SHARE

คัดลอกแล้ว

ศบค.เผย ติดโควิดรายใหม่  2,048 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 ราย ชี้ผู้เสียชีวิตระยะหลังอายุน้อยลง-อาการทรุดไว เผยเร่งจัดเตียงให้เพียงพอกับผู้ป่วย ขออย่าเพิ่งหมดกำลังใจ

วันที่ 26 เม.ย. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ยอดสะสมผู้ติดเชื้อ 57,508 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,048 ราย แบ่งเป็นผู้ที่มาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 10 ราย ซึ่งมาจากอินเดีย 4 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ปากีสถาน 1 ราย จีน 1 ราย ตุรกี 1 ราย ฮังการี 1 ราย และกาตาร์ 1 ราย ซึ่งทั้งหมดพบเชื้อแต่ไม่มีอาการ  และผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,038 ราย ซึ่งมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,991 ราย และจากการตรวจค้นหาเชิงรุก 47 ราย ขณะที่มีผู้ที่รักษาหายแล้วอีก 480 ราย รวมผู้ที่รักษาหายแล้วจำนวน 31,593 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่กำลังรักษาอยู่ 25,767 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 20,461 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 5,306 ราย ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ที่รักษาอยู่นั้น แยกเป็นผู้ที่มีอาการหนัก 563 ราย และผู้ที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ 150 ราย ซึ่งผู้ที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจถือเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ที่มีอาการหนัก สะท้อนให้เห็นว่า ทรัพยากร บุคลากรทางการแพทย์ เตียง และอุปกรณ์ช่วยหายใจ จำเป็นต้องมีการสำรองไว้ ขณะที่ จำนวนการได้รับวัคซีนสะสมใน 77 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 25 เม.ย. 2564 รวม 1,149,666 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 972,204 ราย ผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 177,462 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 8 ราย ทำให้มียอดสะสมเป็น 148 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 141 เป็นชายไทย อายุ 61 ปี อยู่ที่ จ.ปทุมธานี  มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด มีปัจจัยเสี่ยงคืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 มีอาการไข้ เหนื่อย แน่นหน้าอก ต่อมาผลตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 และเสียชีวิตในวันที่ 24 เม.ย. 2564 ผู้เสียชีวิตรายที่ 142 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ มีประวัติเดินทางไปสถานที่เสี่ยง โดยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 มีไข้ ไอ หายใจลำบาก ต่อมาวันที่ 19 เม.ย. 2564 ผลตรวจพบเชื้อ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ผู้เสียชีวิตรายที่ 143 เป็นชายไทย อายุ 24 ปี อยู่ที่ จ.อุดรธานี  มีโรคประจำตัวคือ เนื้องอกหลอดน้ำเหลือง มีประวัติไปร่วมงานเลี้ยง โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 มีไข้ ถ่ายเหลว อาเจียน จากนั้นวันที่ 24 เม.ย. 2564 ผลตรวจพบเชื้อ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน ผู้เสียชีวิตรายที่ 144 เป็นชายไทย อายุ 92 ปี อยู่ที่ จ.ชัยภูมิ มีโรคประจำตัวคือ หัวใจขาดเลือด มีปัจจัยเสี่ยงคือ ญาติมาเยี่ยมจากต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 มีไข้เจ็บหน้าอก ต่อมาวันที่ 20 เม.ย. 2564 ผลตรวจพบเชื้อ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ผู้เสียชีวิตรายที่ 145 ชายไทย อายุ 63 ปี อยู่ที่ จ.ยะลา โรคประจำตัวคือ ไตวายเรื้อรัง มีประวัติเสี่ยงคือ ญาติมาเยี่ยมจากต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 มีอาการเหนื่อย ไอ และนอนไม่หลับ ต่อมาผลพบเชื้อเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2564

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 146 หญิงไทย อายุ 52 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ และโรคอ้วน พักอาศัยในพื้นที่เสี่ยง เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และเหนื่อย ผลพบเชื้อเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ผู้เสียชีวิตรายที่ 147 หญิงไทย อายุ 57 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ มีโรคประจำตัวคือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 ไอ ปวดหลัง ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2564 ผลพบเชื้อ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 อยู่ในระหว่างการสอบสวนปัจจัยการเสียชีวิต และผู้เสียชีวิตรายที่ 148 ชายไทย อายุ 60 ปี อยู่ในกรุงเทพฯ มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง อยู่ระหว่างสอบสวนปัจจัยเสี่ยง โดยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 มีไข้ ไอ เหนื่อย ต่อมาวันที่ 22 เม.ย. 2564 ผลพบเชื้อ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้เสียชีวิตในระยะหลังส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อจากผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ และอายุของผู้ที่เสียชีวิตในระยะหลังมีอายุน้อย รวมถึงเป็นผู้ที่มีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องการรอเตียงและการช่วยเหลือในโรงพยาบาลที่ล่าช้าเกินไป

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวม 147,783,379 ราย อาการรุนแรง 110,487 ราย รักษาหายแล้ว 125,320,873 ราย เสียชีวิต 3,122,538 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดคือ 1.สหรัฐอเมริกา 32,824,389 ราย 2.อินเดีย 17,306,300 ราย 3.บราซิล 14,340,787 ราย 4.ฝรั่งเศส 5,498,044 ราย และ 5.รัสเซีย 4,762,569 ราย ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดคือ 354,531 ราย และยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากที่สุดในโลกคือ 2,806 ราย  ส่วนประเทศในเอเชียพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ยอดกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงแหลมขึ้น แต่เหมือนจะมีทิศทางลง โดยตอนนี้ภาครัฐพยายามจัดสรรเตียงให้ผู้ป่วยที่กำลังรออยู่ คาดว่าจะสามารถจัดสรรเตียงให้ได้อย่างครบถ้วนภายในเร็วๆ นี้ แต่เราต้องขอฝากประชาชนให้ดำเนินการตามมาตรการดูแลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ในวันนี้ (26 เม.ย.) ได้หารือถึงศักยภาพเตียงรองรับผู้ป่วย และการที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเปิดโรงพยาบาลสนามในอาคารกองร้อย ตชด.จำนวน 14 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้รับทราบเรื่องการเพิ่มโรงพยาบาลสนามที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อรองรับผู้ป่วยจากคลัสเตอร์คลองเตยด้วย ส่วนการบริหารจัดการเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น เรากำลังพยายามเพิ่มศักยภาพในการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาให้มากขึ้น รวมถึงกรณีของโทรศัพท์สายด่วน ได้มีการเพิ่มจำนวนคู่สายแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การจัดหาเตียง และการพาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการดูแลที่เหมาะสมมีความรวดเร็วและมีมาตรฐาน ถ้าผู้ใดที่โทรศัพท์ไปยังหมายเลขสายด่วนแล้วไม่สามารถติดต่อได้ ขออย่าเพิ่งหมดกำลังใจ เพราะยังสามารถแจ้งผ่านสื่อมวลชนได้ด้วยเช่นกัน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ป่วยไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งตอนนี้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้น ทั้งที่บุคลากรเหล่านี้ทำงานหนัก และอาจรู้สึกเสียขวัญกำลังใจ อยากให้ประชาชนช่วยกันฉุดกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลง นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตฝากแจ้งเตือนประชาชนในเรื่องการบริโภคข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ต่อเนื่อง และเป็นเวลานาน ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดภาวะเครียดสะสม และภูมิคุ้มกันต่ำ จนเกิดภาวะรุนแรงได้
 
สำหรับมาตรการกักตัวอยู่ที่บ้านของผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงนั้น พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ศบค.มีการทบทวนทุกวัน เพราะบางรายวันที่หนึ่งอาการยังปกติดี แต่จากนั้นอาการกลับทรุดลงอย่างรวดเร็ว หรือการที่สภาพบ้านไม่เอื้ออำนวย แม้เราเน้นย้ำว่า การแยกกักอยู่ที่บ้านจะต้องมีการแยกพื้นที่กับบุคคลในครอบครัว ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน พยายามไม่ใช้ห้องน้ำเดียวกัน และไม่มีการคลุกคลีใกล้ชิด แต่กลายเป็นสิ่งเหล่านี้ทำได้ยาก ส่งผลให้คนอื่นในครอบครัวติดเชื้อ จึงยังไม่สามารถให้ประชาชนแยกกักอยู่ที่บ้าน เพราะยังเป็นอันตรายอยู่
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่จะประกาศล็อกดาวน์พื้นที่บางจังหวัด พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การล็อกดาวน์นั้น ในวันที่ 29 เม.ย. 2564 จะมีการทบทวนมาตรการในพื้นที่ ซึ่งจะพิจารณาว่าต้องมีการเพิ่มมาตรการอย่างไร จะล็อกดาวน์หรือไม่ วันนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับ ศบค. ในช่วง 1-2 วันนี้คงจะได้เห็นมาตรการการปรับความเข้มข้นมากขึ้นในบางพื้นที่ แต่ละกิจการ กิจกรรม แต่ละจุด ขอให้ทุกคนติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย
 
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีชาวอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินมายังประเทศไทยนั้น พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขอย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย และสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศอินเดียแล้ว ได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีการเช่าเหมาลำจากอินเดียตามที่เป็นข่าว และไม่มีการออกใบอนุญาตให้คนอินเดียเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ทั้งนี้ ขอให้สื่อมวลชนช่วยชี้แจงประเด็นดังกล่าวด้วย
 
ส่วนเป็นไปได้หรือไม่ที่จะระงับการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติในช่วงนี้ เพื่อนำทรัพยากรมาดูแลประชาชนในประเทศก่อน พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว ขอให้ประชาชนติดตามเรื่องนี้จากการประกาศของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนการดูแลคนไทยที่อยู่ต่างประเทศให้ได้กลับไทยนั้นไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิทธิที่คนไทยจะได้กลับบ้าน แต่เขาจำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่ให้แพร่เชื้อออกจากสถานกักตัวของรัฐ ซึ่งช่วงนี้ยอดการใช้สถานกักตัวของรัฐมีปริมาณน้อยลง จึงได้ปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบ Hospitel และโรงพยาบาลสนามบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ขอให้ทุกคนติดตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
 
พญ.อภิสมัย กล่าวเสริมด้วยว่า สำหรับระยะเวลาการกักตัวผู้ที่มาจากต่างประเทศ หลังจากพบว่าบางรายเชื้ออยู่ได้ถึง 21 วันนั้น กรมควบคุมโรคได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ และมีการติดตามรายงานอย่างใกล้ชิด จึงอยากเน้นย้ำผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนในช่วงนี้ว่า หลังจากที่ผู้รับการรักษาหาย และได้กลับบ้านไปแล้ว ยังต้องแยกกักตัวเองอีก 14 วันโดยไม่ไปสัมผัสผู้อื่น หรือแม้แต่คนในครอบครัว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า