SHARE

คัดลอกแล้ว

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คอซีรีส์เกาหลีคงสับรางรถไฟไม่ถูก เมื่อซีรีส์รอมคอมการโรงแรมเข้าแพลตฟอร์ม Netflix พร้อมกันสองเรื่อง  หนึ่งในเรื่องที่น่าจับตามอง คงต้องยกให้ See You in My 19th Life ชาตินี้ก็ฝากด้วยนะ ด้วยพล็อตแปลกใหม่ แหวกแนว ดัดแปลงมาจากเว็บตูนชื่อเรื่องเดียวกัน

เรื่องย่อ See You in My 19th Life ชาตินี้ก็ฝากด้วยนะ:

เรื่องราวของ “บันจีอึม” (รับบทโดย ชินฮเยซอน) หญิงสาวที่สามารถระลึกอดีตชาติของตัวเองได้เมื่ออายุ 9 ขวบ  และใช้ชีวิตผ่านความทรงจำของตัวเธอเองในแต่ละชาติได้อย่างเยี่ยมยอด  บันจีอึมไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือชื่นชอบที่ตัวเธอมีความสามารถพิเศษเช่นนี้  ทุกชาติก่อนที่เธอตาย  เธอยังภาวนาให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่จะจดจำเรื่องราวในอดีตชาติได้

กระทั่งชาติที่ 18  เธอเกิดมาในชื่อ “ยุนจูวอน” โดยในวัย12 ปี ได้พบกับ “มุนซอฮา” (รับบทโดย อันโบฮยอน) เด็กหนุ่มรุ่นน้องที่เข้าเติมเต็มความสดใส และทำให้ชีวิตเธอมีความหมายอีกครั้ง ราวกับทำให้เธอรู้สึกเป็นเด็กสาวที่พบรักกับเด็กหนุ่มอีกครั้ง บันจีอึมหรือยุนจูวอนในชาติที่ 18 สัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างซอฮา และปกป้องเขาไปตลอด  ทว่าเธอก็ไม่อาจรักษาสัญญานั้นได้  เพราะเกิดอุบัติเหตุขณะที่ทั้งคู่นั่งรถด้วยกัน เป็นเหตุให้ยุนจูวอนเสียชีวิตไปโดยที่เธอยังไม่บรรลุเป้าหมายในชีวิต และทิ้งให้คนที่มีชีวิตอยู่ต้องโดดเดี่ยว และเสียใจ

ในชาติที่ 19 บันจีอึมเกิดใหม่ในภพภูมิเดิม และมีอายุห่างกับมุนซอฮาราว 10 ปีได้ ทันทีที่เธอระลึกอดีตชาติได้ เธอก็อยากรู้ทันทีว่าอุบัติเหตุในวันนั้นพรากชีวิตเด็กหนุ่มที่เธอรู้สึกผูกพันไปหรือไม่  และเขาจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร  ทว่าชาตินี้เธอเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อติดการพนัน และพี่ชายมักขโมยเงินค่าขนมของเธอ  ทำให้บันจีอึมต้องออกไปตามหา “คิมแอ-กยอง” (รับบทโดย ชาช็องฮวา) อดีตหลานสาวของเธอในชาติที่ 17  เพื่อขอยืมเงินไปตามหามุนซอฮา หลังจากที่บันจีอึมรู้ว่ามุนซอฮายังมีชีวิตอยู่ เธอก็ตั้งใจจะเติบโตไปอย่างดี เพื่อจะกลับไปหาซอฮาอีกครั้ง และทำให้เขาจำเธอให้ได้!

ความเชื่อเรื่องชาติภพในเกาหลีมาจากไหน

เกาหลีใต้มีประชากรทั้งหมดราว 51 ล้านคน โดยประเทศให้เสรีประชาชนในการเลือกนับถือศาสนาตามความเชื่อของแต่ละบุคคล จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของ Korea Statistical Information Service ปี 2015 พบว่าประชากรเกาหลีร้อยละ 56 ไม่นับถือศาสนา  และอีกร้อยละ 44 นับถือศาสนา  เมื่อพิจารณาสัดส่วนของผู้ที่นับถือศาสนาแล้วพบว่าชาวเกาหลีส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ คิดเป็นร้อยละ 45%  ตามมาด้วยศาสนาพุทธ 35%  ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 18%  และศาสนาหรือลัทธิอื่น ๆ อีก 2%

ภาพจาก: thailand.korean-culture.org

อย่างไรก็ตาม แม้ศาสนาพุทธจะมีผู้นับถือจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของศาสนาคริสต์ และผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอะไร แต่อิทธิพลและความเชื่อของศาสนาพุทธก็ส่งผลต่อแนวคิด และความเชื่อของชาวเกาหลีในปัจจุบันไม่มากก็น้อย

ศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีผ่านทางจีน ในช่วงที่เกาหลียังไม่ได้รวมเป็นชาติ แต่ประกอบไปด้วย สามอาณาจักร หรือที่เรารู้จักกันในชื่อยุคสามอาณาจักร (57 BC – 668)  โครกูรยอ เป็นอาณาจักรแรกที่รับคำสอนทางพุทธศาสนาเข้ามาในปีคริสต์ศักราช 372 ตามมาด้วย อาณาจักรแพ็กเจ ในปี 384 โดยรับผ่านทางอาณาจักรโครยอ  อาณาจักรชิลลา นั้นไม่ยอมรับพุทธศาสนาในช่วงแรก แต่สุดท้ายกลับเป็นอาณาจักรที่เผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วเกาหลีอย่างจริงจังมากกว่ารัฐอื่น ๆ  

ภาพจาก: BY-SA 2.0

พุทธศาสนาเจริญในคาบสมุทรเกาหลีรุ่งเรืองถึงขีดสุดช่วงที่ชิลลาควบรวมสามอาณาจักร เป็น “อาณาจักรรวมชิลลา” (668-892) ได้สำเร็จ หลักฐานชิ้นสำคัญอยู่ที่เมือคยองจู อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรชิลลา ที่ตั้งของวัดพูลกุกซา (불국사) ซึ่งเก็บรวมรวมโบราณวัตถุสำคัญทางพุทธศาสนาไว้มากมาย  ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ “ซ็อกกา” (석가탑) หรือ “ทาโบ” (다보탑) ตลอดจนพระพุทธรูปศากยมุนีที่ประดิษฐานอยู่ในวัดถ้ำ “ซ็อก-กู-ลัม” (석굴암)  โบราณวัตถุแต่ละชิ้นล้วนแสดงเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมที่มีความสวยงามเฉพาะ และได้รับการจดบันทึกเป็นมรดกโลกของ UNESCO

พุทธศาสนากลายเป็นความเชื่อหลักของคาบสมุทรเกาหลีไปโดยปริยาย  ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาประจำอาณาจักรต่อเนื่องจนถึงในสมัยโครยอ (918-1392) วัดหลายแห่ง รวมถึง แผ่นพระไตรปิฎกแปดหมื่นพระธรรมขันธ์ (팔만대장경; 八萬大藏經) แกะสลักด้วยไม้ถูกสร้างขึ้นในสมัยนี้ด้วยแรงศรัทธาของศาสนิกชน 

พุทธศาสนาถึงคราวเสื่อมในช่วงปลายราชวงศ์โครยอ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่คณะสงฆ์ ทั้งการงดเว้นภาษี การซื้อตำแหน่งสมณศักดิ์  วัดสามารถสะสมเงิน ถือครองที่ดิน เป็นเหตุให้ อีซ็อง-กเย หรือ พระเจ้าแทโจ ปฐมกษัตริย์ของ ราชวงศ์โชซอน (1392-1910) นำลัทธิขงจื๊อใหม่มาเป็นอุดมการณ์ในการปกครองรัฐ  ในช่วงยุคโชซ็อนนับเป็นความเสื่อมถอยของพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม วัดหลายแห่งถูกทำลาย เหลือไว้เพียงวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขาอันห่างไกล  จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน เมื่อเราไปเที่ยวต่างจังหวัดในเกาหลี มักจะพบวัดส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเขา

ในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคม (1910-1945) ในเวลานั้นพุทธศาสนาในญี่ปุ่นรุ่งเรืองกว่าที่เกาหลี ชาวญี่ปุ่นบางคนเริ่มเผยแผ่ศาสนาและสร้างวัดขึ้นใหม่อีกครั้งในเกาหลี ทำให้พุทธศาสนากลับมามีบทบาทอีกครั้งในเขตเมือง  หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีแบ่งเป็นประเทศเป็นเหนือกับใต้  เกาหลีเหนือปิดประเทศไม่รับความเชื่อศาสนาใด ๆ ส่วนเกาหลีใต้เข้าสู่ยุคที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอเมริกัน เปิดรับศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์  

อย่างไรก็ตามพุทธศาสนายังคงมีบทบาทและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเกาหลีในช่วง 60 ปีหลังมานี้ กระทั่งในปัจจุบัน  เห็นได้จากประธานาธิบดีพัคจ็องฮีสั่งบูรณะวัดพูลกุกซาในสภาพชำรุดทรุดโทรมเมื่อปี 1969  และแม้ชาวเกาหลีในปัจจุบันที่ประกาศตัวว่าไม่นับถือศาสนาใด แต่ก็มีจิตศรัทธาร่วมบูรณะวัด และเดินทางไปสวดมนตร์ ทำสมาธิที่วัดพุทธอยู่บ่อยครั้ง

ภาพจาก: Cultural Corps of Korean Buddhism

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปี 2002 กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของเกาหลีเสนอให้ทางวัดพุทธจัดโปรแกรมท่องเที่ยว “Temple stay” (템플스테이) เพื่อให้พุทธศาสนิกชน หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนในวัดที่เงียบสงบ ท่ามกลางหุบเขาได้เปิดประสบการณ์ทางวัฒนธรรมพุทธศาสนา โดยอาจจะเลือกพักเป็นเวลา 1 วันสั้น ๆ หรือ สองคืนสามวัน  สำหรับชาวต่างชาติ มีวัดที่เข้าร่วมโครงการกว่า 20 แห่งที่รองรับผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ที่นี่ผู้คนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของพระสงฆ์ เจริญสมาธิ  เรียนรู้การแสดงความเคารพ การคำนับแบบพุทธมหายาน และพิธีดื่มชา ตลอดจนกินมังสวิรัติ

นอกจากนี้ในทุก ๆ ปีที่เกาหลีใต้ยังมีการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่โคมไฟ (연등회; 燃燈會) เพื่อระลึกถึงวันประสูติพระพุทธเจ้า (부처님 오신날) มักตรงกับวันที่ 28 เมษายน ถึง 28 พฤษภาคม มีอีกชื่อหนึ่งว่าวัน “ซ็อก-กา-ทัน-ชิน” (석가탄신일) คำว่า ซ็อก-กา มาจาก “ซ็อก-กา-โม-นี” (석가모니) หรือพระศากยมุนี นับเป็นวันหยุดราชการทางพุทธศาสนาวันเดียวของเกาหลี  เนื่องจากพุทธศาสนาของเกาหลีเจริญรอยตามนิกายมหายาน วันดังกล่าวจึงนับเป็นเพียงวันประสูติของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่วันตรัสรู้ และปรินิพพานตามคติเถรวาทของไทย ไฮไลท์สำคัญของวันนี้คือการแห่ประทีมโคมบัวตามวัดพุทธและท้องถนนทั่วประเทศ เพราะโคมไฟรูปดอกบัวถือเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า

ภาพจาก: BY-SA 2.0

(เนื้อหาต่อไปนี้ อาจเปิดเผยข้อมูล หรือรายละเอียดเล็กน้อยจาก ตอนที่ 1 ของซีรีส์)

ความเชื่อพุทธศาสนาในสื่อละครเกาหลี

 สื่อบันเทิง เรื่องเล่าในสมัยปัจจุบันของเกาหลีต่างก็ได้รับแนวคิดจากพุทธศาสนามาผูกเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจผ่านประเด็น “การเวียนว่ายตายเกิด” (윤회; 輪廻) เห็นได้จากซีรีส์เรื่อง Reborn Rich (2022) กล่าวถึงพนักงานที่ทำงานรับใช้บริษัทแชบอลยักษ์ใหญ่ ต้องเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ขณะทำภารกิจให้เจ้านาย แล้วกลับมาเกิดใหม่ในร่างหลานคนเล็กของตระกูลแชบอล  ซีรีส์ดังกล่าวดัดแปลงจาก Web Novel ชื่อเรื่องเดียวกันหรืออย่างซีรีส์ Guardian: The Lonely and Great God (2016-2017) ที่เราเรียกกันติดปากว่า “ก็อบบลิน” ก็ได้วางเส้นเรื่องให้ตัวละครหลักบางตัว เช่น จีอึนทัก ลุงยมทูต และซันนี่ กลับชาติมาเกิดใหม่ในท้ายเรื่อง เพื่อครองคู่กับคนรัก

ซีรีส์เรื่องล่าสุด See You in My 19th Life (2023) ที่เล่าเรื่องย่อไปในช่วงต้น ก็นำความเชื่อทางพุทธศาสนามาใช้ผูกเรื่องและสร้างสรรค์ตัวละครให้มีความเกี่ยวโยงกับชาติภพ

ในชาติที่ 18  วันที่ยุนจูวอนเจอกับมุนซอฮาครั้งแรกที่บ้านของเขา หลังจากที่ซอฮาขู่จะร้องเรียกให้คนในบ้านมาช่วย หลังถูกจูวอนแกล้ง  จูวอนก็เล่นมายากล เสกยางมัดผมของตัวเองให้หายวับตาไป ซอฮาตกใจว่าจูวอนทำได้อย่างไร เธอกลับถามเด็กหนุ่มด้วยคำถามที่น่าฉงนว่า

“เชื่อเรื่องชาติที่แล้วมั้ย..ฉันเชื่อนะ…เพราะนี่ไม่ชาติแรกของฉัน”

แม้เนื้อเรื่องจะไม่ได้ลงรายละเอียดภูมิหลังว่ายุนจูวอนในชาติที่ 18 หรือบันจีอึมในชาติที่ 19 เธอนับถือศาสนาพุทธหรือไม่ แต่ประโยคที่สื่อสารออกไปก็สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เธอประสบอยู่ตอกย้ำแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิดในพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี คำศัพท์ที่เรามักจะได้ยิน จูวอน หรือจีอึมพูดถึงชาติที่แล้วนั้นในภาษาเกาหลีเรียกว่า “ช็อน-แซง” (전생 ; 前生)  ตรงข้ามกับ “ฮย็อน-แซง” (현생; 現生) ที่หมายถึงชาติปัจจุบัน หรือโลกปัจจุบันที่กำลังอาศัยอยู่ตอนนี้  แต่ในซีรีส์นางเอกมักจะใช้คำว่า “อี-บอน แซง” มากกว่า (이번 ) ซึ่งมีความหมายเดียวกัน

อีกฉากหนึ่งที่สะท้อนแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดได้ชัดเจน คือชาติที่ 19 เมื่อบันจีอึมในวัยเด็ก เดินทางไปหาแอกยอง เพื่อขอยืมเงินไปตามหาซอฮา ระหว่างที่เธอเล่าเรื่องราวของอีกฝ่ายและคิมจุงโฮผู้เป็นอา แอกยองได้แต่ทำหน้าประหลาดใจว่าเด็กหญิงบันจีอึมรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร บันจีอึมเฉลยว่า อาจุงโฮคือเธอในชาติที่ 17 ได้ตายแล้วเกิดใหม่เป็นตัวเธอในปัจจุบัน  ในฉากนี้เราจะได้ยินคำศัพท์คำว่า “ฮวาน-แซง” (환생; 還生) ซึ่งหมายถึงการที่ตายแล้วได้เกิดใหม่อีกครั้ง

  สำหรับตัวมุนซอฮาเอง เนื้อเรื่องก็ไม่ได้เล่าภูมิหลังของเขาไว้ชัดเจนว่านับถือพุทธศาสนาหรือไม่ แต่จากการที่เขาใกล้ชิดกับยุนจูวอน หรือบันจีอึมที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแรงกล้า คงทำให้เขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ไปไม่น้อย สถานการณ์หนึ่งที่ซอฮาเดินทางไปเคารพศพ อีซังอา ผู้เป็นแม่ สถานที่จัดงานศพ (장례식장) ไม่ได้ถูกจัดขึ้นในโรงพยาบาลเหมือนในซีรีส์ส่วนใหญ่ แต่จัดขึ้นในวัดพุทธ ()  ก็น่าจะอนุมานได้ว่าครอบครัวของเขานับถือพุทธศาสนา

ในภาษาเกาหลี มีสำนวนที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของคู่รักว่า “ช็อนแซง ยอนบุน” (천생연분; 天生緣分) หมายถึง ความผูกพันที่ฟ้ากำหนดให้  มักใช้กับคู่สามีภรรยา หรือเพื่อนที่มีความเหมาะสมกัน ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คล้ายกับพรหมลิขิต หรือทำนองบุพเพสันนิวาสของไทย  เพราะสำนวนนี้สะท้อนการจับคู่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ที่กำหนดมาจากสวรรค์  อย่างไรก็ตามในทางศาสนาพุทธ  สำนวนนี้ คำว่า “ช็อน” () ไม่ได้ถูกเขียนด้วยจีน ที่หมายถึงท้องฟ้า แต่เขียนด้วยตัว ที่หมายถึง 1,000  จึงมีความเชื่อที่ว่าคนเราต้องผูกพันกัน 1,000 ชาติถึงจะได้เป็นสามีภรรยากัน

ช็อง: สายสัมพันธ์ที่เข้มข้นของชาวเกาหลี

 ในซีรีส์ See You in My 19th Life จุดเริ่มต้นความผูกพันของพระเอกและนางเอก เริ่มขึ้นที่ชาติที่ 18 เมื่อยุนจูวอนได้พบกับมุนซอฮา ในฐานะรุ่นน้องของเพื่อนแม่  ในระยะแรกทั้งคู่อาจเป็นเพียงแค่พี่น้องในวัยเด็ก แต่ต่อมาจูวอนรู้สึกอยากอยู่เคียงข้าง ดูแลซอฮามากขึ้น ในขณะที่ซอฮาเองก็เปิดใจให้รุ่นพี่สาว จนเอ่ยปากขอแต่งงาน ความรู้สึกต้องชะตากัน เหมือนถูกเชือกเชื่อมโยงให้สองคนเข้าหากันนี้ ชาวเกาหลีอธิบายสายสัมพันธ์ดังกล่าวว่าคือ “ช็อง” (; )  ความรู้สึกรักใคร่ ห่วงใย ผูกพัน และยึดติดที่ก่อตัวขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  เมื่อถามคนเกาหลีว่าสายสัมพันธ์ที่ดึงดูดพวกเขาเข้าหากันเกิดขึ้นตอนไหน คำตอบที่ได้คือช็องมักเกิดขึ้นมาเองโดยที่ไม่รู้ตัว  อย่างที่มีสำนวนพูดกันว่า “ช็องงี ทือร็อตตา” (정이 들었다.) 

คำถามที่น่าขบคิดคือ การเจอกันของพระเอกและนางเอกช่วงวัยเด็กในซีรีส์ดูจะไม่ได้สวยหวาน ชวนฟินสักเท่าไร ออกแนวเป็นคู่กัด ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกันมากกว่า แล้วช็องเกิดขึ้นได้อย่างไร  คนเกาหลีเชื่อกันว่าช็องหรือความรักใคร่สามารถเกิดขึ้นกับคนที่เราไม่ชอบได้เช่นกัน ความรู้สึกดังกล่าวเรียกว่า “มี-อุน ช็อง” (미운 )  เหมือนที่ภาษาไทยมีวลีว่า “ทั้งรักทั้งชัง” เช่น คู่รักบางคนทะเลาะกันทุกวันแต่ก็ขาดกันไม่ได้  เพื่อนร่วมงานบางคนไม่ลงรอยกัน แต่ก็ใจหายเมื่ออีกฝ่ายลาออก

 นอกจากจะมีช็องเชิงความรักแล้ว เกาหลียังมีช็องเชิงสังคมหรือเชิงมิตรภาพอีกด้วย ช็องเชิงสังคมคือการพึ่งพาอาศัยกันอย่างลึกซึ้ง คนสองคนที่เชื่อมกันต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ  ต้องช่วยเหลือกันยามจำเป็น ทั้งสองต้องสานความสัมพันธ์ไว้ด้วยความจงรักภักดีและความเสียสละ  นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย UCLA บอกว่าช็องเชิงสังคมมาจาก “วัฒนธรรมการรวมกลุ่ม” (집단주의; Collectivism) ที่เหนียวแน่น  ชาวเกาหลีมักจะดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งนิยมทำกิจกรรมแบบจับกลุ่มกัน อย่างการกินข้าว การทำงาน และการสังสรรค์ 

ลักษณะการรวมกลุ่มดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดในพุทธศาสนาว่าด้วย “สังฆะ” (Sangha) ซึ่งหมายถึง การรวมตัวกันหรือชุมชน คำนี้อาจใช้เรียกกลุ่มพระหรือแม่ชี หรือจะใช้เรียกกลุ่มศาสนิกชนที่บรรลุธรรมขั้นสูงก็ได้เช่นกัน  โดยสมาชิกในสังฆะจะเน้นเกื้อกูลช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนา มากกว่ามุ่งหวังประโยชน์ส่วนตัว

วัฒนธรรมรวมกลุ่มของชาวเกาหลีที่เน้นการอุทิศตนเพื่ออุ้มชูความสัมพันธ์ไว้ สอดคล้องกับลักษณะเด่นของช็องเชิงสังคมเป็นอย่างมาก  คนเกาหลีมักรู้สึกว่า ตัวเองต้องช่วยเหลือคนที่จบจากโรงเรียนหรือกรมกองทหารเดียวกัน แม้จะไม่เคยสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัวก็ตาม  เห็นได้จากในซีรีส์เรื่อง True to Love หรือ Bora! Deborah (2023) ยังจินอู สามีของอีจูยองเพื่อนสนิทโบรา ซึ่งเปิดคาเฟ่ เปิดรับสมัครงานพาร์ทไทม์ มีคนสมัครสองคน คนหนึ่งเพียบพร้อม ผ่านประสบการณ์การทำงานมาก่อน อีกคนเพิ่งออกมาจากรมทหาร ยังไม่เคยผ่านงานใดใด แต่ ยังจินอูกลับเลือกพนักงานคนหลังที่ชื่อ “ยังจินโฮ” เพราะมาจากสายตระกูลเดียวกัน อีกทั้งฝึกกองร้อยที่เดียวกันมาอีก

ช็องเชิงสังคมปรากฏให้เห็นในบางฉากของซีรีส์ See You in My 19th Life อย่างในชาติที่ 19 ของบันจีอึม เธอไปหาแอกยอง เจ้าของร้านขายขนมทอดเล็ก ๆ ซึ่งเป็นหลานของเธอในชาติที่ 17  เพื่อขอยืมเงิน โดยเล่าอดีตที่ทั้งคู่ผูกพันกันในชาติที่ 17 ตามสูตรสำเร็จของละครที่ต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าตนเองคือคนเดียวกับที่อีกฝ่ายเคยรู้จัก แน่นอนว่าในช่วงแรกแอกยองเหมือนจะไม่เชื่อเรื่องที่เด็กสาวบันจีอึมเล่า  เพราะมันดูเป็นไปไม่ได้สำหรับเธอ  แต่หลังจากแอกยองฟังเรื่องราวความสัมพันธ์ของบันจีอึมในชาติที่ 18 ที่มีความผูกพันกับซอฮา และเธอต้องมาด่วนจากไปก่อนแล้ว ซ้ำร้ายชาติปัจจุบันนี้จีอึมยังถูกครอบครัวยึดเงินที่เธอหามาได้อีก แอกยองจึงเริ่มเปลี่ยนใจ

“แอกยอง เพราะเธอเป็นคนใจดี…ฉันเลยคิดว่าเธอน่าจะยอมรับฉัน…
ฉันมีพรสวรรค์เพียบเลยนะ ถ้าเธอยอมทนให้ฉันอยู่ด้วยแป๊ปหนึ่ง ไม่นานฉันหาเงินค่ากินอยู่มาคืนให้ได้แน่
ร้านนี้ไม่มีหวังแล้ว ไม่ต้องขายอะไรเยอะแยะหรอก เอากิมจิหมักนานนี่ ไปทำกิมจิตุ๋นดูมั้ย”

คำพูดของเด็กสาวตัวจิ๋ว แต่ท่าทีของเธอกลับเป็นผู้ใหญ่ ผ่านโลกมาเยอะ ทำให้แอกยองเกิดประทับใจ ตกลงให้เธอยืมเงิน และรับเธอมาอยู่ด้วยในที่สุด อาจเกิดขึ้นเพราะ “ช็องเชิงสังคม” ก็เป็นไปได้  ความรู้สึกว่าจะต้องช่วยเหลือกันฉันญาติสนิทมิตรสหาย  ในบางมุมมองของคนเกาหลีเหมือนจะเป็นข้อเสีย และหนักหน่วงกว่าวัฒนธรรมประเทศอื่น คนเกาหลีบางคนมองว่าช็องเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล และบีบให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำได้  โดยที่ไม่มีตรรกะ  เช่น การให้เพื่อนหรือญาติที่ไม่มีความน่าเชื่อถือยืมเงินก้อนโต โดยไม่ฟังคำทักท้วงจากสมาชิกในครอบครัว  ช็องจึงดูเหมือนสัญญาปากเปล่า และเป็นการช่วยเหลือกันเมื่อไรก็ตามที่อีกฝ่ายต้องการ

See You in My 19th Life นอกจากจะเป็นซีรีส์แนวโรแมนติก คอเมดี้ คละอารมณ์เศร้า ผสมคอนเซปต์แฟนตาซีเล็กน้อย ในรสชาติแปลกใหม่ที่ผู้ชมเสพนั้น ยังได้กลิ่นอายของความเชื่อทางศาสนาที่อยู่คู่กับเกาหลีมานานราว 2,000 ปี ที่สำคัญยังซีรีส์เรื่องนี้ยังแฝงไปด้วยสายสัมพันธ์ที่มีความผูกพันเต็มเปี่ยม นเชื่อมโยงคนสองคนไว้ด้วยคนอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งในแง่ของความรักและสังคม

 

รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

  • ทิวดอร์, แดเนียล. (2565). มหัศจรรย์เกาหลี: จากเถ้าถ่านสู่ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม (ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ, แปล). บุ๊คสเคป.
  • ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี. (ม.ป.ป.). เกี่ยวกับประเทศเกาหลี: ศาสนา https://thailand.korean-culture.org/th/139/korea/39

 ภาษาอังกฤษ

  • Cho Yong-hee, Han Yumi, & Tcho Hye-young. (2017). Korean Culture in 100 Keywords. Darakwon.
  • Sung So-yong. (2010). Korean religious groups not immune to conflict. https://shorturl.at/zGX68

ภาษาเกาหลี

  • 촌노. (2014). [삼무연] 부부는 천생연분이다. https://m.blog.naver.com/hs72hs72/220208650067

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า