ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมีอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ รัฐเยียวยาอย่างไร กรณีแบบไหนถึงจะได้รับเงินเยียวยา workpointTODAY สรุปมาให้ในคลิป
หลังวัคซีนโควิด-19 มักจะเกิดอาการข้างเคียง ซึ่งปกติสามารถเกิดขึ้นได้กับการฉีดวัคซีนหลายชนิด ทั้งแบบรุนแรง และไม่รุนแรง นั่นก็เพราะร่างกายมีการตอบสนองต่อวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในร่างกาย
ทำให้หลังจากที่เราไปฉีดวัคซีนจำเป็นต้องสังเกตอาการ 30 นาที ณ จุดบริการ เพื่อดูว่ามีอาการแพ้รุนแรงหรือไม่ โดยทั่วไป มักจะเกิดอาการภายใน 15-30 นาที หากไม่มีอาการก็สามารถกลับบ้านได้
สำหรับอาการที่ถือว่าเป็นผลข้างเคียงทั่วไป และอาการรุนแรงแบบได้ดังนี้
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนที่ไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังฉีด หรืออาจจะเกิดขึ้นนานถึง 1 สัปดาห์ ซึ่งปกติจะหายได้เอง
ส่วนอาการข้างเคียงรุนแรง ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์ใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์สายด่วน 1669
สำหรับผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนรุนแรง รัฐมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยจะช่วยเหลือกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงเสียชีวิตแต่ต้องเป็นผลจากวัคซีนฟรี ที่รัฐจัดหาให้เท่านั้น
โดยให้ยื่นขอรับเงินเยียวยาผ่าน โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สปสช. หรือ อสม. ยื่นโดยผู้รับวัคซีน ทายาท ผู้อุปการะ หรือ โรงพยาบาลที่ให้บริการก็ได้
- อาการเล็กน้อยเยียวยาไม่เกิน 10,000 บาท
- อาการปานกลางเยียวยา 10,000 – 50,000 บาท
- กรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละไม่เกิน 400,000 บาท
โดยเป็นเงินเยียวยาเบื้องต้น ที่ไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดว่าสาเหตุเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่จะมีอนุกรรมการ สปสช. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติและข้อมูลต่างๆ ดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยา และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ มีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย รายละเอียดนี้สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร.1330 มาตรการนี้ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ