SHARE

คัดลอกแล้ว

ตามที่ทุกคนทราบเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 มีการเปิดเผยเอกสารของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็น ‘เจ้าของ Master Franchise’ ในประเทศไทย และรับหน้าที่บริหารจัดการร้านอาหารภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้าของ ‘Subway’ ธุรกิจสัญชาติอเมริกัน

โดยยืนยันว่า บริษัท โกลัค จำกัด (“GL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัท ได้ดำเนินการตามข้อกำหนด และเงื่อนไขภายใต้สัญญาให้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย กับบริษัท ซับเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล บี.วี. จำกัด (“SIBV”) อย่างครบถ้วน

อีกทั้งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางเพจ Subway Thailand ได้โพสต์ภาพยืนยันว่า Mr. John Chidsey CEO ของ Subway พร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้เข้าพบผู้บริหาร บริษัท โกลัค จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

กระทั่งมีการออกเอกสารเกี่ยวกับร้านแฟรนไชส์ที่สิ้นสุดสถานะร้านแฟรนไชส์กว่า 105 แห่ง เหลือเพียง 51 สาขาอย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน

[ ผู้บริโภคคาใจ สิ้นสุดสิทธิ์ 3 เดือนทำไมยังขายต่อได้? ]

กระแสในโลกโซเชียลยิ่งโหมแรงขึ้น เมื่อมีคนโพสต์ในหลายช่องทางทั้ง X, TikTok, Facebook และ YouTube ว่าสาขา 105 แห่งที่ Subway Thailand กล่าวอ้างว่าสิ้นสุดการเป็นร้านแฟรนไชส์ ยังสามารถติดประกาศโปรโมชั่น รวมถึงใช้เครื่องหมายการค้า ‘Subway’ ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์ Authorized Franchise และชื่อ GOLUCK

หากเราไปดูข้อมูลจากเว็บไซต์ Subway Global เกี่ยวกับพันธกิจมีระบุชัดเจนว่า นอกจากสิ่งที่พวกเขาตั้งใจพัฒนาเมนูใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือกที่รสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหาร Subway ยังให้ความสำคัญกับ ‘มาตรฐานคุณภาพอาหาร’ และความปลอดภัยของอาหารด้วย

คงเป็นเหตุผลที่ผู้บริโภคเดือดเนื้อร้อนใจกันในตอนนี้ เพราะปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากมายล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘มาตรฐาน’ ของอาหารที่ควรเป็น ตั้งแต่การใช้ห่อบรรจุภัณฑ์ที่ถูกหลักโภชนาการ, การใช้วัตถุดิบที่ถูกต้องคุณภาพเท่ากันทุกสาขา รวมไปถึง คุณภาพบริการต่างๆ

ณ ตอนนี้ สิ่งที่เราเห็นจาก Subway Thailand ก็คือคำกล่าวที่ว่า “บริษัทขอเรียนแจ้งลูกค้าทุกท่านทราบว่า ในส่วนของร้านค้าแฟรนไชส์ที่ถูกยกเลิกสิทธิ์แฟรนไชส์ และยังคงฝ่าฝืนดำเนินการเปิดร้านอยู่ ทางบริษัทกำลังเร่งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย”

ขณะที่ผู้เขียนพยายามติดต่อไปทาง Subway Thailand เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ได้คำตอบเพียงว่า “เร็วๆ นี้จะมีคำแถลงการณ์จาก Subway Thailand อย่างเป็นทางการอีกครั้ง” ซึ่งคิดว่าคงต้องใช้เวลาสักพักทุกอย่างถึงจะคลี่คลายขึ้น

แต่ข้อมูลจากผู้โพสต์เฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า ‘Pan Meesook’ และอีกหลายๆ คนในช่องทาง X ทำให้ผู้เขียนอยากหยิบมาแชร์ชาวบิซวิว หลังจากที่ไล่ไทม์ไลน์ที่ผ่านมาจากกระแสข่าว และการประกาศต่างๆ จาก Subway Global และ Subway Thailand

[ ไทม์ไลน์ที่ฉุกคิด สรุปใครคือมาสเตอร์แฟรนไชส์? ]

จุดเริ่มต้นจริงๆ ของ Subway ในไทยกับสาขาแรก ‘สาขาสีลม’ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2003 โดยบริษัท ฟู้ด ฟอร์เวิร์ด จำกัด ซึ่งตอนนั้น ‘ชวนา ธนวริทธิ์’ เป็นเจ้าของ และยังไม่ใช่ผู้ได้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ โดยการเปิดสาขาอื่นๆ หลังจากนั้น มีทั้งของบริษัท ฟู้ด ฟอร์เวิร์ด และนักธุรกิจคนอื่นที่เจรจาตรงกับ Subway Global

จนถึงปี 2019 ที่บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป ที่ ‘ธนากร ธนวริทธิ์’ เป็นเจ้าของ ได้โอกาสเจรจาเพื่อขอเป็น ‘มาสเตอร์ แฟรนไชส์’ รายเดียวในประเทศไทย ซึ่ง Subway Global ยินยอม ภายใต้เงื่อนไข ‘เร่งขยายสาขาในตลาดไทย’ แลกกับการเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ แต่เพียงผู้เดียว

ในตอนนั้น บริษัท อะเบาท์ แพสชั่นฯ ได้สิทธิ์ทั้งเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ และรับหน้าที่ดูแลร้านสาขากว่า 20 แห่งในไทย ต่อจากคนอื่นๆ ที่เคยซื้อโดยตรงก่อนหน้านั้น

ตั้งแต่เดย์ 1 ของ อะเบาท์ แพสชั่นฯ ที่ได้ดูแลแฟรนไชส์ของ Subway ในไทย ก็มี ‘เพชรรัตน์ อุทัยสาง’ ในตำแหน่ง CEO ของ Subway Thailand เคียงคู่มาตลอดจนถึงต้นๆ ปี 2024

วิสัยทัศน์ของ Subway Thailand ตอนนั้นโดยเฉพาะในช่วงปี 2022 ดุเดือดมาก เพราะ Subway สามารถขยายสาขาเพิ่มเป็น 150 แห่งในเวลาเพียง 6 ปี อีกทั้ง ‘อะเบาท์แพสชั่นฯ’ ได้รับสิทธิ์เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ระยะสัญญา 10 ปี ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ปี 2022-2032 เพื่อตอบสนองเป้าหมายของ Subway Global 700 สาขาในอีก 10 ปีข้างหน้า

‘เพชรรัตน์’ ยังให้แถลงอีกว่า อะเบาท์ แพสชั่นฯ มีแนวโน้มที่จะได้ต่อสัญญาเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์อีก 10 ปี หลังจากที่สิ้นสุดสัญญาในปี 2032 โดยมีแผนที่จะขยายสาขามากกว่า 70 แห่งต่อปี

กระทั่ง ธนากร ธนวริทธิ์ ในนามของบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ถูกฟ้องล้มละลายเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินในช่วงกลางปี 2023

หลังจากนั้นกระแสข่าวเกี่ยวกับ Subway ค่อนข้างเงียบ ซึ่งก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ณ ช่วงเวลานั้นบริษัทไหนที่ดูแล Subway หรือ Subway ยังอยู่ภายใต้การดูแลของ อะเบาท์ แพสชั่น เพราะ ‘ธนากร’ ได้ลาออกทุกตำแหน่งใน ‘ออลล์ อินสไปร์’ (แน่นอนว่ามีผลพ้นจากตำแหน่งในอะเบาท์ แพสชั่น เช่นกัน) เพื่อสะสางปมหนี้ทั้งหมดก่อน

ความเคลื่อนไหวของ Subway เกิดขึ้นอีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 หลังจากมีประกาศจากบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ว่าได้เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ Subway ของประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โดยบริษัทโกลัค จำกัด (บริษัทลูก) จะเป็นผู้ดูแลและเป็นผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ Subway มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2024 ด้วยมูลค่าลงทุน 35 ล้านบาท ในสัดส่วน 70% จากทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทของบริษัท โกลัค โดยมี ‘เพชรรัตน์’ นั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท

คำถามที่หลายคนยังสงสัยและไร้คำตอบก็คือ สรุปใครเป็น ‘มาสเตอร์แฟรนไชส์’ กันแน่?

ในเมื่อระยะสัญญา Subway Global กับ อะเบาท์ แพสชั่น นั้นครอบคลุมไปถึงปี 2032 และหน้าเว็บไซต์ Subway : NEWSROOM ที่พูดถึงประเทศไทยล่าสุดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2022 “Subway® Announces Master Franchisee Partnership with About Passion Co. Ltd. To Expand Its Presence in Thailand” ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการเปลี่ยนมือมาสเตอร์แฟรนไชส์ในตลาดไทยเลย

แต่การที่ CEO ของ Subway Global เข้าพบบริษัท โกลัค เมื่อไม่นานมานี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนทีเดียวกับการเปลี่ยนมือมาสเตอร์แฟรนไชส์ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ผิดในโลกธุรกิจ แต่สัญญาที่ผูกกับบริษัทแรกควรสิ้นสุดอย่างเป็นทางการเสียก่อน

ขณะที่หลายคนมองว่า เหตุการณ์นี้ของ Subway Thailand เป็นเรื่องของ ‘การละเมิดเครื่องหมายการค้า’ หรือไม่? ตอนนี้อาจจะยังหาคำตอบไม่ได้เพราะจำเป็นต้องรอต้นทางจาก บริษัท โกลัค ออกแถลงการณ์ก่อน

แต่สำหรับการละเมิดเครื่องการค้าถือเป็น ‘คดีแพ่ง’ ไม่ใช่คดีอาญา ซึ่งหากเกิดการฟ้องร้องผู้ถูกฟ้องต้องหยุดใช้ทันที และอาจจะต้องคืนกำไรที่ได้จากการใช้เครื่องหมายการค้าให้เจ้าของด้วย หรือจ่ายค่าเสียหายสำหรับการละเมิดนี้ โดยในไทยมีโทษทั้งจําคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 109

เหลือแค่คำแถลงการณ์จาก บริษัทโกลัค เกี่ยวกับปัญหานี้แล้วจากนี้ ว่าจะอกมาในทิศทางไหน

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า