SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเทศไทยถือเป็นสถานที่เที่ยวในฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จากเหตุผลสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่มีเอกลักษณ์ ค่าครองชีพไม่สูง และผู้คนมีอัธยาศัยที่ดี

รวมถึงกระแสจากการที่ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Lost in Thailand ซึ่งหนังเรื่องนี้ทำรายได้ไปกว่า 5 พันล้านบาท และทำให้การท่องเที่ยวไทยมีชื่อเสียงขึ้นมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องมีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า

โดยนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้กว่า 3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในปี 2562 World Economic Forum ได้จัดให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่ในอันดับที่ 31 จากทั้งหมด 140 ประเทศ และอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในช่วงปี 2551-2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.3 ซึ่งมากกว่าอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่การที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างล้นหลามนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ปัญหาที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำที่เข้ามาแทรกซึมอยู่ทุกพื้นที่

การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว กลับกลายเป็นการสร้างปัญหา มากเสียกว่าสร้างประโยชน์

คนที่มีต้นทุนเยอะกว่ามีโอกาสเข้าไปลงทุน และทำกำไรจากทรัพยากรมากกว่าคนที่มีต้นทุนน้อย คนมีรายได้น้อยก็ยิ่งน้อยลงกว่าเดิมเพราะไม่สามารถเข้าถึงรายได้ โอกาส สิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นคนได้อย่างเท่าเทียม

นอกจากชุมชนจะไม่ได้รับการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมแล้ว ชุมชนยังต้องแบกรับต้นทุนทางทรัพยากรจากการท่องเที่ยวที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม เช่น การที่ทรัพยากรร่อยหรอ และเสื่อมโทรมลง ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมภายในชุมชนไม่ยั่งยืน

ในส่วนนโยบายของรัฐด้านการท่องเที่ยวก็ไม่ได้มีการสนับสนุนชุมชนอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะมีการออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อยมาเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

แต่ในความเป็นจริงแล้วคนในชุมชนยังขาดความพร้อมที่จะพัฒนา เนื่องจากปราศจากความรู้และเงินทุน อีกทั้งคนในชุมชนไม่สามารถแข่งขันกับนายทุนได้ เนื่องจากขาดความรู้ในด้านการลงทุน การทำการตลาด และโอกาสในการแข่งขัน

การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยียิ่งตอกย้ำชุมชนไปอีก เนื่องจากการดำเนินชีวิตของผู้คนเปลี่ยนจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์มากขึ้น

โดยผลสำรวจจาก PayPal Insight ระบุว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวจากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เช่น การจองที่พัก การซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือการซื้อบริการท่องเที่ยว เป็นต้น

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้การเปิดจองห้องพักหรือขายบริการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Online Travel Agent เช่น Agoda, Booking.com, Traveloka, Expedia,  หรือ Klook เป็นต้น เข้ามามีบทบาทต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น

จากความนิยมในการจองห้องพักหรือบริการท่องเที่ยวทางออนไลน์ นายทุนจึงมองเห็นโอกาสในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

จึงนำห้องพักหรือบริการท่องเที่ยวของตนเองเข้าไปขายในระบบ Online Travel Agent โดยแลกกับการจ่ายค่าคอมมิชชั่นกว่าร้อยละ 3-30

นายทุนที่สามารถเข้าถึงข่าวสารหรือเทคโนโลยี รวมถึงมีเงินทุนมากพอในการปรับตัวมาใช้โซเชียลมีเดียและดิจิทัลแพลตฟอร์มสามารถสร้างช่องทางในการสร้างรายได้มากขึ้นได้

แต่กลับกัน ความสามารถในการแข่งขันของชุมชนก็จะยิ่งห่างไกลนายทุนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากชุมชนมีแนวโน้มที่จะเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารหรือเทคโนโลยีได้ทัดเทียมกับนายทุน ติดอยู่ในช่องว่างทางดิจิทัล

รวมถึงไม่มีเงินทุนมากพอที่จะเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนในชุมชนนำมาซึ่งการขาดความสามารถในการแข่งขัน และการเข้าถึงตลาดที่ได้กล่าวไปทั้งหมดนั้นจะสามารถแก้ไขได้โดยการผลักดัน ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ให้เป็นวิธีขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อกระจายรายได้ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ

อีกทั้ง ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวในไทยที่มาแรงในปี 2564

อ้างอิงจากการสำรวจโดย Airbnb และบริษัทวิจัย YouGov พบว่า นักท่องเที่ยวภายในประเทศไทยกว่าร้อยละ 73 มีแนวโน้มที่จะเลือกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบกับเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติ

เมื่อพิจารณาเทรนด์การท่องเที่ยวที่กล่าวไป ประกอบกับข้อมูลจากบทความ ‘อนาคตภาคการท่องเที่ยวไทย เดินต่ออย่างไรในฟ้าหลังฝน’ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า

“รายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมและท่องเที่ยววิถีชุมชนนั้น จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจถึงประมาณร้อยละ 60-80 ของรายได้ที่ได้รับ”

จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างยั่งยืน น่าจะเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยวไปทั่วภูมิภาคของประเทศไทย

โดยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้มีความพยายามใช้เครื่องมือดังกล่าวในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน อย่างในกรณีของ Local Alike และ Airbnb ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงการดำเนินธุรกิจของทั้ง 2 องค์กรในส่วนต่อไป

Local Alike เป็นธุรกิจที่เกิดจากการมองเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากเหล่าบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ

ประกอบกับวิถีชีวิตของชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยที่มีมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการที่จะสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างแท้จริง

แนวคิดในการริเริ่มทำธุรกิจนี้มาจากการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ส่วนมากคนในชุมชนเองนั้นกลับไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและบริโภคทรัพยากรในชุมชน

แต่เมื่อชุมชนได้ร่วมมือกับ Local Alike ทำให้ชุมชนสามารถดึงศักยภาพ และจุดเด่นของชุมชนออกมาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว

ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตในหมู่บ้านชาวอาข่า จังหวัดเชียงราย ที่มุ่งเน้นในด้านคุณค่าเดิมที่ชุมชนมี ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาของชุมชนทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการสร้างรายได้

การดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Local Alike มีเป้าหมาย คือ สร้างความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มออนไลน์กับคนในชุมชนโดยตรง มุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชนมากที่สุด

อีกทั้งแพลตฟอร์มของ Local Alike มีความพิเศษ คือ การนำเสนอแพ็กเกจต่างๆ จะมีการนำเสนอสิ่งที่ชุมชนได้รับจากการเข้ามาเที่ยวของนักท่องเที่ยว ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นก็มาจากไกด์พิเศษซึ่งเป็นคนในชุมชนเอง

ส่วน Airbnb ได้มีการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการประกวดสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบท ประจำปี 2563 เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความงดงามและเอกลักษณ์ของชุมชน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในชนบททั่วประเทศไทย

โดยการร่วมมือระหว่าง Airbnb และ ททท. ในครั้งนี้ มีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้กลุ่มนักท่องเที่ยวกระจายตัวไปท่องเที่ยวชุมชนในเมืองรอง เช่น ชุมชนจากอุดรธานี แม่ฮ่องสอน เชียงราย นครศรีธรรมราช และระนอง เป็นต้น

โดย Airbnb ได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับการโปรโมทชุมชนที่ชนะการประกวดสุดยอดหมู่บ้านฯ ขึ้นมาโดยเฉพาะ และนักท่องเที่ยวก็สามารถจองที่พักและทริปท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์วิถีชีวิตในชุมชนผ่านแพลตฟอร์มของ Airbnb ได้โดยตรง

การสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชนของ Airbnb มีความสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่นสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

โดยมีรายงานจาก Oxford Economics ระบุว่า Airbnb ได้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4.37 หมื่นล้านบาทให้กับ GDP ของประเทศไทย และช่วยให้เกิดการจ้างงานถึง 113,300 ตำแหน่ง ในปี 2562

พร้อมทั้งระบุว่าในช่วงปี 2558-2562 นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ Airbnb ได้จับจ่ายเงินในประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเชิงสถิติที่กล่าวไป สามารถบ่งชี้ได้ว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาของ Airbnb ได้สร้างเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการจ้างงานและกระจายรายได้

เช่นเดียวกันกับยุคหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 Airbnb ก็จะยังคงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ด้วยการผลักดันการท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลดลง และสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจในลักษณะดังกล่าวของ Local Alike และ Airbnb เป็นการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลภายใต้รูปแบบ Social Enterprise ที่เน้นให้ชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยมีส่วนร่วมกับการเติบโตของธุรกิจ สามารถสร้างรายได้และคืนประโยชน์สู่สังคมไปพร้อมกัน

การดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ยังช่วยพัฒนานวัตกรรมให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือความเป็นดิจิทัล สามารถที่จะสร้างจุดเด่นหรือคุณค่าให้แก่ชุมชนเพื่อที่จะนำไปต่อยอด พัฒนา และออกแบบการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์กับชุมชนและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

นอกจากการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวตามหลักธรรมภิบาลที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่าง ‘การผลักดันการท่องเที่ยวยั่งยืน’ และ ‘การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน’ แล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเครื่องมืออื่นๆ ร่วมด้วย

ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อีกทั้งภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย การสนับสนุนการลงทุน และที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมเพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวในชุมชน หรือเมืองรอง สะดวกสบายมากขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยว

ซึ่งการทำให้จังหวัดต่างๆ มีเส้นทางที่เชื่อมโยงติดต่อกัน จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถกระจายไปยังชุมชนในเมืองรองได้มากขึ้นนั่นเอง

อีกประการที่สำคัญ คือ การพัฒนาแพลตฟอร์มท่องเที่ยวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างฐานข้อมูลในการท่องเที่ยวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดการสัมผัสน้อยที่สุด เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปราะบางอยู่ในขณะนี้ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ควรร่วมมือกันในภาคส่วนของตนเอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทั้ง 2 ปัจจัยนี้ เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน

บทความชิ้นนี้เป็นผลงานของ นายอานันท์ ไชยธรรม, นางสาวพัณณิกา นนท์ธีรกร, และนางสาวสุพิชญา บรรเจิดเวหา จากทีม Mp6 ผู้เข้าแข่งขันการประกวดนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า