Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมาฮ่องกงมีการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวนักโทษข้ามแดน โดยมีการรวมตัวครั้งแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายนมีการหยุดงานประท้วงอีกครั้งจนเป็นเหตุให้รัฐสภาฮ่องกงต้องเลื่อนการพิจารณากฎหมายข้อดังกล่าวในวาระที่ 2

ก่อนที่ในวันที่ 15 มิถุนายน ทางการฮ่องกงจะได้ประกาศเลื่อนการพิจารณากฎหมายดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ชาวฮ่องกงก็ยังไม่หยุดประท้วง โดยออกมาชุมนุมอีกครั้งกว่า 2 ล้านคน ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงลาออก

และล่าสุดเมื่อวานนี้ นางแคร์รี หลำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงต้องออกมาแถลงว่าเธอได้ยินเสียงประชาชนชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วและโค้งคำนับขอโทษต่อประชาชน รวมถึงกล่าวว่าจะไม่มีการหยิบยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีก

ในโอกาสนี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์จึงรวบรวม 9 เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลก ที่การรวมตัวเพื่อเรียกร้องอย่างสงบของประชาชน สามารถส่งผลเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้มีอำนาจและเปลี่ยนสังคมได้

ตอนที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีการออกกฎหมายว่าคนอินเดียห้ามผลิตเกลือเอง ต้องใช้เกลือที่ชาวอังกฤษผลิตและจำหน่ายให้เท่านั้น กฎหมายนี้ทำให้คนยากคนจนชาวอินเดียต้องเสียเงินให้เจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษเป็นปริมาณมหาศาลทั้งที่เกลือเป็นสิ่งบริโภคพื้นฐานที่ใครก็ผลิตเองได้

ปี 1930 มหาตมะ คานธี ชนชั้นสูงชาวอินเดียจึงตัดสินใจเดินเท้าประท้วงพร้อมผู้ติดตามหลายคนจากเมืองอาห์มาดาบัด (Ahmadabad) รัฐคุชราตไปยังเมืองดานดิ (Dandi) บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก เมื่อไปถึงชายทะเลก็กอบเกลือกำมือหนึ่งขึ้นมา เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการผลิตเกลือ

หลังจากนั้นเขาเดินประท้วงผลิตเกลืออย่างต่อเนื่องจนถูกจับ แต่แทนที่เรื่องจะเงียบ คนอินเดียหลายหมื่นคนออกมาเดินไปหาเกลือเองแบบคานธีบ้างจนถูกจับจำคุกกว่า 60,000 คนภายในเวลาหนึ่งปี

ข้าหลวงใหญ่แห่งอังกฤษประจำอินเดียเจรจาให้คานธียุติการประท้วงนี้ แต่ข่าวการจับกุมผู้ประท้วงก็ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อนานาชาติ จนไม่นานก็เป็นสาเหตุให้อังกฤษมอบเอกราชแก่อินเดียในเวลาต่อมา

มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์เป็นแกนนำที่นำคนผิวดำลงถนนครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้สิทธิพลเมืองเท่าเทียมกับคนขาวในที่สุด

แม้จะมีการเลิกทาสมาเป็นเวลานานแต่ ชาวอเมริกัน-แอฟริกันไม่เคยได้รับสิทธิพลเมืองอย่างเท่าเทียมจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งการเรียกร้องสิทธิปะทุขึ้นในปี 1955 จากกรณีหญิงผิวสี โรซา พาร์คส์ถูกจับเพราะไม่ยอมลุกให้คนขาวบนรถเมล์ มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ศาสนาจารย์ผิวสีจึงลุกขึ้นนำประชาชนคว่ำบาตรระบบขนส่งมวลชนในเมืองมอนกอเมอรี รัฐอะลาบามา การคว่ำบาตรยาวนานเกือบ 400 วัน จนศาลสูงสุดสหรัฐฯตัดสินว่าการแบางแยกที่นั่งตามสีผิวบนรถเมล์ผิดรับธรรมนูญ การตัดสินครั้งนี้พลิกการตีความเรื่องความเท่าเทียมด้านสีผิวใหม่

หลังจากนั้นมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เรียกร้องด้านสิทธิเพื่อคนดำเรื่อยมา แต่การเรียกร้องครั้งใหญ่ที่สุดคือการเดินขบวนที่เมืองวอชิงตันในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 เพื่อเรียกร้องให้มีการยกระดับสิทธิและสถานภาพทางเศรษฐกิจของคนดำไม่ให้ตกอยู่ในสถานะรองอีกต่อไป มีผู้เข้าร่วมการประท้วงครั้งนั้นมากกว่า 300,000 คน โดนเป็นคนผิวสี 80%

การเดินขบวนครั้งนั้นมีส่วนในการผลักดันให้สหรัฐอเมริกาออกกฎหมาย สิทธิพลเมืองปี 1964 ที่ห้ามมิให้มีการกีดกันสีผิวเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นการยกระดับให้คนผิวสีและคนผิวขาวเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย

เหตุการณ์ประท้วงใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล์ วีรบุรุษสงครามที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 สมัย

การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเจริญทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสที่รุดหน้าไปมากจนให้บริการด้านการศึกษาไม่เพียงพอ นักศึกษาจึงเริ่มเข้ายึดมหาวิทยาลัยปารีส-นองแตร์ เพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบการศึกษา แต่มหาวิทยาลัยตอบโต้อย่างรุนแรง ให้ตำรวจเข้าล้อมมหาวิทยาลัยและมีการลงโทษทางวินัยและดำเนินคดี ทำให้เหล่านักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ พากันลุกฮือไปด้วย สหภาพอาจารย์และนักเรียนเดินขบวนให้ยุติการดำเนินคดีกับนักศึกษา ให้ตำรวจออกจากมหาวิทยาลัย

ต่อมาการประท้วงด้านการศึกษาขยายข้อเรียกร้องเป็นการประท้วงด้านเศรษฐกิจและสังคม แรงงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเข้าร่วมกับนักศึกษา มีการหยุดงานจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนฝรั่งเศสกลายเป็นอัมพาต มีการบันทึกไว้ว่าผู้ออกมาเรียกร้องทั่วฝรั่งเศสเป็นจำนวนกว่า 10 ล้านคน

ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกลพยายามลดแรงต้านโดยการเสนอให้มีการปฏิรูปมหาวิทยาลัยและมาตรการปรับปรุงระบบเสรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเสนอการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ความตึงเครียดไม่ได้ลดลง จนชาร์ลเดอโกลล์ต้องหลบหนีไปลี้ภัยในเยอรมันและเสนอให้มีการเลือกตั้งใหม่ อารมณ์มวลชนจึงคลายความตึงเครียดลงในเวลาต่อมา

การประท้วงครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์โลกที่ทำให้นักศึกษาลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง นำไปสู่การเคลื่อนไหวบุปผาชนและการต่อสู้เทียนอันเหมินในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังเป็นหมุดหมายการเกิดวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีที่ส่งผลมาสู่ปัจจุบัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีใต้อยู่ภายใต้เผด็จการทหารกว่า 50 ปี แบ่งออกเป็นสมัยของนายพลปาร์กจุงฮี (1961 – 1979) นายพลชุนดูฮวาน (1980 – 1988)และนายพลโรแตวู (1988 – 1993)

คนเกาหลีมีการต่อต้านรัฐบาลทหารเป็นระยะ ๆ แต่ก็อ่อนแรงลงตลอด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญคือเหตุการ์ปราบปรามนักศึกษาที่เมืองกวางจูวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 รุนแรงมาก มีผู้เสียชีวิตมากมาย กลายเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์สมัยใหม่เกาหลีให้นักศึกษา ชาวนา กรรมกร มีการรวมกลุ่มแข็งแรงขึ้น

การประท้วงใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลเกิดขึ้นในปี 1987 สหภาพแรงงานเกาหลีกว่า 3,000 แห่งนัดหยุดงานครั้งใหญ่ มีการนัดหยุดงานอีกหลายครั้งและสุดท้ายในเดือนมิถุนายน 1987 มีเหตุการณ์นักศึกษาเสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา นักศึกษาและองค์การภาคประชาชนจึงลุกฮือออกมาร่วมเดินขบวนด้วย รวมเป็นผู้ประท้วงกว่าสองล้านคนใน 34 เมือง นายพลนายพลชุนดูฮวานต้านแรงกดดันไม่ไหวจึงประกาศลาออก

เหตุการณ์ดังกล่าวสภานิติบัญญัติแก้กฎหมายให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โรแตวู ผู้สืบทอดอำนาจจากนายพลชุนดูฮวานได้เป็นประธานาธิบดีเสียงปริ่มน้ำจากการเลือกตั้งอย่างใสสะอาดเป็นคนแรก และรักษาคำพูดในการเปลี่ยนผ่านเกาหลีสู่ประชาธิปไตย มีการชำระความผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดประชาชนระหว่างการครองอำนาจของชุนดูฮวาน และมีการยอมรับความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ด้วยการสร้างอนุสรณ์สถานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและฟื้นฟูเกียรติให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างการเรียกร้องประชาธิปไตย จนนำมาสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้ประชาธิปไตยในเกาหลีได้สำเร็จ

ปี 1986 ประชาชนฟิลลิปนส์ออกมาขับไล่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

ก่อนหน้านั้นมาร์กอสอยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 20 ปี ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขยายเวลาดำรงตำแหน่ง ในระยะเวลาดังกล่าวก็เข้าควบคุมกองทัพ ศาล หน่วยงานราชการและธุรกิจ มีการฉ้อราชบังหลวงมากมาย

ปี 1983 ผู้นำฝ่ายค้านนายเบนิโญ อากิโน จูเนียร์ ถูกลอบสังหาร ทำให้ชาวฟิลลิปปินส์ออกมาเดินประท้วงต่อต้านมาร์กอสระรอกแลกจนต้องประกาศจัดการเลือกตั้งในปี 1986 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการโกงการเลือกตั้งมากมาย ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้น นางโคราซอน อากิโน ผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ซึ่งเป็นภรรยาของ เบนิโญ อากิโน จูเนียร์ผู้ล่วงลับได้นำมวลชนลุกขึ้นมาต่อสู้โดยสันติวิธี มีการเดินขบวนหลายครั้ง จนกระทั่งกองทัพประกาศเข้าร่วมกับประชาชน นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จึงต้องหลบหนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลี้ภัยไปฮาวายพร้อมครอบครัว

หลังประชาชนบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีก็พบหลักฐานการคอร์รัปชั่นเป็นคอลเลกชันรองเท้ากว่าพันคู่ของนางอิลเมดา มาร์กอส สุภาพสตรีหมายเลข 1  หลังลี้ภัยไม่นานมาร์กอสเสียชีวิตที่ฮาวาย นางอิลเมดากลับมาฟิลิปปินส์และโดนดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชั่นในปี 2018

เดือนพฤษภาคมปี 1998 กลุ่มนักศึกษาและประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในจาร์กาต้าเพื่อขับไล่ พลเอกมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียาวนานกว่า 32 ปี ด้วยระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาอย่างดีให้ได้ผลลัพธ์เดียวตลอดหลายสิบปี

การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ต่อมามีเหตุการณ์ยิงนักศึกษาเสียชีวิต จึงเกิดการลุกฮือกลายเป็นจราจล มีการปราบปรามรุนแรงมาก คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 1,200

ตลอดการปกครองของซูฮาร์โตขึ้นชื่อได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการทุจริตมากที่สุดในโลก องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประเมินว่าซูฮาร์โต้ยักยอกเงินรัฐไปกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างการปกครองก็นำเอาเพื่อนพ้องมาอยู่ในเครือข่ายองค์กรรัฐและธุรกิจทุกภาคส่วนของประเทศ มีการปราบปรามอาชญากรรมอย่างรุนแรง และมีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกปราบปรามมากมาย

สุดท้ายนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงในหลายเมือง ที่กรุงจาร์การ์ต้าซึ่งเป็นเมืองหลวงมีการยึดเอารัฐสภาเป็นบานที่มั่นและปักหลักยืดเยื้อเป็นเวลาหลายสัปดาห์ สุดท้ายซูฮาร์โตเองประกาศไม่ลงเลือกตั้งครั้งต่อไป

หลังซูฮาร์โต้ลงจากตำแหน่ง อินโดนีเซียมีการปรับโครงสร้างภาครัฐครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มระบบถ่วงดุล มีการห้ามทหารและตำรวจใช้สิทธิเลือกตั้งและแสดงออกทางการเมือง โดยปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน

ชาวฝรั่งเศสสวมกั๊กเหลือง ชักชวนกันผ่านกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ออกมาประท้วงบนท้องถนนทั่วประเทศในเดือนพฤจิกายน ต่อต้านนโยบายขึ้นภาษีน้ำมันของรัฐบาลและมาตรการรักษ์โลกอื่น ๆ

ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสประกาศชัดเจนตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งว่าจะให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายหลัก เมื่อได้เป็นรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการขึ้นภาษีสำหรับน้ำมันดีเซล สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในฝรั่งเศสสุกงอมได้ที่พอดี จึงมีผู้เข้าร่วมประท้วงปริมาณมหาศาลในทุก ๆ วันเสาร์

ในการประท้วงครั้งแรก ๆ ท่าทีของนายมาครงแข็งกร้าว และประณามผู้ใช้กำลัง มีการจับกุมผู้ประท้วง สลายการประท้วงด้วยแก๊สน้ำตา แต่เมื่อการประท้วงเกิดขึ้นครั้งที่ 3 และยังมีทีท่ารุนแรงควบคุมไม่ได้ สุดท้ายนายมาครงก็ต้องยอมถอย ประกาศยกเลิกแผนการขึ้นภาษี ตรึงค่าไฟฟ้าและแก๊ส

อย่างไรก็ดีเงื่อนไขของการประท้วงได้เลยเรื่องน้ำมันไปเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องแล้ว การประท้วงจึงยังคงมีขึ้นอย่างดุเดือด จนนายมาครงประกาศข้อเสนออย่างการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลดภาษีต่าง ๆ มากมายแม้จะทำให้ขาดดุลงบประมาณ ทำให้ผู้ประท้วงส่วนใหญ่พอใ

ตอนนี้ผ่านไปครึ่งปียังคงมีการประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองอยู่ทุกวันเสาร์ แม้ผู้เข้าร่วมจะน้อยลงมาก ๆ โดยหลายคนบอกว่าจะไม่ยอมจนกว่ามาครงจะออกจากตำแหน่ง

เดือนเมษายนที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวอังกฤษกลุ่ม “กบฎต้านการสูญพันธุ์ (Extinction Rebellion)” กระจายกันทำ “แฟลชม็อบ” ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั่วกรุงลอนดอน ทั้งบริเวณตลาดหลักทรัพย์ สถานีรถไฟ ถนนอ็อกฟอร์ตซึ่งเป็นย่านการค้า ตลอดระยะเวลา 11 วัน เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2025 ในวันแรกตำรวจจับกุมผู้ประท้วงได้มากกว่า 1,000 คน

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากกระแสการประท้วงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จุดประกายโดย “เกรต้า ธันเบิร์ก” นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอายุ 16 ปี ที่ชวนคนรุ่นใหม่โดดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อประท้วงให้ผู้ใหญ่เห็นแก่คนรุ่นถัดไปแล้วเริ่มรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเอาจริงเอาจังเสียที โดยเธอได้เข้าร่วมประท้วงพร้อมชาวอังกฤษด้วย

หลังการประท้วงแบบแฟลชม็อบ นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสภาให้รับข้อเสนอของผู้ประท้วง นำไปเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ สุดท้ายวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหราชอาณาจักรให้ความเห็นชอบ ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดเป้าหมายการลดมลพิษอย่างเร่งด่วน และกดดันให้ผุ้นำโลกรับเรื่องนี้พิจารณาต่อไป

ภาพหนังสือพิมพ์จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

 

ก่อนหน้านี้คนไทยมีกฎหมายลาคลอดเพียง 60 วัน ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องกลับมางานทั้งที่ร่างกายยังไม่ฟื้นตัวดี หลายคนเลือกออกจากงานไปเป็นแม่บ้านไปเลย เสียโอกาสในการทำงานไป แรงงานหญิงตั้งครรภ์ตกอยู่ในสภาวะเปราะบางเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง บางคนต้องรัดหน้าท้องไม่ให้นายจ้างรู้ว่าตั้งครรภ์

จนกระทั่ง ปี 2534 กลุ่มคนงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง และรังสิต ทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีกฎหมายลาคลอดได้ 90 วัน รัฐบาลในสมัยนั้นรับข้อเสนอ แต่ขอปรับใช้กับข้าราชการหญิงก่อน หลังจากนั้นมีเหตุความไม่สงบทางการเมือง เรื่องนี้ก็เงียบไปเป็นเวลากว่า 2 ปี

ปี 2536 จึงเกิดการเคลื่อนไหวครั้งที่ 2 มีการปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล อดข้าว กรีดเลือดประท้วง สุดท้าย คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบแก้กฎหมายให้ผู้หญิงทุกคน ลาคลอดได้ 90 อย่างที่เป็นในทุกวันนี้

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า