SHARE

คัดลอกแล้ว

เปิดผลสำรวจกรมอนามัยพบ เด็กปฐมวัย 1 ใน 4 พัฒนาการล่าช้า ทั้งด้านภาษาและกล้ามเนื้อมัดเล็ก สติปัญญา กสศ.ชี้เป็นโจทย์สำคัญเปิดเทอมใหม่ 2/2565 เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กสศ. นำร่อง โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก คาด 6 เดือน กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ  

ภายหลังกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยแพร่รายงานฉบับพิเศษ “ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19” ซึ่งพบภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ เด็กอนุบาล 3 ยุคโควิด-19 ขาดความพร้อมเข้าเรียนประถมต้นในปัจจุบัน โดยสะท้อนจากผลวิจัยสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand SchoolReadiness Survey: TSRS) ทั้งด้านทักษะพื้นฐาน ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) ของเด็กระดับอนุบาล 3 จำนวน 73 จังหวัด เปรียบเทียบระหว่างปี 2563 – 2565 สอดคล้องกับข้อค้นพบ จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ในห้องเรียน 74 โรงเรียน 6 จังหวัดภาคใต้ นักเรียนจำนวน 98% มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น และมากกว่า 50% จับดินสอผิดวิธี ซึ่งสะท้อนว่ากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา กสศ. ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดเสวนาวิชาการ “ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้หลังโควิด-19 แนวทางฟื้นฟูรับเปิดเทอมใหม่”  

นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ของเด็กปฐมวัย หรือเด็กที่อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2561 – 2580 ในหัวข้อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีกรอบความร่วมมือ (MOU) ของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายคือเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 0 – 5 ปีต้องมีพัฒนาการที่สมวัยอยู่ในระดับร้อยละ 85 ซึ่งที่ผ่านมามีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน 9 กระทรวง จากการใช้คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย วัดแนวโน้มพัฒนาการเด็กปฐมวัยของประเทศไทย  พบว่าเด็กไทย 1 ใน 4  หรือร้อยละ 25 มีพัฒนาการไม่สมวัย

“พัฒนาการเด็กไม่สมวัยที่พบมากสุดคือพัฒนาการด้านการใช้ภาษา Expressive Language (EL)อยู่ที่ระดับ ร้อยละ 75.2  พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา Receptive Language (RL) ร้อยละ 60.1  และ Fine Motor (พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา) ร้อยละ 47  ซึ่งคาดการณ์ว่าตัวเลขพัฒนาการด้านการใช้มือหรือกล้ามเนื้อมัดเล็กซึ่งเชื่อมโยงกับการเรียนรู้จะยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ ในเด็กปฐมวัยของไทย เพราะจากการทดสอบ มีนิ้วที่แข็งแรงเหลืออยู่เพียงนิ้วเดียวคือนิ้วชี้ที่เด็กใช้ในการเลื่อนหน้าจอสมาร์ทโฟน” นพ.ธีรชัย กล่าวและว่า พัฒนาการด้านภาษาไม่สมวัยในเด็กปฐมวัย เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญโดยพบว่ามีมากถึง 3 ใน 4 ของเด็กที่กำลังมีปัญหาด้านพัฒนาการทางด้านภาษา ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกให้เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขในระดับนโยบายโดยได้มีการทำเรื่องเสนอไปยังรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย  (ป.4 – ม.3) โครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า แรงบีบมือของเด็กที่อยู่เกณฑ์ปกติจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม แต่หลังลงสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน 6 จังหวัดภาคใต้ โดยใช้เครื่องวัดแรงบีบมือทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด คือ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบ 98% ของเด็กๆ แรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม หากไม่เร่งพัฒนาอาจจะสูญเสียโอกาสการพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หากปล่อยไป จะยิ่งเกิดปัญหาซับซ้อนในช่วงวัยนี้มากขึ้น โดยมีความหวังให้โรงเรียนนำร่อง ขยายผลไปสู่เพื่อนครูด้วยกัน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเด็กพัฒนาถดถอยอย่างต่อเนื่อง

จากการทดสอบมีเด็กผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 1.19 จึงได้ริเริ่มโครงการ PSU ครูรักศิษย์ ครั้งที่ 7 ‘การพัฒนาฐานกาย’ หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการคือ โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ดูแลโครงการโดย ครูนก-จรรยารักษ์ สมัตถะ หลังการฟื้นฟูต่อเนื่อง  พบค่าแรงบีบมือเด็กมากขึ้น 0.5-2 กิโลกรัมในเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น

ขณะที่ ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ โค้ชกระบวนการวิทยาศาสตร์ (อนุบาล – ป.3) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  กล่าวว่า เด็กมีความทุกข์ในห้องเรียนจากกล้ามเนื้อมัดเล็กอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ ส่งผลให้เกิดภาวะไม่เชื่อมั่นในตนเอง สุดท้ายทำให้เด็กขาดเรียนมากกว่าครึ่งห้อง

“เด็กชั้น ป.1-3 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องประคับประคอง ฐานกายยังเรียกร้อง ทำให้เด็กอยู่ไม่สุข ไม่รู้จะเอาพลังงานออกมายังไง  เมื่อซนก็ครูทำโทษ เทอมที่ผ่านมาเด็กพยายามส่งสัญญาณบอกผู้ใหญ่ แต่ไม่มีใครฟัง เปิดเทอมนี้  เสนอให้ครูใช้กระบวนการเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ แบบ active learning  สร้างสถานการณ์ ให้สอดคล้อง สาระการเรียนรู้และตัวชี้วัด  ทำให้เด็กได้ฝึกสังเกต ฝึกกระบวนการคิด  คิดวิธีเล่น  รวบรวมข้อมูล ออกแบบกติกา ทดลองใช้ร่างกาย   หลังทำกิจกรรม 2 สัปดาห์พบว่า เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น”

รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ โค้ชโครงการสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  เสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และโครงการฐานวิจัย เพราะวิทยาศาสตร์ คือ ตัวขับเคลื่อนการเรียนรู้ ขณะเดียวกันจะทำสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัย และโรงเรียน หน่วยงานด้านการศึกษาที่กำกับดูแล ร่วมมือกัน และการใช้ทุนทางสังคมและการบริหารจัดการที่ใช้ข้อมูลความรู้อย่างแท้จริง การใช้โมเดลพัฒนากล้ามเนื้อมือ ทั้งประเทศใน 6 เดือน สู่การพัฒนาคุณภาพนักเรียน จึงเป็นการนำร่องที่สำคัญคาดว่า ภายใน 6 เดือนจะสามารถช่วยทำให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อได้เพิ่มขึ้น 0.5 – 1.5  กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน และมีค่าแรงบีบมือตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นปกติ คือ 19 กิโลกรัม  ภายใน 6 เดือน หากนำร่องได้สำเร็จ นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของบทพิสูจน์ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการศึกษา และมีความหวังกับการแข่งขันในนานาประเทศ แต่หากไม่เร่งแก้เราอาจสูญเสียเด็กเล็กไปทั้งรุ่น

ขณะที่ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย   กล่าวถึงภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในปี 2565 พบว่าสถานการณ์รุนแรง มีเด็กหางแถวและเกิดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลง เนื่องจากขาดสื่อการเรียนรู้ ทำให้ทักษะภาษาและคณิตศาสตร์ของเด็กขาดหายไปกว่าร้อยละ 90

“หลังสถานการณ์โควิด – 19 พบว่า เด็กทำการบ้านและอ่านหนังสือน้อยลง แต่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น จึงเสนอทางออกระยะสั้นให้มีการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน ชดเชยเวลาที่ขาดหายไป และจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความพร้อมของเด็ก ส่วนทางออกระยะยาว ต้องพัฒนาทักษะการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง และยกระดับการศึกษาปฐมวัยด้วยจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning”

ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระชาติ ทิ้งท้ายว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเด็กที่เติบโตในช่วงโควิด-19 เพราะเด็กรุ่นนี้จะเป็นเหมือนหลุม ที่ไม่สามารถเทียบกับรุ่นพี่ กับรุ่นน้องได้ หากไม่เร่งแก้ปัญหา ภาพรวมการพัฒนาประเทศก็จะถดถอยตาม เด็กทุกคนเรียนเพื่อเติบโตเป็นอนาคตของชาติ หากเราไม่ได้ทำอะไร เด็กจะมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ เมื่อไปอยู่ในตลาดแรงงานก็จะกระทบต่อความสามารถในการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาจึงต้องทำแบบ “วิ่งมาราธอน” หรือแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

“ปัจจุบันเด็กที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กที่ไม่มีทรัพยากร ไม่ได้รับการเรียนพิเศษ ฉะนั้นข้อเสนอการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน จึงจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงของการศึกษา เพราะหากเด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ” 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า