เปิดคำสั่งหัวหน้า คสช. 72/2559 สั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค.2560 เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. เปิดเผยถึงผลการประชุมของ คสช. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ซึ่งหนึ่งในมติสำคัญ คือ การดำเนินการแก้ไขปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
- ให้ผู้มีอํานาจในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ระงับการอนุญาตให้สํารวจและทําเหมืองแร่ทองคํา รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคําและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคําไว้จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ.2559 หรือตามกฎหมายว่าด้วยแร่ จะมีมติเป็นอย่างอื่น
- ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป แต่ผู้ประกอบการดังกล่าวยังคงมีหน้าที่ในการฟื้นฟูพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กําหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการรายใดที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ดําเนินการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําและการประกอบโลหกรรมแร่ทองคํา
- ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบและเสนอมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําและประกอบโลหกรรมแร่ทองคํา รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง และเสนอกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคําให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบและรายงาน ครม.
- ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ที่ได้กระทําไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำสั่งนี้มีผลโดยตรงต่อเหมืองแร่ทองคำ ของ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำรายเดียวที่ยังประกอบกิจการรายเดียวในขณะนี้ บนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,000 คน
ทั้งนี้ ก่อนมีคำสั่ง คสช.สั่งระงับกิจการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส เคยแถลงว่ายังมีแร่ทองคำอยู่เกือบ 40 ล้านตัน และสามารถขุดแร่ได้ถึงปี 2571 ตามอายุที่เหลือของอายุประทานบัตร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตา 19 พ.ย.นี้ อนุญาโตตุลาการถกนัดแรก คิงส์เกต-รัฐบาลไทย ปม ม.44 สั่งปิดเหมืองทอง
- อัคราฯ บริษัทลูก Kingsgate ชี้แจง เหมืองทองโดนปิด ทั้งที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ
- ก.อุตฯ พร้อมสู้ชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ย้ำยังไม่จ่ายชดเชยเหมืองทองอัครา
- ชาวพิจิตรร้อง บ่อเก็บกากเหมืองแร่ “รั่ว” จนท.เร่งเก็บตัวอย่างตรวจ