SHARE

คัดลอกแล้ว

ทรายขาวสะอาดของชายหาดสวนกง เต็มไปด้วยผักบุ้งทะเลสลับกับเรือประมงขนาดเล็กที่จอดเรียงรายในตอนสายอันเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ชาวประมงกลับมาจากหาปลาแล้ว ถัดไปเป็นทิวดินที่ไหวตัวเป็นระลอกล้อกับคลื่นในทะเลปูด้วยหญ้าที่เกิดตามธรรมชาติและป่าสน เหมาะแก่เป็นที่ในการหย่อนใจของคนที่ผ่านไปผ่านมา พื้นที่นี้คือพื้นที่ที่ปรากฎในแผนโครงการเขตพัฒนา เศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้านบางส่วนที่ฝากปากท้องไว้กับความอุดมสมบูรณ์ของทะเล

เกิดอะไรขึ้นที่จะนะ

เรื่องของอำเภอจะนะต้องเริ่มอธิบายจากปี 2559 รัฐบาลคสช.มีโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งตอนแรกจะพัฒนา 3 พื้นที่ใน ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ แต่ผ่านมาอีก 3 ปี ชื่อของอ.จะนะก็ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นเมืองที่ 4 ในลักษณะที่ผู้จัดการออนไลน์เรียกว่า “เหาะมาเหนือเมฆ” เนื่องจากคนในพื้นที่ยืนยันว่าไม่เคยได้รับทราบเรื่องนี้มาก่อน

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 พ.ค. 2562 อนุมัติหลักการการสร้างเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ชงมาการประชุมของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 21 ก.พ. 2562 ผู้ต่อต้านหยิบยกเอาวันที่อนุมัตินี้เองเป็นหนึ่งเหตุผลมองว่าโครงการนี้ “ไม่สง่างาม” เนื่องจากเป็นการรวบหัวรวบหางอนุมัติทิ้งทวนก่อนที่ครม.ของคสช.กำลังจะหมดวาระ ช่วงพฤษภาคม 2562 ยังไม่ได้ทำการสำรวจความพร้อมต่าง ๆ ของคนในพื้นที่ ของฝ่ายราชการ ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก

อย่างไรก็ดี ตัวโครงการนี้วางแผนเปลี่ยนพื้นที่ 16,753 ไร่ใน ต.นาทับ สะกอม และตลิ่งชัน ในอ.จะนะ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ มีท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา เช่น โรงต่อกังหันลมไฟฟ้า โรงสร้างหัวรถจักร เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้มีศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ดำเนินการ

หลังมติครม.นี้ออกมา การถกเถียงของคนในพืนที่ก็เริ่มขึ้น

ตัวเลขการจ้างงาน หรืองานที่ยั่งยืน?

ปัญหาคลาสสิกของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่คือปัญหาว่าด้วยการจ้างงานกับสิ่งแวดล้อม

ศอ.บต.ประเมินว่านิคมอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดงาน 100,000 ตำแหน่ง และสร้างเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้ต่อยอดการศึกษาของตนเองเพื่อเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะสร้าง

เขาจะมีทุนการศึกษาให้กับเยาวชนในหมู่บ้านเกี่ยวกับสายอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่โครงการจะขึ้น ที่จริงแล้วหนูชอบกฎหมายแต่ว่าหนูจะเรียนเกี่ยวกับวิศวะค่ะ จะได้กลับมาทำงานในหมู่บ้าน” ฟาทียา หว่าหลำ เยาวชนจากต.สะกอม อายุ 17 ปีเปิดเผยกับ workpointTODAY 

ขณะที่เรื่องเดียวกัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่าง ไครียะห์ ระหมันยะ หรือน้องย๊ะ ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ ที่เดินสายต่อสู้ต่อต้านโครงการนี้มาอย่างยาวนานก็มองว่าการประเมินดังกล่าวเป็นเรื่อง “ขายฝัน” โดยไครียะห์เติบโตมาจากหมู่บ้านชาวประมง เธอชี้ให้เห็นว่าการให้ทุนที่ศอ.บต.เสนอเป็นการให้เฉพาะคนที่เรียนเก่ง “บ้านหนูจะมีคนเรียบจบสักกี่คน แล้วคนที่เรียนไม่เก่งคนที่เรียนไม่จบจะให้ไปเป็นแรงงานค่าแรงต่ำหรอ ในเมื่อถ้าเขาเป็นชาวประมงให้โง่ยังไงก็ยังมีอาหารกิน”

การพัฒนา vs ความมั่นคงของอาหาร

อีกข้อหนึ่งที่มีการถกเถียงกันคือ แนวทางการพัฒนาด้วยโครงการขนาดใหญ่ตอบโจทย์ของโลกในปัจจุบันที่ต้องการความยั่งยืนหรือไม่

ไครียะห์ ระหมันยะชี้ว่าในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งชี้ให้เห็นว่าคนต้องการงานที่ยั่งยืน ไม่ใช่งานโรงงานที่เมื่อปิดก็ต้องถูกลอยแพเป็นคนตกงาน ขณะเดียวกันแหล่งอาหารที่ยั่งยืนจะทำให้คนอดตายน้อยลง

ความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในความเสี่ยงของโลกยุค 2020 ตามข้อกังวลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ระบุว่าขณะนี้ความมั่นคงทางอาหารของโลกเปราะบางมากขึ้นจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ขณะที่ธนาคารโลกระบุว่าสถานการณ์โควิดทำให้โลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะขาดอาหาร

“ทะเลจะนะเป็นแหล่งผลิตอาหารให้คนสงขลาและอาเซียน โรคระบาดโควิด คนจะนะก็สามารถหากินเองได้ คนจะนะก็สามารถที่จะหากินกับทะเลได้ เราไม่อด” สาวน้อยจากหมู่บ้านชาวประมงวัย 17 ยังชี้ว่าในภาวะที่อาหารขาดแคลน ชาวชายหาดสวนกงยังได้บริจาคอาหารให้แก่คนในหาดใหญ่และเป็นแหล่งอาหารให้กับโรงพยาบาลจะนะที่กรำศึกโควิด-19

งานวิจัยเรื่องแผนที่คุณค่าทรัพยากรและตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร ควน ป่า นา เล กรณีศึกษาอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชี้ว่าฐานทรัพยากรทะเลในพื้นที่อ.จะนะมีมูลค่า 19,746,241.75 บาทต่อเดือน เป็นแหล่งผลิตโปรตีนที่สำคัญของอำเภอจะนะ

เกิดเป็นข้อกังวลว่าหากมีนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาอาจกระทบฐานทรัพยากรประมงชายฝั่งที่นอกจากจะเป็นแหล่งรายได้แล้ว ยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้อยู่กันได้โดยไม่ต้องพึ่งพากลไกตลาดมากนักและเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารของโลกที่กำลังจะเข้าภาวะเสี่ยงต่อความอดอยากท่ามกลางสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงและโควิด-19

สิ่งแวดล้อมและการชดเชยด้วยตัวเงิน

เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงกว้างที่สุด ฝ่ายสนับสนุนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่การพัฒนาจะต้องแลกมาด้วยธรรมชาติบางส่วนสูญเสียไป ขณะที่อีกฝ่าย มองว่าสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เสียไปประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้

ใครบ้างไม่รักบ้านรักเมือง ใครบ้างไม่รักธรรมชาติ แต่เราจะหมกมุ่นไม่ได้ ผลกระทบก็ว่ากันไป ก็แก้ไขกันเป็นธรรมดา- เพราะทุกสิ่งที่อย่างมีผลกระทบกันหมดแหละ แต่ถ้าเขามาแก้ไขให้ เขาเยียวยาให้ มันก็โอเคแล้วสำหรับก๊ะ” เจ๊ะโสง หว่าหลำ ชาวบ้านจากอำเภอสะกอมเผย พร้อมกล่าวว่าตนก็เคยทำงานที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต แม้มีโครงการขนาดใหญ่เช่นนั้นคนก็อยู่ได้

ขณะที่ประชาชนฝ่ายสนับสนุนมองการเปลี่ยนแปลงด้วยสายตาแบบการคิดคำนวนผลได้ผลเสีย กลุ่มผู้ต่อต้านมองด้วยสายตาแบบนักสิ่งแวดล้อมที่มองว่าธรรมชาติไม่อาจชดเชยได้ด้วยการตีค่าเป็นเงิน

คุณบอกว่าไอ้นี่ก็ไม่ถึง ไม่เกินค่ามาตรฐาน ไอ้นี่ก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน ไม่เกินค่ามาตรฐานสัก 10 ชนิดแล้วเอามารวมกันแล้วมันจะเกินไหม” รุ่งเรือง ระหมันยะ ตั้งคำถาม

“คนต้องการการพัฒนาในมุมมองไหน ตอนนี้ที่คนโหยหาที่สุดคือสุขภาพอากาศ ไอ้ PM2.5 ที่คนกำลังจะลืม ๆ ไปนี่ ตอนนั้นคนกรุงเทพเขาเดือดร้อนแค่ไหน เขาลำบากแค่ไหน เราต้องหันไปมองตรงนั้นแล้วก็กลับมาย้อนคิดว่า เราจะเอาอย่างนี้กันจริง ๆ เหรอ

“บังบ่าว ยะหมันยะ” ที่ได้รับการยกย่องจากคนในพื้นที่ว่าเป็น ‘เจ้าทะเล’ ในการหาปลายืนยันความเชื่อของเขาว่า แน่นอนว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกต้องลอกชายฝั่งเขากังวลว่าการต้องขุดหาดทรายเพิ่มจะไปทำลายที่อยู่อาศัยของปลา แท่งคอนกรีตแปลกปลอมยื่นออกไป 3 กิโลเมตร น้ำเปลี่ยน ส่วนคนที่จะลำบากที่สุดก็หนีไม่พ้นชาวประมงอย่างพวกเขา

“พร้อมดำเนินตามกระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย” โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า 500 นาย “รักษาความปลอดภัย” เวทีแสดงความคิดเห็น

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2563 มีกาารจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จัดโดยศอ.บต.ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ทีมข่าวworkpointTODAY มีโอกาสสัมภาษณ์ดร.ชนธัญ​ แสงพุ่ม​ รองเลขาธิการ​ ศอ.บต.​ ถึงข้อถกเถียงต่อโครงการ

“การพัฒนามีส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย แต่จะทำยังไงให้ความแตกแยกและความเห็นด้วยมาประสานร่วมกันเอาจุดยืนเอาความเป็นจุดยืนมาวางกองกันแล้วเดินร่วมกันครับ” ดร.หนุ่มผู้ดำเนินโครงการกล่าว

อย่างไรก็ดี เวทีดังกล่าวได้รับการตั้งคำถามมากถึงความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม บริเวณหน้าโรงเรียนจะนะวิทยาพบทหารตำรวจเจำนวนมาก บริเวณสนามหญ้าของโรงเรียนปรากฎชุดสลายฝูงชนจัดเตรียมไว้

นางสาวเบญญา สส.พรรคก้าวไกลที่ไปสังเกตการณ์ทวีตว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าดูสถานการณ์กว่า 1,000 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่กั้นแนวรั้วกรองคนเข้าพื้นที่ตั้งแต่บริเวณสามแยกจะนะ ห่างออกไปจากพื้นที่จัดเวที 6 กิโลเมตร นั่นคือรัศมีที่เข้าใกล้ที่สุดที่กลุ่มผู้คัดค้านจะแสดงความไม่เห็นด้วยได้

เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เรื่องตัวเลขการจ้างงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นบทสนทนาแห่งอนาคตที่จำเป็นต้องได้รับการประเมินอย่างรอบด้าน แต่ภาพของเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลใจว่าจะมีการสร้างฉันทามติจากทุกฝ่ายหรือไม่ โครงการเมืองต้นแบบมีเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โครงการดังกล่าวสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในประเด็นสันติภาพจะเกิดหรือไม่จะเป็นคำถามที่ยังสร้างความสงสัยต่อไป

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า