ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ชี้แจงปมถูกร้องปฏิบัติงานไม่โปร่งใส หลังผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ตั้งกรรมการสอบ
ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมด้วยนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ ชี้แจงกรณีที่ถูกเขียนบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวม 11 ข้อหา ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ อาคารเฉลิมพระเกียรติ การกีฬาแห่งประเทศไทย
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า มีผู้ร้องทุกข์ในการยื่นบัตรสนเท่ห์ โดยไม่ระบุชื่อ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ต่อ ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นายก้องศักดิ์ ยอดมณี โดยระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานอันมิชอบจาก ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวม 11 ข้อหา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้วันที่ 7 ธ.ค. 2565 ขณะที่บัตรสนเท่ห์มีสื่อมวลชนหลายสำนักนำไปเผยแพร่ ทำให้ ดร.สุปราณี เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกิดการเข้าใจผิด ซึ่งเรื่องนี้ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยจะต้องรับผิดชอบ พร้อมเตรียมดำเนินคดีกับทาง กกท. ด้วย
ขณะที่ ดร.สุปราณี กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ตามกฎระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ ถูกว่าจ้างโดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพราะฉะนั้นตนเองเป็นลูกจ้างของกองทุนฯ ไม่ใช่ลูกจ้างของ กกท. ซึ่งไม่มีอำนาจในการอนุมัติเงิน ส่วนเงินจากกองทุนฯ จะถูกส่งต่อไปยังกองคลังของ กกท. โดยมีผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้จ่าย จึงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเงินกรณีดังกล่าว ส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ นั้น มีหน้าที่แนะนำ และอำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายเงินจากกองทุนฯ เท่านั้นเอง
นายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า การทำบัตรสนเท่ห์ระบุถึง ดร.สุปราณี มีมูลเหตุจากการเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่ชอบมาพากล ความไม่โปร่งใสกับการกีฬาแห่งประเทศไทย หลายประการ
1.นักกีฬาบางสมาคมฯ ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงนักกีฬา หักค่าหัวคิว และใส่ชื่อนักกีฬาผี
2.การกีฬาแห่งประเทศไทยให้สมาคมกีฬาต่างๆ กู้ยืมเงินกองทุน ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2564 หลาย 100 ล้านบาท ปัจจุบันมีหนี้คงค้างอยู่ประมาน 400 ล้านบาทแต่มีหลักฐานเพียงกระดาษแผ่นเดียว
3.เงินรางวัลนักกีฬา มีความซับซ้อน ทำให้คณะอนุกรรมการพิจารณาแตกต่างจากที่สมาคมคาดการณ์ไว้ จนเกิดความไม่พอใจเกิดขึ้น
4.ตั้งคำถามว่ามีกระบวนการเตะตัดขา ดร.สุปราณี หรือไม่ เพราะสัญญาจ้างจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
ส่วนสมาคมสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ IFMA ที่มีการพูดถึงในบัตรสนเท่ห์ว่าให้เงินกว่า 393 ล้านบาทกับ IFMA ซึ่งไม่เป็นความจริง และผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันในบอร์ดกองทุนแล้วว่าไม่มีการให้เงิน IFMA แต่อย่างใด