SHARE

คัดลอกแล้ว

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าทิศทางการปิดตัวลงของโรงงานอุตสาหกรรมที่แย่ลงในช่วงที่ผ่านมา คือสถานการณ์ของธุรกิจ SME ในประเทศที่กว่า 30% บริหารงานโดยกลุ่มคนที่เกิดในยุค Baby Boomer หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 1946-1964 กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ มีการเติบโตของยอดขายและกำไรต่ำกว่าบริษัทอื่นๆ โดยเฉลี่ย เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแสวงหาโอกาสการขยายธุรกิจใหม่ๆ การลงทุน หรือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการลองผิดลองถูกต่ำกว่าบริษัทอื่นๆ

ยิ่งไปกว่านั้นคือธุรกิจจำนวนมากหรือประมาณ 54% ของบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจากการสำรวจของผู้เขียนไม่มีการวางแผนสืบทอดกิจการหรือสามารถหาผู้สืบทอดธุรกิจต่อไปได้ นั่นหมายความว่าธุรกิจดังกล่าวที่ใช้เวลากว่าช่วงชีวิตคนในการสร้างขึ้นมา อาจจำเป็นต้องปิดตัวลงในท้ายที่สุดทั้งที่หลายบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและฐานะการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งการปิดตัวของธุรกิจในลักษณะดังกล่าวอาจสร้างปัญหาให้กับ Suppliers หรือ Buyers ในห่วงโซ่อุปทาน การจ้างงาน และเกิดเป็น Domino Effect ต่อเศรษฐกิจโดยรวม

สัดส่วนของกิจการที่บริหารโดยผู้สูงอายุในไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและถือว่าสูงเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีธุรกิจที่บริหารงานโดยผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีประมาณ 23% ของธุรกิจทั้งหมด หรือ เยอรมันนีมีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 31% จากรายงานของ The Economist ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุคล้ายกันนั้นรัฐบาลประเมินว่าภายในปี 2025 จะมีธุรกิจจำนวนกว่า 2.5 ล้านรายที่บริหารงานโดยผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี และได้ออกมาตรการสนับสนุนให้เกิดการขยายทอดธุรกิจเข้าสู่ตลาด ส่งเสริมการเชื่อมต่อเจ้าของธุรกิจเดิมและผู้ต้องการซื้อกิจการเข้าด้วยกัน

สิ่งที่แตกต่างระหว่างไทยกับประเทศที่กล่าวมาคือ บริษัทส่วนใหญ่ในไทยยังเป็นกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนมากเป็นธุรกิจครอบครัวที่อาจจะยังไม่มีโครงสร้างบรรษัทภิบาลที่เป็นระบบนัก การสืบทอดธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยเจ้าของธุรกิจส่วนมากมักมีทางเลือกเพียงแค่การโอนธุรกิจให้กับสมาชิกในครอบครัว ขายให้กับคู่แข่ง หรือขายให้กับผู้ลงทุนภายนอกอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หลายครอบครัวประสบปัญหาขาดทายาทที่จะมาสานต่อธุรกิจด้วยสภาวะทางสังคมที่คนมีลูกน้อยลง หรือบางครอบครัวลูกหลานไม่อยากทำต่อเพราะอาจจะไม่ชอบลักษณะธุรกิจหรือปัญหาการเมืองภายในครอบครัว ขณะเดียวกันการขายให้กับคู่แข่งหรือผู้ซื้อทางการเงินอาจทำได้ไม่ง่ายนักด้วยขนาดของบริษัทที่ค่อนข้างเล็กและไม่ตอบโจทย์การรักษา Legacy บางอย่างของธุรกิจไว้ได้

หนึ่งในโมเดลทางเลือกใหม่ที่เริ่มเป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศและมีกลไกแก้ปัญหา Succession Gap สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะเกษียณแต่ยังรักษาธุรกิจที่ตนสร้างขึ้นมาเอาไว้อยู่ คือโมเดล Search Fund ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการเพื่อหาซื้อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยทุนจากภายนอกแล้วเข้าไปพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น ทางเลือกการลงทุนดังกล่าวกำลังได้รับความสนใจในฐานะวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งแก่ผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการไล่ตามความทะเยอะทะยานของตน และเจ้าของเดิมที่ต้องการลาออกโดยไม่ต้องรื้อทิ้งสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเป็นเวลานาน

Search Fund ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี 1984 โดยศาสตราจารย์ Irving Grousbeck จาก Stanford Graduate School of Business (GSB) เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถหาซื้อธุรกิจแล้วนำมาพัฒนาต่อโดยก้าวข้ามอุปสรรคทางการเงิน

จากข้อมูลการศึกษาของ GSB ปัจจุบัน Search Fund ยังมีเพียง 3,000 กองทุนทั่วโลกและมีมูลค่าดีลรวมประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีการเติบโตในระดับสูง ที่สำคัญผลิตผลตอบแทนเฉลี่ย (IRR) 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 35% สูงกว่าสินทรัพย์ทางเลือกประเภทอื่นๆ

Search Fund สามารถแบ่งกระบวนการดำเนินงานได้เป็น 4 ระยะ เริ่มจากการระดมทุนเพื่อใช้สำหรับการค้นหาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Due Diligence หรือการจ้างทนายความเพื่อดูแลเอกสารต่างๆ โดยเงินทุนดังกล่าวจะถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นของธุรกิจที่เข้าซื้อ

หลังจากนั้น ในระยะการค้นหาธุรกิจ Search Fund ส่วนมากสนใจธุรกิจในตลาดระดับกลางถึงล่างหรือธุรกิจที่มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 300 ล้านบาทและให้ความสำคัญกับการเลือกธุรกิจที่มีความสามารถในการผลิตกระแสเงินสดที่เข้มแข็ง เช่น Skydeck Partners Search Fund แห่งแรกในไทยสนใจธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีลักษณะธุรกิจที่มีรายได้สม่ำเสมอ อัตรากำไรสุทธิที่น่าดึงดูด และลักษณะการดำเนินงานที่ไม่ซับซ้อน

เมื่อผู้ประกอบการเจอธุรกิจเป้าหมายแล้วจึงจะระดมทุนเพิ่มจากนักลงทุนกลุ่มเดิมสำหรับการซื้อกิจการ ก่อนที่ท้ายที่สุดผู้ประกอบการจะเข้าไป Take Over เป็น CEO ของบริษัทแบบเต็มตัว

โมเดลดังกล่าวตอบโจทย์ธุรกิจครอบครัวได้ดีกว่าทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรอบระยะเวลาในการลงทุนที่ไม่ถูกจำกัดด้วยอายุของกองทุนเช่นใน Private Equity ที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนด้วยการลดต้นทุนอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 3-5 ปี หรือ Involvement ในธุรกิจที่ผู้ประกอบการเข้ามาบริหารเต็มตัวและให้เวลากับธุรกิจเดียว 100% ย่อมสูงกว่าการบริหารหลายๆ แบรนด์ในเวลาเดียวกันเป็นลักษณะ Portfolio Management

และที่สำคัญ Search Fund ยังมีความยืดหยุ่นในการปรับเงื่อนไขการลงทุนให้เข้ากับความต้องการของเจ้าของธุรกิจเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาอัตลักษณ์แบรนด์ หรือการดูแลสวัสดิการพนักงานที่อยู่กับองค์กรมาเป็นเวลานาน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นั้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME โดยตรง ผู้ประกอบการจำนวนมากกำลังแก่ตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามวัฎจักรชีวิต หากไม่มีการสนับสนุนให้เกิดการวางแผนสืบทอดกิจการล่วงหน้าที่ดี หรือการเร่งหาทางออกให้กับธุรกิจที่ปราศจากทายาท บริษัทหลายแห่งที่เคยรุ่งเรืองเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาก็คงต้องปิดตัวลงในที่สุด

 

อ้างอิง
https://www.economist.com/business/2024/01/29/many-family-firms-lack-heirs-unrelated-help-is-at-hand
https://www.gsb.stanford.edu/faculty-research/case-studies/2024-search-fund-study

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า