SHARE

คัดลอกแล้ว

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร จนนำไปสู่เหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีหลายหน่วยงานทั้งที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติโดยตรง ไปจนถึงหน่วยงาน องค์กร และกลุ่มประชาคมต่างๆ ออกแถลงการณ์เรียกร้องถึงรัฐบาลไทย เพื่อแสดงท่าทีกังวลต่อการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม วันนี้ workpointTODAY รวบรวมมาไว้ในโพสต์เดียว ดังต่อไปนี้

🟥 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) แถลงเมื่อวันที่ 16 ต.ค. แสดงความกังวลถึงการควบคุมตัวและการจับกุมนักกิจกรรมและนักสิทธิมนุษยชนด้วยข้อหาร้ายแรง

ราวินา ชัมดาซานิ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ชี้ว่า การบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินส่งผลลบต่อการแสดงออกถึงเสรีภาพ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยืนยันเสรีภาพของประชาชนที่สามารถออกมาชุมนุมได้อย่างสงบ

workpointTODAY เคยนำการแถลงดังกล่าวมานำเสนอในวีดีโอนี้

https://www.facebook.com/153951094974177/videos/339250900675852

🟥 กลุ่มกรีนพีซ ประจำประเทศไทย

กลุ่มกรีนพีซ ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก Greenpeace Thailand เมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค. เรียกร้องรัฐบาลให้ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อการชุมนุมอย่างสันติวิธีของประชาชน การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากล และรัฐควรหยุดคุกคามประชาชนโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/greenpeaceseath/posts/10158225345887098

🟥 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน แสดงท่าทีในวันที่ 17 ต.ค. โดยระบุว่า การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงกับผู้ชุมนุมสะท้อนถึงมาตรการปราบปรามการประท้วงที่รุนแรงอย่างน่าตกใจ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อ้างความเห็นของมิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มองว่า การใช้กำลังเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุมโดยสงบเมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค. เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิงกับหลักการตามกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ ตามหลักการความจำเป็น และหลักการที่ได้สัดส่วนอย่างที่ทางการไทยอ้าง พร้อมมองว่า การใช้น้ำที่มีส่วนผสมของสารเคมีและสีย้อม อาจนำไปสู่การพุ่งเป้าเพื่อจับกุมโดยพลการต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ ผู้สื่อข่าว และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมโดยสงบสามารถแสดงความคิดเห็นของตน โดยต้องไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากกว่านี้ ขณะเดียวกันทางการไทยควรเคารพ คุ้มครองและประกันการใช้สิทธิมนุษยชนของผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วม รวมทั้งยังต้องประกันความมั่นคงปลอดภัยของผู้สื่อข่าว ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย

อ่านเพิ่มเติม https://www.amnesty.or.th/latest/news/859/

🟥 ฮิวแมนไรท์วอช

ฮิวแมนไรท์วอช หน่วยงานสิทธิมนุษยชนออกรายงานเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ระบุว่า ตำรวจไทยใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงอย่างไม่จำเป็นต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ พร้อมอ้างความเห็นของแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่ระบุว่า การส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสงบ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยจะเริ่มการปราบปรามอย่างกว้างขวางเพื่อยุติการชุมนุมประท้วงของนักเรียนและนักศึกษามากขึ้น

รายงานของฮิวแมนไรท์วอชยังกล่าวถึงแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ ปี 2563 ว่าด้วยการใช้อาวุธที่รุนแรงไม่ถึงขั้นชีวิตเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่ระบุว่า ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงควรนำมาใช้ เฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ปั่นป่วนอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ กรณีที่มีแนวโน้มอย่างมากว่าจะเกิดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บร้ายแรง หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างกว้างขวาง

อ่านเพิ่มเติม https://www.hrw.org/th/news/2020/10/17/376770

🟥 กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)

กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยแสดงความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่เยาวชนอาจถูกคุกคาม พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเยาวชน และช่วยปกป้องเยาวชนจากความรุนแรงทุกรูปแบบ

ยูนิเซฟย้ำว่า ไทยเข้าร่วมในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (the Convention on the Rights of the Child: CRC) มาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งไทยให้คำมั่นว่าจะรับรองสิทธิเด็ก รวมทั้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ โดยที่เสียงของเยาวชนจะต้องถูกรับฟัง

แถลงการณ์ดังกล่าวถูกนำโพสต์เพื่อยืนยันจุดยืนผ่านเฟซบุ๊กเพจ UNICEF Thailand อีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ต.ค. อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โพสต์จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยูนิเซฟ ประจำประเทศไทยแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเน้นย้ำกับรัฐบาลมิให้ใช้กำลังในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่มีเด็กและเยาวชน

อ่านเพิ่มเติม
https://www.unicef.org/thailand/press-releases/unicef-calls-protection-children-and-young-people-amid-protests-thailand?fbclid=IwAR1pJ3geRGXZ_CEm-N7upUoBmLHaHTsgjhXUihwa-f6H6ZaS3i5OfQkXupQ

https://www.facebook.com/unicefthailand/posts/10157753684169632

🟥 4 สมาคมนักเรียนไทยในยุโรป

4 สมาคมนักเรียนไทยในยุโรป ประกอบด้วย สมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส, สมาคมนักเรียนไทยในสมาพันธรัฐสวิส และกลุ่มนักเรียนไทยในประเทศเบลเยียม ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อ 16 ต.ค. ชี้ว่า การกระทำของรัฐบาลไทยเพื่อต่อต้านบั่นทอนการชุมนุมของบุคคลหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมแกนนำด้วยข้อหารุนแรงเกินความเป็นจริง การส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าคุกคามเยาวชนและผู้ปกครอง ไปจนถึงการสลายการชุมนุมอันเป็นการสลายการชุมนุมในยามวิกาล และเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ มีการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมจำนวนมาก รวมทั้งมีการคุกคามสื่อมวลชนและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองเป็นวงกว้าง

แถลงการณ์ร่วมของ 4 สมาคมนักเรียนไทยในยุโรป ยังมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อถึงรัฐบาลไทย ประกอบด้วย

1. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยทันที
2. ยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นการคุกคามประชาชน
3. ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ให้มีการใช้สิทธิในการปรึกษาทนายความและต่อสู้คดีอย่างโปร่งใสและยุติธรรม
4. เปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตน บนพื้นฐานที่รองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญและหลักการสากล ด้วยความเคารพในมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีสมบูรณ์เสมอกัน

อ่านเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/de.tsvd/posts/3544178675647143

🟥 สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์

สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ลงนามโดยคณะกรรมการสามัคคีสมาคมฯ รุ่น 120 แสดงจุดยืนในการรักษาและเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และไม่เห็นด้วยในการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม หรือความรุนแรงในทุกกรณี

แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทำการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม โดยใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามขั้นตอนการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ที่ระบุไว้ในแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อีกทั้งยังขัดกับหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสรีภาพและความปลอดภัยทางร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม https://www.samaggisamagom.com/updates/announcements/announcement-in-regards-to-the-events-on-16-october-2020/

🟥 คณะและองค์กรนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยใน 18 ประเทศและดินแดน (ร่วมลงนาม 868 ชื่อ)

คณะและองค์กรนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยใน 18 ประเทศและดินแดน ในนามกลุ่มแนวร่วมนักเรียนไทยในต่างประเทศผู้มีความเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง ออกแถลงการณ์ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ต.ค. คัดค้านการใช้อำนาจในการจับกุมคุมขังแกนนำการประท้วงและผู้สื่อข่าวโดยไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสม การปิดกั้นช่องทางสื่อ และการสั่งห้ามชุมนุม

ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังแสดงความกังวลต่อการที่รัฐบาลพยายามทำให้ผู้ชุมนุมเป็นเสมือนผู้ใช้ความรุนแรง การตีความว่าความเห็นต่างคือความรุนแรงในครั้งนี้ได้สื่อให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่กำลังกีดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง แต่กำลังละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอันละเมิดไม่ได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยทันที

แถลงการณ์ฉบับนี้เปิดให้นักเรียนไทยในต่างประเทศร่วมลงนาม ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดเผยว่า มีผู้ร่วมลงนามแล้วกว่า 868 ชื่อ

อ่านเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/thecoalitionofconcernedthaistudentsabroad/posts/106289397933463

🟥 แพทย์ทั่วประเทศ (ร่วมลงนาม 1,008 ชื่อ)

แพทย์ทั่วประเทศร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ “มุมมองของแพทย์ต่อสถานการณ์วันที่ 16 ต.ค. 2563 เรียกร้องให้เปลี่ยนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐ ต่อผู้ชุมนุมเป็นการรับฟังอย่างสันติวิธีและขอให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชายึดหลักสากลในการควบคุมฝูงชน โดยเสนอออกเป็น 5 ข้อ มีเนื้อหาสำคัญเช่น ต้องให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ปลอดภัย, การดูแลการชุมนุมต้องปฏิบัติตามหลักสากล, เจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้รถยิงน้ำกับการชุมนุมที่สงบ, งดใช้สารเคมีที่มีพิษต่อระบบผิวหนัง และเยื่อบุ หรือต่อระบบทางเดินหายใจต่อผู้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และรับฟังความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในสังคม

จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่ามีแพทย์ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว 1,008 ชื่อ

อ่านเพิ่มเติม https://prachatai.com/journal/2020/10/90024

🟥 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เดินเท้าจากลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 ต.ค. เพื่อยื่นแถลงการณ์เรื่อง หยุดสลายการชุมนุมและขจัดผู้เห็นต่าง สร้างทางออกให้ประเทศไทย โดยมีนักวิชาการและประชาชนร่วมลงนาม 1,118 ชื่อ

แถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล สาระสำคัญ ได้แก่ ประณามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. เนื่องจากไม่ป็นไปตามหลักสากลและเกินกว่าเหตุ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องยุติการสลายการชุมนุมและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้, รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่เงื่อนไข และรัฐบาลต้องรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจัง

อ่านเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/posts/1776437579186273

🟥 องค์การนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

องค์การนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยมีองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นตัวแทน ออกแถลงการณ์วันที่ 21 ต.ค. เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เนื้อหาสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าว คือรัฐบาลต้องยุติการแทรกแซง คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงใกต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ, ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร. แสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องลาออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้รัฐสภาต้องรับพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยภาคประชาชน

อ่านเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/174453505924794/posts/3388713384498774/

https://bit.ly/2HarOBz

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า