SHARE

คัดลอกแล้ว

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำผลมาสู่ผลเสียทางสุขภาพ โดยกลุ่มสารมลพิษหลักสำคัญที่เป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ PM 2.5

‘เชียงใหม่’ ติดอันดับต้นๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก

ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทะยานขึ้นติดอันดับต้นๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดในช่วงวันที่ 21 ก.พ.2566 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 25 – 89 มคก./ลบ.ม. อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ

วันเดียวกันนั้น ‘เชียงใหม่’ ยังติดอันดับเมืองมลพิษอันดับ 15 ของโลก จากเว็บไซต์ https://www.iqair.com/ รายงานคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ พบว่า ช่วงเวลา 14.32 น. จ.เชียงใหม่ ติดอันดับที่ 15 ขณะที่ อันดับ 1 ได้แก่ ลาฮอร์, ปากีสถาน อันดับ 2 อักกรา, กานา และ อันดับ 3 เดลี, อินเดีย ส่วนกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 31

ส่งผลให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาหลายแห่งใน จ.เชียงใหม่ ต้องปรับแนวทางการเรียนการสอน งดกิจกรรมกลางแจ้ง และต้องจัดเตรียมห้องสะอาด หน้ากากอนามัยให้กับนักเรียน ประชาชนในพื้นที่ควรงดกิจกรรมนอกอาคาร รวมถึงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและเวลานาน สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เหมาะสมกับใบหน้าอย่างมิดชิด

ภัยร้ายแรงของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เล็กซึมลึกสู่กระแสเลือด มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่อันตรายถึงชีวิต

หลายคนคงคุ้นชื่อ PM 2.5 เพราะได้ยินบ่อยในช่วงนี้ และด้วยขนาดที่เล็กมากๆ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้ขาดความตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวง จนหลายครั้งก็ลืมไปว่าฝุ่นจิ๋วนี้มีภัยร้ายรอบตัว อันตรายต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตมากกว่าที่คิด

ฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดอนุภาคเล็กมากๆ (ขนาดเล็กกว่า2.5ไมครอน หรือไมโครเมตร)

(PM ย่อมาจาก Particulate Matters) แต่ถ้าฝุ่นนี้มีปริมาณสูงมากๆ ในอากาศ จะดูคล้ายกับมีหมอกหรือควัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า เผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน เป็นต้น อีกทั้งฝุ่น PM 2.5 ยังสามารถรวมตัวกับสารมลพิษ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก ได้อีกด้วย

พญ.ชนัญญา ศรีหะวรรณ์ โรงพยาบาลสมิติเวช ให้ข้อมูลในบทความเรื่อง PM 2.5 ฝุ่นละอองเล็กจิ๋ว แต่ส่งผลเสีย (ต่อสุขภาพ) มหาศาล ระบุว่า ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด บางอนุภาคยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย

ภัยร้ายต่อทางเดินหายใจและปอด แน่นอนว่ามลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ยิ่งเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด

ภัยร้ายต่อหัวใจ การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเล็กจิ๋วติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน

ภัยร้ายต่อสมอง เมื่อฝุ่นผงขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น  ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว  ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้ 

ยิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น “เด็ก-หญิงมีครรภ์-ผู้สูงอายุ-ผู้มีโรคประจำตัว” กลุ่มเสี่ยงสูง

ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษที่ไม่ป้องกัน มีความเสี่ยงเกิดโรคมากน้อยขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดหรือโรคหัวใจ ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงขึ้น

‘เด็ก’ อาจกล่าวได้ว่ายิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ฝุ่นพิษในอากาศที่สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่ายจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่างๆ  หรือทำให้เกิดโรคร้ายแรงในที่สุด

‘หญิงมีครรภ์’ นอกจากภัยร้ายส่งผลต่อตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูดฝุ่นละอองโดยตรงแล้ว ทารกในครรภ์ยังเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน มีการศึกษาพบว่ามลพิษในอากาศมีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงแท้งบุตร และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้

‘ผู้สูงอายุ’ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะเริ่มเสื่อมถอย ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลงดลง หากต้องเผชิญกับฝุ่นละออง อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหอบหืด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่นพิษให้มากที่สุด 

‘ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว’ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่างๆ การสูดฝุ่นผงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงส่งผลให้โรคกำเริบ อาจถึงกับชีวิตได้  

 “อุด-กั้น-อุด” สิงห์อาสา สร้างพื้นที่อากาศปลอดภัย ห้องเรียนปลอดฝุ่น

การป้องกันตัวเองจากการสูดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 แม้สามารถทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเผชิญกับฝุ่นพิษในอากาศ ไม่ออกไปในพื้นที่โล่งแจ้ง และการสวมหน้ากากอนามัย แต่ในเมื่อไม่รู้ว่าจุดจบของปัญหานี้จะมาถึงเมื่อไหร่ การสร้างพื้นที่อากาศสะอาดและปลอดภัยจึงเป็นทางรอด ให้เราสามารถดำเนินชีวิตประจำวันท่ามกลางวิกฤตินี้ได้

‘สิงห์อาสา’ และ บริษัท เชียงใหม่เบเวอเรช จำกัด จำกัด บริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ห่วงใยสุขภาพพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะอวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา จึงอาสาสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นในพื้นที่ 4 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน หลังจากได้เริ่มต้นโครงการมาตั้งแต่ปี 2565 และในปีนี้ได้สานต่อขยายพื้นที่ไปในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ PM 2.5 โดยตั้งเป้าไว้เบื้องต้น 10 ห้อง

“อุด-กั้น-อุด” เป็นวิธีการทำห้องเรียนปลอดฝุ่น คือ เริ่มจากอุดรูรั่วของห้องทั้งหมด กั้นไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาเข้าในได้ และกรองอากาศให้สะอาดอยู่เสมอ โดยมีการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ใช้พัดลมที่มีเครื่องกรองอากาศผ่านทางท่อ และปิดช่องเปิดขนาดใหญ่ด้วยการติดตั้งมุ้งหรือผ้าม่านกันฝุ่นบริเวลาหน้าต่างหรือบานเกร็ดภายใน ซึ่งจะช่วยควบคุมฝุ่นละออง เชื้อโรค สารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ในอากาศ เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีลมหายใจที่สะอาด ได้เรียนหนังสือหรือทำกิจกรรมในช่วงที่เกิดค่ามลพิษสูง

นอกจากนี้ สิงห์อาสายังมี ‘โครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า’ ร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 10 สถาบันภาคเหนือและหน่วยงานราชการ เพื่อดูแลและป้องกันพื้นที่เสี่ยงไฟป่ากว่า 170 ชุมชน ในพื้นที่ 14 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำ ลดปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากปัญหาไฟป่า

เรียกได้ว่า ‘สิงห์อาสา’ ได้ตระหนักและอยู่เคียงข้าง พร้อมเผชิญปัญหาร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน และเข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด PM 2.5 ให้ประชาชนได้มีพื้นที่อากาศปลอดภัย มีลมหายใจที่คุณภาพดีร่วมกัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า