SHARE

คัดลอกแล้ว

พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาเพื่อใช้เยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ผ่านการลงมติ “เห็นชอบ” ของสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว

แต่หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยว่า พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินเท่าไหร่กันแน่ 1 ล้านล้านบาท หรือ 1.9 ล้านล้านบาท แล้วรัฐบาลจะนำเงินจำนวนมหาศาลนี้ไปใช้ทำอะไร ประชาชนอย่างเรา ๆ จะต้องมีส่วนรับผิดชอบ “หนี้” อย่างไรบ้าง เรามาไขทุกข้อข้องใจไปพร้อมกันครับ

1) พ.ร.ก. 3 ฉบับ ที่เพิ่งผ่านสภาฯ ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทใช่หรือไม่

ไม่ใช่ครับ พ.ร.ก. 3 ฉบับ ที่เพิ่งผ่านสภาฯ เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 2563) แบ่งออกเป็น

1.  พ.ร.ก. เงินกู้ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือชื่อเต็ม ๆ คือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

2.  พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือชื่อเต็ม ๆ คือ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

3.  พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือชื่อเต็ม ๆ คือ พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563

ดังนั้น รัฐบาลจะสามารถกู้เงินได้จริง ๆ ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 9 แสนล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่ง ธปท. ยืนยันว่าเงิน 9 แสนล้านบาท ไม่ได้กู้และไม่ได้นำเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ แต่ ธปท. ใช้วิธีการจัดสรรสภาพคล่องในระบบ นำเงินส่วนเกินที่มีอยู่แล้วมาเติมส่วนที่ขาด โดยปัจจุบัน ธปท. มีสภาพคล่องส่วนเกินกว่าล้านล้านบาท

2) ประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้ 1 ล้านล้านบาทนี้ด้วยใช่หรือไม่

ใช่ครับ เมื่อรัฐบาลคือผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศแทนคนไทยทุกคน เมื่อรัฐบาลกู้เงิน เงินกู้นั้นถือว่าเป็น “หนี้สาธารณะ” หรือหนี้ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบในฐานะเจ้าของประเทศ

เวลาใช้หนี้ รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีขึ้นมาเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งงบประมาณที่ว่าก็มาจาก “ภาษี” ที่พวกเราทุกคนจ่ายไปนั้นแหละครับ ดังนั้น ผมถึงบอกว่าเราทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้ 1 ล้านล้านบาทนี้ด้วย

3) รัฐบาลจะไปกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจากที่ไหน

รัฐบาลมีวิธีกู้เงินหลากหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น การขายพันธบัตรออมทรัพย์ ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเวลาเราซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ความจริงแล้วนั่นคือเราปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลครับ

นอกจากนั้น รัฐบาลก็อาจไปขอกู้กับสถาบันการเงินโดยออกเป็นพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วสัญญาใช้เงิน และอาจไปขอกู้เงินจากองค์การระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศก็ได้ ซึ่งปกติรัฐบาลจะไม่กู้เงินเพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่จะกระจายการกู้ไปในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง

4) รัฐบาลจะเริ่มกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเมื่อไหร่

รัฐบาลเริ่มกู้เงินไปแล้วประมาณ 170,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พ.ค. 2563) โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินและพันธบัตรออมทรัพย์ ถ้าใครได้ไปจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง ก็แปลว่าเราได้ร่วมปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลแล้วครับ

5) ทำไมรัฐบาลถึงกู้เงินก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.

เพราะ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2563 หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งการออก พ.ร.ก. เป็นการให้อำนาจรัฐบาลออกกฎหมายได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ โดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากสภาฯ ก่อน

แต่ถึงแม้ว่า พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ไปแล้ว รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้รัฐบาลจะต้องนำ พ.ร.ก. นั้นไปเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาโดยเร็ว ดังนั้น การที่สภาผู้แทนราษฎรเรียกประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 พ.ค. 2563) ก็เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด

แล้วหลังจากนี้ รัฐบาลเอาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปทำอะไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องย้ำก่อนว่ารัฐบาลยังไม่ได้กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนะครับ จำนวนเงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินสูงสุดที่รัฐบาลจะกู้ได้เท่านั้น โดยรัฐบาลจะทยอยกู้เงินไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการใช้เงิน ทั้งนี้ พ.ร.ก. กู้เงิน มี 2 มาตรการย่อย คือ 1) เยียวยาประชาชนและดูแลด้านสาธารณสุข วงเงิน 6 แสนล้านบาท และ 2) มาตการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท

เงินกู้ในส่วนของมาตรการแรก รัฐบาลได้เริ่มนำไปใช้จ่ายแล้ว นั่นคือการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้กับผู้ที่มีสิทธิในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” รวมถึงเงินเยียวยาเกษตรกร ครอบครัวละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็มาจากเงินกู้ก้อนนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนเงินกู้ในมาตรการที่สอง รัฐบาลชี้แจงว่าจะนำไปทำโครงการสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่ได้เริ่มเบิกจ่ายแต่อย่างใด

ทีนี้ตัดภาพมาที่ พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับ วงเงิน 9 แสนล้านบาทของ ธปท. กันบ้าง

6) ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า พ.ร.ก. 2 ฉบับนี้ ไม่ใช่การกู้เงิน แล้ว ธปท. เอาเงิน 9 แสนล้านบาทมาจากไหน

ตามที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่า พ.ร.ก. แบงก์ชาติ 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้วิธีการจัดสรรสภาพคล่องในระบบ โดยนำเงินส่วนเกินที่มีอยู่แล้วมาเติมส่วนที่ขาด ซึ่งปัจจุบัน ธปท. มีสภาพคล่องส่วนเกินกว่าล้านล้านบาท

และในการปล่อย Soft Loan ให้กับ SMEs หรือการเข้าไปช่วยซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินรวม 9 แสนล้านบาทนี้ ธปท. ไม่ได้ให้เงินไปฟรี ๆ เหมือนกับโครงการของรัฐบาล แต่ผู้กู้หรือผู้ออกตราสารหนี้จะต้องนำเงินมาใช้คืน ธปท. ทุกบาททุกสตางค์เมื่อครบกำหนด

ดังนั้น พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงไม่ใช่การกู้เงิน และไม่ถูกนำมารวมเป็นหนี้สาธารณะเหมือน พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

7) ธปท. นำเงินมาปล่อยให้กู้หรือช่วยซื้อตราสารหนี้เต็มวงเงิน 9 แสนล้านบาทเลยหรือไม่

ไม่ใช่ครับ วงเงิน 9 แสนล้านบาทเป็นเพียงกรอบใหญ่ที่ ธปท. สามารถใช้เงินได้เท่านั้น ส่วนจะใช้หรือไม่ จะใช้เท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความจำเป็น อย่างสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 5 แสนล้าน ณ ปัจจุบันนี้ ธปท. เพิ่งปล่อยกู้ไป 58,208 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนกองทุน BSF ที่ตั้งวงเงินไว้ 4 แสนล้านบาท ตอนนี้ยังไม่ได้ใช้แต่อย่างใด

8) ทำไม ธปท. ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ คิดดอกเบี้ยแค่ 0.01% แล้วให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ Soft Loan ให้ SMEs คิดดอกเบี้ย 2%

เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รับความเสี่ยงด้านเครดิต หมายความว่าถ้าธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ SMEs ไปแล้วลูกหนี้ผิดนัดชำระขึ้นมา ธนาคารพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบหนี้เสียนั้น และยังจะต้องนำเงินมาคืนเงิน ธปท. เต็มจำนวนทุกบาททุกสตางค์ พร้อมกับดอกเบี้ย 0.01%

ดังนั้น ธปท. จึงยอมให้ธนาคารพาณิชย์บวกดอกเบี้ยเข้าไปเป็น 2% เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่อาจเจอหนี้เสีย รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อ Soft Loan กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินชดเชยให้ 60 – 70% ของยอดหนี้

9) พ.ร.ก. BSF อุ้มเจ้าสัวจริงหรือไม่

BSF ย่อมาจาก Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือแปลเป็นไทยง่าย ๆ คือ พ.ร.ก. ที่ออกมาเพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้)

การที่ ธปท. ต้องดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นเพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมีขนาดใหญ่ถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 20% ของ GDP ซึ่งตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งออมเงินที่สำคัญ ดังนั้น ธปท. จึงต้องออกนโยบายมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดสารหนี้ และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากมีเงินออมอยู่ในตลาดตราสารหนี้ ผ่านกองทุนรวม สหกรณ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนประกันสังคม เพียงแต่เราอาจจะไม่ทราบ ฉะนั้น พ.ร.ก. BSF จึงไม่ได้ช่วยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ซึ่งมีคนทั่ว ๆ ไปลงทุนอยู่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

นอกจากนี้ กองทุน BSF จะเข้าไปช่วยซื้อหุ้นกู้ของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) เท่านั้น โดยบริษัทที่จะมาขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF จะต้องหาเงินทุนส่วนใหญ่มาให้ได้ก่อน หลังจากนั้น BSF ถึงจะช่วยสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่ขาด และจะคิดต้นทุนการกู้ยืมสูงกว่าในตลาดปกติ ดังนั้น ถ้าธุรกิจต่าง ๆ สามารถระดมทุนจากช่องทางอื่นได้ ก็จะไม่มาขอให้กองทุน BSF ช่วย เพราะมีต้นทุนสูงกว่า

10) ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบเงิน 9 แสนล้านบาทด้วยหรือไม่

มี เพราะกระทรวงการคลังจะต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยและความเสียหายบางส่วนจากการที่ ธปท. ปล่อยกู้ Soft Loan ให้ SMEs หรือช่วยซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนแล้วเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น เงินที่กระทรวงการคลังจะนำมาจ่ายนั้น ต้องตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งก็มาจากภาษีของประชาชนนั่นแหละครับ

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า