SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อพูดถึงประเทศเกาหลีใต้ หลายคนอาจนึกภาพโซลทาวเวอร์ ย่านกังนัม ไปจนถึงกิมจิ อาหารซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นชื่อที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในซีรีส์จนชินตา ทว่าสิ่งที่กล่าวมาอาจเป็นภาพจินตนาการของนักท่องเที่ยวชาวไทยช่วงก่อนหน้านี้ ที่การเดินทางเข้าไปในแดนโสมนั้นง่ายกว่าที่เป็นอยู่มาก

ปัจจุบัน สิ่งที่คนไทยต้องคิดหนักนอกเหนือจากแพลนเที่ยว การเดินทาง และที่พัก หากจะเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ คือ ตม. (ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) ด่านสุดหินจุดชี้ชะตาว่าคนไทยจะได้เข้าหรือไม่ได้เข้าประเทศเกาหลี มีหลายกรณีในสนามบินอินชอนที่ชาวไทยถูกตม.เกาหลีใต้เรียกตัวเข้าไปซักถามข้อมูลการเดินทาง ก่อนจะชี้ขาดว่าอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้เข้าประเทศ

24 ตุลาคม 2566 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ (X) โพสต์ข้อความยาว 23 เธรด เล่าประสบการณ์ติดตม.เกาหลีใต้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่การถูกย้ายตัวเข้าไปยังออฟฟิศของตม. ยื่นเอกสารการท่องเที่ยวเพื่อเป็นหลักฐาน และตอบคำถามการเดินทางมาเกาหลีใต้อย่างละเอียดแก่เจ้าหน้าที่

แม้ว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ (X) รายนี้จะมีเอกสารที่ครบถ้วน ทั้งการจองที่พัก การวางแผนการเดินทาง และตอบคำถามสดกับตม. อย่างกระฉับกระเฉงพร้อมประสบการณ์การท่องเที่ยวเกาหลีใต้ถึง 4 ครั้งของเธอ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตม. ตั้งแง่กับเงินเดือน และถามเธอว่ามาเที่ยวเกาหลีใต้ถึง 4 ครั้งทำไมไม่ไปเที่ยวประเทศอื่นบ้าง? แม้ว่าเธอจะตอบคำถามนั้นได้แต่บทสรุปของทริปนี้ คือการถูกส่งตัวกลับประเทศไทย

ภาพปัญหาชาวไทยติดตม.เกาหลีใต้ยิ่งชัดขึ้น เมื่อเกิดกระแส #แบนเที่ยวเกาหลี ในทวิตเตอร์ (X) โดยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนที่มีประสบการณ์ติดตม.เกาหลีใต้ออกมาแชร์เรื่องราวมากมาย บางรายวางแผนจะไปพบศิลปินในงานแจกลายเซ็น และได้มีการวางแผนไว้แล้วอย่างดี แต่ทริปที่รัดกุมเป็นอันต้องพับเก็บไปเนื่องจากติดตม. และถูกส่งกลับ บางรายเจอคำถามแปลกๆ ที่ต้องลงรายละเอียดเชิงลึกระดับผู้อยู่อาศัยในเกาหลีเท่านั้นถึงจะตอบได้ ครั้นเมื่อตอบไม่ได้ก็ถูกกักตัว และส่งกลับ

ภายใต้ #แบนเที่ยวเกาหลี นอกจากจะเป็นพื้นที่แชร์ความผิดหวังของคนไทยที่ต้องพลาดทริปในฝันจากการกวดขันของเจ้าหน้าที่ตม.เกาหลีใต้ ยังลุกลามไปยังพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ ถึงวิธีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับคนไทย ทั้งสีหน้า ท่าทาง และอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ขณะกักตัว มาตรฐานในการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ ลุกลามไปยังการเหยียดเชื้อชาติของคนเกาหลีใต้ที่ถูกยกมาพูดคุยภายใต้แฮชแท็กนี้เช่นเดียวกัน

ในขณะที่หากมองอีกด้าน ความเข้มงวดของตม.เกาหลีใต้ อาจมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาลักลอบเป็นแรงงานผิดกฎหมายของชาวไทย ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรารายงานว่า วันที่ 6 มีนาคม นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ มีคนไทยและแรงงานไทยพำนักในเกาหลีใต้จำนวน 209,909 คน โดยพำนักอย่างถูกกฎหมาย 57,470 คน และผิดกฎหมาย 152,439 คน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้พบว่าจำนวนแรงงานไทยพำนักผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นจากสถิติในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งมีจำนวน 139,245 คน

แรงจูงใจหลักคือค่าแรงของเกาหลีใต้ที่สูงกว่าค่าแรงไทย สำนักข่าว TODAY พูดคุยกับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ในโครงการ EPS (Employment Permit System) ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2023 ระบุว่างานของเขาได้รับค่าแรงที่ 2,080 บาท/วัน หรือ 50,000 บาท/เดือน ไม่รวมโอที ขณะที่งานก่อสร้างที่ไทยได้ค่าแรงที่ 600 บาท/วัน เกาหลีใต้จึงเป็นอีกปลายทางของแรงงานชาวไทย

แรงงานที่ให้สัมภาษณ์ยังระบุสาเหตุที่คนไทยเลือกเป็นแรงงานผิดกฎหมายมากกว่าเป็นแรงงานของโครงการจ้างงานชาวต่างชาติแบบถูกกฎหมาย ว่าหากมากับโครงการจ้างงานถูกกฎหมายจะมีขั้นตอนหลายอย่างทั้งการสอบ และต้องรอนายจ้างไฟเขียวเข้าทำงาน ซึ่งคนไทยบางคนต้องรอถึง 2 ปีกว่าจะได้รับการตอบรับเป็นแรงงานในเกาหลีใต้

อนึ่ง ถึงแม้ว่าแรงงานชาวไทยจะร้องขอไปเป็นแรงงานต่างประเทศตามโครงการแล้ว แต่ก็ยังคงมีปัญหาที่อาจผลักให้ต้องไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายได้อีก เช่น โรงงานไม่ตรงสัญญาจ้าง มีการบิดเงินเดือนไม่ตรงตามที่ตกลงระหว่างลูกจ้างนายจ้าง หนำซ้ำเมื่องานหมดนายจ้างก็ขับแรงงานชาวต่างชาติออก แรงงานเหล่านี้จึงกระโดดไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายเพื่อความอยู่รอด โดยปัญหาแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและปศุสัตว์

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตม.เกาหลีใต้เข้มงวดกวดขันในการคัดกรองคนเข้าเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้มีชาวต่างชาติลักลอบเข้าไปเป็นแรงงานแบบผิดกฎหมาย และจากจำนวนสถิติการพำนักอย่างผิดกฎหมายของชาวไทยที่ยังสูง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวไทยจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษจากการคัดกรอง แต่ความเข้มงวดไม่เท่ากับการส่งใครกลับก็ได้โดยไม่มีมาตรฐานที่ชี้ชัดว่า ชาวต่างชาติคนดังกล่าวต้องการเข้ามาเป็นแรงงานผิดกฎหมายหรือไม่

การสร้างมาตรฐานและความสมเหตุสมผลในการคัดกรองคนเข้าเมืองของตม.เกาหลีใต้จึงยังเป็นข้อสังเกตด้านความเป็นธรรมกับชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวไทย ซึ่งหากมิได้รับการปรับปรุงระบบที่รอบคอบในการคัดกรองชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะปัญหาลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย หรือการตกเป็นแพะรับบาปของชาวไทยที่ต้องการไปเที่ยวอย่างสุจริต ก็อาจจะยังเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไปไม่สิ้นสุด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า