Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. เคยพูดหลังจากเข้าร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ว่าการเลือกตั้งปี 2562 นั้น ต้องสกัดพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย เพราะรูปแบบการออกแบบการเลือกตั้งให้เป็นบัตรใบเดียว ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเข้าสู่ “ยุทธการแตกแบงก์พัน” โดยพรรคเพื่อไทยไปหวังใน ส.ส. เขตในพื้นที่ และ “พรรคไทยรักษาชาติ” ไปหวังผลระดับปาร์ตี้ลิสต์ เพราะพรรคเพื่อไทยจะชนะ ส.ส. เขตเกินจากอัตราส่วนของ ส.ส. พึงมี

แต่ท้ายที่สุดพรรคไทยรักษาชาติก็ไปไม่ถึงวันเลือกตั้ง ด้วยคำสั่งยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ว่า “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” สถาบันพระมหากษัตริย์

เลือกตั้ง 2562 จึงเป็นจุดกำเนิดของ “พรรคเล็ก – พรรคปัดเศษ” ตามกติกาที่ทุกคะแนนเสียงถูกนับรวมหมด แล้วนำมาหารอัตราส่วนเพื่อให้ได้ ส.ส. ตามสัดส่วนที่พึงมี เราจึงเห็นพรรคที่มีคะแนนหลักหมื่นได้ ส.ส. จากระบบปาร์ตี้ลิสต์มากมายเป็นสิบพรรค และท้ายที่สุดพรรคปัดเศษเหล่านี้ก็กลายเป็นหนึ่งในเสาค้ำจุนรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของพรรคพลังประชารัฐ และการสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร คสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จนเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลเหลืออายุการบริหารราชการแผ่นดิน 1 ปี เราได้เห็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ทยอยเปิดตัวจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น พรรคสร้างอนาคตไทย ที่นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคกล้าของนายกรณ์ จาติกวนิช 

พรรคเหล่านี้ล้วนมาด้วยความหวังว่า ถ้าหากสูตรเลือกตั้งเป็นอย่างเดิม พวกเขาน่าจะได้ 10 – 15 ที่นั่ง หวังว่าจะได้เป็นคหบดีว่าการกระทรวงสักกระทรวง หรือ 2-3 เก้าอี้ต่อพรรค

แต่เหมือนฝันสลายหายไปในพริบตา เมื่อรัฐสภาโหวตให้เกิดการกลับมาของสูตรการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ที่มาควบคู่กับสูตรคำนวณที่นั่งบัญชีรายชื่อ ให้กลับมาเป็นระบบการคิดคำนวณแบบคู่ขนานหรือ MMM (Mixed member majoritarian system)  ซึ่งพรรคใหญ่จะมีสิทธิ์ได้ ทั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ตามแนวคิด “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”

เราจึงได้เห็นการดิ้นรนในการเอาตัวรอดของพรรคเล็กปัดเศษในสภา มีการพยายามล็อบบี้ตีรวนเพื่อให้กลับไปใช้สูตรเดิม ที่ทำให้มีโอกาสได้ ส.ส. ตามสูตร โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตราหรือไม่นั้น โดยศาลฯ ได้วินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นเรื่อง สูตรคำนวณการหา ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 และ หาร 500 กว่าจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญคือการดิ้นหนีตายของพรรคเล็กยิ่งกว่าหนังชีวิต โดยย้อนกลับไปปี 2564 ในวาระหนึ่งกำหนดสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ “หาร 100” ที่ทำให้พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ แต่ในวาระที่ 2 เมื่อต้องเข้าไปพิจารณาร่วม ส.ส. – ส.ว. แล้ว นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. พรรคพลังธรรมใหม่ สวมบทยอดนักสู้เพื่อพรรคเล็ก ยื่นแก้สูตรคำนวณหาร 500 โดยได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. และพรรคเล็ก จนวาระที่ 3 เกมพลิกอีกครั้งเมื่อพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคใหญ่ จับมือกัน “ไม่แสดงตน” ทำให้สภาล่มในวันที่จะครบ 180 วันของร่างกฎหมาย ทำให้สามารถพลิกกลับมาใช้สูตรหาร 100 ได้อีกครั้ง

ถ้าเป็นฟุตบอลเรียกได้ว่าเป็นการแก้เกมกันช็อตต่อช็อตเลยทีเดียว ถ้าถอดสูตรแบบให้เข้าใจง่ายสูตรหาร 100 หมายถึงการนำคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดจากบัตรเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อ มาหารด้วยจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อคือ 100 คน แล้วถึงคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้ตามสัดส่วนคะแนน ยกตัวอย่างเช่น

คะแนนเสียงของทุกพรรครวมกัน 40 ล้านคะแนน คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. หนึ่งคน เท่ากับ 40 ล้าน หารด้วย 100 = 400,000 คะแนน ซึ่งสูตรนี้พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้เปรียบ

แต่ถ้าสูตรหาร 500 หมายถึงการนำเอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมดคือ 500 คน แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาคำนวณหาจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค ยกตัวอย่างเช่นคะแนนเสียงของทุกพรรคที่ได้จากบัตรเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อรวมกัน 40 ล้านคะแนน คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. หนึ่งคน เท่ากับ 40 ล้าน หาร 500 = 80,000 คะแนน ถ้าพรรค A ได้คะแนนเสียงจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 10 ล้านคะแนน พรรค A จะมี ส.ส. พึงมี เท่ากับ 10 ล้าน หารด้วย 80,000 = 125 คน จากนั้นนำเอาจำนวน ส.ส. พึงมี 125 คน ไปลบกับจำนวน ส.ส. เขต จะได้ ส.ส. ทั้งหมดของพรรค A เช่น พรรค A ได้ ส.ส. เขต มาแล้ว 100 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 25 ทำให้พรรค A มี ส.ส. รวมทั้งหมด 125 คน (เท่ากับจำนวน ส.ส. พึงมี)

ถ้าพรรค A ได้ ส.ส. เขต มาแล้ว 200 คน เท่ากับว่า พรรค A จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย เพราะ ส.ส. เขต เกินจำนวน ส.ส. พึงมี (125 คน) ไปแล้ว สูตรนี้ก็จะทำให้พรรคเล็ก พรรคปัดเศษได้ประโยชน์จากการคำนวณ ส.ส. พึงมี เราเลยเห็นพรรคที่มีคะแนนเสียงทั่วประเทศหลักหมื่นมี ส.ส. ได้ เรียกได้ว่าเป็นกลไกสุดประหลาดในรัฐธรรมนูญ 2560 หรือที่เรียกกันว่า “สูตรเลือกตั้งแบบมีชัย” ที่เรียกตามชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

จนท้ายที่สุด “ยอดนักสู้” นพ.ระวี จับมือ ส.ว. และ ส.ส. พรรคเล็กยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และต่อมาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติวินิจฉัย กรณีประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวม 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ) มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่  ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และร่างกฎหมายเลือกตั้งฯ มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94  เรียกได้ว่าเป็นการปิดประตูพรรคเล็กที่จะได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้ง

เราจึงได้เห็นพรรคพลังท้องถิ่นไท ของ “ชัชเตาปูน” ชัชวาล คงอุดม และพรรคพลเมืองไทย ศิลัมภา เลิศนุวัฒน์ เข้าควบรวมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งจะกลายเป็นพรรคที่รองรับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อไป ซึ่งจากผลของการปรับเปลี่ยนกติกา มีการคาดการณ์ว่า หากจะได้ ส.ส. 1 คนอาจจะต้องใช้เสียงในระบบปาร์ตี้ลิสต์ถึง 4 แสนเสียง หรือปีกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ผิดใจกับพล.อ.ประยุทธ์ จนต้องขน ส.ส.ในสังกัดออกไปตั้ง “พรรคเศรษฐกิจไทย” พอเจอสูตรหาร 100 เข้าไป ก็ต้องกลับมาซบอกพรรคพลังประชารัฐในยุคที่เหลือแค่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ขนาดพรรคที่มี ส.ส. แล้วยังรู้สึกท้อแท้ แล้วพรรคที่ตั้งมาใหม่ที่มาด้วยความหวังก็ต้องรีบปรับตัวกันโดยไว พรรคกล้าที่เคยส่งผู้สมัครชิมลางในการเลือกตั้งซ่อมเขตบางเขน และผู้สมัคร ส.ก. ในการเลือกตั้งกรุงเทพฯ พลิกเกมควบรวมกับพรรคชาติพัฒนา ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่มองถึงการเก็บคะแนนในเมืองหลวงกลายเป็น “พรรคชาติพัฒนากล้า”

และที่สุดของข่าวลือ “ลับ ลวง พราง” ระหว่างพรรคสองสร้าง คือ ไทยสร้างไทย และสร้างอนาคตไทย ที่มีข่าวลือว่าจะควบรวมพรรคกัน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่เกิดดีลขึ้น กลายเป็นเหล่าแกนนำของพรรคสร้างอนาคตไทยสลายตัว เริ่มตั้งแต่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ แกนนำพรรคที่ดูแลยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ สละเรือเป็นคนแรก ต่อมา “สองกุมาร” สนธิรัตน์ – อุตตม ก็กลับไปบ้านเดิมอย่างพลังประชารัฐ และกลับมาทวงเครดิต “นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จากพรรครวมไทยสร้างชาติที่ไปเคลมว่า “บัตรลุงตู่” ด้าน ดร.สมคิด ที่หมายมั่นปั้นมือฝันถึงนายกฯ ก็กลับไปทำงานในโลกธุรกิจโดยเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA

แต่ก็ยังมีคนยืนเด่นโดยท้าทายแม้ดีลจะล่ม แต่คุณหญิงสุดารัตน์ก็ยังถือธงนำในการนำพรรคไทยสร้างไทยลงสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 โดยเบนกระแสไปเจาะฐานที่มั่นในภาคอีสานท่ามกลางการสนับสนุนของ “ส.เขมราฐ” นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่คอยดูแลพื้นที่ภาคอีสานให้พรรค จนกระแสโพลไทยสร้างไทยมีลุ้นในหลายพื้นที่ภาคอีสาน

ต้องจับตาว่าท้ายที่สุด พรรคเล็กที่ควบรวม พรรคขนาด SME จะมีที่ยืนในสนามการเลือกตั้งในครั้งนี้หรือไม่ คงต้องไปถามนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐกลับไปสู่พรรคเพื่อไทย ที่เคยพูดประโยคคลาสสิกก่อนเลือกตั้งปี 2562 ว่า “รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา”

ว่าการเลือกตั้งปี 2566 รัฐธรรมนูญและกติกาใหม่นี้ออกแบบมาเพื่อใคร?

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า