“เจอตรงกลางคืออะไร ตรงกลางของถูกกฎหมาย ก็คือผิดกฎหมายไง” คำพูดของ ‘ทราย สก๊อต’ หรือ สิรณัฐ สก๊อต อดีตที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ให้ไว้ในรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ เมื่อเช้าวันนี้ (21 เม.ย.)
นับเป็นอีกครั้งที่ฉายภาพความห่วงแหนที่มีต่อท้องทะเล ในเวลาเดียวกัน ก็สะท้อนตัวตนของการเอาจริงเอาจัง ในการทำงาน และบุคลิกที่พูดตรง จนบางคนมองว่าแข็งกร้าว ร้ายแรงถึงกดทับชาวบ้าน
บุคลิกตึงไม่มีหย่อนนี่แหละ ที่ทำให้เขาได้รับแรงสนับสนุน และแรงต้านในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการแชร์ประสบการณ์ผ่านโลกออนไลน์ จนนำมาสู่บทสรุป อธิบดีกรมอุทยานฯ เตรียมเสนอเรื่องพิจารณายกเลิกคำสั่งที่ปรึกษา เพราะมองว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ในฐานะคนทำงาน ทรายมองว่า เขาทำ ‘ตามกฎ’ ที่อุทยานเป็นผู้กำหนด ไม่ทำเกินหน้าที่ ด้านผู้ประกอบ ก็แย้งว่าไม่ได้ทำผิดกฎ ขณะที่ชาวบ้านก็อยากให้เข้าใจวิถีชีวิต และร่วมดูแลธรรมชาติไม่ต่างกัน โดยภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง ร่วมแสดงความเห็น ว่าการอนุรักษ์ทะเลเป็นเรื่องซับซ้อน และจะสำเร็จก็ต่อเมื่อทุกคนร่วมมือกัน
- ทำไม ทราย สก๊อต ถึงรับตำแหน่งที่ปรึกษาได้
1) ทราย สิรณัฐ สก๊อต ลูกครึ่งไทย-สก็อตแลนด์ อายุ 28 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักในฉายา ‘มนุษย์เงือก’ จากการว่ายน้ำข้ามจังหวัด จากหาดยาว จ.กระบี่ สู่ อ่าวปอ จ.ภูเก็ต ใต้โครงการ SEA YOU STRONG
2) ปลายปี 2566 ทราย เสนอตัวต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าประสงค์เป็นจิตอาสา หรือ ทูตทางทะเล ช่วยเป็นสื่อกลางสร้างจิตสำนึก ประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์กับบริษัทนำเที่ยว นักท่องเที่ยว สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
3) จากนั้น ได้รับโอกาสให้ช่วยงานกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาต่อเนื่อง จนเดือน ม.ค. ปี 2567 เขาได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็น ‘ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช’ จากอธิบดีคนปัจจุบัน คือ อรรถพล เจริญชันษา
4) ทรายเล่าไว้ เห็นปัญหาในหลายประเด็น อย่างการทำงานเชิงป้องกันที่อาจไม่มากเพียงพอ ท่ามกลางธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่ส่งเสริมไปในทางเดียวกัน เขาจึงพยายามทุ่มเทเรื่องนี้เป็นพิเศษ ก่อนจะพบอีกปัญหาใหญ่ คือ คนทั่วไปไม่เข้าใจภารกิจของเจ้าหน้าที่ ขณะที่เงินตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีประกันการทำงาน ทั้งที่ทำงานเสี่ยงถึงชีวิตตลอดเวลา
5) เป็นที่มา ของการทำคลิปวิดีโอที่มุ่งเน้นให้เห็นความสนุก ท้าทาย และหนักหน่วงของเจ้าหน้าที่ ทั้งเพื่อขวัญกำลังใจ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนทั่วไป จนมีผู้ติดตามเขาหลักแสนคน โดยเฉพาะ TikTok ที่มีผู้ติดตามถึง 5.2 แสนคน และกดไลก์ 5.2 ล้าน
- ยอดคนดูคอนเทนต์หลักล้าน
6) ด้วยหลายองค์ประกอบสนับสนุน ทั้งที่ดูเป็นคนลุยๆ ทำงานเต็มที่ และสื่อสารตรงทั้งต่อคนทำงาน และนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการมีพื้นฐานเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ทำให้มีคลิปวิดีโอหลายชิ้นที่ได้รับความสนใจ
7) โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ ‘การตักเตือนนักท่องเที่ยว’ อย่าง การห้ามว่ายน้ำเขตฟื้นฟูปะการัง ห้ามดื่มแอกอฮอล์บนเรือ รวมถึงเตือนทำแผ่นประกาศเรื่องข้อปฏิบัติลงไปพูดคุยกับคนในพื้นที่
- ข้อขัดแย้งของ การอนุรักษ์และวิถีชีวิต
8 ) ท่ามกลางเสียงชื่นชมในโลกออนไลน์ แรงต้านจากคนทำงานด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ นับเป็นความท้าทาย วันที่ 12 เม.ย. ทรายเผยแพร่วิดีโอที่เขาห้ามปรามเรือที่นำเที่ยวในอ่าวบูหยา เขตประกาศปิด เพื่อฟื้นฟูปะการัง จนโต้เถียงกับคนทำงานนำเที่ยว
9) “วิถีชีวิตเขาอยู่กันแบบนี้ เราต้องทำความเข้าใจ” เสียงหนึ่งของคนนำเที่ยว ระหว่างวิดีโอดังกล่าว จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรง โดยแตกเป็น 2 ข้างอย่างชัดเจน
10) คนจำนวนมากร่วมแสดงความเห็น ว่าความเคยชินที่ทำร้ายธรรมชาติ ไม่ต่างกับทุบหม้อข้าวตัวเอง เป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เสียงวิจารณ์เชิงลบมุ่งไปยังคนในพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้
11) ในอีกด้านหนึ่ง ทราย ก็ได้รับข้อท้วงติงตีกลับว่า การเผยแพร่เนื้อหาเพียงบ้างช่วงบางตอน สร้างความเข้าใจผิด และปั้นให้คนในท้องที่เป็นตัวร้ายของเรื่อง ทั้งที่ทุกคนต่างก็ร่วมกันทำงานมาโดยตลอด
- การลาออก และดราม่า ตักเตือนนักท่องเที่ยว ‘หนีห่าว’
12) ไม่แน่ชัดว่าสารตั้งต้นที่แท้จริงมาจากไหน แต่ถัดมาเพียงวันเดียว 13 เม.ย. ทรายโพสต์ข้อความ เป็นการยืนยันว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว “ผมเลือกที่เสียสละงานที่ผมรักกับตำแหน่งของผม เพื่อโอกาสที่จะสะท้อนเรื่องจริงของปัญหาทะเลทางภาคใต้ เหนือกว่าตำแหน่งผมคือความรักที่ผมมีต่อทะเล ขอบคุณสำหรับทุกประสบการณ์และผมเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่เสมอ…ผมเดินต่อครับ”
13) ถัดมาเพียงวันเดียว ทราย ได้เผยแพร่วิดีโออีกชิ้น ที่ระบุว่า เป็นโพสต์สุดท้ายในฐานะเจ้าหน้าที่ ที่ตักเตือนนักท่องเที่ยว ซึ่งทักทายเขาด้วยคำว่า ‘หนีห่าว’ โดยอธิบายไว้ว่า นับเป็นคำทักทายที่ตีความได้ถึงการเหยียดเชื้อชาติ จึงจำเป็นต้องห้ามปรามเด็ดขาด
14) กรณีนี้เองก็เสียงแตก เช่น ดีเจมะตูม ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ 20 ปีในยุโรป ว่าคำนี้เป็นการเหยียดอย่างรุนแรง โดยมีผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน อีกฟากหนึ่ง มองว่าต้องพิจารณาบริบทและเจตนาประกอบ ตัวอย่างบริษัท
15) อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว แต่ทั้งหมดสนับสนุนให้การลาออกของ ทราย ได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเขากล่าวถึงแรงกดดันจากบริษัทด้านการท่องเที่ยว ที่อาจถูกอนุมานว่าเกี่ยวข้องกับการลาออกครั้งนี้
– ความขัดแย้งกับธุรกิจท่องเที่ยวใหญ่
16) จังหวะที่ดราม่ากำลังขยายกว้าง ไทยรัฐออนไลน์ ลงพื้นที่พูดคุยกับคนขับเรือนำเที่ยว ใน จ.กระบี่ ที่ระบุว่า ที่ผ่านมาพวกเขาเข้าใจความหวังดี และยินดีร่วมมือ แค่วิธีการสื่อสารของทราย โดยเฉพาะการถ่ายคลิปไปโพสต์ ทำให้รู้สึกเป็นเหยื่อ เหมือนถูกโจมตีว่าไม่รักทะเล ซึ่งขัดกับความเป็นจริง
17) ชัดเจนขึ้นว่า การทำงานของทราย ขัดแย้งกับผู้ประกอบในพื้นที่จริง เมื่อ ย้อนไปวันที่ 10 มี.ค. วรานนท์ ณ ตะกั่วทุ่ง ประธานกรรมการบริษัท ไทยมารีน (ภูเก็ต) จำกัด ที่ได้เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าถึง ความไม่พอใจจากทำคลิปเชิงตำหนิ ของ ทราย ที่ โพสต์ภาพและข้อความพาดพิงบริษัท ว่าจับสัตว์ และให้นักท่องเที่ยวป้อนอาหาร ระบุ โดนตัดต่อภาพ สร้างความเสียหาย อยากให้อธิบดีฯ พิจารณาการทำงาน ย้ำจะดำเนินคดีถึงที่สุด ในเวลาต่อมา ยังแสดงความกังวลว่าอาจกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยว
18) สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ ทราย ว่าเขาถูกผู้ประกอบการร้องเรียนไปยังจังหวัด และกรมอุทยานฯ ถึงข้อขัดแย้งเหล่านี้ ซึ่งเขายืนยันว่า เกิดขึ้นจริงและทำตามหน้าที่
- ภาคประชาสังคม และนักวิชาการร่วมแตะเบรก
19) ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เป็นคนหนึ่งที่แสดงความเห็นถึงประเด็นนี้ ระบุ “คนทำผิดสมควรโดนตักเตือนและลงโทษ แต่ผู้ประกอบการดีๆ มีอยู่มาก ไม่มีพวกเขาพวกเธอเหล่านั้น เราคงฟื้นฟู ‘อ่าวมาหยา’ ไม่สำเร็จครับ”
20 ) ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพใต้น้ำ ที่ทำงานร่วมกับนักอนุรักษ์มาต่อเนื่อง เป็นคนหนึ่งที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า เรื่องเล่าที่ทำให้ชาวบ้านดูไร้ความรับผิดชอบ ไม่รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากคนชั้นกลางในเมือง อาจดูน่าขนลุกไปหน่อยโดยเฉพาะในแวดวงอนุรักษ์ปัจจุบัน ที่การทำงานร่วมมือกับชุมชนท้องที่ ในการบริหารจัดการพื้นที่กำลังงอกงามเบ่งบานไปทั่วโลก ชาวบ้านเป็นกลไกสำคัญ ทำให้พื้นที่สามารถถูกยกระดับการจัดการออกมาให้เข้ารูปเข้ารอยได้ในระยะยาว ด้วยความเชื่อใจ
“การอนุรักษ์คงไม่ใช่การมองว่าใครคือพระเอกผู้ร้าย แต่ผมว่าคือการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างไร ให้ทุกคนได้ประโยชน์ในระยะยาว และธรรมชาติอยู่ต่อไปได้”
21) ล่าสุด 21 เม.ย. อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า เดิมทีไม่คิดว่าจะปลด เพราะมองว่าทรายเป็นคนมีความตั้งใจในการทำงาน เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยอุทยานฯ แต่ก็มองว่าต้องปรับปรุงการทำงานบางอย่าง
“เขาได้เครดิต เพราะอุทยานให้โอกาสทำงาน แต่ดันมีพฤติกรรมแบบนี้ ก็เหมือนไม่ให้เกียรติกัน อาทิตย์หน้า ผมสั่งให้สำนักอุทยานฯ สรุปเรื่องทั้งหมดมา เสนอเรื่องพิจารณายกเลิกคำสั่งที่ปรึกษาแล้ว เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และว่ากล่าวตักเตือนไปแล้วไม่ยอมรับไปแก้ไข”
22) หากทรายระบุ ‘ไม่เคยทำเกินหน้าที่’ ผู้ประกอบการย้ำ ‘ทำถูกต้อง’ ชาวบ้านพร้อม ‘ให้ความร่วมมือ’ ดังนั้น คำถามถัดไปอาจไม่ตกที่ กรมอุทยานฯ ว่ากฎเกณฑ์และข้อบังคับทั้งหมด ที่ทุกคนระบุพร้อมเอาหลังอิง แล้วเดินหน้าไปด้วยกันนั้น สอดคล้องและเหมาะสมแล้วหรือไม่ หรือเป็นเพียงเส้นที่ขีดไว้เผื่อๆ แต่ไม่มีใครเอื้อมถึง จนไปกันคนละทิศละทาง