รู้ไหมว่าตลาดหุ้นไทย หรือ SET Index มีอายุมากถึง 49 ปีแล้ว หลังจากเปิดทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 โดยทุกวันนี้มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นมากกว่า 700 ตัวด้วยกัน
49 ปีที่ผ่านมา ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ดัชนีเคยวิ่งขึ้นไปถึงคือ 1,802.80 จุด ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2561 ทำลายสถิติก่อนหน้าที่ 1,789.16 จุด ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2537 ใช้เวลานานถึง 24 ปีในการทำจุดสูงสุดครั้งใหม่
แม้จะผ่านมาแล้ว 6 ปี แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยกลับไม่ไปไหน โดยแกว่งตัวอยู่ในระดับ 1,300 จุดเท่านั้น หรือปรับตัวลดลงมากว่า 500 จุดจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2561
[ 10 ปีหุ้นไทยย่ำอยู่กับที่ ]
10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีความแปรปรวนมาก จากระดับสูงสุดก็มีแต่ปรับตัวลดลงทุกวันๆ และดูเหมือนจะซบเซาลงเรื่อยๆ จนบางคนก็พูดว่า ตลาดหุ้นไทยนั้นไร้สเน่ห์ไปแล้ว เพราะความน่าดึงดูดและความน่าสนใจนั้นหายไปเกือบหมด
หนึ่งปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้กระทบแค่ตลาดหุ้นไทย แต่กระทบกับตลาดหุ้นทั่วโลก นั่นก็คือ ‘โควิด 19’ ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเกือบ 40% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
โดยในปีนั้น (2563) หุ้นไทยร่วงลงต่ำสุดสู่ระดับ 969 จุด ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่ฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่ดัชนีเคยตกลงไปต่ำกว่าระดับ 1,000 จุด
แม้ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี 2563 โดยปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,600 จุดอีกครั้ง แต่ก็ชะลอตัวลงต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
ณ วันนี้ ตลาดหุ้นไทยก็ยังไม่กลับขึ้นไปอยู่ในจุดเดิมที่เคยเป็น มีแต่อาการ 3 วันดี 4 วันไข้ สวนทางกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ที่กลับมาฟื้นตัวได้ดีตามปกติ หรือมากกว่าปกติแล้วด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่าง ตลาดในภูมิภาคอย่างตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ในสิ้นปี 2566 ฟื้นตัวและให้ผลตอบแทนมากกว่า 25% หรือตลาดหุ้นเวียดนามที่ฟื้นตัวแรงแซงหน้าไทยได้อย่างรวดเร็ว และให้ผลตอบแทนราว ๆ 11% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยนั้นติดลบอยู่ที่ -15%
[ ความเชื่อมั่นที่เลือนหาย ]
ในช่วงที่ผ่านมาทั้งตัวนักวิเคราะห์ คนในแวดวงตลาดหุ้น หรือแม้แต่นักลงทุนเอง ต่างมองว่า การที่ตลาดหุ้นไทยยังย่ำอยู่กับที่และไม่ยอมขยับขึ้นไปสักที มาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เลือนหายไป ขาดความมั่นใจว่าหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ มองแล้วยังไม่มีปัจจัยบวกไหนที่จะเข้ามาซัพพอร์ต
มีเพียงปัจจัยกดดันที่ล้อมรอบตลาดหุ้นไทยอยู่ในตอนนี้ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเอง และสถานการณ์ภายในประเทศ อาทิ ความขัดแย้งทางการเมือง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ รวมถึงนโยบายการเงินของภาครัฐ
และเพราะว่าความเชื่อมั่นนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อตลาดหุ้น เนื่องจากการลงทุนคือความเสี่ยงและเป็นเรื่องของอารมณ์ของนักลงทุน หากต้องเสี่ยงแล้วรู้ว่าอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีคงไม่มีนักลงทุนคนไหนกล้าที่จะลงมาเสี่ยง
เหล่าบรรดานักลงทุนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจึงหอบเงินหนีออกไปลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้น จนทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยทยอยลดลงอย่างมาก
จากสถิติย้อนหลังพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมากถึง 1 ล้านล้านบาท และมีเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นที่มีการซื้อสุทธิคือในปี 2565 ด้วยมูลค่า 202,694.36 ล้านบาท
และในช่วงสิ้นปี 2566 มูลค่าการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติก็ปรับลดลง โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.11 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 6.03 ล้านล้านบาทในปี 2565
[ ยังขาดกลุ่มเทคโนโลยี ]
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงในหมู่นักลงทุน ในหัวข้อที่ว่า ตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนเพราะขาดหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมใหม่ๆ
เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบกับโลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีจึงเป็นเหมือนสิ่งที่รออยู่ในอนาคตและพร้อมที่จะเติบโตอยู่ตลอดเวลา
ในส่วนของนักลงทุนก็มองหาหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้นเพื่อลงทุน พร้อมคาดหวังผลตอบแทนที่น่าสนใจ และนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนถอนเงินออกจากตลาดหุ้นไทยมุ่งสู่ตลาดหุ้นอื่นที่ตอบโจทย์มากกว่า
แต่ก็ไม่ใช่ว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่มีหุ้นกลุ่มเทคโลโลยีอยู่เลย เพราะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นบ้านเรามีบริษัทด้านเทคโนโลยีสูงถึง 63 บริษัท ซึ่งเเบ่งออกเป็นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
แม้ตลาดหุ้นไทยจะมีหุ้นเทคโนโลยีอยู่จริง แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในยุคที่ AI กำลังมาและจะสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล ต่างกับหุ้นเทคโนโลยีในตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ราคาพุ่งแรงและให้ผลตอบแทนที่ดึงดูดนักลงทุนอย่างมาก
[ SET Index กำลังรออะไร ]
จากกระแสเงินลงทุนที่ไหลออกจากตลาดหุ้นเพราะความไม่แน่นอนหลายๆ ด้านที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งความหวังที่ตลาดและนักลงทุนต่างรอคอย มาจากการกระตุ้นของภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนในด้านต่างๆ ที่จะมาจากฝั่งของรัฐบาลเป็นหลัก
และที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างเม็ดเงินมากที่สุด
ซึ่งหลายๆ สถาบันและนักวิเคราะห์ก็ประเมินว่าแรงกระตุ้นที่มาจากภาครัฐและการท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอย หากกลับมาได้เร็วก็เชื่อว่าความมั่นใจของนักลงทุนจะฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน
โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน จากผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.88 ปรับเพิ่มขึ้น 37.8% จากเดือนก่อนหน้า
ซึ่งกลับมาอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) รองลงมาคือสถานการณ์เงินเฟ้อ และ การไหลออกของเงินทุน
[ โอกาสของหุ้นไทยในปี 67 ]
นับว่าผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือนในปี 2567 ปัจจุบันดัชนีของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 1,373.18 จุด (20 มี.ค.67) และที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มเห็นเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง
นี้ถือเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นปี 2567 ที่ดี เพราะนักวิเคราะห์หลายคนจากหลายสถาบันต่างก็มีมุมมองที่เป็นบวก และประเมินว่าในปีนี้ตลาดหุ้นไทยจะสามารถกลับมายืนอยู่ในระดับเดิมได้อย่างแน่นอน
โดย ‘ภากร ปีตธวัชชัย’ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่าปีนี้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้น และคาดว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีและสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่ผ่านมา
ด้าน ‘วิจิตร อารยะพิศิษฐ’ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ ก็บอกว่า แม้ปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีดาวน์ไซน์ แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวการและการบริโภคในประเทศฟื้นกลับมา ประเมินไตรมาส 1/2567 ดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,350 – 1,420 จุด และสิ้นปีมีโอกาสดีดขึ้นไปแตะ 1,500 จุด
ขณะที่ ‘เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม’ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส ได้ประเมินเป้าหมายดัชนีสิ้นปีน่าจะอยู่ที่บริเวณ 1,650-1,670 จุด ซึ่งได้มาจากแรงหนุนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล และการสิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เข้าสู่แนวโน้มดอกเบี้ยขาลงแทน
ส่วน ‘ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ประเมินว่าในช่วงสิ้นปีดัชนีมีโอกาสกลับขึ้นไปแตะระดับ 1,600 จุด เพราะเชื่อว่าการใช้จ่ายของภาครัฐจะกลับมาปกติ และเป็นส่วนหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้หุ้นไทยฟื้นตัวได้ในปีนี้
เรียกได้ว่านักวิเคราะห์หลายคนค่อนข้างมั่นใจว่าปี 2567 นี้จะเป็นปีที่บรรยากาศของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะฟื้นกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง หรือเป็นฟ้าหลังฝนที่สดใสของตลาดหุ้นไทยแบบที่หลายคนรอคอยหลังเผชิญสถานการณ์โควิด 19 มาอย่างหนัก
อย่างไรก็ตามยังเหลืออีกกว่า 10 เดือนในปีนี้ที่ยังคงต้องจับตาดูว่าตลาดหุ้นไทยจะสามารถกลับมามีสเน่ห์และได้รับความสนใจอีกครั้งหรือไม่…