จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ จัดให้มีการทดลองการเรียนทางไกล ผ่านช่องทีวีและช่องทางออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเทอมที่เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 ก.ค. และเตรียมความพร้อมกรณีที่เมื่อถึงวันเปิดเรียนบางพื้นที่อาจยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ
ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
วันที่ 18 พ.ค. ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อกังวลของวงการศึกษา คือ การปล่อยให้นักเรียนหยุดเรียนอย่างยาวนาน ถึงแม้จะมีการเรียนผ่านช่องทีวีดิจิตอลก็ตาม ก็อาจส่งผลเสียหายต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้เพราะความไม่เชื่อว่าการสอนออนไลน์ ผ่านทีวีดิจิตอลที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการนั้น จะสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน ถ้าให้นักเรียนไปโรงเรียนในช่วงเวลานี้ แล้วนักเรียนเกิดติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ก็จะกลายเป็นความไม่สบายใจของผู้ปกครอง และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ตนในฐานะที่ทำงานทางด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ขอเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ถ้า สพฐ. จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ แล้วให้นักเรียนทั้งประเทศปฏิบัติตาม ตนคิดว่าคงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
น่าจะให้คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง พ่อและแม่ บุคคลในชุมชน ครู และผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงแพทย์ในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมให้ความเห็นก็น่าจะเป็นช่องทางที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ปล่อยตามอำเภอใจของ สพฐ.
ด้าน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “เปิดโรงเรียนไม่ใช่เรียนออนไลน์” ซึ่งการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนี้ ทำให้ผู้ปกครองหัวหมุนไปทั่งประเทศ
กรณีไวรัสโควิดมาจากต่างประเทศ กลุ่มเสี่ยงมีไม่ถึง 1% ของประชากรของประเทศไทย และวันนี้ในการปฏิบัติงานของสาธารณสุขจังหวัด อสม.ชุมชน มีการติดตามกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสกับชาวต่างประเทศหรือคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือในกลุ่มชายแดนได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ เอาใจใส่เป็นพิเศษเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่เป็นจุดเสี่ยงเท่านั้นก็พอ โดยให้คณะทำงานของจังหวัดทำงานประสานกับคณะกรรมการโรงเรียนก็เชื่อมั่นได้ว่าจะ สามารถควบคุม สร้าง ความมั่นใจและมีความปลอดภัยได้ เป็นอย่างดี
“ในจำนวน 37,000โรงเรียนนั้น น่าจะมีข้อกังวลในระดับ 1,000 โรงเรียน ไม่ใช่ทั้งหมด จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการผ่อนคลายและดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ห่างไกลจากไวรัสโควิดได้แล้วครับ”
สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล
ขณะที่ น.ส. สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ดูเหมือนมุ่งเน้นไปที่การเรียนแบบออนไลน์และทางไกลมากกว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย แนวทางที่ควรเป็นคือการเปิดเทอมให้ได้เร็วที่สุดโดยเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถกลับมาเรียนในโรงเรียนได้ เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง ต้องมีมาตรการเชิงรุกที่ช่วยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงภาวะปกติได้โดยเร็ว
การเรียนออนไลน์ควรเป็นแค่ทางเลือกหรือทางออกสำรองในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน การเปิดเรียนในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้และจะสามารถช่วยอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อีกระดับด้วย
“ทางเลือกแรกของโรงเรียน คือการมุ่งทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจัดห้องเรียนให้มีระยะห่างเหมาะสม จัดคาบเรียนใหม่ ปรับรูปแบบของกิจกรรมการเรียนรู้ การกำหนดกติกาในโรงเรียน กำหนดมาตรการคัดกรอง และออกมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้มากที่สุด การเรียนออนไลน์ ควรเป็นทางเลือกสำหรับเด็กที่พ่อแม่มีความคล่องตัวสามารถสอนลูกเองได้ และประสงค์ที่จะให้ลูกเรียนที่บ้าน”