SHARE

คัดลอกแล้ว

“แค่เจอ…เขาก็รักเราแล้ว”

คำกล่าวของ อ.ภาวรรณ หมอกยา ผู้แทนกลุ่มสานสายใยชีวิต SOS ที่พูดถึง “สุนัข” โดยกล่าวในงานเสวนาเรื่อง ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า” เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีที่มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในสังคม หลังจากมีข้อเสนอการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการ Set Zero กำจัดสัตว์เลี้ยงไม่มีเจ้าของทิ้งเสียให้หมด

ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมฟังการเสวนาในงานดังกล่าว ซึ่งนอกจาก อ.ภาวรรณ หมอกยา แล้ว ยังมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, น.สพ.วีระ เทพสุเมธานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒินายสัตวแพทย์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ รองคณบดีนโยบายและแผน และอาจารย์ประจำ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ คุณบุญโฮม แสนเมืองชิน ผู้แทนกลุ่มสานสายใยชีวิต SOS

โดยทุกคนต่างให้ข้อสรุปในการเสวนาครั้งนี้ไปในแนวทางเดียวกันว่า “การ Set Zero สัตว์ไม่มีเจ้าของ” ไม่ช่วยให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไป แต่ละคนมีข้อเสนอแนะการแก้ปัญหา และมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาของ “สัตว์” แต่เป็นปัญหาของ “มนุษย์” ทุกคน ที่ควรช่วยกันป้องกันและรับผิดชอบ

เพราะ โรคพิษสุนัขบ้า” เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเรบีส์ (Rabies) ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ส่วนใหญ่แพร่เชื้อจากสุนัข อันตรายของโรคนี้อาจส่งผลให้ผู้ถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนเสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนและไม่ได้รับการรักษาโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปัจจุบัน สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศเขตควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าชั่วคราว 30 วัน (ตั้งแต่ 6 มีนาคม – 4 เมษายน 2561) ในพื้นที่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า และมีการตรวจพบสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 มากกว่าปีที่ผ่านมา

สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลงทุกปี ซึ่งมีวัคซีนที่ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ 97% ขึ้นไป แต่การให้วัคซีนไม่เหมือนการกินยา ขึ้นอยู่กับสุขภาพของสัตว์ด้วย อีกทั้งโรคพิษสุนัขบ้านั้นพบได้ทุกฤดู ไม่ใช่แค่ฤดูร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ

โดยแนะนำแนวทางการควบคุมจำนวนพาหะนำโรคด้วยว่า ควรทำหมันสัตว์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย เมื่อนำสัตว์มาเลี้ยง ควรเลี้ยงจนสัตว์ตัวนั้นหมดอายุขัย หากสัตว์ดังกล่าวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการและตายภายใน 10 วัน แต่โดยมากที่ กทม.จับสุนัขจรจัดมาเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค หากสุนัขดังกล่าวเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จับมาประมาณ 2 – 3 วัน ก็ตายแล้ว โดยในแต่ละปี กทม.ฉีดวัคซีนไปแสนกว่าตัว แม้ว่าปัจจุบันไทยจะไม่ได้ผลิตวัคซีนเอง แต่สำหรับ กทม.ได้สั่งซื้อวัคซีนที่มีคุณภาพดีและมีจำนวนเพียงพอ ซึ่งมองว่าโรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนักในพื้นที่ต่างจังหวัดและปริมณฑลมากกว่า

ทั้งนี้ กทม.มีมาตรการเน้นสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยออกฉีดวัคซีน 500 หน่วย ในเวลา 10 วัน และรณรงค์ให้ประชาชนพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ซึ่งมี 8 เเห่งทั่ว กทม. พร้อมแนะลดต้นตอของปัญหา โดยการจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548

ส่วนประเด็น Set Zero สพ.ญ.เบญจวรรณ กล่าวว่า เมื่อ 40 – 50 ปีก่อน กทม.เคยกำจัดสุนัขจรจัด เเต่ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าก็ไม่ได้หมดไป เพราะปัญหามาจากมนุษย์ที่นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยเพิ่ม รวมทั้งเจ้าของไม่ค่อยพาสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีน เลี้ยงสัตว์โดยไม่มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อีกทั้งสถิติของ กทม. ในการใช้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยง ไม่ได้มีการสำรวจการใช้วัคซีนตั้งเเต่ปี 2553 เนื่องจากบางหน่วยงานไม่ได้เก็บข้อมูลต่อเนื่อง

ทางด้าน น.สพ.วีระ เทพสุเมธานนท์ ได้ยกตัวอย่างว่า ที่ประเทศจีนก็เคยกำจัดสุนัขหลายแสนตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไป โดยคนที่ถูกสุนัขบ้ากัด หากไวรัสไปไม่ถึงสมองก็ยังมีโอกาสรอด แต่หากถูกกัดแบบฝังเขี้ยว เชื้อเข้าเส้นประสาท แม้จะรีบไปหาหมอ แต่ก็มักจะไม่ทันการณ์

น.สพ.วีระ ยังกล่าวด้วยว่า การใช้วิธีย้อมสีพิเศษ (Direct Fluorescent Rabies Antibody Test: DFA) จากเนื้อสมองของคนหรือสัตว์ที่ตาย เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานของการตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งมีความไวประมาณ 99.4% เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งในไทยมีจำนวน 24 แลปทั่วประเทศ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่หากคนหรือสัตว์ (เฉพาะสุนัขและแมว) นั้นยังไม่ตาย ให้สังเกตอาการดังนี้

  1. ให้ดูอาการของสุนัขหรือแมว 10 วัน นับจากวันที่มันกัดเรา ถ้ามันไม่ตาย ก็ไม่ใช่โรคพิษสุนัขบ้า และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยพบสุนัขหรือแมวที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน เป็นบ้า
  2. สุนัขหรือแมวป่วยน้อยกว่า 10 วัน
  3. จุดตั้งต้นของการป่วยในสุนัขและแมว มี 3 ระยะของโรค คือ ระยะ 1 ป่วยทั่วไป, ระยะ 2 ดุร้าย และระยะ 3 เป็นอัมพาต
  4. อาการป่วยของโรคในระยะ 3 คือ หากทรงๆ ทรุดๆ ไม่ใช่ แต่ถ้าสุดท้ายสัตว์ตัวนั้นตายคือใช่ ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า
  5. ถ้าเป็นหัดสุนัข เช่น เดินเป็นวงกลม หรือตาบอด ไม่ใช่โรคพิษสุนัขบ้า หรือหากมี 2 ใน 17 อาการ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการขึ้นไป สัตว์ตัวนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่

5.1 อาการกลืนกินลำบาก เป็นอาการเฉพาะของสุนัขที่เป็นบ้าโดยตรง ได้แก่ หุบปากไม่ได้ เสียงเห่าแหบไป ลิ้นมีสีแดงคล้ำหรือแดงม่วง เลียน้ำจากภาชนะไม่ได้ ต้องเลียจากพื้นเรียบๆ

5.2 อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้แก่ อาการสองขาหลังเดินโซเซ สองขาหน้ายันพื้น หรือสองขาหลังหักศอกแนบไปกับพื้น

5.3 กลุ่มอาการทางประสาทอื่นๆ มีพฤติกรรมแปลกไป เช่น กัดกินสิ่งแปลกปลอม ดุร้าย กัดมากกว่า 1 คือ กัดคนด้วย กัดสุนัขด้วยกันเองด้วยมากกว่า 1 ภายใน 1 อาทิตย์ หรือกัดโดยไม่มีเหตุอันควร วิ่งโดยไม่มีจุดหมาย กัดกรง กัดโซ่ นั่งสัปหงก เป็นต้น

ต่อข้อถามที่ว่า ทำไมยังมีคนตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า น.สพ.วีระ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นเพราะคนไข้ไม่สนใจเวลาถูกสุนัขกัด ไม่ล้างแผล ไม่ไปหาหมอ หรือพอสุนัขตัวนั้นตายแล้วไม่ส่งตรวจ โดยแนะนำว่าหากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ต้องล้างแผลด้วยสบู่ ใส่เบตาดีน จะช่วยป้องกันและลดไวรัสได้ดีมาก โดยกล่าวในตอนท้ายว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ตั้งเป้าว่า ในปี ค.ศ. 2030 ต้องไม่มีคนตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าจากการถูกสุนัขบ้ากัด ซึ่งได้แนะนำว่า ต้องฉัดวัคซีนให้สุนัข จะช่วยตัดวงจรของโรคได้

ขณะที่ ส.พญ.สันนิภา สุรทัตต์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในไทยตรวจพบมากขึ้นจริง แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งจากตัวเลขของกรมปศุสัตว์พบว่า ปัจจุบันไทยมีสัตว์เลี้ยงกว่า 10 ล้านตัว ตามทฤษฎีการระบาด หากฉีดให้สัตว์เลี้ยงได้ร้อยละ 70 จะสามารถป้องกันโรคได้ เเต่จากสถิติพบว่าจำนวนสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่การใช้วัคซีนกลับลดลง  อย่างปี 2557 ให้วัคซีน 20 ล้านโดสต่อสัตว์เลี้ยง 250 ตัว ขณะที่ตั้งเเต่ปี 2558-2560 พบโรคเเละสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น เเต่กลับใช้วัคซีนลดลงเหลือเพียง 5-10 ล้านโดส อีกทั้งวัคซีนบางส่วนไม่ได้คุณภาพ ดังนั้น หากต้องการลดการติดเชื้อ ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข โดยการสร้างภูมิคุ้มกันฝูงให้ได้มาตรฐานหรือร้อยละ 70 โดยวัคซีนต้องมีคุณภาพดี สัดส่วนของสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต้องเหมาะสม หากสัตว์อายุมากหรือน้อยไป การฉีดวัคซีนก็อาจไม่ได้ผล รวมทั้งการบริหารจัดการดูแลวัคซีนต้องทำอย่างถูกวิธี โดยมองว่าสัตว์ที่จำเป็นคือสัตว์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ด้าน อ.ภาวรรณ หมอกยา และ คุณบุญโฮม แสนเมืองชิน ผู้แทนกลุ่มสานสายใยชีวิต SOS กล่าวว่า การเเก้ปัญหาที่ดีคือทุกคนควรร่วมมือกัน จะปล่อยให้เป็นหน้าที่คนใดคนหนึ่งไม่ได้ โดย อ.ภาวรรณ กล่าวว่า เรื่องสัตว์ทำให้คนทะเลาะกัน ซึ่งทุกคนควรเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ตัวเอง ด้วยการดูเเลสัตว์เลี้ยงในบ้าน โดยการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ จากนั้นช่วยดูเเลสัตว์เลี้ยงในชุมชน ให้คำเเนะนำ ร่วมกันเป็นหูเป็นตาลดจำนวนสุนัขจรจัด การรักษาสัตว์ต้องเริ่มด้วยความเมตตา

นอกจากนี้ อ.ภาวรรณ ยังกล่าวถึงกลุ่ม SOS ที่ร่วมทำงานอยู่ด้วยว่า ทางกลุ่มจะลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งคนที่รักสัตว์และไม่รักสัตว์ มีการคุยกันกับคนในซอยหรือพื้นที่นั้นๆ ให้ช่วยกันฝึกให้สุนัขเข้ากับคนได้ ส่วนหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ก็ต้องรณรงค์เเละช่วยเหลือ รวมถึงทำงานในขอบเขตพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมเเละการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูเเลสัตว์เลี้ยง จึงอยากให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ประชาชนเพื่อลดความกลัว และหันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี

โดยมองว่า ปัญหาเกิดจากทัศนคติของคน ทุกชีวิตมีสิทธิ์เสมอกัน ช่วยเขา = ช่วยเรา ต้องกระจายความรู้ในการดูแลสัตว์เลี้ยงและสุนัขจรจัดให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าได้

คุณบุญโฮม แสนเมืองชิน กล่าวว่า ตนจบการศึกษาชั้น ป.6 และเป็นอาสาสมัครที่ช่วยดูแลทางด้านสุนัขจรจัดมานาน โดยการจับสุนัขจรจัดไปฉีดวัคซีน เมื่อครั้งเริ่มต้นจะใช้สวิงจับ ต่อมาใช้ยาสลบ พอจับมาได้จะนำสุนัขไปพักที่บ้านที่ดูแลด้านนี้ประมาณ 7-10 วัน หลังจากสุนัขได้รับวัคซีนแล้วจะดูแลด้วยการป้อนยาแก้อักเสบ ตัดไหม รอจนสุนัขแข็งแรงจึงนำกลับคืนสู่ชุมชนที่ไปจับมา ซึ่งตนได้ทำงานในกลุ่ม SOS และร่วมในโครงการจุฬาโมเดล หาบ้านให้สุนัขจรจัด โดยอยากฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแล ทำหมันให้สุนัขทั้งตัวผู้และตัวเมีย

คุณสายพิณ ผาสุพงษ์

ในช่วงท้ายของการเสวนา คุณชัญญา หรือที่รู้จักกันในนาม คุณสายพิณ ผาสุพงษ์ ผู้จัดรายการวิทยุ และในฐานะตัวแทนจากสมาคมสงเคราะห์สัตว์ ซึ่งถือเป็นนักไกล่เกลี่ยเมื่อคนทะเลาะกันเรื่องสัตว์ ยังได้เสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจ โดยกล่าวว่า การส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์คือ “รู้-ดูแล-ป้องกัน” คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “สงเคราะห์สัตว์” คือรับเลี้ยง แต่ที่จริงไม่ใช่ ซึ่งโดยมากไม่เข้าใจว่าต้องจัดการอย่างไร ซึ่งมองว่าการ Set Zero หรือการฆ่าให้ตายทั้งหมดไม่ช่วยให้โรคพิษสุนัขบ้าหมด แต่ต้องมีความเมตตาและใช้ความรู้ในการแก้ไข และมองว่าปัญหาสุนัขจรจัดที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก ฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัข หรือคนที่ทำมาหากินทางด้านนี้ ซึ่งไม่มีกฎหมายควบคุม จึงเพาะพันธุ์ขายกันอย่างกลาดเกลื่อน ไม่มีการควบคุม เมื่อไม่มีผู้ซื้อ หรือสุนัขนั้นป่วย ไม่ได้มาตรฐานตามที่ต้องการก็นำมาปล่อย จึงอยากให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณากฎหมายควบคุมด้วย

ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็รักชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ทางออกของโรคพิษสุนัขบ้าจึงอยู่ที่เราทุกคน ว่าจะ “ฆ่าล้างบาง” หรือใช้ “ความเมตตา” บนพื้นฐานของ “ความรู้” ในการแก้ไข

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า