SHARE

คัดลอกแล้ว

ความสำเร็จของ ‘อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี’ คือหนึ่งสิ่งยืนยันที่ดีที่สุดถึงพลังของ Soft Power ที่มีอิมแพคมหาศาลต่อสภาวะเศรษฐกิจ หลายประเทศทั่วโลกมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าพื้นที่มหาศาล เพราะกระแสจากภาพยนตร์หรือซีรีส์เรื่องดังหนุนนำเป็นลมใต้ปีก

แบบที่ ‘The Beach’ พานักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเดินทางเข้าสู่เกาะพีพีเลเมื่อ 20 ปีก่อน และ ‘Lost in Thailand’ จุดกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยในปี 2555 ให้ขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่ใครจะรู้ว่าซีรีส์ที่มีความยาวเพียง 5 ตอนอย่าง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ เรื่องของเด็กหนุ่มผู้ไม่รู้หัวใจตัวเองจะช่วยต่อลมหายใจให้ภูเก็ตในโลกยุคโควิด-19

‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ เป็นภาพยนตร์ชุด 5 ตอน ฝีมือผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง ‘นฤเบศ กูโน’ ที่นำแสดงโดย 2 นักแสดงดาวรุ่งอย่าง ‘บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล’ และ ‘พีพี – กฤษฏ์ อำนวยเดชกร’ บอกเล่าเรื่องราวของเพื่อนวัยเด็กที่แยกทางกันไปด้วยความไม่เข้าใจ ก่อนจะกลับมาพบและสานสัมพันธ์กันอีกครั้งจนก่อเกิดความสัมพันธ์อีกรูปแบบขึ้น โดยมีโลเคชันหลักตลอดเรื่องเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่โด่งดังที่สุดจังหวัดหนึ่งของไทยอย่าง ‘ภูเก็ต’ 

หลายคนอาจจะทราบถึงความโด่งดังในหมู่วัยรุ่นและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในมุมบวกเกี่ยวกับบทภาพยนตร์ชุด การแสดง ภาพ แสง และองค์ประกอบหลักที่ครบถ้วนและละเมียดละไมของเรื่อง แต่อาจจะไม่ทราบว่าหลังจากที่ภาพยนตร์ชุดเรื่องนี้สิ้นสุดการออนแอร์ในภาคแรก กระแสของซีรีส์จะช่วยต่อลมหายใจหลายร้านค้าภูเก็ตมาจนถึงช่วงสุดท้ายของปี

ภาพจากภาพยนตร์ชุดเรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ

‘ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม’ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ workpointTODAY ว่า กระแสการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจากซีรีส์ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ดีมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองเก่า (old town) และแหลมพรหมเทพที่เป็นโลเคชันจำจากซีรีส์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวในกลุ่มเป้าหมายของซีรีส์อย่างกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนเดินทางเข้าสู่พื้นที่เพิ่มขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

“เดิมหลายจุดในพื้นที่เมืองเก่าก็ไม่ใช่พื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจะเดินถึง นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองเก่าอย่างมากก็จะเน้นถ่ายรูปกับสตรีทอาร์ตและบ้านเรือนสวยๆ ในเส้นหลัก อย่างถนนดีบุกเดิมอยู่นอกเส้นทางที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเดินไปถึงก็ได้รับความสนใจมากขึ้นจากเรื่องนี้ พอนักท่องเที่ยวเดินไปในจุดที่ปกติไม่ได้เดินก็ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวกระจายออกไปด้วย”

โดยนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เชื่อว่าส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยจำนวนมากเดินทางตามรอยซีรีส์เรื่องนี้มาที่ภูเก็ตเป็นเพราะซีรีส์เลือกนำเสนอบรรยากาศละเมียดละไมและสวยงาม จนคนอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในซีนเหมือนกันกับนักแสดง ถ้าหากเปลี่ยนวิธีนำเสนออย่างเป็นภาพยนตร์แอคชันก็อาจจะไม่ได้ผลตอบรับในลักษณะนี้ 

‘วิวรรณ บำรุงวงศ์’ ผู้จัดการทั่วไป ร้านโกปี้เตี่ยม หนึ่งในโลเคชันหลักของเรื่อง เล่าว่า ก่อนหน้าที่ซีรีส์จะออกฉายทางร้านประสบกับวิกฤตจากผลกระทบของโควิด-19 จนยอดขายลดลงจากเดิมเหลือแค่ 10% เพราะปกติร้านมีลูกค้าหลักกว่า 90% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแม้ยอดขายจะขยับขึ้นมาเล็กน้อยจนมาหยุดอยู่ที่ 25% ในช่วงคลายล็อกดาวน์ แต่ก็ยังห่างมากๆ จากยอดขายเดิม ก่อนจะได้รับอานิสงส์เมื่อซีรีส์ออกฉายและยอดขายขยับเพิ่มขึ้นกว่า 50% และสามารถพยุงยอดขายต่อเนื่องมาจนถึงช่วงสุดท้ายของปี 

“ส่วนมากคนที่มาก็จะเป็นเด็กๆ เยาวชนที่เป็นคนดูซีรีส์ เขาก็จะมาเยอะช่วงปิดเทอมกับเสาร์อาทิตย์ พาพ่อแม่มาด้วย ข้อดีของซีรีส์นอกจากเรื่องยอดขายก็คือทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น กลายเป็นพ่อแม่ที่มากับเด็กๆ ที่มาเป็นลูกค้าประจำของเราในที่สุด โดยนอกจากเราเองร้านอื่นๆ ในย่านเมืองเก่าก็ได้ประโยชน์ไปด้วย”

ภาพจากภาพยนตร์ชุดเรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ

ด้าน ‘ปรีชา จำปี’ กรรมการกลางสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ยืนยันว่า อุตสาหกรรมบันเทิงมีพลังมากในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ประเทศต่างๆ ในลักษณะเดียวกับกรณีอุตสาหกรรมซีรีส์เกาหลีที่เริ่มต้นมาตั้งแต่หลายปีก่อน จนมาถึงภาพยนตร์อย่าง Crazy Rich Asians ที่อัดแน่นไปด้วยภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของสิงคโปร์

ในประเทศไทยเองก็มีหลายกรณีศึกษาที่น่าสนใจ นับตั้งแต่การเข้ามาของ The Beach ในปี 2543 ที่ทำให้เกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ โด่งดังเป็นพลุแตก จนมาถึงการออกฉายของภาพยนตร์ตลกสัญชาติจีนอย่าง Lost in Thailand ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยจนถึงจุดพีค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่

ก่อน ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ จะกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่า Soft Power อย่างภาพยนตร์ชุดสามารถผลิดอกออกผลทางเศรษฐกิจได้จริง และนำไปสู่แนวคิดการต่อยอดสู่การผลิตภาพยนตร์หรือภาพยนตร์ชุดที่นำเสนอความบันเทิงพร้อมกับยกระดับภาพลักษณ์ทางด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า