Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ละครตุรกีกำลังประสบความสำเร็จในตลาดโลก ซึ่งนอกจากเม็ดเงินมหาศาลแล้ว ละครตุรกียังเป็นด่านหน้านำพาวัฒนธรรม และมีส่วนช่วยขยายอิทธิพลของตุรกีไปสู่ประชาคมโลกด้วย ติดตามจาก Podcast ของ workpoint TODAY

ตอนนี้คุณกำลังติดซีรีส์อะไรอยู่ครับ? เป็นซีรีส์เกาหลี ซีรีส์ฝรั่ง หรือละครไทย ถ้านึกเร็วๆ ซีรีส์ที่เป็นที่นิยมในบ้านเราก็จะอยู่ประมาณนี้ใช่ไหมครับ อาจจะมีซีรีส์อินเดียและซีรีส์จีน ซีรีส์ญี่ปุ่นที่อาจติดอยู่ในลิสต์ตามมาด้วย แต่ถ้าบอกว่า ในตอนนี้โลกของเรามีกระแสความนิยมซีรีส์จากประเทศตุรกีที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเชื่อไหมครับ

ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นคอซีรีส์จริงๆ อาจจะเห็นผลงานจากตุรกีผ่านหูผ่านตามาบ้างนะครับ ซึ่งบอกได้เลยว่า ซีรีส์จากตุรกีกำลังเป็นอุตสาหกรรมส่งออก สร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับตุรกี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องเงิน ซีรีส์จากตุรกียังแฝงพลังอำนาจทางวัฒนธรรมส่งตรงถึงคนดูที่บ้านด้วย วันนี้ workpointTODAY จะมาเล่าให้ฟังครับว่า ซีรีส์ตุรกีประสบความสำเร็จขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมถึงครองใจคนดูในหลายภูมิภาคทั่วโลก และมีอะไรที่มากกว่าความบันเทิงที่ซ่อนอยู่กับซีรีส์จากตุรกี

จริงๆ แล้ว ซีรีส์ตุรกีกับละครในบ้านเราก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ เรื่องราวชีวิตดรามา ละครสะท้อนปัญหาชีวิตและสังคม ไปจนถึงการหยิบตำนาน เรื่องเล่าในอดีตมาสร้าง ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่มีอยู่ในซีรีส์ของตุรกีทั้งสิ้น ที่จะขาดไม่ได้และเป็นสิ่งที่หลายคนถ้าฟังแล้วก็จะยิ่งนึกละครบ้านเราไปอีกคือความน้ำเน่าครับ เรื่องนี้ผมไม่ได้เป็นคนพูดเองนะครับ แต่มาจากปากของนักเขียนบทละครที่ให้สัมภาษณ์เอาไว้เอง

นักเขียนบทละครคนหนึ่งจากเรื่อง Magnificent Century ที่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ประสบความสำเร็จของตุรกี ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า จริงๆ แล้วในแต่ละปีจะมีละครตุรกีอย่างน้อย 2 เรื่องที่พล็อตของมันจริงๆ ไม่ต่างจากซินเดอร์เรลา แต่อาจจะเป็นซินเดอร์เรลาเวอร์ชั่นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือซินเดอร์เรลาผู้อาภัพ ยากจน อันนี้แล้วแต่เรื่อง เธอยังสรุปให้ฟังคร่าวๆ ด้วยนะครับว่า วิธีการเล่าเรื่องแบบละครตุรกีมักจะวนไปวนมา

เป็นเรื่องดรามาในครอบครัวบ้างหละ เป็นเรื่องชีวิตที่พลิกผัน เช่นเรื่องของหนุ่มสาวบ้านนอกย้ายเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองบ้างหละ รักสามเส้าบ้างหละ ที่สำคัญมันจะต้องมีบทแบบว่าเป็นฮีโร่ที่จะเข้าไปต่อสู้กับคนร้ายแต่ดันไม่มีปืน แต่นอกจากซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวชีวิตคนในยุคปัจจุบันแล้ว ไม้เด็ดจริงๆ ของซีรีส์ตุรกีที่แจ้งเกิดในโลกบันเทิงและทำให้คนติดกันงอมแงม คือซีรีส์ที่สร้างจากตำนาน นิทาน เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ครับ

จุดเริ่มต้นของกระแสนิยมซีรีส์ตุรกี

จุดเริ่มต้นความดังเปรี้ยงปร้างของซีรีส์ตุรกี เริ่มขึ้นจริงๆ เมื่อปี 2549 จากซีรีส์ พันหนึ่งราตรี ครับ หลายคนคงเคยอ่านพันหนึ่งราตรีกันมาบ้าง พันหนึ่งราตรีเป็นนิทานอาหรับที่ตุรกีหยิบมาทำเป็นละคร แล้วกลายเป็นว่าฮิตติดตลาดตะวันออกกลางมาก จนตอนนี้มีอยู่เกือบ 80 ประเทศแล้วที่เอาพันหนึ่งราตรีเวอร์ชั่นตุรกีไปฉายครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ดังคือ Magnificent Century ที่เป็นเรื่องเล่าที่สร้างจากเค้าโครงชีวิตของสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกร เป็นสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันพระองค์ที่ 10 ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมขนาดไหน ผมลองย้อนไปดูข้อมูลเรตติ้งของซีรีส์เรื่องนี้ที่ออกฉายในทีวีตุรกีเมื่อปี 2554- 2557 รวม 4 ซีซัน 139 ตอน พบว่าเรตติ้งเฉลี่ยต่อซีซันเกิน 10 ทั้งสิ้นครับ

แล้วเกิน 10 มันเยอะแค่ไหน ที่แน่ๆ คือมากกว่ามาตรฐานที่ซีรีส์หรือรายการทีวีในตุรกีปกติทำได้แน่นอน ส่วนถ้าจะนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ก่อนอื่นต้องออกตัวว่า ผมไม่มีรายละเอียดแน่ชัดถึงการคำนวณตัวเลขเรตติ้งเป็นจำนวนคนดูที่แท้จริงในตุรกี แต่จากการสำรวจข้อมูลทั้งจำนวนประชากร วิธีการวัดเรตติ้ง ไปจนถึงฐานเรตติ้งละครตุรกีในอดีตและปัจจุบัน ก็เชื่อว่าน่าจะมีมาตรวัดคล้ายๆ กับบ้านเรา

ซึ่งถ้าเป็นไปตามสมมุติฐานนี้ ตัวเลขเรตติ้งของ Magnificent Century ที่สูงเกิน 10 ก็น่าจะพอยกตัวอย่างได้ว่า น่าจะฮิตติดลมบนคล้ายๆ ตอน The Mask Singer ซีซันแรก ที่ตอนนั้นเรตติ้งทะลุเลข 2 หลักเช่นกัน

ส่งออกความสำเร็จสู่ต่างประเทศ

ความสำเร็จในประเทศยังถูกต่อยอดไปยังต่างประเทศด้วย Magnificent Century ถูกส่งออกไปฉายกว่า 70 ประเทศ เข้าถึงคนดูมากกว่า 500 ล้านคน โดยได้รับสมญานามเมื่อไปฉายเมืองนอกว่าเป็น Sex and the City เวอร์ชันจักรวรรดิออตโตมัน เนื่องจากในเรื่องจะพูดถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกร

อะไรเป็นจุดสำเร็จของซีรีส์ตุรกีครับ เพราะถ้ายิ่งฟังแล้ว ละครตุรกียังไงก็ไม่น่าจะต่างจากละครไทย เรื่องนี้มีคนไปถามซีเนย์ ฟิลิซเทคิน (Senay Filiztekin) หัวหน้าฝ่ายจัดการลิขสิทธิ์ละครของบริษัทโกลบอล เอเจนซี ซึ่งเป็นเหมือนประตูส่งออกละครตุรกีสู่ตลาดโลก เขาบอกว่า มันมีปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่เนื้อเรื่องไปจนถึงโปรดักชันที่ผู้ผลิตยอมลงทุนเพราะเชื่อว่า ถ้าติดตลาดโลกแล้ว ต่อให้ลงทุนมากเท่าไหร่ก็คุ้ม

มีความพยายามวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบซีรีส์ตุรกีด้วยนะครับ แล้วพบว่าแฟนๆ จากแต่ละทวีปจะมีความชอบในละครตุรกีที่ไม่เหมือนกัน เช่นผู้ชมในละตินอเมริกามักจะชอบซีรีส์ที่มีเนื้อหาดรามา เข้มข้น สะท้อนปัญหาสังคมและจริยธรรม

แต่ถ้าเป็นแฟนๆ ในตะวันออกกลาง ความนิยมก็จะไปอยู่กับเรื่องที่มีฉากสวยๆ ในอิสตันบูล ความรักที่มาจากคนต่างชนชั้น ส่วนคนดูจากประเทศแถบยุโรปตะวันออก ดูเหมือนจะชอบซีรีส์ตุรกีที่เป็นเรื่องความรักใสบริสุทธิ์ไปเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เราหาได้ครบในซีรีส์ตุรกี

ความนิยมที่ติดตลาดหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เริ่มมีคนเปรียบเทียบว่า อุตสาหกรรมบันเทิงของตุรกีกำลังจะก้าวไปอยู่ในระดับเดียวกับฮอลลีวู้ด บอลลีวู้ด หรือเคป็อป ซึ่งถ้าพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิดทีเดียวนะครับ เพราะมันเป็นแผนของรัฐบาลตุรกีที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมละครส่งออก มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่า ภายในปี 2566 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องมีรายได้จากการส่งออกละครสู่ตลาดโลกให้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท

แม้ภาคเอกชนอย่างโกลบอล เอเจนซี ที่คลุกคลีกับการส่งออกละครตุรกีตั้งแต่แรกเริ่มบอกว่า อาจไปไม่ถึงตัวเลข 3 หมื่นล้านบาท เผลอๆ อาจติดอยู่ที่ครึ่งเดียวคือประมาณ 1 หมื่น 5 พันล้านบาท หรืออาจมากกว่านั้นนิดหน่อยจากความพยายามขยายตลาด แต่เชื่อได้เลยครับว่า การสนับสนุนละครตุรกีส่งออกนอกของรัฐบาลตุรกีไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน เผลอๆ เรื่องเงินอาจเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว ถ้าเทียบกับสิ่งที่ตุรกีจะได้ตอบแทนมา นั่นก็คือการได้เป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมของโลกครับ

การเมืองเชิงวัฒนธรรมในระดับสากล

กรณีที่ชัดเจนว่า รัฐบาลตุรกีกำลังใช้ละครเล่นการเมืองวัฒนธรรมคือกรณีของซีรีส์ Ertugrul ที่หลายคนเปรียบเปรยว่าเป็น Game of Thrones เวอร์ชันมุสลิม สาเหตุที่เปรียบแบบนั้น เพราะซีรีส์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เป็นชีวิตการต่อสู้ของ Ertugrul หัวหน้าเผ่าโอคุซ เติร์ก ซึ่งเชื่อกันว่าเขาเป็นพ่อของอุษมาน กาซี ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิออตโตมันในเวลาต่อมา

ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และไปดังเป็นพลุแตกที่ปากีสถาน ภายใน 2 เดือน มียอดดูซีรีส์เรื่องนี้เฉพาะตอนแรกกว่า 58 ล้านครั้ง สร้างกระแสเป็นวีดีโอที่ติด trending ในยูทูปทุกวันในช่วงที่มีการออกฉาย และทำให้ยูทูปช่อง PTV ที่นำซีรีส์เรื่องนี้มาฉายมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในเวลา 20 วัน

เรื่องราวที่พูดถึงการต่อสู้กับนักรบครูเสด การต่อสู้กับมองโกล ไปจนถึงสงครามกับอาณาจักรไบเซนไทน์ ถ่ายทำด้วยฉากเบื้องหลังสวยๆ มีสเปเชียลเอฟเฟ็กต์สมจริง ไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมถึงเป็นที่นิยมได้ แต่นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าติดตามแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังได้เสียงเชียร์จากทุกสารทิศ ให้คนปากีสถานซึ่งเป็นชาติมุสลิมดูเรื่องนี้ให้ได้ บรรดาสื่อต่างๆ พากันเขียนบทความเชียร์โดยบอกว่า ซีรีส์เรื่องนี้ได้สะท้อนถึงคุณค่าของมุสลิมที่แท้จริง

มากไปกว่านั้น แม้แต่ผู้นำประเทศยังออกโรงสนับสนุนเรื่องนี้เอง โดยนายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ที่ออกมาประกาศสนับสนุนให้ชาวปากีสถานดูละครเรื่องนี้เช่นกัน โดยการสนับสนุนละครจากต่างชาติอย่างออกนอกหน้า ไม่ใช่แค่ว่าเขาเป็นแฟนละครเรื่องนี้หรือละครเรื่องนี้สนุกนะครับ แต่มันมีเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังอยู่

เหตุผลแรก ผู้นำปากีสถานเชื่อว่า ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะช่วยผลักดันให้ชาวปากีสถาน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวหันมาให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการสร้างสังคมอิสลามในอุดมคติ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายอิมราน ข่านหวังเอาไว้ให้ปากีสถานเป็นแบบนั้นมาตลอด

เหตุผลที่สองคือ จริงๆ มีความพยายามจากชาติมุสลิมที่ต้องการลดกระแสกลัวอิสลามบนโลกใบนี้ ความพยายามที่ชัดเจนที่สุดมาจากผู้นำชาติมุสลิม 3 คน คือนายอิมราน ข่านจากปากีสถาน นายเรเจฟ เทย์ยิป แอร์โดอาน จากตุรกี และนายมหาเธร์ โมฮัดหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ทั้งสามเคยจับเข่าคุยกันระหว่างไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว พยายามหาทางลดกระแสการเกลียดกลัวอิสลาม (islamophobia) บนโลกใบนี้ลงให้ได้ ตอนนั้นทั้งสามคนจบลงด้วยไอเดียจะสร้างช่องโทรทัศน์แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่กลายเป็นว่าซีรีส์จากตุรกีได้ผลมากกว่า

มาถึงตรงนี้ก็คงพูดได้สนิทใจแล้วนะครับว่า อุตสาหกรรมบันเทิงตุรกีกำลังจะก้าวไปในโมเดลไม่ต่างจากฮอลลีวู้ด บอลลีวู้ด หรือเคป็อป ที่สร้างทั้งเม็ดเงินเข้าประเทศ แถมยังได้แผ่ขยายวัฒนธรรมออกไปนอกประเทศด้วย ดังนั้นจึงมีคำที่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ใช้เรียกปรากฎการณ์ Pop Culture ที่ตุรกีว่าเป็น “Neo-Ottoman Cool” ซึ่งผมมองว่าคำนี้ค่อนข้างให้ภาพที่ชัดเจน มันฟังดูเหมือนการแผ่ขยายอาณาเขตให้กว้างใหญ่ไพศาลของอาณาจักรโบราณ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องของอาณาเขต ดินแดนแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของการแผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมให้ครอบคลุมโลกให้มากที่สุด

และไม่ใช่แค่ตลาดโลกนะครับ ที่รัฐบาลตุรกีต้องการใช้ละครสร้างอิทธิพล แม้แต่ในตุรกีเอง รัฐบาลตุรกีก็รู้ดีว่า สื่อบันเทิงที่คนเข้าถึงง่ายพวกนี้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ถ้าใช้งานเป็นก็จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล
แล้วก็เป็นซีรีส์ที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์นั่นแหละครับที่ถูกใช้งานแบบนี้ รัฐบาลของนายเรเจพ เทย์ยิบ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี สนับสนุนซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวสมัยจักรวรรดิออตโตมัน เพื่อให้พยายามสะท้อนว่า ตุรกีในปัจจุบันก็มาจากจักรวรรดิออตโตมันอันยิ่งใหญ่ในอดีตนั่นแหละ

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องชาตินิยมอย่างเดียวนะครับ นายแอร์โดอานยังได้ประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัวจากการสนับสนุนซีรีส์ตุรกีเหล่านี้ด้วย เพราะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อนายแอร์โดอานสร้างภาพตุรกีให้เป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่แล้ว ตัวของนายแอร์โดอานเองก็จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากเป็นผู้นำจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง

ในปี 2560 มีละครตุรกีเรื่องหนึ่งฉายในทีวีตุรกี ชื่อว่า The Last Emperor เป็นเรื่องราวของสุลต่านอับดุล ฮามิดที่สอง ซึ่งเป็นสุลต่านที่ทรงอำนาจพระองค์สุดท้ายก่อนที่จักรวรรดิออตโตมันจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองหลังต่อสู้กับพวกทหารหนุ่มหรือยังเติร์ก

น่าแปลกนะครับ อันที่จริงชีวิตของสุลต่านพระองค์นี้ไม่ได้จบสวยเท่าไหร่ แต่ละครตุรกีเรื่อง The Last Emperor ได้หยิบเอาด้านที่เป็นพระปรีชาสามารถ ความกล้าหาญที่จะจัดการกับกลุ่มยังเติร์ก และอีกด้านก็กล้าที่จะต่อสู้กับพวกยุโรป รวมถึงแนวคิดที่ต้องการรวมอิสลาม (pan-Muslim) ให้ยิ่งใหญ่และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงกับความเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีแอร์โดอานในตุรกียุคปัจจุบันพอดี

นอกจากนี้ซีรีส์เรื่องดังกล่าวยังฉายในปี 2560 ซึ่งก่อนหน้านี้เพียงปีเดียวคือปี 2559 เกิดความพยายามรัฐประหารโค่นนายแอร์โดอานของนายทหารกลุ่มหนึ่งในตุรกี แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ก็ยิ่งไปเชื่อมโยงกันอีกกับเนื้อหาของ The Last Emperor อีกเหมือนกัน

ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากนะครับ สถิติบอกว่าในคืนวันศุกร์ที่เรื่องนี้ฉายในทีวี คนดูทีวี 1 ใน 10 คนในตุรกีต้องเปิดดูเรื่องนี้อยู่ แล้วไม่ว่าคนตุรกีที่ดูจะชอบหรือไม่ชอบประธานาธิบดีแอร์โดอาน สิ่งหนึ่งที่พวกเขาคิดเหมือนกันคือ ละครเรื่องนี้ถูกเขียนบทให้สุลต่านอับดุล ฮามิดที่สองในวันนั้น เป็นประธานาธิบดีแอร์โดอานแบบแท้ๆ ส่วนใครจะตีความว่าแอร์โดอานคือสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 แบบที่มีความกล้าหาญชาญชัย หรือในแบบที่ลุแก่อำนาจ อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

แตกต่างกับ Magnificent Century ครับ เรื่องนี้ก็เป็นซีรีส์อิงประวัติศาสตร์สมัยจักรวรรดิออตโตมันเหมือนกัน แถมเล่าเรื่องของสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกร และได้รับความนิยมในหลายประเทศ แต่เรื่องนี้ประธานาธิบดีแอร์โดอานไม่ปลื้มครับ มีการวิจารณ์ซีรีส์เรื่องนี้อย่างรุนแรง แถมสั่งให้เจ้าหน้าที่สืบสวนซีรีส์เรื่องนี้อีกต่างหาก จนบรรดานักแสดง ผู้กำกับต้องเก็บตัวไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาล ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ดังและประสบความสำเร็จมากทั้งในและต่างประเทศ

นี่เป็นอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนว่ารัฐบาลตุรกีเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่เข้าใจอิทธิพลของ Pop Culture ดีที่สุดนะครับ อีกเรื่องที่รัฐบาลตุรกีทำคือการไล่แบนละคร จำกัดการเข้าถึงซีรีส์จากต่างชาติไม่ให้คนตุรกีได้ดู

อย่างที่รู้ๆ กันนะครับว่า การใช้ภาพยนตร์ ละคร เพลง สื่อบันเทิงต่างๆ เข้าครอบงำทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้ว ในแวดวงรัฐศาสตร์ก็จะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Soft Power เราอาจนึกถึงเรื่องแบบนี้กันจากอุตสาหกรรมฮอลลีวู้ดที่ใช้ภาพยนตร์สร้างภาพให้คอมมิวนิสต์เป็นผู้ร้าย รัสเซียเป็นฝ่ายตรงข้าม แล้วเรียกวัฒนธรรมอเมริกันว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัย

หลายประเทศนั้นรู้ดีแล้วก็ให้ความสำคัญกับสื่อบันเทิงไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็จะทำให้เราเห็นได้ว่า ชาติไหนให้ความสำคัญกับสื่อบันเทิง

หนึ่งในนั้นคืออังกฤษครับที่เพิ่งออกมาให้งบประมาณราว 6 หมื่นล้านบาทช่วยเหลือบรรดาโรงละคร แกลลอรี พิพิธภัณฑ์ สถาบันวัฒนธรรมต่างๆ โดยเหตุผลที่ต้องช่วย รัฐมนตรีวัฒนธรรมที่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับบีบีซี บอกว่า เป็นเพราะอังกฤษเห็นบรรดาศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เป็น “เพชรยอดมงกุฎ” ของประเทศ

ทีนี้ก็เหลือแต่อุตสาหกรรมบันเทิงในบ้านเราแล้วแหละครับ ถ้าฟังมาตั้งแต่ต้น ก็พอจะเห็นภาพที่เป็นความหวังได้ว่า ละครไทย ซีรีส์ไทย ก็มีลักษณะที่น่าจะดังได้ไม่แพ้ซีรีส์ตุรกี เราเคยประสบความสำเร็จจากละครหลายเรื่อง โดยเฉพาะละครอิงประวัติศาสตร์ เราก็เคยสร้างกระแสออเจ้าจากละครบุพเพสันนิวาสให้โด่งดังไปทั่วประเทศแล้ว แล้วก็ไม่ใช่แค่ละครครับ บรรดารายการทีวี วาไรตี้ เกมโชว์ต่างๆ นับเฉพาะแค่เวิร์คพอยท์เราก็ส่งออกฟอร์แมทรายการที่คนไทยคิดขึ้นมาไปขายต่างประเทศได้นับไม่ถ้วนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันสื่อบันเทิงเองก็มีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาก ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ถ้ารัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่แน่นะครับว่า มันอาจจะไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเพื่อพยุงอุตสาหกรรมให้ไปได้ แต่มันอาจพลิกสถานการณ์ให้เป็นโอกาสให้ไทยป็อปได้มีที่ยืนในเวทีบันเทิงโลกได้จริงๆ สักทีครับนเทิงโลกได้จริงๆ สักทีครับ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า