วันที่ 29 พ.ค. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการเข้าร่วมการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาผ่อนปรนการเปิดสถานศึกษา ก่อนวันที่ 1 ก.ค. 63
ศบค. ได้พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นอย่างรอบด้าน และให้กระทรวงศึกษาธิการเผยแพร่มาตรการการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ให้สถานศึกษาทุกสังกัดทราบ เช่น การจัดห้องเรียนแบบเว้นระยะห่าง การให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยทุกคน การตรวจวัดไข้นักเรียนก่อนเข้าโรงเรียน การบริหารจัดการให้นักเรียนเข้าเรียนเหลื่อมเวลา เป็นต้น เพื่อให้สถานศึกษาเห็นภาพชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สำหรับการเปิดเรียนในช่วงวิกฤติโควิด
จากนั้นให้สถานศึกษาไปดำเนินการตามมาตรการ และหากพบปัญหาและอุปสรรคให้แจ้งไปที่หน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งเมื่อเตรียมความพร้อมแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะเสนอ ศบค. ให้พิจารณาการเปิดภาคเรียนอีกครั้ง
ส่วนการสอบเข้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะดำเนินการตามช่วงเวลาเดิมที่ได้กำหนดไว้ ระหว่างวันที่ 6–7 มิ.ย. โดยเน้นความปลอดภัยและปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ศบค.มีมติให้คงการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. 63 เช่นเดิม หากโรงเรียนใดมีความพร้อมในการเปิดภาคเรียนก็สามารถเลื่อนวันเปิดภาคเรียนให้เร็วขึ้นได้ โดยมีหลักการดังนี้
1.จะต้องเป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีโอกาสที่จะติดเชื่อต่ำ
2.ให้เหลื่อมเวลาเรียน นักเรียนสามารถสลับเวลามาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดการแออัด
เบื้องต้น เน้นการเรียนระดับเด็กโตก่อน กรณีเด็กเล็กยังไม่มีข้อสรุป พร้อมมอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ศึกษาเพิ่มเติมและหาข้อสรุปกรณีโรงเรียนนานาชาติต้องการให้มีการเปิดภาคเรียนเร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อมาตรฐานนานาชาติ