SHARE

คัดลอกแล้ว

วันแห่งความรักที่เกิดขึ้นไม่กี่วันหลัง ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ซึ่งเป็นความหวังของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในการที่จะมีสิทธิแต่งงานกันได้เช่นเดียวกับคู่รักตรงเพศ ถูกครม. ‘อุ้ม’ ไปอ่านก่อน 60 วัน

โอกาสนี้ workpointTODAY พูดคุยกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ 3 คน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงประเด็นเรื่องเพศ ความรัก ศาสนา และสมรสเท่าเทียม โดยบางคนขอไม่เปิดเผยตัวตน เพราะกลัวว่าการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนจะไม่ปลอดภัย เมื่อยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่เคร่งศาสนา

CONTENT WARNING: เนื้อหาเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเหยียดเพศ การกลั่นแกล้ง และการใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจ

แค่เป็นตัวเองยังแทบไม่ได้ ความรักก็เลยมักไปไม่รอด?

ที่แห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี workpointTODAY พบเจอกับธาม (นามสมมติ) หลังเลิกงาน เขาใส่ชุดยูนิฟอร์มชายในสายงานบริการ ในช่วงแรกของการสัมภาษณ์ ธามลงท้ายบางประโยคว่า “ครับ” ก่อนที่สักพักเขาจะเปลี่ยนเป็นคำว่า “ค่ะ” แทนในบางครั้ง โดยธามยินดีให้เราใช้คำว่า “เขา” ในการแทนสรรพนามมากกว่าคำว่า “เธอ”

ธามเล่าให้เล่าฟังว่าการหาแฟนเป็นเรื่องที่ยากมาก สำหรับ LGBT+ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องใช้วิธีแอดเฟซบุ๊กไป และทักไปคุยกัน ถ้าบางคนไม่เล่นด้วยเขาก็จะปฏิเสธ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนในพื้นที่ด้วยกัน แต่ต้องเป็นความลับมากๆ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ธามยังไม่กล้าตกลงกับใครเป็นแฟน แม้จะมีคนเข้ามาคุยอยู่บ้าง

ความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อคนรอบข้างได้นี้เอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ให้การคบหาดูใจกันของเพศหลากหลายในสามจังหวัดมัก “ไปไม่รอด” ตามความเห็นของ ขนมปัง ที่เล่าให้ workpointTODAY ฟังผ่านโทรศัพท์ แม้ว่าจะอยู่ที่จังหวัดยะลา แต่แฟนเก่าที่ผ่านมาของเขามีทั้ง จ.ชุมพร จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส

“คนแรกที่ชุมพร ผมเจอกันตอนที่ไปแข่งวอลเล่ของระดับภาคใต้ เราก็คุยกัน พอนานๆ ทีเราก็ไปเจอกันอีกรอบนึง แต่ด้วยความที่เขาอยู่ไกล คือไปหามันก็ไม่สะดวกสำหรับเรา พอเวลาเขาจะมาหาบ้านเรา เราก็รู้สึกไม่โอเคกับสังคมแถวๆ บ้าน” ขนมปัง เล่าถึงสาเหตุการเลิกกับแฟนคนแรก ส่วนคนต่อๆ มาก็มีปัญหาทำนองเดียวกันคือสังคมในพื้นที่ยังไม่เปิดรับ

ไม่ใช่แค่เรื่องการมีแฟนที่ยาก แต่เพียงแค่การใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเองจริงๆ ก็ยังแทบเป็นไปไม่ได้ ดาด้า LGBT+ ในพื้นที่ จ.ยะลา เปรียบเทียบการใช้ชีวิตในพื้นที่กับตอนที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ ให้ workpointTODAY ฟังผ่านโทรศัพท์

“หลายๆ ครั้งที่ได้ไปกรุงเทพฯ ก็คือไม่อยากกลับบ้าน อยากอยู่ต่อเรื่อยๆ เพราะว่ามันดูแบบเราสามารถเป็นตัวของเราได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องกังวล…ตอนนี้ยังต้องสำรวม ตอนนี้ประมาณ 90% ยังไม่เต็มร้อย ยังไม่สามารถทำอะไรที่มันนอกเหนือจากที่สังคมที่นี่ยอมรับค่ะ” เธอเล่าไปถึงอดีตที่เธอเคยไว้ผมยาว แต่ต้องตัดให้สั้นลง รวมถึงต้องเลิกแต่งหน้าหลังครอบครัวไม่โอเค

กิจกรรมของกลุ่ม ‘Look South’ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

บทลงโทษ (?) ของการเป็น ‘ปอแน’

‘ปอแน’ ในภาษายาวีหรือภาษามลายูปาตานี หมายถึง ‘กะเทย’ คำนี้กลายเป็นคำที่ ธาม ขนมปัง และ ดาด้า ถูกเพื่อนและครูล้อมาตั้งแต่ประถมจนเรียนจบจนกลายเป็นความชินชาไปแล้ว นอกจากการถูกล้อด้วยวาจา ทั้งสามเล่าว่าเคยถูกกลั่นแกล้งทางร่างกาย บ้างถูกผลักลงพุ่มไม้ บ้างถูกเตะ และโดนครูสอนศาสนาลงโทษ

“ใครเป็นกะเทยลุกออกมา” เสียงไมค์ประกาศดังหน้าเสาธงตอนเช้า กดดันให้นักเรียนระดับชั้น ม.2 นิ่งเงียบ ยิ่งสำหรับผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นเพศหลากหลาย บรรยากาศกดดันแบบนี้วนเวียนมาให้เห็นหลายครั้งตลอดการศึกษาของดาด้า เธอระบุถึงความถี่ว่า 2-3 ครั้งต่อเทอม

เสียงคำถามดังกล่าวจาก ‘อุสตาซ’ หรือครูสอนศาสนาชายดังซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ครั้งหนึ่งเธอตัดสินใจลุกขึ้นเดินออกไปหน้าเสาธง เธอเล่าว่าหากไม่ยอมลุกออกไปก็จะโดนชี้ให้ออกไปอยู่ดีเพราะเธอไม่สามารถปิดบังอัตลักษณ์ตัวเองเอาไว้ได้

“หนูก็คือเดินออกไปเอง คือเรายอมรับว่าเราเป็นแบบนี้ ก็เลยเดินออกไปเองแล้วก็ยอมรับชะตาที่เราต้องโดน เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะโต้แย้งกับเขาได้…คือเราไม่ได้เต็มใจอยู่แล้ว ในใจคือเราเศร้ามาก แต่มันทำอะไรไม่ได้ คือเราต้องยอมจำนนตรงนั้น” เธอเล่าความทรงจำอันเลวร้ายในช่วงวัย 14 ที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เธอกลายเป็นคนที่เงียบๆ และเก็บตัวไประยะหนึ่ง

บทลงโทษของ ‘การเป็นกะเทย’ ในครั้งนั้น เธอถูกครูใช้กรรไกรตัดผมหน้าม้าออก เช่นเดียวกับนักเรียนซึ่งมีความหลากหลายทางเพศอีกหลายคนที่โดนตัดโคนผมออก โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากให้ไว้ผมยาวเพราะว่าดูตุ้งติ้งเกินไป ดาด้าเล่าให้ฟังว่ารุ่นพี่บางคนยังถูกลงโทษให้แบกก้อนหิน และให้ตะโกนว่า “จะไม่เป็นกะเทยแล้วๆๆ” วนไปเรื่อยๆ ทั้งน้ำตา

ในวันหนึ่งขณะที่ขนมปังนั่งเล่นอยู่ใต้ต้นไม้กับเพื่อนผู้หญิง -ซึ่งเขาเคยถูกเตือนและถูกเรียกเข้าห้องปกครองมาแล้วหลายรอบจากการที่อยู่กับเพื่อนผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชาย- ครูสอนศาสนาเดินเข้ามาถามขนมปังว่าทำไมต้องใช้กระเป๋าเป้สีชมพู

“มันเกิดคำถามกับใจเราว่า แล้วทำไม สีมันเกี่ยวอะไรด้วย มันคือความชอบของเรา แต่ตอนนั้นก็คือยังเป็นเด็ก ยังไม่สามารถโต้เถียงอะไรมาก” ขนมปังกล่าว ครั้งนั้นเขาเลือกที่จะเงียบและแยกย้ายกับครูไป แต่เขาเล่าว่าเขาเคยถูกลงโทษให้ล้างจานหนึ่งสัปดาห์เพียงเพราะใส่กางเกงขาสั้น

กิจกรรมของกลุ่ม ‘Look South’ ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่าในผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ชายแดนใต้มักเคยโดยกลั่นแกล้งทั้งวาจาและร่างกายด้วยเหตุแห่งเพศ

‘คนบาป’ หรือแค่ ‘มนุษย์คนนึง’

ธาม ขนมปัง และ ดาด้า นับถือศาสนาอิสลาม และทั้งสามยังคงปฏิบัติตามหลักศาสนามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาและเธอไม่ตรงตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม

“ส่วนตัวพี่ พี่คิดเสมอว่าเราเป็นปอแน แต่บอกพระเจ้าเสมอว่าฉันเป็นปอแน แต่ฉันอยู่ในกรอบของศาสนา ฉันจะไม่อยู่นอกกรอบของบทบัญญัติที่ได้วางไว้ของศาสนา แต่จะพยายามทำให้มากที่สุด ถึงแม้ฉันจะเป็นปอแนแต่ฉันก็จะเป็นผู้ชายเรียบร้อยก็แล้วกัน” ธามกล่าว

คำพูดที่ดาด้าได้ยินผ่านหูมาตั้งแต่เด็กคือการเป็นปอแน “เป็นคนบาปทางศาสนา เป็นคนที่ไม่น่าคบด้วย น่ารังเกียจ โตขึ้นทำอะไรก็ไม่เจริญรุ่งเรืองถ้าเราไม่เชื่อฟังตามหลักศาสนา”

“เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนบาปคนนึง เรารู้สึกว่าเราคือมนุษย์คนนึงที่นับถือศาสนาอิสลามแค่นั้นค่ะ เราก็ปฏิบัติตามคำสอนทุกอย่างที่พระองค์ได้สอนไว้ บางอย่างที่เราไม่สามารถทำได้เราก็ละไว้” เธอสะท้อนมุมมอง

“ถ้าเกิดว่าเอาศาสนามาอ้างคือเราแพ้เลยแหละ” ขนมปังสรุปความ ก่อนจะกล่าวต่อว่า “เรารู้สึกว่าศาสนาก็คือศาสนา ศาสนาคือความเชื่อของบุคคลบุคคลหนึ่ง แล้วความหลากหลายทางเพศคือการเป็นตัวตนของเรา คือมันไม่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ผิดบาปเป็นเรื่องของคนๆ นึงต้องใช้มัน พอเวลาเขาเอาศาสนามาอ้าง เรารู้สึกว่ามันไม่โอเคกับเรา ไม่ยุติธรรมกับเรา” 

กิจกรรมของกลุ่ม ‘Look South’

‘Look South’ ครอบครัว ‘ลูกสาว’ ชาวใต้

เรื่องราวที่ทั้งสามเล่ามาเป็นเพียงบางส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะเมื่อ ดาด้าและขนมปัง เข้าไปเป็นอาสาในกลุ่มที่มีชื่อว่า ‘Look South Peace’ ทั้งคู่ได้รับฟังเรื่องราวของเพื่อนในชุมชน LGBT+ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์คล้ายๆ กัน

กลุ่ม ‘Look South’ สามารถอ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยได้ว่า “ลูกสาว” ซึ่งเป็นคำนิยมเรียกกันเองในชุมชน LGBT+ กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มย่อยของสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ โดย ‘Look South’ เน้นเป็นชุมชนรับฟังปัญหาของผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัด

ดาด้าเล่าว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ เมื่อมีปัญหาหรือข้อกังวลจะลำบากใจที่จะปรึกษากับพ่อแม่ โดยหากเป็นในโรงเรียนก็อาจจะมีการเกาะกลุ่มกันเป็น “ครอบครัว LGBT+ เล็กๆ” ส่วนครูก็ยากที่จะปรึกษาได้ การมีกลุ่มให้เข้าร่วมก็จะเป็นผลดีในการเปิดให้มีที่พึ่งและเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับเพศหลากหลาย 

เหตุผลในการเข้าร่วมกลุ่ม ‘Look South’ ของดาด้าและขนมปังก็แสนเรียบง่าย คือต้องการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ และต้องการให้ทุกคนมองว่า LGBT+ ก็เป็นมนุษย์เช่นกัน แม้ว่าการทำงานในพื้นที่จะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่ดาด้าให้ความเห็นว่าเริ่มที่จะมีกลุ่มที่ยอมรับมากขึ้น เมื่อมีการจัดกิจกรรมในที่สาธารณะ

“เราแค่อยากให้เขามองว่าเราคือมนุษย์คนนึงที่เป็นกลุ่ม LGBT+ ไม่ได้แตกต่างจากพวกเขา เป็นมนุษย์คนนึงที่สามารถใกล้ชิดได้ พูดคุยได้” ดาด้าเล่าถึงเป้าหมายของการออกมาขับเคลื่อน

ความหวัง ‘สมรสเท่าเทียม’ ในมุมมองของ LGBT+ มุสลิม

“ผมและเพื่อนสมาชิกพรรคประชาชาติไม่สามารถที่จะรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ได้ เนื่องจากเรามาดูในหลักการของกฎหมายที่เขียนไว้ในข้อที่หนึ่งให้ชายและหญิง หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ตามประมวลกฎหมาย นี่ข้อที่หนึ่งนะครับ ก็ขัดต่อหลักการ ศรัทธา และหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม…กฎหมายใดก็ตามที่ตราขึ้นมาแล้วขัดและแย้งกับพระมหาคัมภีร์อัลกุร-อานซึ่งได้มีการถือปฏิบัติมา 1,400 กว่าปีและไม่มีการแก้ไขนั้น เราไม่สามารถที่จะรับได้ในหลักการ”

ส่วนหนึ่งของคำอภิปรายเรื่อง ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ จาก ซูการ์โน มะทา ส.ส. จังหวัดยะลา พรรคประชาชาติ ที่ออกโรงไม่เห็นด้วยให้มีกฎหมายที่เพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ โดยให้เหตุผลว่าขัดแย้งกับหลักศาสนา พร้อมเสนอให้มีบทเฉพาะกาลเพื่อยกเว้นไม่บังคับใช้ต่อผู้นับถือศาสนาอิสลาม

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์บนโซเชียลมีเดียที่มองว่าหลักศาสนาควรแยกออกจากหลักกฎหมาย ผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เองมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก

“ถ้าไม่ได้มองในมิติของศาสนาก็เห็นด้วย ควรให้มี เพราะว่าอย่างน้อยเขาก็จะได้มีที่ยืนในสังคม คนๆ นึงไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรถ้าเขารักกันเราก็ควรให้สิทธิ์เขาได้แต่งงานได้สมรสกัน แต่ถ้ามองในมิติของศาสนาอิสลาม พี่ก็ยังไม่เห็นด้วย เพราะมันยังขัดต่อบทบัญญัติ” ธามพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลง

ดาด้า ซึ่งเป็นผู้ที่ออกตัวว่าร่วมสนับสนุน พ.ร.บ.ฉบับนี้มาตลอด บอกว่าอยากให้ พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นได้จริงๆ ในฐานะ LGBT+ เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ แต่เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับบทเฉพาะกาลที่ยกเว้นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ ส.ส.พรรคประชาชาติเสนอ ดาด้ามองว่าอาจ “ได้อยู่” สำหรับมุมมองตามหลักศาสนา

“เราก็ต้องการเสรีภาพของเราในอีกทางหนึ่ง แต่พอมุมกลับกันมันก็ยังขัดแย้งกับศาสนาของเรา…คือหนูยังเคารพในตัวพระองค์ท่าน หนูก็บอกไม่ถูกเหมือนกันค่ะพี่” เธอตอบตะกุกตะกัก

“(การละเว้นในบทเฉพาะการ) ถ้าในมุมมองของศาสนามันดี แต่อยากจะให้มีสิทธินี้ เพราะว่าในประเทศไทยอิสลามมันน้อยมาก…พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนี้ กลุ่มเป้าหมายเขาก็คือกลุ่ม LGBT+ ไทยพุทธก็มีกลุ่ม LGBT+ ซึ่งผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาห้ามด้วยในการที่จะมี พ.ร.บ.นี้ ในประเทศไทยก็มีไทยพุทธเยอะมาก เขาไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้ เขาคำนึงถึงแค่หลักศาสนา แต่อยากให้เขามองด้วยมุมกว้าง มองด้วยวิสัยทัศน์มากกว่าในการที่จะตัดสินใจ” ขนมปัง กล่าว

ขนมปังเสริมว่าเขาสนับสนุนและเห็นด้วยอย่างยิ่งให้ ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ผ่าน เนื่องจากมองว่าเป็นสิทธิและความรักไม่จำกัดเพศอยู่แล้ว และมองว่าจะช่วยทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น อย่างไรก็ตามเขาแสดงความกังวลว่าอาจจะมีกระแสต่อต้านจากผู้นับถือศาสนามากขึ้นเช่นกัน

ความคืบหน้าล่าสุดของร่าง ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใจความสำคัญหลักคือการเปลี่ยนเป็นใช้คำว่า ‘บุคคล’ แทนคำว่า ‘ชาย-หญิง’ ตอนนี้ถูกส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนส่งกลับมาให้สภาฯ ลงมติรับหลักการในวาระแรก ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงสมัยประชุมหน้า (ปลายเดือน พ.ค. 2565)

คงไม่ง่ายเลยที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีชุดความเชื่ออีกแบบหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้มนุษย์ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้ ในมุมมองของผู้ให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY ทั้งสามมองว่า คำตอบคือการเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงเห็นความสำคัญในความเป็นมนุษย์

“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ทุกคนเข้าใจ แล้วก็ยอมรับในกลุ่มของ LGBTQ+ ว่าเขาคือคนๆ หนึ่งที่เขามีความหลากหลาย มีความแตกต่าง แต่มีความเหมือนกันก็คือสิทธิความเป็นมนุษย์ เพราะว่าเขาคนนึงก็มีจิตใจ มีร่างกายที่เหมือนๆ กัน มีความรู้สึกเหมือนกัน แต่อีกคนมาต่อต้านการเป็นตัวเองของเขามันไม่ถูกต้อง” ขนมปังทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า