SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี คอการเมืองต่างจับจ้องไปที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า กมธ. ป.ป.ช. หรือ กมธ.ปราบโกง

ประเด็นที่จับตามองไม่ใช่เนื้อหาหรือผลของการทำงาน แต่กลับอยู่ที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธาน กมธ. และอีกฝั่งคือ 3 สมาชิก กมธ.จากพรรคพลังประชารัฐ คือ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์, นายสิระ เจนจาคะ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน

จากจุดเริ่มต้นการที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตรวจสอบการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญตอนนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยและพยายามยับยั้ง กลายเป็นการขุดคุ้ยกันเรื่องคดีความเก่า และอาจไม่เหมาะสมมานั่งทำหน้าที่ใน กมธ.ชุดนี้

สำหรับกรณีของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถูกระบุว่า มีเรื่องปัญหาการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ ในสมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่เจ้าตัวยืนยันหนักแน่นกับ Workpoint Today ว่า ผู้ไม่รู้ก็เข้าใจไปเอง รวมทั้งคนที่พยายามนำเรื่องนี้เข้ามาเล่นงานตน

เราขอให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เล่าเรื่องคดีนี้ในมุมของตนเองว่าเป็นมาอย่างไร รวมถึงถามเลยต่อไปถึงกรณีที่ นายไพบูลย์และนายสิระ เจนจาคะ กมธ.ที่มีปัญหาขัดแย้งกันได้เสนอญัตติต่อที่ประชุมสภาให้โหวตถอดถอน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากตำแหน่งประธาน กมธ.ปราบโกง

ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เสียงในสภาฝ่ายรัฐบาลมีมากกว่า นั่นหมายความว่า ที่สุดแล้ว หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จะต้องพ้นจากเก้าอี้ประธาน กมธ.ชุดนี้ไปด้วย

จุดเริ่มต้นคดีจัดซื้อมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์

น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เคยให้สัมภาษณ์ถึง การจัดซื้อจักรยานยนต์ไทเกอร์ด้วยงบประมาณกว่า 1.1 พันล้านบาท ในสมัยที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ว่าเป็นจักรยานยนต์ที่ห่วยมาก สตาร์ทยากเร่งไม่ขึ้น และยังเป็นการจัดซื้อในจำนวนที่งบประมาณสูงมาก โดยต่อมาก็ได้ทำหนังสือเสนอให้ กมธ.ป.ป.ช. ตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งก็คือการตรวจสอบผู้ที่เป็นประธาน กมธ.ชุดนี้เอง

ฝั่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พูดถึงเรื่องนี้ว่าได้อ่านหนังสือที่ร้องเรียนเรื่องต่างๆ ของตนเข้ามาแล้ว และเห็นว่า ไม่ควรจะเขียนมาแบบนี้ คนจะมาเป็น กมธ. ป.ป.ช. ควรจะมีความรู้มากกว่านี้

ก่อนเล่าถึงที่มาว่า สมัยที่ตนเป็น ผบ.ตร.มีการจัดซื้อจักรยานยนต์ 19,000 กว่าคัน ก่อนจะซื้อมีการทำข้อกําหนด หรือ TOR โดยเดิม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เคยซื้อจักรยานยนต์ 150 ซีซี แต่มองว่าจะไปจับคนร้ายได้อย่างไรตามไม่ทัน อย่างน้อยต้องใช้ 200 ซีซี จะรุ่นอะไร ไม่เกี่ยว ต้องการเพียงจักรยานยนต์ที่มีกำลังมากขึ้น

แต่ก่อนจะประกวดราคามีคุณหญิงคนดังพาคนมาของานตน ซึ่งได้บอกไปว่าไม่ได้ ต้องว่าไปตามระบบ พอปฏิเสธไปเลยเป็นที่มาที่มีการมาร้องเรียนกันภายหลัง

ในส่วนการเขียน TOR และการตั้งกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดวันเวลาสถานที่ประกวดราคาเป็นอำนาจของอธิบดีกรมบัญชีกลาง

ถึงวันเวลามีคนมายื่นซอง ราคากลางถ้าจำไม่ผิดอยู่ที่ 6 หมื่นกว่าบาท ราคาเท่านี้จักรยานยนต์ยี่ห้อแพงๆ เขาก็ไม่เข้ามา เพราะของเขาราคาต่อคันเป็นแสน ผู้ที่เขาสนใจก็มายื่นซองกันรวมทั้งคนที่คุณหญิงคนดังเคยพามาหาด้วย

ต่อมากรรมการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วตกไป 2 รายเหลือ 1 ราย ซึ่งตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอำนาจของคณะกรรมการ จะยุบหรือเรียกมาเสนอราคาใหม่ก็ได้ จะต่อรองราคาก็ได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับ สตช. เขาก็ต่อรองราคาได้มาคันละ 58,000- 59,000 ต่ำกว่าราคากลางและราคาที่เคยซื้อก่อนหน้านั้น และสเป็กก็สูงกว่า แล้วคุณจะให้คณะกรรมการเขาตัดสินใจอย่างไร ก็ตกลงใช้บริษัทนี้ ก็ทำสัญญาส่งผลการจัดซื้อจัดจ้างมาให้ฝ่ายพลาธิการและสรรพาวุธ สตช.

ผู้บังคับการพลาธิการเขาประมวลเรื่องดู เห็นว่าถูกต้องตามระเบียบพัสดุก็เสนอ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เสนอรอง ผบ.ตร. ตรวจเสร็จตามขั้นตอนก็เสนอมาที่ตน ที่เป็นผบ.ตร. แต่ตนเซ็นไม่ได้เพราะงบประมาณสูงกว่าอำนาจที่ ผบ.ตร.จะเซ็น ก็เสนอไปที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

“ถามแค่นี้ก่อน มันเกี่ยวอะไรกับพี่ พี่ไปทำผิดอะไรตรงไหน พี่ป้องกันไม่ให้มีการฮั้วตอนที่มาขอตอนแรกด้วยซ้ำ จริงไหม” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตอบโดยแทนตัวเองว่าพี่ ก่อนเล่าต่อว่า

เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีเซ็นอนุมัติ ฝ่ายพลาธิการก็ทำสัญญากับบริษัทที่ชนะประมูล แล้วก็กำหนดงวดที่จะส่งมอบจักรยานยนต์จะส่งที่ไหน ใครเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งตอนนั้นตนก็พ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.มาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ ผบ.ตร. คนต่อไปควบคุมดูแลตามสัญญาให้ถูกต้อง

ผู้ชนะประมูลก็รีบผลิตจักรยานยนต์รุ่นนี้ตามจำนวนส่งไปตามกองบัญชาการและสถานีตำรวจ ก็มีการรับถูกต้องเอาไปใช้งานได้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย

ข้อกล่าวหาไม่มีคุณภาพ จอดทิ้ง ไม่มีศูนย์ซ่อม

เมื่อถามถึงเรื่องที่พูดกันว่ารถรุ่นนี้สุดท้ายลงเอยด้วยการจอดทิ้ง และไม่มีศูนย์ซ่อมให้ตามที่ตกลง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า คนไม่ค่อยเข้าใจเรื่องรถเช่ากับรถซื้อ รถซื้อคุณจะไปซ่อมที่ไหนก็เรื่องของคุณ ถ้าตำรวจมีความรู้ก็ซ่อมเอง หรือเข้าร้านข้างโรงพัก

ส่วนสภาพรถหลังการใช้งาน ต้องไปดูความจริงที่สถานีตำรวจ เมื่อส่งรถไปที่สถานีก็เป็นอำนาจของผู้กำกับหรือสารวัตรใหญ่ที่จะให้ไปใช้กับงานอะไร สืบสวน สอบสวน ธุรการ ป้องกันอาชญากรรม หรือจราจร ถ้าแบ่งและใช้เฉพาะ มีผู้รักษาดีก็ไม่มีปัญหา แต่รถของตำรวจไม่เหมือนรถทหาร ทหารไม่ค่อยมีงาน พอจัดซื้อจัดจ้างรถก็ไปเข้ากรุ รถคันหนึ่งมีพลขับคนเดียวก็ดูแลรถไปแต่ไม่ได้ใช้งาน ของตำรวจพอแจกไปก็เอาไปใช้จราจร เอาไปรับเมียรับลูกกลับบ้าน จ่ายกับข้าว ชีวิตทหารตำรวจไม่เหมือนกัน ตำรวจก็ใช้มั่วไปหมด

ขณะที่รถที่เห็นจอดๆ กัน รถมีอายุการใช้งานตามระเบียบ 7 ปี เมื่อใช้งานผ่านมาพอหมดอายุก็ต้องเรียกคืนเพื่อไปขายทอดตลาด เอาเงินที่ได้มาคืนคลังเพื่อไปซื้อรถใหม่มาทดแทน ที่เห็นจอดคือ รถหมดอายุการใช้งานก็ไปจอดรวมกันไว้ ก็มีคนไปถ่ายรูปมาแบบไม่รู้เรื่องกัน

คดีทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เล่าต่อถึงเรื่องการสอบสวนทุจริตว่า มีผู้หาเรื่องพยายามส่งเรื่องไปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการสอบเสร็จแล้ว ที่เกี่ยวกับตนไม่มีการเชิญไปให้ถ้อยคำเลย ส่วนที่มีปัญหาตนก็สอบถามไปแล้ว สรุปแล้ว ป.ป.ช สอบว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีคณะกรรมการที่เป็นตำรวจผิดวินัย 3 คนไม่ได้ผิดอาญา ไม่ได้กล่าวหาว่าเขาทุจริต แต่ไปชี้มูลว่า คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง 3 คนนี้ผิดวินัย แต่ผู้บังคับการพลาธิการผิดอาญา

“ตำรวจก็ไม่ใช่ควายนี่ นายพลทั้งนั้น ก็จวกให้นี่ว่า ป.ป.ช.คุณมีอำนาจอะไรมาชี้มูลความผิดวินัยผม ไม่ใช่หน้าที่ของคุณ ไปพิจารณาใหม่”

จากนั้น ป.ป.ช.ก็ยืนยันมา คดีก็ล่วงเลยมาจนถึงยุคคุณประยุทธ์ ตำรวจก็เลยส่งเรื่องผ่านคุณประยุทธ์ ไปให้กฤษฎีกาตีความผลออกมาว่า ไม่ใช่หน้าที่ ป.ป.ช.ที่จะชี้มูลความผิดวินัยข้าราชการ แต่ ป.ป.ช.ก็ยังไม่ยอมแพ้ขอให้กฤษฎีกาทบทวนใหม่ ก็มีการนำเรื่องเข้ากฤษฎีกาคณะที่ 2 ซึ่งยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจ และคุณคิดเหรอว่าความเห็น ป.ป.ช.ถูกต้อง แค่นี้ก็หน้าหงายไปแล้ว แล้วใครที่มากล่าวหาตำรวจผิดเหรอ

ส่วนที่เขาชี้มูลความผิดผู้บังคับการพลาธิการ ศาลก็ยกฟ้อง แล้วตกลงเหลือใครสักคนไหมที่ผิด

“แล้วไง แล้วไม่บอกว่านายกฯ ล่ะ ผมไม่ใช่คนอนุมัติสักหน่อย ผมเล่าเรื่องอย่างนี้เข้าใจไหม แต่ไอ้คนยื่นเรื่องมามันไม่เข้าใจ เดี๋ยวก็จะติดคุกกันหมด ผมสงสารไม่อยากให้มีเรื่องเพิ่ม เรื่องแค่นี้ยังไม่รู้เลย ยังเห็นไปพูดว่า ท่านเสรีมีคดีอยู่ ถ้าชั้นลาออกคุณลาออกไหม มันเกี่ยวอะไรกัน”

ที่มาที่ไปญัตติโหวตให้พ้นประธาน กมธ.

เมื่อถามต่อไปว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีการเสนอญัตติโดย นายไพบูลย์และนายสิระ ให้ที่ประชุมสภาลงมติถอดถอนจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่า ที่ประชุม กมธ. ป.ป.ช.เมื่อ 15 ม.ค. มีการโหวตกันแล้วให้ยุติการพิจารณาเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งฝ่ายนายไพบูลย์ชนะด้วยเสียง 8 จาก 15 คน แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ยังไม่ยอมหยุด

ในมุมของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันว่า เคยมีการเสนอโหวตยกเลิกเรื่องนี้มาแล้วก่อนวันที่ 15 ม.ค. ซึ่งตนไม่เห็นด้วย แต่ตนก็ลูกผู้ชายพอยอมให้โหวต ตอนนั้นคุณไพบูลย์ เข้ามาแล้ว (เข้ามาเป็น กมธ. แทนนายดล เหตระกูล จากพรรคชาติพัฒนา) ก็เสนอ พอโหวตเขาก็แพ้ เพราะคุณจารึก ศรีอ่อน ไม่โหวตด้วย (จารึก คือ 1 ใน 4 ส.ส.ที่อนาคตใหม่ขับออกจากพรรค ตอนนั้นยังไม่ไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท)

เขาแพ้ญัตตินี้ก็ตกไป กมธ.ก็ทำเรื่องอื่นต่อ จนวันที่ 15 ม.ค. ที่มีวาระกลับมาติดตามเรื่องถวายสัตย์ คุณไพบูลย์ ก็เสนอให้โหวตอีกและทำเกินหน้าที่ ทำตัวเป็นประธานเลย เขาเตรียมมาแล้ว วันนั้นคุณจารึก ไปเข้าพรรคพลังท้องถิ่นไทย เป็นฝ่ายรัฐบาลแล้ว คุณไพบูลย์ เสนอโหวตใหม่ พอตนยังไม่ดำเนินการให้ก็ยกมือสอบถามทีละคนทำตัวเป็นประธาน แล้วก็ได้ 8 เสียง ตนก็ยืนยันว่าญัตตินี้ตกไปแล้ว เมื่อไม่ได้แล้วจะไปยอมให้ได้อย่างไร จะเอาเสียงข้างมากลากไปได้อย่างไร

เปิดหน้าสู้โหวตขับ พร้อมจะกลับมาใหม่

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ บอกว่า ไม่กังวลอะไรเลยกับการโหวตให้พ้นตำแหน่ง เพราะไม่ได้ยึดติด แม้ตอนจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคมี 10 เสียง มีคนติดต่อให้เข้าร่วมรัฐบาลให้หัวละ 30 สิบคน 300 ให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะรีบคว้าไป แต่ตนไม่เอา

ถ้าจำกันได้ตอนนั้นพร้อมจะยก ส.ส. 10 คน ไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย ให้มาร่วมกันตั้งรัฐบาลและให้จำนวน ส.ส.นี้ไปบวกโควตารัฐมนตรีให้เขาไปเลยด้วยซ้ำ

“ตอนนั้นยังไม่สนใจเลย การเป็นตำรวจ การไปนาแกไปปราบคอมนิวนิสต์ก็สมัครใจไป เพราะฉะนั้นไม่มีความหมายเลย จะตายก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้”

“เพราะฉะนั้นจะมาขู่ผมเหรอ ถอดถอนผมเหรอก็ว่ากันไปเด้ มึงไม่อายชาวบ้านเขาก็ว่ากันไป”

ประธาน กมธ. ป.ป.ช. ยืนยันว่าตนทำหน้าที่ทั้งในสภาและ กมธ.ให้ประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว จะมาใช้เสียงข้างมากลากไปถูกที่ไหน เขาอ้างข้อบังคับ 108 (5) เมื่อสภาเห็นควรให้ออก เลยมาจับช่องว่างว่าเสียงมากกว่า แต่ไม่ได้คำนึงว่าใครถูกใครผิด

“ใช้จริงก็ไม่สนว่ามาอย่างไรก็ว่าไป เดี๋ยวจะล่อคืนในสภา ให้ประชาชนเห็นว่าใครผิดใครถูก ออกก็ออกสิ จะต้องไปง้อไปถอนคำพูดอะไร ถ้าปลดผมไม่ต้องทำงานผมก็สบายขึ้น”

วิธีรับมือที่เตรียมไว้คือ เขาจะยืนยันว่า ประธาน กมธ.เป็นโควตาพรรคเสรีรวมไทย เมื่อโหวตออกพรรคก็จะเสนอชื่อเข้ามาใหม่ มาใหม่ก็ว่าใหม่ ถ้าคุณชวน ทำอย่างนี้ (บรรจุญัตติให้โหวต) เดี๋ยวก็จะเสนอปลดคุณชวนในสภา แล้วอย่างนี้ประชาชนจะได้อะไรขึ้นมา

เส้นทางสายชีวิตนักการเมือง

“ผม 71 แล้วนะ แต่ผมไม่ใช่ 71 อย่างคนอื่น ไม่ใช่คนแก่นะ ผมวิ่งทุกวัน ผมออกกำลังกายมาทั้งชีวิต คูณดูมหาธีร์ (นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) สิ 94 ยังเป็นนายกฯ ได้เลย ผมน่ะสบาย 70 80 90 สบาย หมอดูยังบอก 98 เพิ่งเริ่มไอเท่านั้นเอง งั้นผมเป็นไปได้อีกนาน แต่ชีวิตคนเรามันก็ไม่แน่หรอก พรุ่งนี้สะดุดหัวคะมำล้มคว่ำตายก็ได้ ไม่แน่ ประมาทไม่ได้หรอกชีวิต”

คือคำตอบเมื่อถูกถามถึงเป้าหมายหลังจากนี้

“ชีวิตเราน่ะมันเหลืออีกไม่เท่าไรหรอก เพราะฉะนั้นก็ควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติบ้านเมือง พี่น้องประชาชน ให้มากที่สุด ตอนนี้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์มี พละกำลังก็ยังมีอยู่ แต่มันต้องถดถอยลงใช่ไหม”

“ผม 10 ปีนี้กับ 10 ปีที่แล้วมันก็ต่างกันนะ 10 ปีที่แล้วใครอย่ามาวิ่งแซงหน้าผมนะ เดี๋ยวนี้ยังต้อง เอ้ย หนุ่มๆ มึงวิ่งแซงหน้าไปก่อนก็ได้ (หัวเราะ) มันไม่เหมือนเดิม แต่ว่าเราต้องใช้เวลาที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนให้มากที่สุด จะเจอปัญหาอุปสรรคก็บอกว่าตายกูยังไม่กลัวเลย จะมากลัวอะไรกับพวกมึง”

ถามทิ้งท้ายว่า 10 ปีที่แล้วกับตอนนี้ใจเย็นลงเยอะไหม

“มันอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะ 10 ปีที่แล้วมันไม่มีใครกล้ายั่วผมนะ ถูกไหม ผมเป็น ผบ.ตร.ใครจะกล้ายั่วผมไม่มี”

“แต่ 10 ปีนี้ไอ้บ้าที่ไหนก็ไม่รู้ แม่งยั่วเราได้ทุกวัน เพราะเราก็ไม่รู้จะทำไงมัน”

ถามย้ำอีกทีว่าใจเย็นลงแล้วใช่ไหม

คำตอบสุดท้ายของ อดีต ผบ.ตร. ที่มาเป็นหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นนักการเมืองเต็มตัวในวันนี้ คือ “ก็ใจเย็นลงแล้ว แต่บางครั้งมันก็ต้องมีบ้างอ่ะนะน้อง”

 

ถ่ายภาพ : นลิน อรุโรทยานนท์  

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า