SHARE

คัดลอกแล้ว

“หัวใจของการที่เราจะกลับมา ไม่ใช่แค่ตัวเลข GDP แต่กลับมาในแง่ของรายได้คนและการจ้างงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินการคลังเท่ากับการฉีดวัคซีน” workpointTODAY สัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3 การฟื้นตัวของ GDP ช่วงปีนี้และปีหน้า ความช้า-เร็วในการฉีดวัคซีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างไร มาตรการช่วยเหลือ SME และลูกหนี้รายย่อยมีอะไรบ้าง รวมถึงเราจะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร

โควิด-19 ระลอก 3 กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน

ถ้าตอบสั้นๆ เลยก็กระทบหนักครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราถูกกระทบจากโควิด-19 มายาวนาน ถ้าให้เห็นภาพแบบง่ายๆ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเราปรับประมาณการลงจากเดิมที่มองว่าปีนี้น่าจะเห็น GDP โตประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ปรับใหม่เหลือ 1.5 – 2 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการฉีดวัคซีน

แต่เรื่องที่ทาง ธปท.พยายามเน้นมาตลอด คือผลกระทบจริงๆ ของโควิดไม่ใช่แค่ตัวเลข GDP แต่เป็นเรื่องของรายได้คนกับการจ้างงาน ที่กระทบเราเยอะ ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าทำไมเราถึงโดนหนักกว่าประเทศเพื่อนบ้านและฟื้นตัวได้ช้ากว่า เพราะโควิดกระทบตรงจุดอ่อนของเราเลยคือการพึ่งพาการท่องเที่ยว ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเราพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงกว่าเขาเยอะมาก ในแง่ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 11 – 12 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ตัวที่สะท้อนหนักกว่าคือเรื่องการจ้างงาน การจ้างงานของเราอิงกับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงาน

ตัวเลข GDP ของเราอาจจะกลับมาดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการส่งออกที่ดีขึ้น จากเดิม ธปท.ประมาณการว่า GDP จะกลับมาเท่าก่อนโควิดช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีหน้า ตอนนี้เลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 1 ของปี 2566 จากการเกิดเวฟ 3

แต่ผมขอย้ำนะว่ามันเป็นแค่เรื่องของตัวเลข ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา คนทั่วไปจะไม่รู้สึกว่าทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม เพราะรายได้และการจ้างงานจะยังไม่กลับมา “หัวใจ” ของการที่เราจะกลับมา ไม่ใช่แค่ตัวเลข GDP แต่กลับมาในแง่ของความรู้สึกคนจริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินการคลัง เท่ากับเรื่องของการฉีดวัคซีนครับ

ฉีดวัคซีนช้า – เร็ว สร้างผลกระทบต่างกันอย่างไร

ก่อนหน้านี้เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ตอนนี้เหลือ 0 เดิมปีนี้เรามองว่าจะได้ล้านกว่าคน ตอนนี้ต้องลดลงมา ปีหน้าเราหวังว่าจะเห็นตัวเลขสัก 10 กว่าล้านคน แต่จะ 10 กว่าเยอะหรือ 10 กว่าน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราฉีดวัคซีนได้เร็วแค่ไหน ความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ที่เราฉีดวัคซีนได้เร็วกับช้าลงมาหน่อย ผลกระทบต่อเศรษฐกิจช่วง 2 ปีข้างหน้า มันต่างกันระหว่าง 3 – 5 เปอร์เซ็นต์ ลองนึกภาพว่าถ้าเราต้องใช้เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้เม็ดเงินเยอะมาก ตรงนี้มันก็เลยสะท้อนว่าวัคซีนเป็นวิธีที่จะพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุด

สิ่งที่ทุกประเทศอยากเห็นคือภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) คนได้รับวัคซีนมากพอจนทำให้การแพร่ระบาดน้อยลง เดิมของเรามองไว้ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร แต่เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์ แล้วโควิดสายพันธุ์ใหม่ก็แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น จำนวนคนที่ต้องฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป้าเพิ่มขึ้น โอกาสที่เราจะฉีดให้ถึงเป้าก็ท้าทายมากขึ้น แต่ถ้าฉีดไม่ถึงตรงนั้น จะเปิดประเทศให้ Commercial Flights กลับมาคงลำบาก

จริงๆ แล้วผมยังกังวล เหมือนที่คนเป็นห่วงกัน คือถึงแม้เราจะฉีดไปเยอะแล้วโอกาสเกิดเคสใหม่ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นธรรมชาติของการฟื้นตัวมันคงมีสะดุด เราอาจเปิดประเทศ อาจเป็น Sandbox แบบภูเก็ต มีคนเดินทางเข้ามา มีโอกาสเกิดเคสใหม่ เชื้อกลายพันธุ์ คนเริ่มติด คนตกใจ อาจต้องล็อกดาวน์อีกหรือเปล่า อย่าไปคิดว่าฉีดวัคซีนถึงระดับหนึ่งแล้วทุกอย่างจะจบ อันนี้ไม่ใช่

แต่ถ้าเราไม่ฉีด โอกาสที่เราจะกลับมาเปิดประเทศแล้วทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น อย่างที่คนจะรู้สึกว่ามันฟื้น น้อยมากครับ โอเค อันดับแรก รัฐบาลต้องไปหาวัคซีนมาได้ สอง รัฐบาลต้อง Rollout ให้ได้ ฉีดกี่แสนโดสต่อวัน แต่ที่สำคัญคือสุดท้ายประชาชนต้องยอมฉีด ก็เลยอยากจะขอร้องถ้ามีโอกาสฉีด ฉีดเถอะครับ

(ผู้สื่อข่าว: ผู้ว่าฯ ฉีดหรือยังคะ) ฉีดแล้วครับ (ผู้สื่อข่าว: ยี่ห้ออะไรคะ) Sinovac ครับ เขาให้ฉีดอะไรผมก็ฉีด ผมไปประชุมบ่อย แล้วก็ไปเจอคนในที่ประชุมติดโควิด ผมต้องกักตัว 2 สัปดาห์ โดนแทงจมูกมา 5 หนแล้ว (หัวเราะ) คือผมว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มันชัด ฉีดยังไงก็ปลอดภัยกว่า ที่สำคัญถึงแม้คุณติดมันลดโอกาสที่จะร้ายแรง

ถ้าโควิด-19 ยังอยู่กับเราไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจไทยต้องรับมืออย่างไร

ผมว่าเราต้องเตรียมรับมือ โควิดจะอยู่กับเรานาน ถามว่าทำไม หนึ่ง อย่างที่ทราบกันดี โอกาสกลายพันธุ์มันสูง วัคซีนก็อาจจะต้องฉีดเพิ่ม สอง ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าวัคซีนที่เราฉีดไปมันจะป้องกันได้นานเท่าไหร่ มีรายงานว่าขั้นต่ำคือ 8 เดือน มันอาจจะป้องกันได้ 1 ปี 2 ปี เราไม่รู้ แต่สมมุติว่าวัคซีนที่เราฉีดไปป้องกันได้ปีกว่า หมายความว่าเราใช้เวลาปีกว่าฉีดทุกคนเสร็จ ก็ต้องกลับมาฉีดคนที่ฉีดไปแล้วอีกรอบหนึ่ง โอกาสที่โควิดมันจะเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับไข้หวัดใหญ่มีสูงพอสมควร เป็น Endemic อยู่กับเรา

แล้วตัวที่จะช่วยคืออะไร ถ้าถามผมมีอย่างน้อย 2 อย่าง เรื่องแรก ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรา คือหวังพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้มันมี Antiviral Treatment ที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ตอนนี้เราพูดถึงเรื่องวัคซีนเยอะ อีกฝั่งหนึ่งคือเรื่อง Treatment เหมือนที่ทำกับ HIV เป็น Antiviral Treatment คุมโรคอยู่ เป็นแล้วมีวิธีรักษาที่เด็ดขาด คนก็อาจจะไม่ค่อยกลัว ตัวนี้จะช่วยให้โลกกลับมาสู่สภาวะปกติ

แต่โอเค คงไม่ใช่เราที่จะวิจัยเจอ Antiviral Treatment ขึ้นอยู่กับคนที่เขากำลังศึกษาค้นคว้าว่าจะมีออกมาหรือเปล่า ดังนั้นเรื่องที่สองคือ แล้วเราเองจะปรับตัวอย่างไร

มันชัดเจนแล้วว่าโอกาสที่เราจะกลับมาแบบเดิม คงไม่ง่ายและใช้เวลานานมาก พูดง่ายๆ คือกว่าเราจะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาเมืองไทย 40 ล้านคนต่อปี คงนานมาก ซึ่งถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น เราต้องปรับตัว อย่าไปคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา 40 ล้านในเร็ววัน ถ้าตัวเลข 40 ล้าน จะยังไม่กลับมา เราต้องเมคชัวร์ว่าคนที่มา “จะอยู่ยาวๆ แล้วจ่ายเยอะๆ” เพื่อให้ได้เงินใกล้เคียงกับเมื่อก่อนด้วยจำนวนหัวที่น้อยลง

ผมว่าตรงนี้มันมีโอกาส เราเห็นกระแสโลกดิจิทัลที่ทำให้คน Work From Anywhere ได้ เราอาจจะเน้นนักท่องเที่ยวที่ Work From Anywhere มีรายได้สูง มาอยู่มาทำงานในไทย แบบอยู่ยาว ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวเราให้สอดรับกับบริบทใหม่ของโลก โควิดมันคงไม่จบแบบเด็ดขาด แต่มันจะมีผุดๆ ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือทางการเงินยังจำเป็น ธปท.มีมาตรการอะไรบ้าง

ขอเป็นภาพรวมก่อนนะครับ ฝั่งนโยบายการเงินตัวที่สำคัญคือเราต้องเมคชัวร์ว่าสภาพทางการเงินต่างๆ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องโดยรวมในระบบเพียงพอ ดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ส่วนตัวเลขสภาพคล่องตามระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมสภาพคล่องมีเยอะ เราดูจาก Loan-Deposit Ratio, Liquid Assets ที่แบงก์ถือ สภาพคล่องเพียงพอ แต่ปัญหาคือสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบ มันไม่ไปในที่ๆ เราอยากให้ไป ซึ่งก็คือคนที่ขาดคือ SME

ตรงนี้สะท้อนว่าที่ผ่านมาสภาพคล่องโดยรวมไม่ได้น้อยหรือไม่ได้ขาด สินเชื่อรายใหญ่โต 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ สินเชื่อรายย่อย (Retail) ก็ยังโต ขนาดหนี้เยอะ แต่สินเชื่อที่ไม่โตคือสินเชื่อ SME

มาตรการชุดล่าสุดที่ ธปท.ออกมา เป็น พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู แล้วก็โครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อปิดช่องว่างที่ SME เจอ เหตุผลที่ SME เข้าไม่ถึงสินเชื่อเป็นเพราะความเสี่ยง เจ้าหนี้มองว่า SME มีความเสี่ยง เราเลยแก้ปัญหาตรงนั้นโดยผูกสินเชื่อกับการค้ำประกัน มีกลไก บสย. เข้ามา

พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ออกมาตอนแรกอาจไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันเท่าที่ควร ถามว่าทำไม เรื่องแรกคือ ความยาว ตอนที่โควิดมาแรกๆ ธปท.มองว่าสถานการณ์จะแรงแต่สั้น แต่ตอนนี้เราเห็นชัดแล้วว่าไม่ใช่อย่างนั้น โควิดเป็นอะไรที่ยาว ดังนั้นจากเดิมที่เราปล่อยสินเชื่อ 2 ปี ตอนนี้ปรับเป็น 5 ปี มีการค้ำประกัน 10 ปี แล้วก็มองว่าการปล่อยสินเชื่อน่าจะเป็น 3 เฟส ทยอยออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ช่วงนี้เป็นการกู้เพื่อทุนหมุนเวียน (Working Capital) ช่วงต่อไปกู้เพื่อเปิดธุรกิจ ช่วงสุดท้ายกู้เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ

เราเชื่อว่าการฟื้นตัวยังไงก็มา แต่มันใช้เวลา ถ้าออกมาตรการสั้นเกินไปอาจกระทบต่อลูกหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นกลับมาได้ การต่อเวลาสินเชื่อให้ยาว ตรงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และค้ำประกันยาว จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ล็อกอีกอันที่สำคัญคือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ดอกเบี้ยต่ำเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกหนี้ที่ได้สินเชื่อเป็นลูกหนี้ที่ความเสี่ยงต่ำมากๆ หรือลูกหนี้ ‘สีเขียว’ กลุ่มนี้จริงๆ ยังไงก็คงรอดอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่เราอยากช่วยคือลูกหนี้ ‘สีเหลือง’ กลุ่มนี้ถ้าไม่ได้สินเชื่อจะกลายเป็น ‘สีแดง’ แต่ถ้าได้ก็จะรอด เราเลยปรับ พ.ร.ก.ฟื้นฟูตัวใหม่ สินเชื่อรอบนี้มีค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ไม่ได้สูงจนลูกหนี้รับไม่ได้ เพราะตอนที่เราคุยกับลูกหนี้ ลูกหนี้ตอบเราอย่างชัดเจนว่าสิ่งสำคัญสำหรับเขาตอนนี้คือการเข้าถึงสินเชื่อ

แล้วมาตรการสำหรับช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยมีอะไรบ้าง

โจทย์ของรายย่อยไม่เหมือน SME โจทย์หลักๆ ของรายย่อยคือจัดการกับภาระหนี้ที่เขามีอยู่ให้เขาอยู่ได้ มากกว่าการให้สินเชื่อเพิ่ม ตอนนี้ในภาพรวมหนี้รายย่อยเยอะมากๆ อยู่แล้ว เราดูจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เพิ่มขึ้นไปเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ วิธีการแก้ปัญหาเลยไม่ใช่การเอาหนี้ไปโปะหนี้

เป็นที่มาของมาตรการระยะที่ 3 ที่ ธปท.ทำ ผมอยากย้ำว่ามาตรการระยะที่ 3 เป็นการปิดช่องว่าง สิ่งที่ ธปท.ทำมาโดยตลอดคือเมคชัวร์ว่าเรามีมาตรการรองรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในแต่ละบริบทที่เขาเจอ

ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ชำระหนี้ได้ สิ่งที่เราแนะนำก็คือชำระหนี้ไปตามปกติ ดีที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นภาระหนี้จะพอกไปเรื่อยๆ แต่สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหา เริ่มชำระไม่ค่อยไหว ก็เข้ามาตรการสไตล์ลดค่างวด ยืดระยะเวลา ลดดอกเบี้ย สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ

ไล่ไปอีกถ้าลูกหนี้เริ่มมีปัญหา ชำระไม่ได้ ผิดนัดชำระหนี้ ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกมาตรการปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระใหม่ เดิมคำนวณจากเงินต้นทั้งหมดเปลี่ยนเป็นคำนวณจากค่างวดที่พลาดไป ช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ที่สะดุดได้มหาศาล เพราะถ้าลูกหนี้ถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระแพงๆ หนี้ก็ยิ่งบาน โอกาสที่จะหลุดจากหนี้ยิ่งน้อยลง เสร็จแล้วเราก็มีมาตรการสำหรับปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ สุดท้ายถ้าเป็น NPL ถูกฟ้องร้อง ก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เราทำขึ้นมา

ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างไร

ตอนนี้เราเห็นชัดแล้วว่าโควิดเป็นอะไรที่ยาว แล้วผลกระทบมันค่อนข้างแตกต่างกันเยอะมากระหว่างภาคธุรกิจ บาง Sector เช่น การส่งออกหรือการผลิตในภาคอุตสาหกรรม กลับมาดีเท่าเดิมแล้วในภาพรวม แต่ Sector ที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว อย่างที่ทราบกันดีว่าแทบจะเป็นศูนย์

ครัวเรือนก็เหมือนกัน มนุษย์ที่ทำงานออฟฟิศ คนที่มีงานประจำ ได้รับผลกระทบก็ Work From Home แต่คนที่เดือดร้อนจริงๆ คือแรงงานที่เป็นรายวัน โดนกระทบหนักมาก

สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือการฟื้นตัวของเราคงไม่ง่าย คงใช้เวลา คงนาน แต่ยังไงก็ฟื้นในท้ายที่สุด แต่การฟื้นตัวของเราจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น เพราะรอบนี้เราเห็นแล้วว่าคนที่ถูกกระทบเยอะเป็นคนรากหญ้า คนที่ทำงานรายวัน เป็น SME ที่โดนหนัก ภาระหนี้ที่มีเยอะอยู่แล้วก็บานเข้าไปใหญ่ด้วยความที่ไม่มีรายได้ไปชำระเลย

แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ Corporate โดยรวมถือว่าค่อนข้างแข็งแรง Balance Sheet แข็งแรง โดยเฉพาะถ้าเขาไม่ได้อิงกับการท่องเที่ยว มันต่างกันสิ้นเชิงกับวิกฤตปี 2540 อันนั้นเป็นวิกฤตของรายใหญ่ รอบนี้เป็นวิกฤตของรากหญ้า

ทางออกของปัญหาหนี้ครัวเรือนคืออะไร

ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นอะไรที่แก้ยากโดยธรรมชาติของมัน ผมขอตอบแบบนี้ก่อนแล้วกัน ว่าวิธีที่ “ไม่แก้” เป็นวิธีที่เราทำกันมาตลอด ทุกยุคทุกสมัย ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้นเหตุมันมีอะไรบ้าง หนึ่ง นโยบายสไตล์ลด แลก แจก แถมต่างๆ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เรากำลังคุยกันอยู่อย่างยั่งยืน เอาเงินไปให้กลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่เพิ่มรายได้ให้เขา มันเป็นอะไรที่ได้ผลระยะสั้น

สอง วิธีที่ไม่ใช่นะ แต่เราก็ทำกันเยอะ ทำกันมานาน คือไปเพิ่มหนี้ให้คน สนับสนุนให้คนกู้ไปทำนู่นทำนี่ จับจ่ายใช้สอย มันได้ผลระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ผลในระยะยาวคือทำให้คนแบกภาระหนี้เยอะ การเอาหนี้ไปถมกับหนี้ที่เขามีเยอะอยู่แล้ว มันไม่ใช่วิธีลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ อย่างน้อยเราต้องหยุดทำอะไรที่มันไม่ใช่

แล้วถามว่าวิธีที่ใช่คืออะไร อันนี้ต้องตอบตรงๆ ว่ามันไม่มีคำตอบที่ง่าย หรือคำตอบที่ชัดๆ หรอก แต่ผมจะขอชี้ว่าองค์ประกอบของคำตอบมีอะไรบ้าง

ถ้าเรานึกภาพว่าเศรษฐกิจไทยในยุคก่อนปี 2540 โตมายังไง มันมีสตอรี่ของการโตคือเราดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มาลงทุนเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เป็นตัวพยุงและขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจมาได้ สร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนได้ อุตสาหกรรมหลัก (Key Industries) ของเราคือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี แต่หลังจากนั้นเราเจอวิกฤต แล้วเราก็เห็นว่าสตอรี่นี้มันเริ่มไปไม่ค่อยไหวแล้ว ถามว่าทำไม เพราะมันมีคู่แข่งที่เสน่ห์แรงกว่าเรา ต้นทุนการผลิตถูกกว่าเรา จะเห็นว่าช่วงหลัง FDI โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกย้ายไปที่อื่น ที่เห็นชัดคือเวียดนาม การลงทุนอิเล็กทรอนิกส์หลังๆ ไปเวียดนาม สมัยก่อนเราทิ้งเวียดนามไม่เห็นฝุ่นเลย เขาห่างจากเรามหาศาล ตอนนี้เขาแซงเราไปแล้ว เป็นตัวอย่างว่าการพึ่งพาเครื่องยนต์เดิมๆ กลไกการเติบโตเดิมๆ ตอนนี้มันไม่เวิร์ค

แล้วตัวที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เราในช่วงหลังคืออะไร คือการท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่งมา ถ้าถอยกลับไปสัก 10 – 15 ปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้เยอะขนาดนี้ อยู่ที่ประมาณ 10 กว่าล้านคน เพิ่งมาวิ่งเร็วๆ ช่วงหลังนี้เอง แล้วหลักๆ ก็มาจากจีน ที่วิ่งขึ้นมาเป็น 40 ล้านคน เป็นตัวสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจเราโต

ถามว่าการท่องเที่ยวมันโตขึ้นมาเพราะอะไร มันโตขึ้นมาจากมาตรการภาครัฐ จากแคมเปญ Amazing Thailand ที่คิดมาสุดยอดเลย ผมว่าไม่ใช่หรอก หรือมันอาจจะมาจากภาพยนตร์ Lost in Thailand ทำให้คนจีนอยากมาเที่ยวเมืองไทย ก็ไม่รู้ แต่พอยท์คือว่าหลายอย่างที่มันเกิดขึ้น ที่มันกลายเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มันไม่ได้มาจากการที่เรากำหนดนโยบายหรือมาจากการดีไซน์ แต่มาจากระบบนิเวศมันเอื้ออำนวย เกิดมี Demand นักท่องเที่ยวจีนเข้ามา แล้วเอกชนเราพร้อมที่จะตอบสนอง รองรับได้

คำถามก็คือว่าหลังจาก FDI มาท่องเที่ยว แล้ว The Next One คืออะไร นี่คือคำถามจริงๆ ที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราคุยกัน เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

แล้วอะไรคือเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่

ผมต้องตอบว่า ผมไม่รู้ แต่พอจะมองออกว่าลักษณะของเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่จะมูฟเราไป Next Stage ของการเติบโตทางเศรษฐกิจมันต้องมีอะไรบ้าง

หนึ่ง การเติบโตของเราต้อง Green กว่าเดิม ที่ผ่านมาเราโตจากอุตสาหกรรมแบบโลกเก่า ซึ่งถ้าไม่ปรับตัวเราไปไม่รอดแน่ ง่ายๆ เลยตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือพระเอกส่งออกของเรา 3 Sector โดยรวมแล้วเดิมเท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออก ตอนนี้ลดลงมาเหลือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออก

พระเอก 3 ตัว คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ลองนึกภาพ 3 ตัวนี้ ถ้าไม่ปรับตัวให้ Green ขึ้น Sustainable ขึ้น แนวโน้มการเติบโตจะเป็นยังไง ยานยนต์ เราทราบดีว่ากระแส EV จะมา ถ้าไม่ปรับตัวให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่ แนวโน้มการเติบโตก็ถูกกระทบ ปิโตรเคมี ก็ชัด ถ้าไม่ปรับตัวให้ Green ขึ้น ของที่มี Carbon Footprint สูงก็จะกระทบเยอะ อิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกัน กระแส Electronic Waste ก็สำคัญ แล้วน้ำหนักของอิเล็กทรอนิกส์ที่เราส่งออก ดันเป็นพวกฮาร์ดไดร์ฟคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ของใน Segment ใหม่ที่โตเร็ว อย่างพวกโทรศัพท์มือถือ พระเอกเก่าของเราถ้าไม่ปรับตัวก็จะโตลำบาก

อันที่สอง ผมอดคิดไม่ได้ว่าการเติบโตของเราคงต้องกระจายจากการเติบโตในกรุงเทพฯ ไปโตตามหัวเมืองมากขึ้น เพราะกรุงเทพฯ มันถึงจุดที่ค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว การเติบโตของประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มชะลอตัวลง เพราะค่าครองชีพมันสูงมาก ถ้าเราจะโตต่อคงต้องไปโตตามหัวเมืองมากขึ้น

อันที่สาม ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราเน้นการลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในไทย ซึ่งผมไม่เถียงว่ายังสำคัญ แต่นับวันการเติบโตของเราอาจต้องมาจากคนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เราอาจถึงจุดที่คล้ายๆ กับเกาหลีหรือไต้หวัน คือธุรกิจถ้าจะโตต่อ ต้องออกไปโตที่ต่างประเทศ แล้วสร้างรายได้กลับเข้ามาในประเทศ ดูการเติบโตจาก GNP คือรายได้ที่ดูสัญชาติ มากกว่าการเติบโตที่เป็น GDP คือการเติบโตที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศ

Green ขึ้น กระจายจากกรุงเทพฯ มากขึ้น ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ผมว่าพวกนี้น่าจะเป็นองค์ประกอบของการเติบโตในเฟสต่อไปของประเทศไทย มากกว่าจะเป็นอะไรที่บอกว่า 10 S-Curve Industries ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะเป็นยังไง

อีกปัญหาสำคัญคือ ศักยภาพแรงงาน จะแก้ไขได้อย่างไร

ถ้าถามว่าทำไมเราถึงมีปัญหาเรื่องศักยภาพแรงงาน ผมตอบสั้นๆ ง่ายๆ เลยว่าเพราะเรามักง่าย ตอนที่เศรษฐกิจพัฒนา ค่าแรงเริ่มขึ้น แทนที่เราจะปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน เอาเทคโนโลยีมาใช้ เอาเครื่องจักรมาใช้ มาเสริมศักยภาพแรงงาน เราทำยังไง เราใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาแทน คิดง่ายๆ พอค่าแรงในไทยเริ่มขึ้น เราเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามา พอเข้ามาเยอะ อุปทานของแรงงานมากขึ้น ค่าจ้างก็ดร็อปลง แรงงานโดยรวมในระบบไม่ค่อยโต รายได้ครัวเรือนของไทยถ้าดูระยะยาวไม่ค่อยโต โตช้า

แล้วถามว่าต้องทำยังไงถึงจะหลุดจากลูป เรื่องหนึ่งที่จำเป็นคือเราต้องการ Cycle การลงทุนใหม่ มันอาจไม่ได้ตอบทุกโจทย์ แต่ถ้าการลงทุนไม่เกิดก็ยากที่ประสิทธิภาพแรงงานกับรายได้จะโต เราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ระดับการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถ้าวัด ณ มูลค่าแท้จริง คือหักเงินเฟ้อออกไปแล้ว ระดับการลงทุนยังต่ำกว่าก่อนวิกฤตปี 2540 ประเทศอื่นเจอวิกฤตการลงทุนแป้ก แต่หลังจากนั้นเขาก็โตกลับมาจนสูงกว่าที่เคยเป็น ของเรายังต่ำกว่า เพราะเราไม่ยอมลงทุน แล้วประสิทธิภาพแรงงานจะมาจากไหน อันนี้จำเป็น แต่เราก็ Stuck มานานแล้ว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า