Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

3 ข้อสังเกตที่ทำให้คำว่า ‘ความยั่งยืน’ เป็นได้แค่ ‘ตัวประกัน’

ความยั่งยืน (Sustainability) ดูเหมือนจะดีและดูจะเป็นคำที่ประนีประนอมกับโลกธุรกิจมากที่สุด เพราะเป็นทางออกให้กับการไปต่อของโลกและการคงอยู่ของโลกธุรกิจในวันที่เผชิญทั้งวิกฤตสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และการขาดแคลนทรัพยากร

แต่ทำไมคำว่ายั่งยืนถึงเป็นได้แค่ตัวประกันเพื่อการฟอกเขียว หรือ green washing สำนักข่าว TODAY ชวนดูกันใน 3 ประเด็น

1.ข้อครหาคาร์บอนเครดิต แท้จริงคือการฟอกเขียว

การมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนหลายครั้งถูกตั้งคำถามว่า ยั่งยืนจริงหรือเป็นแค่การฟอกเขียว เพราะคำว่า ‘ความยั่งยืน’ อาจกลายเป็นแค่คำบังหน้าที่ภาคเอกชนและรัฐหยิบยืมมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เห็นว่าฉัน ‘กรีน’ แล้ว ไม่ว่าจะด้วยการกำหนด Carbon Neutral และ Net Zero ที่แต่ละประเทศประกาศว่าจะทำให้ได้ในอนาคต

ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศกลางเวทีประชุมโลกร้อน COP26 เอาไว้ว่าภายในปี 2050 ประเทศไทยจะต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และภายในปี 2065 ประเทศไทยตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลทำให้ต้องหาทางในการบรรลุเป้า

การค้าคาร์บอนเครดิตจึงถูกเร่งเป็นมาตรการออกมาเพื่อการนี้ แต่หลักการหักลบกลบหนี้คาร์บอนนี้ยั่งยืนจริงหรือ?

สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก การค้าคาร์บอนเครดิต คือ การชดเชยคาร์บอนที่แต่ละบริษัทปล่อย ด้วยการใช้เงินซื้อคาร์บอนเครดิต หรือสร้างคาร์บอนเครดิตเอง เช่น การปลูกป่าที่จะให้ต้นไม้เหล่านั้นช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป็นการชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตัวเองสร้างขึ้น คำถามที่นักวิชาการต่างพากันตั้งคำถามคือ จะเกิดการชดเชยกันได้จริงหรือไม่?

มีการศึกษาการชดเชยคาร์บอนและโครงการปลูกป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ใช้ดาวเทียมในการตรวจจับค่าคาร์บอนที่ป่าดูดซับกว่า 37 โครงการ เป็นเวลากว่า 10 ปี พบว่าการชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกป่านั้นไม่ได้ช่วยอะไรมากนักและทำให้เสียเวลาในการต่อกรกับโลกร้อนไปเสียเปล่าๆ

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ชี้ว่า การปลูกป่านั้นมีความเสี่ยงทั้งในแง่ต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่มักปลูกในพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์อยู่แล้ว ความเสี่ยงในเรื่องการตัดไม้ ไฟป่า ความยั่งยืนที่มาจากการปลูกต้นไม้เหล่านั้น

รวมถึงความเสี่ยงในการถอนตัวจากโครงการของเจ้าของที่ดินหลังจากที่ได้สินเชื่อก้อนโต และอาจมีการตัดต้นไม้หลังจากที่ปลูกไป 20-30 ปี เพื่อจ่ายสินเชื่อและค่าปรับ หรือเรียกง่ายๆ ว่า เสี่ยงต่อการเก็งกำไรของผู้เข้าร่วมโครงการ ที่หากินกับความยั่งยืนของโลกและนโยบายที่ไม่รัดกุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่หลังจากที่ตลาดคาร์บอนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ การได้มาซึ่งคาร์บอนเองก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่า เป็นนโยบายที่เอื้อให้กลุ่มทุนใหญ่หรือไม่ หลังจากที่พบว่ามีการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าทั่วไป 60-70% ให้กับกลุ่มทุนเอกชนกว่า 40,000 ไร่ ซึ่งบริษัทที่สนใจส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจากกิจการด้านพลังงาน รวมถึงการได้มาของคาร์บอนเครดิตด้วยการปลูกป่าอาจทำให้ประชาชนกลายเป็นอาชญากร และถูกขับไล่ จากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้มีการฟอกเขียว

2. แผนพลังงานย้อนแย้งเป้า ที่ ‘เราอยากยั่งยืน’

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) กับแผนพลังงานไทย (PDP) เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงการมุ่งไปสู่ความยั่งยืนของรัฐ หลายประเทศรวมถึงในเวทีระดับนานาชาติ หรือแม้แต่ COP26 หรือ COP27 เอง ก็มีการย้ำเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) กันอย่างเข้มข้น

และล่าสุดแม้แต่ประเทศที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าอย่างสหราชอาณาจักรเองก็เพิ่งจะอนุมัติให้มีการสร้างเหมืองถ่านหินในรอบ 3 ทศวรรษ ทำให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุกขึ้นมาประณามถึงการกำลังก้าวถอยหลังนี้ แม้ว่าเหมืองถ่านหินนี้จะถูกใช้ไปเพื่อการผลิตเหล็ก ไม่ใช่เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่คำถามที่สำคัญก็คือว่าเรายังมีทางเลือกอื่นที่มากกว่าถ่านหินหรือเปล่า

สำหรับประเทศไทยเองสัดส่วนพลังงานยังให้ค่ากับพลังงานสะอาดน้อยมาก และมากกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้ายังคงมาจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินอยู่ อย่างไรก็ตามประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงพลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น แต่บทความนี้อยากชวนมาดูว่าสิ่งที่รัฐและทุนไทยโฟกัสอยู่ยั่งยืนพอหรือไม่

รูปแบบพลังงานที่ไทยโฟกัสต่อไปคือโรงไฟฟ้าขยะ ที่มีแผนจะสร้างอีก 79 แห่งจากการรายงานสถานการณ์ Waste To Energy ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ MONGABAY และพลังงานน้ำอย่างเขื่อน ซึ่งมีมากขึ้นและมีการเสนอโครงการทุกปี คำถามคือแนวทางการมุ่งสร้างโรงไฟฟ้าสองแบบเช่นนี้ยั่งยืนแค่ไหนทั้งในเชิงผลประโยชน์ รวมถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะในขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านเดินเข้าออกศาลเพื่อยื่นฟ้องให้มีการยุติการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในหลายพื้นที่ เช่นใน เชียงราย ตาก และสระบุรี

หรืออย่างเขื่อนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าที่ถูกมองว่าในอนาคตอาจเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตอีกแหล่งหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีกระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น เขื่อนไซยะบุรี ที่ชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงรวมตัวกันฟ้องหน่วยงานรัฐที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเขื่อนไซยะบุรี และการอนุมัติซื้อขายไฟไฟฟ้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการร่วมมือการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน แต่ท้ายสุดกลับถูกพิพากษายกฟ้อง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านพลังงานยังควรต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้วย หลายโครงการที่ส่อถึงความไม่จำเป็นในการสร้าง หรือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้เราต้องแลกพลังงานไฟฟ้ามาด้วยการล่มสลายของสิ่งอื่น

ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายภาคส่วนด้วยว่า มีความจำเป็นหรือไม่ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปเป็นโรงไฟฟ้าขยะในขณะที่มาตรฐานในการกำกับความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมยังไปไม่ถึงไหน ท่ามกลางสถานการณ์ไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกิน กว่า 60%  และสูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถึง 4 เท่า เพราะตามหลักการกำลังไฟฟ้าสำรองควรมีไม่เกิน 15% เท่านั้น

นักวิชาการหลายคนมองว่าการมุ่งหน้าเปลี่ยนผ่านพลังงานในแนวทางนี้ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจที่ไทยจะลงทุนใหม่ ทั้งๆ ที่ยังมีโรงไฟฟ้าอีกหลายโรงไม่ได้เดินเครื่อง ท้ายที่สุดคือประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นจากนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานของรัฐเองด้วย

หรือถ้าจะมองในเรื่องของนโยบายการส่งเสริมพลังงานสะอาดที่ควรจะเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยแทนที่พลังงานจากฟอสซิล แต่ปัจจุบันนโยบายพลังงานหมุนเวียนกลับกลายเป็นภาระของประชาชนผ่านค่า Ft ค่าไฟที่ต้องจ่ายเพิ่มจากปัจจัยต่างๆ ที่นอกเหนือจากการผลิตและจำหน่ายไฟ เช่น ค่าซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน, เงินเฟ้อ, การเปลี่ยนแปลงของความต้องการไฟฟ้า หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล

อย่างนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือกโซลาร์เซลล์ผ่านการอุดหนุนแบบส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าปกติ (Adder) เช่น ปี 2006 เพิ่ม 8 บาท (อายุ 10 ปี) ปี 2010 ส่วนเพิ่ม 6.50 บาท (อายุ 10 ปี) และแบบอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา (FiT :Feed in Tariff) เช่น โซลาร์ฟาร์มคงที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ยาว 25 ปี จำนวน 2,800 เมกะวัตต์

แล้วนโยบายสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์กลายมาเป็นปัญหาได้อย่างไร ปัญหาก็คือนโยบายที่ตายตัวไม่ยืดหยุ่น การกำหนดราคาและอุดหนุนแบบส่วนเพิ่มหรือ Adder ทำให้รัฐและประชาชนต้องแบกค่าใช้จ่าย พูดง่ายๆ ก็คือ ตอนที่ออกนโยบายราคาอุดหนุนอาจสมเหตุสมผล เพราะต้นทุนของโซลาร์ยังสูง แต่โซลาร์เซลล์เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้พอเวลาผ่านไปสักระยะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ถูกลง

แต่เพราะนโยบายและสัญญาทำให้รัฐยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเท่าเดิม และเมื่อไปดูสัดส่วนของคนที่ได้ค่า Adder นี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้า คนทั่วไปหรือประชาชนที่เข้าถึงเงินอุดหนุนนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น

3. BCG บนเวที APEC 2022 ในคอนเซ็ปต์ความยั่งยืนของรัฐและนายทุน

อาจเป็นฉากหน้าของเวทีจับมือกลุ่มทุนกับรัฐ ในเดือนมกราคม 2021 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ ก่อนที่ต่อมาในเดือนมีนาคม 2021 คณะรัฐมนตรีได้ชูโมเดลนี้เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของชาติและเป็นประเด็นสำคัญในเวที APEC ที่ถึงแม้ดูเหมือนจะ ‘กรีน’ ในเชิงหลักการ แต่ยังถูกตั้งคำถามว่าการปฏิบัตินั้นสวนทางหรือเป็นโมเดลที่เอื้อให้ทุนใหญ่แสวงหาประโยชน์หรือไม่

มีหลากหลายข้อสังเกตตั้งแต่การร่างแผนยุทธศาสตร์ที่มีตัวแทนจากกลุ่มทุนใหญ่นั่งเป็นกรรมการที่อาจทำไปสู่ใบเบิกทางให้เกิดการผูกขาดเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การผลักดันให้เกิดการปลูกพืชดัดแปลงพันธุ์กรรม (GMO) ที่สวนทางกับกระแสความยั่งยืนในหลายประเทศที่พยายามมุ่งหน้าสู่เกษตรอินทรีย์ รวมถึงการลดใช้สารเคมีทางการเกษตร แต่ในเนื้อหาของ BCG ที่มีการพูดคุยในเวที APEC กลับมีการเร่งขึ้นทะเบียนปุ๋ยยาและสารเคมี

รวมถึงมีการเสนอให้แก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ที่ลดทอนความยั่งยืน และยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำจากการที่เกษตรกรไม่มีความมั่นคงในเมล็ดพันธุ์ เช่นเดียวกันกับที่เมล็ดพันธุ์จะถูกถือครองโดยผู้จดสิทธิบัตรซึ่งเป็นกลุ่มทุน นี่เป็นเพียงตัวอย่างด้านการผูกขาดมิติหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเวที APEC ยังเป็นเวทีกรุยทางให้กับกลุ่มทุนที่หวังขยายผลธุรกิจของตัวเองอีกหลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็นบริษัทยา บริษัทพลังงาน อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงธุรกิจเกษตรกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญที่มีการเรียกร้องคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ไม่ได้อยู่ในโมเดลการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ตามที่ประเทศไทยได้เสนอในเวทีระดับโลก

ซึ่งถ้าพูดถึงความยั่งยืนไม่ว่าจะด้วยมิติใดก็ควรยืนอยู่บนฐานที่เท่าเทียม คนเท่าเทียม สิ่งแวดล้อมเท่าเทียม และบนผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ดังนั้นคำว่า Sustainability จึงไม่ควรเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อกอบโกยและผลิตเม็ดเงินเข้ากระเป๋าตัวเองให้ได้มากที่สุด

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า