ปัจจุบันการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพได้รับความสนใจลดลงเล็กน้อย หากเทียบในช่วงโควิดที่สตาร์ทอัพเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีคนสนใจเข้ามาลงทุนอย่างมาก จนมีหลายสตาร์ทอัพที่เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ในตอนนั้น
แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อมุมมองที่มีต่อสตาร์ทอัพในตอนนี้ ที่จากเดิมจะเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพที่เติบโตได้รวดเร็วก็เปลี่ยนมาเป็นสตาร์ทอัพที่ความสามารถที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่างจากช่วงโควิด
อย่างไรก็ตาม ‘สตาร์ทอัพ’ เก่งๆ ยังมีอีกมากโดยเฉพาะสตาร์ทอัพรายเล็ก ที่เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไอเดียเล็กๆ เติบโตได้อย่างสวยงาม
‘กรุงศรี ฟินโนเวต’ ร่วมกับ ‘อีฟราสตรัคเจอร์’ เปิดตัว ‘กองทุนฟินโน อีฟรา ไพรเวท อิควิตตี้ ทรัสต์’ (Finno Efra Private Equity Trust) มูลค่ากองทุน 1,300 ล้านบาท หรือประมาณ 35 ล้านเหรียญสหรัฐ กำหนดระยะเวลาลงทุนภายใน 4 ปี
โดย ‘แซม ตันสกุล’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ในเครือกรุงศรี กล่าวว่า กองทุน Finno Efra จะลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วง Seed ถึง Pre-series A เป็นหลัก และเน้นลงทุนในกลุ่ม Impact & Digital Transformation
โดยสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่จะโฟกัสที่สตาร์ทอัพสัญชาติไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 60% และที่เหลือจะเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพอาเซียน ซึ่งยอดการลงทุนในแต่ละดีลจะอยู่ที่ราว 8-40 ล้านบาทต่อกิจการ
ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่เข้ามาจะต้องจะมีความสามารถในการสร้างรายได้อยู่ที่ 10-30 ล้านบาทต่อปี เพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทมีประสบการณ์และพร้อมที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปสู่ระดับ Series A ในอนาคต
ซึ่งปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนเวต อยู่ระหว่างพูดคุยกับสตาร์ทอัพที่น่าสนใจแล้วประมาณ 5-6 บริษัท ทั้งในไทยและอาเซียน
ขณะที่ ‘พจน์ หะริณสุต’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด กล่าวว่า บลจ.วรรณ เตรียมเสนอขายกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนใน กองทุน Finno Efra Private Equity Trust ซึ่งเป็นกองทุนรวมแรกของประเทศไทยที่ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ Pre-Series A คาดว่ากองทุนจะมีมูลค่าราว 1,000 ล้านบาท
โดยกองทุนนี้จะขายให้กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI) เงินลงทุนขั้นต่ำที่ 500,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดเสนอขายครั้งแรกพร้อมกับกองทรัสต์
ปัจจุบันกองทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ด้าน ‘ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ’ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อีฟราสตรัคเจอร์ จำกัด กล่าวว่า นอกจากเรื่องการลงทุนที่มีอย่างจำกัดแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หลักสูตรหรือโปรแกรมที่ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้คำปรึกษา บ่มเพาะสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ลดน้อยลงไปมาก
ซึ่งมองว่า Accelerator และ Incubator คือจิกซอว์สำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพรายใหม่ๆ เกิดขึ้นและเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างผู้ลงทุนและสตาร์ทอัพได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับกองทุน Finno Efra คือการทำ Finno Efra Accelerator Program เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่สนใจสมัครเข้ามาเรียนรู้
โดยจะใช้เครือข่าย ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่มีสร้างให้หลักสูตรนี้ครอบคลุมในทุกๆ มิติที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพ เพื่อให้สตาร์ทอัพที่เข้ามาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ Finno Efra Accelerator Program จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน โดยในแต่ละรอบจะเปิดรับสตาร์ทอัพประมาณ 10 บริษัทและสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนี้จะมีโอกาสได้รับเงินลงทุนจากกอง Finno Efra และพบกับนักลงทุนรายอื่นๆ อีกด้วย