ผู้แทนองค์การอนามัยโลกชื่นชมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของประเทศไทย หากประชาชนร่วมมือจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าการใช้วัคซีน
นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ (Dr. Daniel Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย หลังช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายคนเกิดความกังวล โดยนายแดเนียล ให้ความชื่นชมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขที่สามารถรับมือกับโรคโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม และประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ค้นพบว่ามีผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนและสามารถแยกผู้ติดเชื้อออกจากสังคมได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อออกไป
นพ.แดเนียล มองว่ามาตรการที่ไทยทำอยู่ขณะนี้เดินมาถูกทางแล้ว ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทาง องค์การอนามัยโลก มีความกังวลบ้างว่าจะไปแพร่เชื้อในชุมชนและแพร่กระจายออกไปการติดตามผู้สัมผัสจะยากมากขึ้นการใช้มาตรการ social distancing จึงมีความจำเป็นมากเพื่อยับยั้งเชื้อ
ภายหลังการหารือร่วมกันนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเป็นห่วงสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา หลังจำนวนผู้ป่วยติดเชิ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการพบผู้ป่วยมากขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ดี และติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด มาเข้ารับการรักษาได้
สำหรับในช่วง 5 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดข้อกังวลว่าเชื้อโควิด-19 จะแพร่สู่ชุมชน ทำให้การติดตามค้นหาผู้สัมผัสเป็นไปได้ยาก องค์การอนามัยโลกจึงเน้นให้ประชาชนป้องกันกันตนเองด้วย มาตรการหลัก 4 ข้อ คือ
1.ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทาง ตา จมูก ปาก
3.หากไอ จาม ให้ใช้ข้อพับแขน หรือใช้กระดาษชำระปิด ปาก จมูก และทิ้งใส่ถุงขยะ และล้างมือทันที
4.สำคัญที่สุดคือการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มากกว่า 1 เมตร ซึ่งประเทศไทยได้ใช้มาตรการนี้อยู่แล้ว