SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายคนอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับ Bangkok Art Biennale เทศกาลศิลปะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2018 แต่อาจจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งยังไม่รู้ว่าจุดกำเนิดของงาน Biennale ครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1895 ที่เวนิส ประเทศอิตาลี และปีนี้ก็จะเป็นอีกปีที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในแบบของตัวเองในงาน Venice Bennale เป็นครั้งที่สองกับ ‘โครงการนิทรรศการมรดก โนรา’ หรือ ‘Spirit of NORA: Intangible Culture Heritage Of Thailand’ ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของ มูลนิธิสงขลาเมืองเก่า สงขลาพาวิเลียน สภาวัฒนธรรมไทยแห่งสาธารณรัฐอิตาลี แห่งเมืองเวนิส และ ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จะจัดการแสดงที่ผสมผสานทั้งศิลปะดั้งเดิมอย่างโนราห์และการตีความผ่านมุมมองของหลากหลายศิลปินในรูปแบบของศิลปะร่วมสมัย 

อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) ผู้ร่วมเป็นคิวเรเตอร์และเป็นศิลปินที่นำผลงานไปแสดงได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้

คือจริง ๆ แล้ว สงขลา พาวิลเลียน ไม่ได้ เป็นพาวิลเลียนอย่างเป็นทางการ ถ้าจะให้พูดกันจริง ๆ คือเกิดจากที่เราทำโปรเจ็ค แล้วส่งให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ในปี 63 มีทีมเราทีมเดียว แต่เขาไม่เอาทีมเรา ก็เลยคุยกัน และมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งฟังอยู่เขาเลยถามว่า ถ้าไปไปได้ไหม ใช้เงินเท่าไหร่ ก็เลยตอบไปว่า ได้ ถ้าหากว่าพวกพี่จะสนับสนุนพวกผม ก็จะไปจะทำ เลยเริ่มต้นจากการเดินทางไปเวนิส  ไปสำรวจ ไปหาพื้นที่มาก็ทำสัญญา ตกลงเรียบร้อย กลับมาก็คุยกับศิลปินทีมนี้ที่เราวางแผนไว้ว่าจะส่งให้กับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่พอเขาปฎิเสธ เราก็เลยต้องทำให้เขาเห็นว่าเหตุผลที่เขาปฎิเสธ กับงานที่เราทำ มันสวนทางกัน มันไม่เป็นอย่างที่เขาว่า เพราะฉะนั้น โดยปกติในงาน Venice  Biennale พาวิลเลียนอะไรต่าง ๆ จะเป็นตัวแทนประเทศ ไม่เคยมีพาวิลเลียนที่เป็นตัวแทนจังหวัด ก็คือ สงขลาพาวิเลียน เป็นระดับจังหวัด แต่ว่าเราไม่ได้อยู่ใน official ของเขา เราทำเป็นคู่ขนาน ก็คือหมายถึงในช่วงที่มีงาน เราก็จัดแสดงงานไปพร้อมกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โปรโมทเหมือนกัน ขออนุญาตทางการมาด้วยกัน แต่เพียงแต่เราไม่สามารถเข้าไปเป็นตัวแทนประเทศได้ 

โดยปรกติการที่จะเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการรัฐบาลต้องเป็นคนส่งใช่มั้ยคะ 

ใช่ คือมันมี contact ซึ่งโดยปกติระบบมันมีมาร้อยปีแล้ว เขาเริ่มต้นมาจากการร่วมกลุ่มกันของประเทศในยุโรป แรกๆก็อาจจะมีไม่กี่ประเทศ ชาติที่เป็นเอเซียก็จะมีที่เห็นชัดว่าเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นก็มี ญี่ปุ่น และ เกาหลี ตอนหลังก็มีจีนเข้าไป ส่วนอาเซียนก็จะมีเวียนเข้าเวียนออกกัน มีอินโดเนเซีย มีฟิลิปปินส์ มีสิงคโปร์ ประเทศไทยก็เข้าไปเป็นสมาชิกอยู่… ปีนี้…เดียวค่อยนับอีกทีว่ากี่ครั้งแล้ว แต่จำได้ว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สำคัญ เนื่องจากถ้าเรายังทำงานต่อเนื่องจนถึงครั้งนี้ สภาพการเป็นสมาชิกจะเป็น official แล้ว แต่บังเอิญว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจว่าจะไม่ส่งในครั้งนี้ ดังนั้นแล้วมีความเป็นไปได้ว่าเราจะต้องไปต่อคิวใหม่ เราก็ต้องฟังเหตุผลของเขานะครับ เขาไม่มีเงิน มีโรคระบาดและอะไรต่ออะไร เป็นเหตุผลที่เขาบอกได้ว่าเขาจะไม่ไป แต่ส่วนเรา เราอยากไปเพราะว่า เราเพิ่งไปเมื่อปี 63 ในฐานะสงขลา พาวิลเลียน

คือเราโชคดีที่ตอนที่เราเริ่มต้นทำงาน เราคิดว่าเราไม่ควรทำงานแบบทำเสร็จแล้วก็กลับ ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นก็มีการคุยหารือกันว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราควรจะมีอะไรที่ยึดโยงเรากับที่นั่นเอาไว้ บังเอิญว่าในเวนิสจะมีกลุ่มคนไทยอยู่ประมาณ 200-300 คน ซึ่งอยู่ที่นั่น เราก็รวมกันและตั้งเป็นสภาวัฒนธรรมไทยในเวนิสขึ้นมา ดังนั้นกิจกรรมนี้ก็เลยเกิดขึ้น ภายใต้คำว่า สภาวัฒนธรรมไทยในเวนิสครับ

ทำไมในครั้งนี้ถึงต้องเป็นโนรา

คือจริง ๆ ความเป็น ‘สงขลา พาวิลเลียน’ เป็นแค่ที่ตั้ง แต่ในการทำงานเราก็เหมือนกันศิลปินอื่นทั่วไปคือเราก็เน้นศิลปะร่วมสมัย พวกเราอาจจะมีแกนที่ไม่เหมือนกับคนอื่น ก็คือเราไม่ได้ร่วมสมัยมากจนเราลืมรากของเรา เพราะฉะนั้นการยึดโยงวัฒนธรรมไทย ก็จะยังมีอยู่ในงานของเราตลอด จริง ๆ งานมันไม่ได้ส่งกลิ่นอายว่าจะต้องเป็นภาคใต้ ตลอดเวลา ความคิดของเราก็คือทุกอย่างสามารถผสมผสานเข้าไปในงานของเราได้ เพียงแต่ว่าครั้งนี้ มันอาจจะเป็นคอนเซ็ปท์ที่เราคิดกัน เนื่องจากว่าเราทำงานต่อเนื่อง พวกผมทำงานที่สงขลาบ่อย และในช่วงตอนที่เขากำลังผลักดันให้โนรา ได้ขึ้นทะเบียนของยูเนสโก้ เป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ก็มีพวกเราช่วยอยู่ ก็เลยคิดว่าก็ดีเหมือนกันถ้าหากเราเอาโนราไป 

ผลงานนี้มีทั้งโนราและความเป็นเอกลักษณ์ของตัวศิลปินเอง สร้างสมดุลระหว่างทั้งสองสิ่งนี้อย่างไรคะ

เราต้องเข้าใจในคำว่าร่วมสมัยก่อน ว่ามันไม่ได้หมายความว่าใหม่จนขาดออกจากกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราหยิบสิ่งที่สำคัญขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วก็ใช้ความคิด ใช้วิธีการ ใช้เทคนิค อะไรต่าง ๆ ที่จะทำงานที่ทุกคนเข้าใจได้ ซึ่งเรามั้นใจว่า ศิลปะคือภาษาหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ตัวอักษรด้วยซ้ำไป มันสื่อสาร มันทำความเข้าใจกันได้ด้วยเทคนิคด้วยวิธีการ การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นเทคนิค เป็นท่าทาง ไม่ว่าจะเป็นรูป และอะไรก็ตามแต่ ดังนั้นความร่วมสมัยมันอยู่ในนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เวลาเราหยิบขึ้นมา ทุกอย่างเราใช้อะไร เหมือนกับทำไมในโลกนี้ดนตรีใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา รากมันอยู่ที่อะไร เหล่านี้มันมีที่มาที่ไปเสมอ มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบดีดนิ้วในวันเดียวแล้วคิดใหม่ มันไม่ใช่ เครื่องดนตรี ทุกอย่างมันต้องมีที่มาที่ไปหมด  พวกเราก็เหมือนกันเราทำงานศิลปะ เราก็ทำบนพื้นฐานที่มีอยู่เดิม แต่วิธีคิดของเรา กระบวนการทำงานของเรามันอาจจะผสมผสานออกไป และเราก็คิดว่าสื่อเหล่านี้ มันสามารถถ่ายทอด เชื่อมโยงได้ กับปัจจุบัน

ในฐานะคิวเรเตอร์ทำไมอาจารย์เลือกศิลปินกลุ่มนี้คะ

คือเราจะเริ่มคิดก่อนว่าจะทำอะไร อย่างครั้งนี้เราจะทำโนรา พอมาถึงตอนที่เราจะคิดว่า ศิลปินร่วมสมัย 4-5 คน เราจะเลือกอะไร ในคนกลุ่มนี้ไม่มีใครเหมือนกันเลย อาจารย์วรนันทน์ ศิลปินแห่งชาติ ค่อนข้างจะอาวุสโส ท่านทำงานภาพถ่าย ก็เป็นทิศทางของเขาอยู่แล้วอันหนึ่ง ผมทำงานในลักษณะที่เป็นวิดีโอ ก็คือเป็นภาพเคลื่อนไหวที่สามารถผสมผสาน โอ (วิทยา จันมา) ก็ใช้มีเดียต่าง ๆ ศักดิ์วุฒิมีฝีมือในการทำงานวาด อาจารย์สุธีร์ทำงานที่ค่อนข้างจะคอนเซปชวลมาก ๆ ดังนั้น 5 คนไม่มีใครเหมือนกันเลย แต่พูดเรื่องเดียวกันคือพูดเรื่องโนรา ในมุมที่เขาเห็นที่เขาเข้าใจ ในมุมที่เขาสามารถหยิบจับและถ่ายทอดได้ 

เวลาเราไปแบบนี้ อยู่ ๆ ถ้าเราไปพูดเรื่องโนรา ฝรั่งไม่เข้าใจแน่ ๆ แต่ในอีกพาร์ทหนึ่งพอเรามีโนราที่เป็นครู เราจะเห็นว่า อันเนี้ยคือรากของเรา ดังนั้นวันแรก ๆ เราก็จะมีครูโนราไปรำจริง ๆ ไปสาธิต ไปใช้ชีวิตกับพวกเราจริง ๆ และหลังจากนั้นก็จะเป็น record ที่เห็นอยู่ในงาน เราจะมี workshop ต่อไปเรื่อย ๆโดยสภาวัฒนธรรมไทย ให้เขาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มากขึ้น สมมติว่ามีลูกครึ่งไทยอิตาเลียน อยากเรียนรำโนรา หรือมีใครอยากเรียนก็ทำได้ ทำเครื่องประดับ เรียนรู้เทคนิคการทำอะไรเหล่านี้ได้ มันก็จะควบคู่กันไป ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องปูพื้นฐานทั้งสองด้านไปพร้อม ๆ กัน ถ้าอยู่ ๆ เราก็เดินไปสุดเลย ทุกคนก็จะถามว่ามันมาจากอะไร เริ่มต้นจากอะไร แต่ถ้าเรามีทั้งรากและทั้งปลายมันง่ายกว่า 

ดังนั้นเราก็คิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ก็เลยคุยกันกับผู้ใหญ่ว่าเราก็อยากได้ครูโนราที่สามารถปรับตัวและทำงานกับพวกเราได้เร็วด้วย และเราก็ทดสอบกันมาสองสามครั้ง ผมลงไปสงขลา พาแกมาถ่ายรูป แกก็ปรับตัวได้เร็วเข้าด้วยกันได้หมด และเวลาไปแบบนี้มันไม่สามารถไปได้ทีมใหญ่ ทีมแก รวมแกด้วยก็มีประมาณ 4 คน ในสามคนต้องเป็นทั้งคนที่ช่วยกันรำ จะต้องเป็นทั้งนักดนตรี และเป็นคนที่ช่วยกันแต่งตัว คือต้องทำได้หมดทุกอย่างแล้วก็ไปด้วยกัน  พวกเราก็ต้องเรียนรู้จากแกว่าจะสามารถช่วยอะไรแกได้บ้างในการทำงาน ผมว่าสิ่งนี้การการเรียนรู้ผสมผสานที่ มันมีกระบวนการที่น่าสนใจ

ในบทบาทความเป็นศิลปินอาจารย์อำมฤทธิ์ได้บอกเล่าแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานครั้งนี้ว่ามาจากความเชื่อความศรัทธาและการถ่ายทอดวิชาจากครูไปสู่ศิษย์

คือผมไปนั่งดูโนรา มันก็เห็นเรื่องลึกๆหลายอย่างที่น่าสนใจก็คือ มีเรื่องของความเชื่อ มีเรื่องของความศรัทธา ที่มันปรากฏอยู่ในนั้น เราคุยกับนักศึกษาที่เรียนรำโนรา ว่ากระบวนการการเรียนมันเป็นยังไง เราได้รู้ว่าจริงๆแล้วมันมีทฤษฎีและก็มีเรื่องของความเชื่อประกอบกันซึ่งผมก็สนใจเรื่องนี้ มันก็เลยไปเห็นว่าตั้งแต่เขาเริ่ม สมมติว่าเขาจะรำซักครั้งหนึ่ง ตั้งแต่แต่งตัวแต่งหน้าจนกระทั่งออกไปรำมันมีขั้นตอนเยอะมาก ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนช่วย และการฝึกกว่าที่จะเป็นโนรา ท่าต่างๆแขนขา อะไรเหล่านี้มันมีเวลามีขั้นตอนเหมือนการฝึกวิทยายุทธ์ แต่ว่าทั้งนี้และทั้งนั้น เชื่อว่าทุกคนมีความรู้สึกเหมือนกันว่า…ไม่ใช่ของเล่น เป็นของที่เขามีความเชื่อ 

ผมก็พยายามนั่งสังเกตและดูประเด็นสิ่งเหล่านี้ การถ่ายทอดซึ่งกันและกันของครูกับศิษย์ การรำ ท่าทางต่าง ๆ ที่เขาฝึกรวมทั้งการ exercise ที่เหมือนกับนักกีฬา เพื่อที่จะเตรียมตัว ที่นี้งานของผมที่ทำเป็นวิดีโอ ผมก็จะทำเบื้องหลังให้เห็นว่า กว่าจะได้เป็นโนรา หรือกว่าจะได้รำ เขาเจออะไรมาบ้าง มีเรื่องราวของทั้งครูและนักเรียนที่อยู่ด้วยกัน คือเวลาเขาสอนเขาก็เป็นครูกับนักเรียน เวลาไม่ได้สอนก็อาจจะเป็นพี่เป็นน้อง แต่ว่ามันมีหลาย ๆ อย่างที่เป็นขนบที่เขาต้องมี เพราะฉะนั้นในงานของผมก็เป็นอย่างนี้ เป็นลักษณะความเชื่อที่มันซ้อนอยู่ในภาพที่เราเห็น ของผมก็จะเป็นภาพซ้อนตลอดเวลาในวิดีโอ 

ซ้อนในขณะที่เราเห็นภาพคนที่รำสวย ๆ แต่มันจะซ้อนเข้าไปว่ากว่าจะมาได้รำแบบนี้พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง

นอกจากอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ในโครงการนี้มีศิลปินอีกหลายท่านที่จะจัดแสดงผลงานหลากแนว ทั้ง อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ที่จะจักแสดงภาพเขียน และศิลปินที่ผสมผสานความเป็นวิทยศาสตร์เข้ากับวัฒนธรรมไทยได้อย่างลงตัวอย่าง วิทยา จันมา 

อยากให้คุณวิทยาอธิบายงานของคุณวิทยาในครั้งนี้สักนิดหนึ่งค่ะ

โนราได้รับรองขึ้นเป็นมรดกของ unesco หลัง ๆ มานี้ผมจะชอบใช้ศิลปะวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์และพัฒนาเป็นผลงานของตัวเอง โดยยังยึดถึงรูปลักษณ์ ที่เป็นform เก่าแต่เอามาปรับปรุงพัฒนาหรือเรียบเรียงใหม่ซึ่งคำว่าเรียบเรียง บางทีมองด้วยตาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอะไรใหม่ นั้นแปลว่ามันต้องใช้ประสบการณ์หรือไปสัมผัสหรือไปเฝ้ามองมันจริง ๆ ถึงจะรู้ว่าผลงานชิ้นนี้มันเรียบเรียงอะไรออกมา ซึ่ง ส่วนใหญ่แล้วผมจะพยายามหาเรื่องราวที่มันซ่อนอยู่ในของเก่าพวกนี้ 

เขานำเอางานเก่าของเขาที่ ที่นำแพตเทิร์นในผ้าทอ ในลายโบราณ มาร้อยเรียงใหม่ด้วยเทคนิคภาพยนตร์จนลายผ้ากลายเป็นแอนิเมชั่นทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่จากวัฒนธรรมเดิมมาให้เราชมและอธิบายเพิ่มเติมว่า

ผมทำงานมันจะค่อนข้างศาตร์ๆ หน่อยซึ่งแปลว่าเราต้องใช้ศาสตร์อื่นด้วย ว่าของพวกนี้มันจะหมุนได้มันต้องมี อิเล็กทรอนิกส์มี โปรแกรม hardware software ต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่สูงเหมือนกัน

ครั้งแรกที่ได้รับโจทย์โนราแวบแรกคุณวิทยาคิดถึงอะไร 

แวบแรกที่ผมเห็นผมนึกถึงเครื่องแต่งกายและการร่ายรำ คือเครื่องแต่งกายมาจากลายผ้าที่เราสนใจอยู่แล้ว มันก็พัฒนามาจากที่ผมทำ ความจริงไปสงขลาก่อนที่อาจารย์จะชวนผมอีก แต่พอรู้ว่าจะได้ไปก็เข้าล็อกกับงานที่ทำอยู่พอดี ตอนแรกผมมีแค่ไอเดียก็เลยนำมาพัฒนา ศึกษาเรื่องโนราอย่างจริงจัง หลักจากที่อาจารย์บอก ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราก็คงต้องไปหาครู ลงไปศึกษาในพื้นที่ แต่เนื่องด้วยโควิดเลยต้อง หา research ก็จะมีพวกหนังสือมีตารางข้อมูลมีเทริดอยู่หลายประเภท เทริดมันก็จะมีแพตเทิร์น ผมเลยทำเป็นเรซิ่นออกมา 

ชุดนี้จะมีสองส่วนมี 3D print กับมีแก้ว แล้วเราจะยิ่งเลเซอร์เป็นลายแก้วแทนฟิล์มภาพยนตร์ มี่จะบันทึกท่าร่ายรำงานของผมผลลัพธ์มันดูเหมือนไม่มีอะไร เหมือนของอนุรักษ์นิยมทั่วไป แต่ความจริงแล้วสิ่งที่ผมฉายออกมามันจะเป็นสิ่งที่เราทำขึ้นมาใหม่ มันต้องมาดูกับวิธีเทคนิคของผมในการที่จะทำภาพเคลื่อนไหว เราใช้เทคนิคเหมือนส่องผ่านแก้ว เหมือนงานชิ้นนี้ตัวผมเองก็จะมี 3D ปริ้นประกบกันคล้ายผอบที่เอาไว้เก็บของสำคัญ เหมือนเราเอาผอบเก็บเรื่องราวของโนรา จิตวิญญาณที่ผมมองเห็น ที่เกี่ยวกับโนราเข้าไปไว้ 

ผลงานชิ้นนี้จะมีสองสเต็ปผมแบ่งเป็นสามองค์ คล้ายๆบทละคร องค์แรกก็คือแสง แสงจะมีสองตำแหน่ง ตำแหน่งแรกจะฉายเห็นภาพรวม สเต็ปที่สองจะส่องไปใกล้ ๆ เพื่อโปรเจกต์ลายของแก้วขึ้นไปบนผนัง สเต็ปที่สามคือหมุนผลงานแล้วมันก็จะกระพริบกลายเป็นอนิเมชั่น 

ทำไมเลือกที่จะสร้าง อย่างเช่นตัวเทริด ขึ้นใหม่ แทนที่จะเอาเครื่องหัวดั้งเดิมมามาเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานเลย

ถ้าโนราเทริดคือของสำคัญของสูงที่สุด เขาจะบูชาเขาจะไว้สูง แต่ผมไม่ได้มองเรื่องของสูง แต่ผมว่ามันน่าสนใจ มันมีการสืบทอด น่าค้นหา เหมือนเทริดเวลาจะใช้จริง ๆ ก็ต้องไปทำพิธีไหว้ครู และก็จะมีด้ายศักดิ์สิทธิ์ด้วย แต่ผมเอาออกเพราะว่ามันเกินไป และเราก็ไม่ต้องทำพิธีอะไร เพราะมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ คือการนำลวดลายเดิมมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นอนิเมชั่น เพราะจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้กำหนดว่าลายข้างบนต้องมีเท่าไหร่ ไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่รูปทรงบ้างอย่าง เช่นส่วนประกอบสำคัญต้องมีครบ แล้วก็แยกออกมาเป็น กระจัง เป็นยอด เป็นกลีบบัวแต่ลายพวกนี้ผมก็พัฒนาจริงจังขึ้นมาจากของเขานะ เพราะชาวบ้านเขาก็ทำมือขึ้นมา แต่ความจริงลายมันก็มาจากพวกนี้แหละ ผมก็เลยมาถอดมาอย่างจริงจังเพราะเราสามารถทำจริงจังได้เราใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อันนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถทำให้มันเป๊ะทุกเฟรมได้ ก็เอาแบบมาแล้วเอามาขึ้น 3D เราก็มาลงรายละเอียดให้มัน… 

นอกจากนี้ก็มีการเลือกท่ารำมา มีท่ารำเยอะแยะเลย แต่ก็สามารถใส่เข้าไปได้แค่สามลาย โดยเลือกลายที่มันเคลื่อนแล้วมันดูพริ้วไหว   

หลายครั้งงานของคุณวิทยาออกมาในรูปแบบของการทดลองวิทยศาสตร์ แล้วในงานนี้คุณวิทยาทดลองอะไรคะ

ผมว่าคำว่าการทดลองหรืองานของผมแต่ละชิ้น การทดลองจะอยู่ในพาร์ทหนึ่งของงานผมเสมอ แต่ผลงานคือผลจากการทดลอง พูดแบบนี้ดีกว่า มันต้องสำเร็จมาแล้ว ต้องพิสูจน์มาตั้งแต่คอนเซ็ปท์ก่อนจนมาถึงการพิสูจน์ว่าทำออกมาแล้วคนจะเห็นเหมือนที่ผมเห็นหรือเปล่า 

ย้อนกลับไปงานล่าสุดที่ไปของสงขลา พาวิลเลียนต้นปีที่ผ่านมานี้ที่ภาคใต้ ตอนนั้นโจทย์ที่ได้มาคือวงแหวนศิลา เป็นวงแหวนโมรียะ เป็นวงแหวนโบราณ 2000 ปีมาแล้ว โจทย์มาเสร็จแวบแรกที่ผมเห็น คนอื่นอาจจะมองเห็นว่าเป็นวงแหวนธรรมดาแต่ผมเห็นฟิลม์ภาพยนตร์ในรูปแบบวงแหวน เพราะสิ่งที่มองเห็นเป็น pattern ของลาย มันเป็นเทคนิคที่เรียกว่าภาพติดตา มันคือเหตุผลว่าทำไมเราเห็นอนิเมชั่น มันคือการจำลองความเคลื่อนไหวจริง ๆ แล้วก็ถูกพัฒนามาเป็นฟิลม์เป็นอนิเมชั่นในปัจจุบัน แต่เทคโนโลยีมันมาไกลจนคนไม่ได้มองย้อนกลับไปแล้วเราถึงเห็นภาพเคลื่อนไหวนะ ซึ่งผมสนใจตรงนั้นว่า ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มที่ว่าทำไมเราถึงมองเห็น 

ในฐานะศิลปินไทยร่วมสมัยคิดอย่างไรกับเวลาที่คนบอกว่าศิลปินและการแสดงของไทยนั้นแตะต้องไม่ได้

เอาจริง ๆ ผมว่ามันเป็นที่เจตนาของบุคคลมากเลยนะ เพราะบางคนเขาอาจจะไปทำลาย form ด้วยเจตนาที่ดีก็มี เราต้องแยกให้ได้  อยู่ที่ว่าคนรับกับคนส่ง ใช้ขอบเขตอะไรในการตัดสินคนอื่น แต่ในมุมมองของผม ในงานของผมเอง ผมก็ไม่ได้อยากจะไปแตะอะไรที่มันแบบ…ผมชอบที่มันมีฟอร์ม เก่า ๆ ที่เหมือนไม่มีอะไรจริง ๆ แล้วมันมี ผมว่าเรื่องราวของศิลปะ วัฒนธรรมไทย หรืออะไรต่าง ๆ ที่มันสืบทอดกันมาหลายร้อย บางอันหลายพันปีด้วยซ้ำ มันสืบทอดมาได้แปลว่ามันต้องเรื่องราวของมันอยู่ อยู่ที่มุมมองของเรา ว่าเรามองเห็นอะไรมากกว่า

เหมือนที่ถ้าถามถึงลายรำที่เลือกมาใช้ มันอาจจะมีรำโนราที่สำคัญหรือดีกว่านี้ แต่เมื่อผ่านเทคนิคนี้หรือฟิลเตอร์ของผมแล้ว ผมว่ามาเรียบเรียงแบบนี้มันสวยกว่า 

 ผมว่าถ้าเรามองผ่านแบบนี้เราก็จะเห็นมุมมองที่ใหม่ เช่นผ่านสายตาของผมที่ผมมองเห็นโนรา โนราบางคนเขาอาจจะต้องมีรำต้องมีเสียง ต้องเต็มที่มาทั้งโรง แต่พอผมไปดูโนราผมชอบแสงกับเงาที่เกิดขึ้นในการแสดงมากกว่า 

เวลาทำงานมีความตั้งใจไหมคะว่าต้องง่ายกับการที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจ 

ผมไม่ได้มองว่า ฝรั่งจะต้องเข้าใจ…ต้องย้อนมาที่ว่างานผมไม่ได้ยากที่จะเข้าใจ ผมว่ายิ่งผมทำ interactive เมื่อก่อนด้วย ผมดึงคนอยู่แล้ว อย่างแรกเราต้องมีอะไรที่ดึงให้เขาเข้ามาสัมผัส สัมผัสเสร็จแล้วเขาจะพยายามหาเรื่องราวที่อยู่ในงานเอง หรืออย่างแรกเขาต้องดูออกแล้วว่ามันคืออะไรบ้างอย่างของไทย พอมาดูมันคือโนราแล้วมันค่อยๆเคลื่อนไหวและค่อย ๆ เล่าเรื่องราวของตัวเอง

นอกจากศิลปินร่วมสมัยแล้วเรายังได้รับเกียรติพูดคุยกับตัวแทนศิลปินวัฒนธรรมโนรา ผ.ศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ผู้เผยแพร่และสิบสานศิลปะและวัฒนธรรมการรำโนรามาอย่างยาวนาน ถึงการนำโนราออกสู่สายตาชาวโลก 

 

อาจารย์เคยนำโนราไปแสดงที่ต่างประเทศมาหลายครั้ง การแสดงครั้งนี้มีความพิเศษอย่างไรบ้างคะ 

เวทีครั้งนี้จะแตกต่างออกจากที่อื่น เพราะส่วนมากแล้วจะเป็นการแสดงเดี่ยวเฉพาะศิลปะโนราร่วมกับศิลปินจากนานาชาติ ซึ่งครั้งก่อนๆก็จะ เป็นการแสดงเฉพาะโนราอย่างเดียว แต่ครั้งนี้เป็นการแสดงโนราร่วมกับศิลปะจากศิลปินไทย เป็นการทำงานร่วมกันกับศิลปินชาวไทยที่มีทั้งด้านทัศนศิลป์ จิตรกรรม ประติมากรรม ต่าง ๆ ร่วมกับศิลปินพื้นบ้านด้านการแสดงโนรา นับเป็นการแสดงความสัมพันธ์ของศิลปะรวมกลุ่มในนามของประเทศไทย ครั้งนี้จึงต้องหาวิธีการว่าทำยังไงให้ศิลปะโนรา เชื่อมโยงกับศิลปะสมัยใหม่ รวมกับศิลปินร่วมสมัยได้ด้วยครับ

จากที่ได้สัมผัสกับผู้ชมชาวต่างชาติการนำโนราไปแสดงที่ต่างประเทศมีผลตอบรับที่อาจารย์รู้สึกประทับใจและจำได้ดีไหมคะ

น่าจะเป็นที่มาเลเซีย ที่กัวลาลัมเปอร์เพราะว่าในตอนนั้นเป็นการแสดงที่เราจะต้องฝึกให้เขาปฎิบัติโนราได้ด้วย คือคนที่มาชมการแสดงส่วนหนึ่งก็จะเป็นศิลปินที่มาร่วมงานและมาร่วมแสดง เขามาชมการแสดงเสร็จแล้ว แต่คราวนี้เขาต้องมาเรียนรู้โนราด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้สอนกลุ่มศิลปินที่มีทักษะการแสดง ก็จะเห็นความประทับใจ ความชื่นชอบอยากจะเรียนรู้ศิลปะโนรา โดยเฉพาะการใช้นิ้วมือ หรือการเคลื่อนไหวเท้า ถือว่าเป็นเรื่องที่แตกต่างสำหรับเขาและเป็นเรื่องที่ละเอียดปราณีต อีกอย่างหนึ่งคือการร้องครับ การ้องสื่อถึงท่าทางต่างๆ พอเขาได้ใช้สำเนียงภาษาไทย ก็จะรู้สึกว่า เขาภาคภูมิใจที่ได้ฝึกภาษาต่าง ๆ ผ่านทางด้านศิลปะการแสดงครับ 

ในมุมมองของอาจารย์ศิลปะไทยที่มีคุณค่าอย่างโนราจะเชื่อมโยงกับคนในยุคปัจจุบันต่อไปได้อย่างไรบ้างคะ

อันดับแรกคือคนในยุคปัจจุบันก็จะรู้จักกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้คนในยุคปัจจุบันเอามาใช้เผยแพร่แสดงศิลปะโนราออกไปให้ได้มากที่สุด เพราะมันสามารถทำให้คนได้ใกล้ชิดกับศิลปะได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเขาชื่นชอบ เขาอาจจะดูซ้ำแล้วซ้ำอีกและสามารถจะกดค้นหาดูได้ทันที คนปัจจุบันที่มีความรู้เรื่องสื่อเทคโนโลยี ก็อยากจะให้เขาใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์และทำให้โนราเข้าไปสู่ที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว 

อย่างที่สองนะครับ การที่เขารู้จักการนำภูมิปัญญาทางด้านศิลปะโนราไปต่อยอด ไปสร้างสรรค์ เป็นงานศิลปะอื่น ๆ คิดว่าคนยุคใหม่เขาน่าจะชอบแบบนี้ ประการที่สาม ถ้าหากว่าคนยุคใหม่ที่ชอบความท้าทาย ของความแปลกใหม่และความดั้งเดิม ซึ่งในร้อยคนพันคนอาจจะมีแค่หนึ่งคนสองคน อยากให้กลุ่มคนเหล่านี้เขามาสัมผัสเรียนรู้โนราโดยตรงและทุ่มเทเรียนรู้อย่างจริงจัง เพื่อให้เขาซาบซึ้งและนำโนราไปต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดครับ

ในมุมมองของอาจารย์ เราจะหาจุดกึ่งกลางที่พอดีระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาให้ร่วมสมัย เพื่อให้ศิลปะการแสดงที่มีคุณค่าพัฒนาไปพร้อมกับสังคมได้อย่างไรบ้างคะ

อันดับคือต้องศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับศิลปะดั้งเดิมให้ถูกต้องชัดเจนก่อน อย่างที่สองคือต้องดูว่าศิลปะที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไปแนวคิดบนโลกกว้าง เขามีทิศทางแบบและแนวทางแบบไหนที่เขาจะเป็นที่รู้จักเป็นที่ชื่นชม ให้คนทั่วโลกได้สัมผัสได้ซาบซึ้ง 

ความทันสมัย และการมีประโยชน์ อยากจะให้คนในยุคปัจจุบัน คนที่อยากจะทำงานด้านนี้ศึกษาของเดิมให้ลึกซึ้งและศึกษาเรื่องเทคนิคของศิลปะสมัยใหม่ ว่าส่วนไหนที่จะคัดเลือกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และ คุณค่า สามารถจะดึงเอาความเป็นพื้นบ้านไปสู่สากลได้โดยที่ไม่ได้ทำลายความงดงาม หรือไม่ได้ ทำลายความเชื่ออะไรต่าง ๆ ที่มันปรากฏอยู่ในศิลปะ 

“ถ้าหากมีศิลปินพื้นบ้าน แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีจิตใจที่กว้างขวาง หรือว่าไม่มีความคิดที่ก้าวไกล ศิลปะของเขาก็จะนิ่งอยู่กับที่อยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งครับ แต่เมื่อไหร่ที่ศิลปินเขามีความเปิกกว้าง มองการณ์ไกลและก็มีทิศทางในการเรียนรู้ รับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล ศิลปินท่านนั้นก็จะเป็นที่รู้จัก เป็นที่ชื่นชอบ และก็จะมีความสุขในการสร้างงานมากยิ่งขึ้น”

เนื่องจากได้รับประโยชน์จากศิลปะต่าง ๆ และนำมามาประยุกต์ใช้ และก็เพื่อนำมาพัฒนาศิลปะตัวเองให้มีความยั่งยืนและต่อยอดให้คนอีกกลุ่มให้ได้เรียนรู้ได้ครับ เพราะฉะนั้นศิลปินทุกคนควรมีองค์ความรู้สองอย่างก็คือรู้ดั้งเดิมอย่างชัดเจนลึกซึ้ง และก็ต้องเปิดกว้างเรียนรู้ศิลปะแขนงอื่นๆที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์กับศิลปะของเราได้ครับ เพราะฉะนั้นเวลาจะสร้างสรรค์ก็สร้างสรรค์ได้อย่างสวยงามลื่นไหล และไม่โดนดราม่าเพราะเรามีเหตุมีผลในการสร้างสรรค์ชัดเจน ถ้าสร้างสรรค์ก็ไม่กลัวครับ เพราะว่าเรามีหลักการมีเหตุผลและรู้วิธีการที่จะนำไปใช้ครับ 

ศิลปะพื้นบ้านปกติมีเฉพาะกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่ถ้าหาก ศิลปะพื้นบ้านสามารถที่จะทำให้กลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายได้ชื่นชอบได้รู้จักเข้าใจ ก็ถือว่าศิลปินท่านนั้นมีภูมิปัญญาความรู้ที่ดี สามารถที่จะนำภูมิปัญญานี้ไปสืบทอดและถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์ ศิลปะนั้นก็จะไม่เลือนหายและตายจากไปจากชุมชนท้องถิ่น และตัวศิลปิน ก็เหมือนกับที่ปรากฏกับศิลปินที่มีชื่อเสียงทั่ว ๆ ไปครับ ที่มีชื่อเสียงก็เนื่องจากว่าเขามีภูมิปัญญาและมีกลวิธีที่จะทำให้ศิลปะอยู่รอดได้อย่างงดงามเกิดประโยชน์แก่ตัวเขา และสร้างความสุขให้กับตัวเขาและชุมชนได้ครับ 

นอกจาก ผ.ศ. ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ แล้วโครงการนี้ ยังมีศิลปินวัฒนธรรมโนราอีกสองท่านคือ นายควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ ศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) และ สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่จะนำโนราศิลปะการแสดงของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไปแสดงและเผยแพร่ผ่านกิจกรรมไทยเดย์ภายในงานอีกด้วย 

การส่งออกวัฒนธรรม การใช้ soft power กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย อาจารย์อำมฤทธิ์ในฐานะได้กล่าวถึงบทบาทที่รัฐจะสามารถสนับสนุนให้ศิลปะไทยเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืนไว้ว่า

เราเคยคุยกันเมื่อก่อนว่า บทบาทศิลปินมีหน้าที่ทำสร้างงานศิลปะ ดังนั้นเดี๋ยวก็ต้องมีคนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ต่อ แล้วคนที่เป็นครูสอนคนที่เป็นนักทฤษฎีเอาทฤษฎีเรื่องนี้ไปตีความไปแปลไปสร้าง เพราะฉะนั้นบทบาทในองค์กรในเหล่านี้ มันถึงจะแยกย่อยออกไป แล้วก็มีหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่แบบที่เราทำอยู่แบบที่เป็นศิลปินเป็นภัณฑารักษ์เป็นช่างไม้ ทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดงาน ในมุมหนึ่งถ้าเรายังไม่มีกำลังทรัพย์เราก็สามารถทำทุกอย่างได้ ถ้าหากว่าเราไปสู่มาตรฐานสากลแล้ว มันควรที่จะแยกย่อยไปสู่แบบนั้นมากกว่า 

ที่นี้ย้อนกลับมาที่คำถามที่ว่ารัฐบาลสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ถ้ารัฐมีองค์กรแบบที่ผมพูดคือสร้างงานให้ครบในทุกส่วน ก็คือสร้าง หรือว่ามีโรงเรียนสอนศิลปะ โรงเรียนสอนคนที่เป็นศิลปินอย่างเดียว เราต้องไปดูว่า ท้ายที่สุดเราได้ศิลปินมีกี่คน ที่เหลือเราเอาไปทำอะไรได้บ้าง ก็เพราะเราไม่เคยมองไม่เคยแยกย่อยว่า เราสอนแล้ว เราเห็น skill ที่แตกต่างของแต่ละคน เราสามารถชี้ให้เขาไปให้ถูกทางได้โดยที่เขาไม่ต้องเสียเวลา อย่างเช่นคนนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นศิลปินแต่เหมาะที่จะเป็น นักจัดการ คนนี้เหมาะที่จะเป็น technician ที่ดี เพราะฉะนั้นอาชีพที่มันอยู่ในก้อนเดียวกัน ในเรื่องเดียวกัน มันทำให้องค์กรมันแข็งแรงขึ้น มันพัฒนาได้มากกว่านี้แน่นอนถ้าหากว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ก็คือเราก็เห็น ๆ อยู่…ไม่ได้ว่าเห่อตะวันตก และไม่ได้ว่าเห่อคนอื่นมากกว่าประเทศเรา แต่เพียงแต่ประเทศเราขาดจริง ๆ และอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ

ถ้าหากว่าจับ expert ของแต่ละด้านมาวางไว้ แล้วให้เขาทำจริง ๆ ทำที่เขาถนัดทุกอย่างมันก็จะเป็นองค์ประกอบที่ดีนะครับ และงานเราก็น่าจะไปถึงฝั่งได้ดี อีกอย่างคืออยากจะเห็นงานในเมืองไทย จะมีงานที่เป็นระดับนานาชาติซัก 2 งาน Bangkok Biennale และ Thailand Biennale เราจะเห็นความต่างระกว่างงานที่เป็นองค์กรเอกชนทำกับงานที่เป็นองค์กรของรัฐทำ การใช้คนไม่เหมือนกัน วิธีการคัดสรรไม่เหมือนกัน อันนี้คือปัญหาแล้วเราก็ต้องไปชั่งน้ำหนักเอาดูว่าเราจะพัฒนาไปอย่างไร 

ส่งแรงใจเชียร์ ‘มรดก โนรา : Spirit of NORA’ ซึ่งจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 26  พ.ค. – 3 ก.ค. 65 ณ Palazzo Pisani Santa Marina นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ได้ที่ #โนราไทยไปเวนิส

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า