SHARE

คัดลอกแล้ว

สัปดาห์ก่อน คุณหนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์ ได้ออกมาประกาศว่าหย่าขาดจากภริยา คุณติ๊ก กนิษฐรินทร์ พัชรภักดีโชติ แล้วโดยโพสต์ข้อความลงอินสตาแกรมว่า

เนื่องจากในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีบุคคลมาตามหาคุณติ๊กที่บ้านและโทรศัพท์มาหาผมหลายครั้ง ซึ่งผมเองก็ทำงานเกือบทุกวัน จึงขอความกรุณาผู้ใดก็ตามที่ได้ทำสัญญาหรือทำธุรกรรมทางด้านการเงิน หรือด้านต่าง ๆ กับคุณติ๊ก กนิษฐรินทร์ พัชรภักดีโชติ ช่วยติดต่อกับคุณติ๊กโดยตรงและไม่ต้องมาที่บ้านผมกับลูก เพราะผมกับลูกไม่ทราบเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะสถานภาพของเราทั้งสองได้หย่าขาดกันอย่างเป็นทางการเรียบร้อยตามวัน เวลา ดังกล่าว และคุณติ๊กก็ไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านของผมแล้ว เราสองคนต่างทำแค่หน้าที่พ่อกับแม่ของวีจิตามข้อตกลงที่ระบุตามเอกสารที่ระบุไว้เท่านั้น ขอบพระคุณครับผม”

เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้ว หลายคนคงเข้าใจว่าคุณหนุ่มต้องการสื่อสารไปถึงคู่ค้าหรือเจ้าหนี้ของคุณติ๊ก ว่าถ้าจะติดต่อหรือติดตามเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จากคุณติ๊ก ให้ไปติดต่อกันโดยตรง ไม่ต้องมาตามที่บ้านคุณหนุ่มอีก เพราะตอนนี้คุณหนุ่มได้หย่าขาดจากคุณติ๊กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า ในกรณีที่คู่สมรสของเราไปก่อนหนี้ใด ๆ ขึ้น เราในฐานะคู่สมรสจะต้องร่วมรับผิดชอบหนี้นั้นด้วยหรือไม่ วันนี้ผมจะพาไปไขข้อข้องใจเรื่องนี้กันครับ

เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘สินส่วนตัว’ และ ‘สินสมรส’ กันอยู่บ้าง แต่ความจริงแล้วในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของคู่สามีภริยาไม่ได้มีแค่ฝั่งทรัพย์สินเท่านั้น ยังมีเรื่องของหนี้สินด้วย

โดยหนี้สินของสามีภริยานั้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภทเช่นกัน คือ หนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยา และ หนี้ร่วมของสามีภริยา

มาเริ่มกันที่ หนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยา หนี้สินในส่วนนี้กฎหมายกำหนดว่า สามีหรือภริยาที่ก่อหนี้นั้นไม่ว่าจะก่อนหรือระหว่างสมรส หากจะต้องชำระหนี้ดังกล่าวก็ต้องชำระด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน แต่ถ้ายังเหลือหนี้อยู่ จึงค่อยชำระด้วยสินสมรสส่วนที่เป็นของฝ่ายนั้น

พูดง่าย ๆ ภาษาชาวบ้านก็คือหนี้ส่วนตัวของใคร คนนั้นต้องรับผิดชอบ

ยกตัวอย่างเช่น สามีไปก่อหนี้ส่วนตัวมา 2 ล้านบาท สามีมีทรัพย์สินส่วนตัว 5 แสนบาท และมีสินสมรสร่วมกันกับภริยา 2 ล้านบาท

เวลาใช้หนี้ เจ้าหนี้ต้องยึดเอาจากสินส่วนตัวของสามีก่อน 5 แสนบาท แล้วหลังจากนั้นจึงไปยึดเอาจากสินสมรสในส่วนที่เป็นของสามี ซึ่งก็คือครึ่งหนึ่งของสินสมรส หมายความว่าเจ้าหนี้จะยึดเอาจากสินสมรสได้เพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น

เจ้าหนี้ไม่สามารถไปยึดเอาสินสมรสในส่วนที่เป็นของภริยามาใช้หนี้ส่วนตัวของสามีได้

สรุปแล้วตามตัวอย่างนี้ เจ้าหนี้จะสามารถยึดเงินส่วนตัวของสามี (5 แสนบาท) และสินสมรสในส่วนของสามี (1 ล้านบาท) ได้เท่านั้น ส่วนหนี้ที่เหลืออีก 5 แสนบาท เจ้าหนี้ไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องรอให้สามีคนนั้นหาเงินมาชดใช้เพิ่มเติมภายหลัง

มาต่อกันที่ หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า สามี-ภริยา นั้นหมายถึงสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แค่เป็นแฟนกัน หรืออยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียน ไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแต่อย่างใด

เมื่อสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปก่อหนี้ใด ๆ ขึ้น กฎหมายไม่ได้บอกว่าหนี้ที่ก่อขึ้นทั้งหมดนั้นจะต้องเป็นหนี้สินที่สามีและภริยาต้องร่วมกันรับผิดชอบนะครับ

มีเพียงหนี้ 4 ประเภทเท่านั้น ที่กฎหมายกำหนดให้สามีและภริยาต้องรับผิดชอบร่วมกัน คือ

1) หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ซึ่งหนี้ที่ใช้ในการดูแลครอบครัวไม่ได้หมายถึงแค่ตัวสามีหรือภริยาเท่านั้น แต่รวมไปถึงบุคคลอื่นในครอบครัวด้วย เช่น บุตรเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ถ้าสามีหรือภริยาไปกู้เงินมาเพื่อใช้รักษาบุตร อีกฝ่ายหนึ่งต้องร่วมรับผิดชอบในหนี้จำนวนนั้นด้วย

2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส เช่น สามีไปกู้เงินมาซ่อมแซมบ้านที่เป็น ‘สินสมรส’ แบบนี้ภริยาต้องร่วมผิดชอบด้วย

3) หนี้ที่เกิดขึ้นจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน เช่น สามีไปกู้เงินมาสร้างตึกแถวเพื่อปล่อยเช่าในที่ดินของภริยา แบบนี้ถือว่าเงินกู้เป็นหนี้ร่วมที่ภริยาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันว่าจะรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งการให้สัตยาบันนั้นจะทำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น สามีลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินที่ภริยาไปกู้เงินมาใช้ส่วนตัว แบบนี้สามีต้องร่วมรับผิดในหนี้ของภริยาด้วย

ดังนั้นในกรณีของคุณหนุ่ม ศรราม ที่หลายคนสงสัยว่าจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของคุณติ๊กหรือไม่ เราต้องไปพิจารณาก่อนว่า หนี้ดังกล่าวนั้นเป็นหนี้ร่วมหรือเป็นเพียงหนี้ส่วนตัวของคุณติ๊กแต่เพียงฝ่ายเดียว หากเป็นหนี้ร่วมคุณหนุ่มก็ต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้ด้วย แม้ว่าจะหย่าไปแล้ว แต่ถ้าเป็นหนี้ส่วนตัวของคุณติ๊ก แบบนี้คุณหนุ่มไม่ต้องร่วมรับผิดชอบแต่อย่างใด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า