ทั้งในกลุ่มคนที่ไม่อยากมีครอบครัว ขอดูรายการเพื่อเติมเต็ม และคนที่อยากมีความรัก ซึ่งดูรายการไว้ใช้เป็นคู่มือ

“หลังดูจบ ฉันก็ทบทวนว่าควรแก้ปัญหาความสัมพันธ์ของตัวเองอย่างไร และในทางกลับกัน ถ้าฉันเห็นพวกเขามีช่วงเวลาดี ๆ ระหว่างเดต ฉันก็จะนำไปเป็นแนวทางสำหรับเดตของตัวเองด้วย” อีบอมยอล สรุป

เมื่อเต็มไปด้วยความเป็นไปได้มากขนาดนี้ ในปี 2024 รัฐบาลเกาหลีจึงนำโมเดลของเรียลลิตี้หาคู่มาปรับใช้บ้าง โดยในวันที่ 23 พ.ย. รัฐบาลเกาหลีได้จัดกิจกรรมให้ชายหญิงจำนวน 100 คน มาพักผ่อนบนเกาะเซบิตซอม ในกรุงโซล ภายในกิจกรรมมีการเล่นเกม เวิร์กช็อป ล่องเรือยอทช์ หรือก็คือมีแทบทุกการปฏิสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การจับคู่ ไม่ต่างจากในรายการจับคู่เดตที่หลายคนเคยดู

อย่างไรก็ดี ด้วยงบประมาณที่สูงทะลุ 10 ล้านวอน (บางแหล่งบอกว่า มากกว่า 100 ล้านวอน หรือ 2.3 ล้านบาท) จึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมตำหนิรัฐบาลว่าควรนำเงินไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด หรือใช้กับเรื่องอื่นที่จำเป็น เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่า คนโสดที่ได้พบกันจากกิจกรรมเหล่านี้ จะได้สร้างครอบครัวร่วมกันจริงในอนาคต

นอกเหนือจากความตั้งใจของรัฐบาล Los Angeles Times เผยว่า พระในเกาหลีใต้เองก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเนรมิตคู่รัก โดยมีเรียลลิตี้หาคู่เป็นแรงบันดาลใจ

เหตุการณ์เริ่มในช่วงต้นปี 2024 พระสามรูปในเกาะคังฮวา นำรายการจับคู่ที่โด่งดังไปทั่วเกาหลีใต้อย่าง I Am Solo มาผนวกกับหลักธรรมและจิตวิทยา ช่วยชายหญิง 20 คนให้ได้พบคู่ที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ตอกย้ำอีกทางหนึ่งว่า เรียลลิตี้ประเภทนี้มีอิทธิพลในหลากหลายวงการอย่างแท้จริง

ท่ามกลางปัจจัยที่ได้ไล่เรียงมา ทั้งรูปแบบรายการและอุปนิสัยของผู้เข้าร่วมที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้อย่างสม่ำเสมอ บริบททางวัฒนธรรมของคนเอเชียที่ฝังรากลึก อุปสรรคในการสร้างครอบครัวที่นับวันก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกที่รายการเรียลลิตี้หาคู่จะมีกลุ่มคนดูมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในเมื่อโลกความจริงมันโหดร้าย จะนัดเดตก็อาจเจอ PM2.5 อยากศึกษาดูใจ เวลาก็ไม่มี ลูกเหรอ ไม่ต้องพูดถึง ลำพังตัวเองยังเอาไม่รอด…ตราบใดที่ชีวิตยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด รายการเรียลลิตี้หาคู่ก็คงได้รับความนิยมต่อไป

 

อ้างอิงจาก

straitstimes.com 

tatlerasia.com

koreajoongangdaily.joins.com  

thairath.co.th 

koreatimes.co.kr 

koreatimes.co.kr 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า