‘บมจ. เซ็ปเป้’ หรือ SAPPE โชว์ผลงาน Q2/66 เติบโตพุ่งทะยานด้วยรายได้รวม 1,692.7 ล้านบาท เติบโต 26.8% และกำไรสุทธิ 312.3 ล้านบาท เติบโต 86.7% ดันผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกทำรายได้รวม 3,248.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 587.1 ล้านบาท ทุบสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องอีกไตรมาส สร้างปรากฏการณ์ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศกวาดยอดขายต่อเนื่อง พร้อมประกาศอัพเป้าหมายรายได้ใหม่ เติบโต 30-35%
นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/2566 มีรายได้รวม 1,692.7 ล้านบาท เติบโต 26.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,334.5 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิ 312.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 167.3 ล้านบาท
ผลักดันให้ผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) มีรายได้รวม 3,248.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,475.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 587.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 320.7 ล้านบาท
ขณะที่อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยู่ที่ 18.8% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 13.5% นับเป็นการทำรายได้และกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) ต่อเนื่องแบบไม่หยุด
โดยปัจจัยสำคัญมาจากการเติบโตของยอดขาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีการเติบโตมากขึ้นในทุกภูมิภาค
ปัจจุบัน SAPPE ส่งออกสินค้าไปยัง 98 ประเทศทั่วโลก สัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศคิดเป็น 82.9% ของรายได้ ตลาดที่สำคัญและมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมาคือ ทวีปยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสที่มียอดขายไตรมาส 2/2566 เติบโตกว่า 160% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
“เรามองว่าฝรั่งเศสเป็น Trend Setter และได้สร้างโมเดล France First ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างน่าภูมิใจ ตอนนี้หากใครเดินทางไปฝรั่งเศส จะเห็นสินค้า Mogu Mogu (โมกุ โมกุ) ของไทยวางจำหน่ายในที่ต่างๆ ทั้งห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และร้านค้าดั้งเดิม (Traditional Trade) อย่างแพร่หลาย
“ซึ่งเราเล็งเห็นสัญญานการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีโอกาสกระจายสินค้าให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นได้อีกมาก จึงมีแผนวางจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลีกอื่นๆ ทั้งในฝรั่งเศสและประเทศรอบข้าง ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง Mogu Mogu (โมกุ โมกุ) เพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลังนี้”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SAPPE กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเราพยายามสร้างให้ผู้บริโภคมี Engagement กับ Brand ของเรามากขึ้น ซึ่งจากการศึกษา Consumer Insight และ Lifestyle ของผู้บริโภค นอกจากโมเดล France First ที่เราใช้กับผู้บริโภคในยุโรปแล้ว
ฝั่งเอเชียเราใช้โมเดล Korea First ผ่านกลยุทธ์ Global Influencer Marketing และ Tie-in ในซีรีส์เกาหลีของ Netflix ซึ่งสามารถสร้างให้เกิด Viral ในระดับ Regional และใน Global ได้ด้วย ต่อยอดความสำเร็จจากการที่ Mogu Mogu (โมกุ โมกุ) มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ ในช่องทางร้านสะดวกซื้อ (CVS) ครอบคลุมตลาดโมเดิร์นเทรดในเกาหลีใต้อยู่แล้ว
และเราปักหมุดสร้างให้ทั้งเกาหลีใต้และฝรั่งเศส เป็น Main Influencer ในแต่ละ Regional ซึ่งเราจะทำต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ผู้บริโภคจะได้เห็นธีมใหม่ๆ ของ Mogu Mogu (โมกุ โมกุ) ที่จะ Launch ในระดับ Regional Campaign มากขึ้น
ตลาดต่างประเทศให้การตอบรับสินค้า Mogu Mogu (โมกุ โมกุ) อย่างมาก ปัจจัยหลักมาจากตัวสินค้าที่มีความแตกต่าง มีความ Unique ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกของโลกที่ออกเครื่องดื่มที่ผสมวุ้นมะพร้าวชิ้นโต หรือ Snack Drink ขึ้นมา และค่อยๆ เข้าไปทดลองตลาด ทดลองกลุ่มลูกค้าก่อน แล้วค่อยเริ่มทำการตลาดที่เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น และขยายช่องทางการขายให้ครอบคลุมสามารถเข้าถึงผู้บริโภค
รวมทั้งพยายามสร้างให้ผู้บริโภคมี Engagement กับแบรนด์ ประกอบกับในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากประเทศไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคต่างประเทศ จึงยังมีช่องว่างให้เราได้เข้าไปทำการตลาดและสร้างยอดขายได้อีกมาก
ส่วนตลาดในประเทศก็มีการเติบโตต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะช่องทางร้านค้าดั้งเดิม (Traditional Trade) ซึ่งเราได้ขยายช่องทางเข้าสู่ร้านค้าในโรงเรียนมากขึ้น และออกผลิตภัณฑ์ใหม่รวม 10 รายการตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภค
“สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2566 คาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนทั้งจากการรุกเพิ่มยอดขายจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งครึ่งปีหลังนับเป็นหน้าร้อนของต่างประเทศ เราจึงเตรียมพัฒนาสินค้าใหม่ออกวางจำหน่ายในและต่างประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
“หัวใจสำคัญในการคิดค้นสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของ SAPPE คือพยายามมองหาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรกรไทยให้มี Value มากขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้มากขึ้นไปอีกในอนาคต
“และด้วยแนวโน้มการเติบโตทั้งหมดที่กล่าวมา เราจึงพิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ใหม่ปี 2566 ที่จะสามารถเติบโต 30-35% จากเดิมที่ตั้งไว้ 25% เพื่อให้บรรลุแผนการสร้างรายได้สู่ 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2565 – 2569) ” นางสาวปิยจิต กล่าว