SHARE

คัดลอกแล้ว

นักวิชาการ ด้านอาชญาวิทยา ให้ความเห็นต้องมีหลายปัจจัยเสริม ‘มนุษย์’ มีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง หลังจากซีรีส์ ภาพยนตร์ เกม

จากกรณี วันที่ 10 ต.ค. 2564  พ.ต.ท.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาพูดถึงซีรีส์เกาหลีดัง Squid Game ตอนหนึ่งระบุว่า “ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องอยู่บ้าน และมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้น รวมถึงเด็กและเยาวชนที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน การรับชมซีรีส์หรือภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเพื่อเป็นการผ่อนคลายในเวลาว่าง แต่ก็มีซีรีส์ หรือภาพยนตร์บางเรื่องที่มีการนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะพฤติกรรมความรุนแรง อย่างเช่นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันอย่างเรื่อง Squid Game  ซึ่งถูกจัดอยู่ในซีรีส์สำหรับกลุ่มผู้ชมที่อายุ 18 ปีขึ้นไป

เนื่องจากมีการนำเสนอเนื้อหา ภาพ เสียง และพฤติกรรมความรุนแรง มีทั้งฉากการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฉากการผ่าศพ ฉากการฆ่าผู้อื่น อย่างชัดเจน เพื่อแก่งแย่งแข่งขัน และเอาตัวรอด อาจส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ ทำให้ผู้ที่รับชมมีพฤติกรรมรุนแรง หรืออาจส่งผลให้ผู้ชมเกิดความคิด จินตนาการว่าตนอยู่ในสถานการณ์เดียวกับซีรีส์ จนอาจเกิดเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กหรือเยาวชน

ผู้ปกครองจึงต้องคอยควบคุมดูแลการใช้สื่อออนไลน์ การรับชมสิ่งต่างๆ และคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเลือกรับสื่อต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม”

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ (แฟ้มภาพ)

ล่าสุดวันนี้  (11 ต.ค. 2564) workpointTODAY สอบถามนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม  มหาวิทยาลัยรังสิต เกี่ยวกับการชมซีรีส์ ภาพยนตร์แล้วเกิดพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง ให้ความเห็นดังนี้

(ภาพจาก SquidGame)

ไม่ว่าจะเป็นเกม ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ ลักษณะแบบนี้ เนื้อหาที่มีความก้าวร้าวรุนแรง ถ้าคนที่มีการติดตามรับชม โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีการใช้ความรุนแรง ถี่ๆ ซ้ำๆ บ่อยครั้ง จะทำให้เกิดเรียนรู้ซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ และก่อตัวพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมเลียนแบบได้ มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคน ทั้ง 100 คน หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่รับชมภาพยนตร์ เกม ซีรีส์ลักษณะแบบนี้ จะมีการใช้ความรุนแรงด้วยภาพที่ก้าวร้าวเสมอไป

เพราะว่า บางคนมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ปัจจัยภายใน  ปัจจัยสายใยความผูกพัน ความรักกับคนในครอบครัว สมาชิกในชุมชน เพื่อนร่วมงาน ซึ่งเขามองว่า ถ้าเขาใช้พฤติกรรมรุนแรงกระทำกับบุคคลอื่น เป็นการผิดกฎหมาย อาจส่งผลทำให้สูญเสียความรัก คนรอบข้าง ทำให้ตัดสินใจไม่ใช้ความรุนแรงในการทำต่อบุคคลอื่น

ในทางทฤษฎีอาชญาวิทยา เรียกว่า ทฤษฎีพันธะทางสังคม ความผูกพันในครอบครัว ความเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ดึงไว้ไม่ให้คนเข้าไปกระทำความผิด หรือละเมิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า ก็มีคนอยู่ส่วนหนึ่ง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเกิดมามีครอบครัวสมบูรณ์ บางคนไม่ได้มาจากครอบครัวที่อบอุ่น มีเพื่อนร่วมงานที่ดี บางคนตกงาน ไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะฉะนั้นหากไปรับชมซีรีส์ หรือภาพยนตร์ประเภทนี้ด้วย ก็จะยิ่งผลักหรือดัน ให้เขามีพฤติกรรมเสี่ยงเกิดการเลียนแบบจากซีรีส์ หรือภาพยนตร์ได้

(รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล)

ส่วนการชมถี่หรือบ่อยแค่ไหนที่มีแนวโน้มจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

รศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น บางคนอาจรับชมทุกวัน วันละ 3-4 ชั่วโมง ขณะที่บางคนรับชมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เหมือนคนดื่มแอลกอฮอล์ ทำไมบางคนดื่มแค่ 2 แก้วเมา บางคนดื่มเป็น 10 แก้วยังไม่เมา ก็เพราะมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน

“ความถี่ ที่จะทำให้คนมีพฤติกรรมเลียนแบบได้ ก็มีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเสริม เช่น คบเพื่อนที่ไม่ดีด้วย ชอบใช้ความรุนแรงด้วย ชอบชมภาพยนตร์พวกนี้ด้วย ซีรีส์ความรุนแรงด้วย บางคนมีปัจจัยพื้นฐานที่ครอบครัวมักใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวด้วย  ถ้ามีปัจจัยเสริมพวกนี้เข้าไป ยิ่งมีโอกาสให้คนๆ นั้น มีแนวโน้มจะกระทำด้วยความรุนแรง เพิ่มสูงขึ้นกว่าคนอื่นหลายเท่า”

ผิดที่ตัวซีรีส์ ?

รศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ กล่าวว่า เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคนที่จะสร้างซีรีส์ ภาพยนตร์ ละครอะไรก็ตาม ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เขาก็ต้องสะท้อนจากเรื่องจริง ความเป็นจริงบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปฉายด้านลบของโลกของความเป็นจริงให้กับคนว่า “ไม่ดี” ทำไมไม่กลับเป็นการเสริมแรง รณรงค์ กระตุ้นให้คนทำดี ทำสิ่งที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นว่า คนสร้างละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ ควรให้ความสำคัญประเด็นเหล่านี้ด้วย

ส่วนที่ 2 คือ ผู้รับชม ผู้รับสาร แน่นอนว่าเด็กเยาวชน มีผลมาก เพราะวัยวุฒิ การตัดสินใจ ความคิด การใช้เหตุผล ทางเลือก เขาอาจจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องติดตามกำกับให้ความเห็นที่ถูกที่ต้อง ไม่ใช่บังคับ ต้องพูดคุยด้วยเหตุผล และเบี่ยงเบนให้ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น เล่นกีฬา ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อจะได้ลดความสนใจซีรีส์หรือภาพยนตร์ ที่ใช้ความรุนแรง ไม่ไปซึมซับพฤติกรรมลักษณะแบบนี้ เพราะจะส่งผลต่อบุคลิกภาพทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า