Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ยางพารา 10 ไร่ ที่ใกล้จะได้เวลากรีด เปรียบเสมือนความหวังรำไรของแม่ผู้ตั้งใจเก็บเงินส่งลูก 2 คน เรียนหนังสือ แต่แสงแห่งความหวังนั้นกลับดับวูบ เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทเข้ามายังบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง และกล่าวหานางแสงเดือน ตินยอด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง) ว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ แล้วขู่บังคับให้เธอตัดต้นยางทั้งหมดทิ้งเสีย

“เขาบอกว่าถ้าเราไม่ตัด เขาจะเอาคดีมาให้ ตอนนั้นยางเราก็ใกล้จะกรีดแล้ว ลูกเราก็เรียนอยู่ ก็ต้องตัดไปทั้งน้ำตา เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปส่งลูกเรียน” แสงเดือนเล่า

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2556 ก่อนจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในปี 2558 แสงเดือนไม่ใช่คนแรกที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า ตอนนั้นชาวบ้านแม่กวักจึงกำลังร่วมมือกันจัดทำแผนที่ชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินไปทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ซึ่งจากประวัติชุมชนและคำบอกเล่าของชาวบ้านแม่กวักชี้ว่าชาวบ้านอยู่อาศัยในบริเวณนั้นมาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนฯ เมื่อปี 2514 ซึ่งภายหลังมีภาพถ่ายทางอากาศยืนยันด้วย

รวมถึงเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ก็เคยอนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ในรูปแบบใบแสดงสิทธิ์ทำกิน (สทก.1) ตั้งแต่ปี 2528 เรื่อยมา จนมีการต่ออายุใบขออนุญาตทำกินในรูปแบบ สทก.2 เมื่อปี 2538 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป แต่ขณะเดียวกันได้มีการประกาศให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ส่งผลให้ชาวบ้านถูกจับดำเนินคดีหลังปี 2540

แสงเดือนคือหนึ่งในนั้น เธอถูกขู่บังคับให้ตัดยางพารา 700 กว่าต้น ทิ้งเป็นครั้งที่ 2 แม้ยืนยันว่าบรรพบุรุษของตนเองอาศัยทำกินในที่ดินนี้มาตั้งแต่ปี 2508 และมีเอกสาร สทก. ยืนยัน

3 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2561 เจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) สนธิกำลังเข้าตรวจยึดแปลงยางพาราของแสงเดือน และแจ้งข้อหา “ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” หลังจากนั้นพนักงานอัยการจังหวัดลำปางเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแสงเดือนและพวกรวม 2 คน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 โดยขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้จำเลยออกจากพื้นที่ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และชดใช้ค่าเสียหายในคดีโลกร้อนกว่า 1 ล้านบาท

แสงเดือนจึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เมื่อวันที่ 9-12 กันยายน 2562 หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ จนได้เข้าเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเรียกร้องให้อธิบดีกรมป่าไม้มอบหมายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้มอบหมายให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ และแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลเป็นพยานของฝ่ายจำเลยด้วย

18 ธันวาคม 2562 หลังผ่านกระบวนการสืบพยานจนครบทุกฝ่าย ศาลจังหวัดลำปางมีคำสั่งให้ยกฟ้องแสงเดือน โดยพิพากษาว่าการทำกินของจำเลยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งมีร่องรอยการทำกินมาตั้งแต่ปี 2497 เข้าหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จึงไม่ถือเป็นความผิดอาญา เมื่อไม่ผิดอาญาจึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายในคดีโลกร้อน นอกจากนั้นเรื่องอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ อ้างว่าเป็นของจำเลยก็ไม่มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าเป็นของจำเลยจริง จึงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

แต่พนักงานอัยการจังหวัดลำปางได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้ในวันที่ 8 กันยายน 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นัดแสงเดือนเข้ารับฟังคำพิพากษา ณ ศาลจังหวัดลำปาง หลังจากใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานกว่า 1 ชั่วโมง ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกแสงเดือนกับพวกรวม 2 คน เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมเป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท อีกทั้งมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองออกจากพื้นที่ป่าสงวนฯ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกด้วย

อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด แสงเดือนใช้เงิน 48,000 บาท จากการจำนำรถจักรยานยนต์มาซื้อหลักทรัพย์เพื่อประกันตนเอง เนื่องจากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ได้จัดเสวนาเพื่อตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมไทยในคดีที่ดินป่าไม้ รวมถึงผลกระทบของนโยบายทวงคืนผืนป่า จากกรณีศึกษา แสงเดือน ตินยอด ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แล้วเดินขบวนไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยนำมิติด้านวิถีชีวิตของชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากร รวมทั้งนโยบายของรัฐที่ผ่อนผันให้ประชาชนอยู่อาศัยและทำกินในป่าได้ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิใช่ใช้เพียงตัวบทกฎหมายอย่างเดียว

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนคดีเกี่ยวกับการบุกรุกป่าไม้ของกรมป่าไม้และอุทยานแห่งชาติฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายอย่างเข้มข้น โดยมีคดีบุกรุกป่าทั้งสิ้น 46,600 คดี จำแนกเป็นคดีในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ช่วง ต.ค. 2556 – ก.ย. 2561 จำนวน 34,804 คดี และในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ช่วง ต.ค. 2556 – ก.ย. 2562 จำนวน 11,796 คดี

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า