ครม.มีมติเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายเพื่อช่วยเหลือ SMEs ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
วันที่ 4 พ.ย.2563 วานนี้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ จังหวัดภูเก็ต กระทรวงการคลังเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ช่วยเหลือ SMEs ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอย่างทั่วถึง โดยขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการทั่วไปในภาคธุรกิจและสาขาที่เกี่ยวเนื่อง ปรับปรุงวงเงินสินเชื่อต่อรายจากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย และขยายระยะเวลารับคำร้องขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยให้สถาบันการเงินต้องเบิกจ่ายสินเชื่อจากธนาคารออมสินให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรับคำขอสินเชื่อ
ครม. ยังเห็นชอบปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส เพื่อให้ บสย. ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs และจ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้ามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ครั้งภายหลังจากเริ่มต้นการค้ำประกัน ได้แก่
ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออมสินช่วยเหลือ SMEs ในภาคการท่องเที่ยว(โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย) จากเดิมที่จะสิ้นสุดรับคำขอสินเชื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ให้ขยายระยะเวลาและคำขอสินเชื่อออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ท่องเที่ยวและ supply chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โอสเทล เป็นต้น วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท/ราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้
ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จากเดิมสิ้นสุดโครงการ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส covid -19 ได้แก่ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพักและร้านอาหารที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ได้อนุมัติไปแล้ว 521 ล้านบาท จากวงเงินจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ยังคงเหลือ 9,479 ล้านบาท