เกาหลีใต้กำลังประสบกับวิกฤตประชากร หลังข้อมูลล่าสุดพบว่า ในปี 2022 ‘อัตราการเจริญพันธุ์’ (fertility rate) หรือจำนวนลูกโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ ของเกาหลีใต้นั้นน้อยที่สุดในโลก
อัตราการเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ ซึ่งต่ำที่สุดในโลกในรอบหลายปี ได้ลดลงอีกครั้ง ซ้ำเติมความท้าทายให้กับเศรษฐกิจเกาหลีที่เต็มไปด้วยประชากรสูงวัย
โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้พบว่า ในปี 2022 โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงเกาหลีหนึ่งคนจะมีลูก 0.78 ลดลงจากปี 2021 ที่อยู่ที่ 0.81 และนับว่าต่ำที่สุดในบรรดากว่า 260 ประเทศที่ติดตามโดยธนาคารโลก
การขาดแคลนเด็กเกิดใหม่เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงระยะยาวต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนแรงงานที่ลดลง
ทั้งภาครัฐก็ยังต้องใช้เม็ดเงินกองทุนของชาติไปกับสวัสดิการของประชากรสูงวัย ซึ่งจริงๆ แล้วเงินส่วนนี้สามารถนำไปใช้ส่งเสริมธุรกิจ การวิจัย และกิจการอื่นๆ ที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ
จำนวนแรงงานที่ลดลงก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตรราการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีลดลงได้ โดยสถิติพบว่าประชากรวัยแรงงานของเกาหลีพุ่งสูงสุดในปี 2020 ที่ 37.3 ล้านคน แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้าหรือในปี 2070 จะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ ปีที่แล้วมีเด็กแรกเกิดในเกาหลี 249,000 คน ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มี 260,600 คน ในทางตรงกันข้ามปีที่แล้วเกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิตราว 373,000 คน
นั่นเท่ากับว่าตอนนี้จำนวนคนเสียชีวิตในเกาหลี มากกว่าจำนวนคนเกิดแล้ว
เกาหลีมีประชากรที่หดตัวเร็วที่สุดในโลกในกลุ่มประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวอย่างน้อย 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ภายในปี 2100 จำนวนประชากรจะลดลง 53% เป็น 24 ล้านคน มากกว่าในปี 2019 ที่มีการคาดการณ์ว่าจะลดลง 43%
ด้านผู้นำของเกาหลีได้อัดเม็ดเงินมากขึ้นไปกับนโยบายเพื่อส่งเสริมให้คนมีลูก รวมถึงนโยบายของประธานาธิบดี Yoon Suk Yeol ที่เพิ่มเงินอีกสามเท่าให้กับแม่ที่ลูกแรกเกิด
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ใช้นโยบายการอยู่ร่วมกับประชากรสูงวัย ซึ่งรวมถึงการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของผู้เกษียณอายุ เร่งการนำหุ่นยนต์มาใช้ และเชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์แนะนำว่าเกาหลีใต้จำเป็นต้องทำมากกว่านี้เพื่อแก้ไขเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้ผู้หญิงรู้สึกกังวลน้อยลงเกี่ยวกับการตกงานจากการมีลูก ซึ่งข้อมูลระบุ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและค่าที่พักสูงเป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะเจริญพันธุ์
ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยที่ผู้หญิงมีลูกคนแรกเพิ่มขึ้นเป็นอายุ 33 ปีในปีที่แล้ว ขณะที่จำนวนลูกคนที่สองลดลง 16.8% เมืองหลวงโซลมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดที่ 0.59 ในขณะที่เมืองเซจงซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาล มีอัตราการเจริญพันธุ์สูงสุดที่ 1.12