ถ้อยคำในบทกวีน้อยแต่มาก ง่ายแต่งาม… “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร คว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 65
สมาคมภาษาและหนังสือ แห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยในวันนี้ (2 ธ.ค. 65) ว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2565 พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า กวีนิพนธ์เรื่อง จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ นำเสนอภาพชีวิตของผู้คน ในยุคสังคมพลิกผันที่เผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ ปัญหาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมสื่อ
บทกวีแต่ละบทนำเสนอฉากชีวิตและพฤติการณ์ของคนธรรมดาสามัญ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชายขอบ ผู้คนในเมืองและในชนบทที่ยากจนและถูกเบียดขับกดทับ ตลอดจนตั้งคำถามกับโลก ยุคเก่า และวิพากษ์โลกยุคใหม่อย่างแยบยล กวีมุ่งเสนอสารสำคัญว่าแม้ชีวิตจะต้องเผชิญกับความโหดร้าย ความรุนแรง ความพลิกผันและความล่มสลาย ขอเพียงเรายังมีความเอื้ออาทรต่อกัน โอบกอดกันด้วยความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกัน
กวีเล่าเรื่องชีวิตของผู้คนอย่างละคร แบ่งบทตอนอย่างมีสัมพันธภาพ ใช้ท่วงทำนองโรแมนติกตัดกับสัจนิยมด้วยน้ำเสียงประชดเสียดสีเพื่อเร้าอารมณ์และกระตุ้นความนึกคิด ถ้อยคำในบทกวีน้อยแต่มาก ง่ายแต่งาม ลึกซึ้งทั้งความหมายและอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งยังใช้ศิลปะสองแขนง คือบทกวีกับภาพวาดมาสอดประสานกันเพื่อนำเสนอความคิดร่วมสมัยและสากล สื่อน้ำเสียงที่มีความหวัง มุ่งยกระดับจิตใจให้ใคร่ครวญถึงความอ่อนโยนที่โลกพึงมีต่อเราและเราพึงมีต่อโลก
คณะกรรมการตัดสิน จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กวีนิพนธ์เรื่อง “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้” ของปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2565

(ขอบคุณภาพ : สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย )
‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร’ เป็นนักเขียนหญิงคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภทกวีนิพนธ์ ต่อจาก‘จิระนันท์ พิตรปรีชา’ ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ จากกวีนิพนธ์เรื่อง ‘ใบไม้ที่หายไป’ เมื่อปี 2532 หรือในรอบ 33 ปี