Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ประกาศให้ธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยในประเทศยุติการใช้รหัส OTP (One Time Password คือชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียวที่ระบบของเราสร้างขึ้น) ทำธุรกรรมทางการเงินภายใน 3 เดือนข้างหน้า และให้หันมาใช้ “ดิจิทัล โทเคน” (Digital Token) ผ่านแอปพลิเคชันของแต่ละธนาคารแทน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ และการหลอกล้วงข้อมูลลูกค้าสวมรอยทำธุรกรรม

ด้าน แกร็บ (Grab) บริษัทผู้ให้บริการเรียกรถ และส่งอาหารสัญชาติสิงคโปร์ได้ปิดดีลเข้าซื้อธุรกิจ โชป (Chope) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจองร้านอาหารท้องถิ่นในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย โดยการซื้อครั้งนี้จะทำให้ผู้ใช้ แกร็บ สามารถเข้าถึงบริการจองร้านอาหารของ โชป ผ่าน แกร็บฟู้ด (GrabFood) ได้ ส่วน แกร็บ เองจะสามารถเข้าถึงเครือข่ายร้านอาหารใหม่ๆ และประสานระบบนิเวศของ โชป เข้ามาเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดร่วมกัน

ทั้งสองข่าวนี้หากมองด้วยสายตาของคนทั่วไปก็คงเห็นแค่พัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศสิงคโปร์ที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น แต่หากมองด้วยสายตาของนักยุทธศาสตร์ และนักวางแผนเพื่อสร้างชาติก็จะรู้ว่าเบื้องหลังการเติบโตนี้มีวิสัยทัศน์ที่ไม่ธรรมดาซ่อนอยู่

สิงคโปร์ วางแผนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว 

พัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงความก้าวหน้าของ แกร็บ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันอยู่บนแผนยุทธศาสตร์การสร้างชาติให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ปลายปี 2014 ภายใต้ชื่อ “Intelligent Nation 2015” ที่มีจุดมุ่งหมายให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความพร้อมและเป็นแหล่งของเทคโนโลยี รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน และธุรกิจที่มีคุณภาพ

ก่อนที่ต่อมาจะมีการยกระดับวิสัยทัศน์ใหม่ที่กว้างไกลขึ้นอย่าง “Smart Nation” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในสิงคโปร์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งแผนงานยุทธศาสตร์นี้กินเวลาถึง 10 ปี (2015-2025) โดยมี 2 อุตสาหกรรมสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนแผนงานนี้คือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ในปี 2022 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 198,704 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้น 3.89% จากปี 2013)

ยุทธศาสตร์ Smart Nation จะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศ โดยประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และสังคมดิจิทัล (Digital Society)

เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

ในปี 2018 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศแผนปรับธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตทั้งระบบ ผ่าน 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ

1) เร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจดิจิทัล
2) สร้างระบบนิเวศสนับสนุนการเติบโต
3) สร้างหน่วยงานตัวกลางที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเติบโต

โดยอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้น ได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สื่อเสมือนจริง (Immersive Media) อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IOT) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)

ในส่วนของ “รัฐบาลดิจิทัล” มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารงานและบริการประชาชน พร้อมปรับปรุงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อให้การทำงานเกิดความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยหนึ่งในเครื่องมือที่เป็นผลผลิตของนโยบายนี้ที่มีชื่อเสียงก็คือ แอปพลิเคชัน “LifeSG” ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการประชาชนแบบครบวงจรตั้งแต่การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การทำพาสปอร์ต และการยื่นภาษี

LifeSG

สังคมดิจิทัล (Digital Society)

รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดิจิทัลกับประชาชนสิงคโปร์ทุกคน ทำให้ประชาชนในประเทศมีทักษะ ความมั่นใจ และแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงนี้จะทำให้ง่ายต่อการเปิดรับของประชาชนในอนาคต เมื่อหน่วยงานรัฐจะนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ใช้

การที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ “Smart Nation” และกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังทั้ง 3 สามารถขับเคลื่อนไปได้จำต้องพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะมาตอบโจทย์ โดยภาครัฐของสิงคโปร์มุ่งเป้าไปที่ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV; กลุ่มนี้ในท้ายที่สุดจะก้าวเข้าสู่ Autonomous Car (AC))

เมื่อบวกเข้ากับโครงการสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่าง เทคโนโลยี Fiber Optic และ 5G รวมไปถึงเทคโนโลยีที่กำลังจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของโลกในอนาคตอันใกล้นี้อย่าง AI ซึ่งเบื้องหลังการทำงานของมันมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น Cloud Computing, Machine Learning (ML), Deep Learning และ Data Science ซึ่งทางภาครัฐของสิงคโปร์ก็ได้ทำการผลักดันและสนับสนุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมไปกับระบบนิเวศเหล่านี้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ “Smart Nation” เป็นจริง

นอกจากการสร้างระบบนิเวศให้มีความพร้อมในทุกมิติเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ทางรัฐบาลสิงคโปร์ยังมีมุมมองต่อปัญหาค่อนข้างเป็นบวก โดยพวกเขามักพลิกวิกฤตต่างๆ ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจได้

อย่างในปี 2017 – 2020 สิงคโปร์เจอปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้ผู้อยู่อาศัยในประเทศเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการที่แผงหน้าอาคาร (Building Facade) ร่วงหล่นลงมามากกว่า 90 ครั้ง ทำให้ต้นปี 2020 ภาครัฐจำต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทานแผงหน้าอาคารของตึกที่มีความสูงมากกว่า 13 เมตรขึ้นไปและมีอายุมากกว่า 20 ปีเสียใหม่

โดยบังคับให้ต้องมีการตรวจแผงหน้าอาคารอย่างละเอียดถี่ถ้วนครอบคลุม 100% ของพื้นที่ทั้งหมด และทำในทุกๆ 7 ปี จากผู้ตรวจสอบที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์

แต่การตรวจพื้นที่อาคารสูงกว่า 13 เมตรให้ครอบคลุมในเวลาจำกัดมีความเป็นไปได้ที่ต่ำมาก แถมมีต้นทุนที่สูงมาก และมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอีกด้วย

ตรงนี้ทำให้กฎหมายใหม่จากทางภาครัฐแทบจะเป็นการบีบให้ภาคเอกชนต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กลายๆ และด้วยการปรับกฎหมายใหม่ในครั้งนี้ทำให้ ‘เทคโนโลยีโดรน’ เพื่อตรวจสอบอาคารกลายเป็นผู้เล่นสำคัญหน้าใหม่ในธุรกิจนี้

พร้อมกับการมาของ โดรน (Drone) ทำให้เทคโนโลยี Cloud Computing, Machine Learning (ML), Deep Learning และ Data Science รวมไปถึง AI จะเข้ามามีบทบาทในงานนี้ เนื่องจากข้อมูลภาพถ่ายและวีดีโอการตรวจหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุด การประมวลผลแบบ Real-Time เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดกับอาคารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจากวิกฤตในครั้งนี้มันได้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มากมาย จนก่อเกิดเป็นบริษัท Startup ที่มาแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ พร้อมสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลผ่านการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ รายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

The H3 Zoom.AI Façade Inspector

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย 4.0

ขยับเข้ามาดูในประเทศไทยกันบ้าง บ้านเราก็มีการวางแผนเพื่อพาประเทศเข้าสู่ยุคนวัตกรรมเช่นกันภายใต้ชื่อ “Thailand 4.0” หรือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) โดยโมเดลประเทศไทย 4.0 เป็นเครื่องมือในการนำพาประเทศให้ก้าวไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน เพื่อพัฒนาประเทศจากรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง

การจะขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนจากการให้บริการพื้นฐานเป็นบริการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง จำต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เน้นการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy)

พร้อมต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติที่สำคัญ

1) เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม
2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
3) เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 7 ปีที่แผนงานนี้ได้เดินหน้าไป พร้อมกับภาพการผลักดันประเทศด้วยนวัตกรรมที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

โดยในช่วงปลายปี 2566 มีการประกาศอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2566 (Global Innovation Index 2023 (GII 2023)) ออกมาจากทาง องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ซึ่งงานในปีที่แล้วจัดขึ้นภายใต้ธีมผู้นำนวัตกรรมท่ามกลางความไม่แน่นอน (Innovation in the face of uncertainty) โดยประเทศไทยเราได้อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก

หากมองมองภาพรวมแล้วถือว่าอันดับคงที่จากปี 2565 แต่ในรายละเอียดเรามีการปรับตัวดีขึ้นในหลายเรื่อง เช่น กลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด กลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่มปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ทั้ง 3 กลุ่มนี้เรามีอันดับดีขึ้นทั้งหมด ขณะที่ในหลายเรื่องเราก็ดูเหมือนกำลังเจอปัญหา เช่น กลุ่มปัจจัยด้านสถาบัน กลุ่มปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย โดยกลุ่มปัจจัยด้านสถาบันลดลงมากที่สุดถึง 7 อันดับ

ขณะที่ในด้านดีประเทศก็ต้องทั้งรักษาและพัฒนาเพื่อให้ก้าวหน้าต่อไป กลับกันด้านไม่ดีประเทศก็ต้องรีบปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดการยกระดับในทุกมิติสร้างความสอดคล้องและเดินไปด้วยกัน โดยในช่วงปี 2564 ทาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้แนะนำ 7 กรอบแนวคิดนวัตกรรมที่จะเข้ามีส่วนช่วยในการพลิกฟื้นอนาคตของประเทศไทยหลังยุคโควิด-19 ภายใต้แรงกดดันจากการแข่งขันรูปแบบใหม่ (New Competition) ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง (Extreme Inequality) และสภาวะโลกร้อน (Climate Change)

1) นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation)
2) นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-Based Innovation)
3) นวัตกรรมสังคม (Social Innovation)
4) นวัตกรรมภาครัฐ (Public-Sector Innovation)
5) นวัตกรรมขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Innovation)
6) นวัตกรรมกรอบความคิด (Paradigm Innovation)
7) นวัตกรรมศาสตร์และศิลป์ (Aesthetic Innovation)

จากกรอบแนวคิดนี้ที่มีพื้นฐานอยู่บนยุทธศาสตร์ใหญ่ 20 ปี เราก็ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของคนไทยทยอยเปิดตัวออกมา

อย่างที่เรารู้กันว่าประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แน่นอนว่าเมื่อสูงอายุมากขึ้นโอกาสป่วยก็มากขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้จำนวนของผู้ป่วยติดเตียงและผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย รวมไปถึงการขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ของไทย ทำให้ปัญหาตรงนี้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดึงดูดและน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ นักวิจัย และนักลงทุน

โดยในปี 2023 ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน Doctor N Medigel (ผลิตภัณฑ์เจลยางพารา ป้องกันแผลกดทับ) และบริษัท เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ จำกัด (พัฒนาระบบงาน Solution สำหรับดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร) ได้ร่วมกันพัฒนาระบบเพื่อแก้ปัญหาการดูแลผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงให้มีสุขภาวะที่ดี ด้วยนวัตกรรม “เตียงพลิกตะแคง” 

เตียงพลิกตะแคง Doctor N Medigel

โดยหัวหน้าโครงการวิจัยอย่าง ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ ก็ได้บอกว่าจากการทดลองกับกลุ่มเป้าหมายได้ผลตอบรับดี และมองเห็นความสามารถในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และมีเป้าหมายขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศอีกด้วย

โดยปกติผู้ป่วยแผลกดทับจะรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และทุก 2 ชั่วโมงต้องมีการพลิกตัวผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้บุคลากรอยู่ที่ 2-4 คน ตรงนี้เป็นภาระที่หนักมากของผู้ที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นนวัตกรรมนี้จึงเป็นความพยายามคิดหาวิธีที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน และช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ของไทยในระยะยาว

จะเห็นว่าทั้งสิงคโปร์และไทยต่างมีแนวทางในการพัฒนาประเทศผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีคนละแบบ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก การลงทุนทำอะไรจึงต้องมองถึงการเอาสิ่งที่พัฒนาออกไปขายนอกประเทศด้วยเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้ภาพในการพัฒนาเป็นการมองตลาดระดับภูมิภาคหรือโลกไปเลย

ขณะที่ไทยเรามีเงื่อนไขที่แตกต่างจากสิงคโปร์ ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า ประเทศมีขนาดใหญ่กว่า แต่ขณะเดียวกันรายได้ต่อหัวของคนไม่สูงเท่าสิงคโปร์ ทำให้ไทยพัฒนานวัตกรรมโดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนา วิจัย และคิดค้น เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชนในประเทศเป็นสำคัญ

 

อ้างอิง:

life.gov.sg

jtc.gov.sg

Doctor N Medigel

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า