Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในการแถลงชี้แจงข่าวคดียาเสพติด เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 / ภาพจาก พรรคพลังประชารัฐ

The Sydney Morning Herald หนังสือพิมพ์ของออสเตรเลีย ได้ค้นเอกสารจากศาลคดียาเสพติดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในปี 1993 (พ.ศ. 2536) พบรายละเอียดระบุว่ามีส่วนในการขนยาเสพติดเข้าออสเตรเลียตั้งแต่ต้น  นอกจากนี้ยังพบว่า ร.อ.ธรรมนัส ติดคุกอยู่ที่ออสเตรเลีย 4 ปีเต็ม ไม่ใช่แค่ 8 เดือนตามที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอ้าง

วันนี้ (9 ก.ย.) หนังสือพิมพ์ The Sydney Morning Herald ของออสเตรเลีย ได้ตีพิมพ์บทความลงในเว็บไซต์ข่าวของตัวเองในชื่อ “From sinister to minister: politician’s drug trafficking jail time revealed” โดยระบุว่าหนังสือพิมพ์ฯ ได้สืบค้นจนพบคำพิพากษาคดียาเสพติดของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ออสเตรเลียในปี 1993 และพบว่ารายละเอียดหลายอย่างไม่ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ระบุแก่สาธารณชนในช่วงหลายเดือนมานี้

ในคำพิพากษาระบุว่าในขณะนั้น ร.อ.ธรรมนัส ยังใช้ชื่อว่า “มนัส” อยู่ (ชื่อและนามสกุลตามที่ระบุในสื่อของออสเตรเลียคือ Manat Bophlom) โดยสื่อของออสเตรเลียระบุว่านายมนัสในขณะนั้นเป็นบุคคลสำคัญในกระบวนการขนยาเสพติดมาที่ประเทศออสเตรเลีย

เอกสารจากศาลออสเตรเลียระบุว่า นายมนัสได้ไปพบกับผู้มีอิทธิพลใต้ดินในไทยและผู้ร่วมขบวนการชาวออสเตรเลีย ที่กรุงเทพฯ ก่อนเริ่มดำเนินการ นอกจากนั้นยังเป็นผู้จัดหาวีซ่าและซื้อตั๋วเครื่องบินสายการบิน Qantas ให้กับผู้หญิงที่ชื่อ “ภา” (Pa) ซึ่งเป็นคนลักลอบขนเฮโรอีนจากไทยไปยังออสเตรเลียด้วย

นอกจากนี้ในเอกสารของศาลยังมีบันทึกด้วยว่า นายมนัสพูดว่าอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ผู้หญิงที่ชื่อภาบรรจุยาเสพติดดังกล่าวลงในกระเป๋าเดินทาง รวมถึงมีส่วนช่วยเหลือในการขนกระเป๋าที่มียาเสพติดดังกล่าวข้ามเมืองไปให้ผู้ซื้อที่โรงแรมใกล้หาด Bondi ในออสเตรเลียด้วย

ทั้งนี้ ในขณะที่นายมนัสถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ Parramatta เพื่อรอคำพิพากษาอยู่นั้น เขาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับขบวนการขนยาเสพติดในครั้งนี้เพื่อแลกกับโทษที่เบาลง รวมถึงบอกด้วยว่ามีอดีตทหารที่ชื่อ วีระ มานพ และไพศาล เกี่ยวข้องในขบวนการขนยาเสพติดครั้งนี้ด้วย โดยรายละเอียดทั้งหมดนี้ถูกบันทึกไว้ในเอกสารของศาลออสเตรเลีย

ในเอกสารจากศาลออสเตรเลียยังได้ระบุรายละเอียดของการขนยาเสพติดครั้งนี้ไว้ด้วยว่า เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 1992 เมื่อนายศรศาสตร์ (Sorasat) พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจของนายมนัส ได้มาพูดคุยกับนายมนัสว่าอยากจะส่งคนไปที่ประเทศออสเตรเลียเนื่องจากอยากเริ่มกิจการนำเข้า “มะพร้าวอ่อน” (young coconut)  ต่อมาในเดือนมกราคม 1993 นายศรศาสตร์ได้ขอให้นายมนัสช่วยจัดหาวีซ่าออสเตรเลียให้กับผู้หญิงที่ชื่อภา จากนั้นทั้งคู่ได้ไปพบผู้หญิงที่ชื่อภาและผู้ชายอีกคนหนึ่งที่ชื่อไพศาลในร้านกาแฟใกล้สถานทูตออสเตรเลียเก่าในกรุงเทพฯ และวันต่อมานายศรศาสตร์ก็ได้ยื่นตั๋วเครื่องบินที่นายธรรมนัสเป็นผู้ซื้อให้กับผู้หญิงที่ชื่อภา

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1993 อดีตทหารที่ชื่อวีระ ได้พานายศรศาสตร์ไปพบกับผู้ร่วมขบวนการชาวออสเตรเลียทั้ง 2 คนเป็นครั้งแรก นั่นคือ นาย Sam Calabrese และนาย Mario Constantino  หลังจากนั้นนายศรศาสตร์ก็ได้พบกับ 2 คนนี้อีกหลายครั้ง

จากบันทึกของศาล นายมนัสระบุว่า แม้นายศรศาสตร์จะไม่ได้บอกเขาตรงๆ ว่าสิ่งที่จะขนไปออสเตรเลียนั้นเป็นเฮโรอีน แต่เขาก็ยอมรับว่าสงสัยว่าของที่จะส่งไปออสเตรเลียนั้นผิดกฎหมาย “แม้ว่าเขา (ศรศาสตร์) จะไม่ได้บอกผมตรงๆ ว่ามันคือเฮโรอีน แต่ผมก็สงสัยว่าสิ่งที่เขากำลังจะส่งไปออสเตรเลียนั้นผิดกฎหมาย” นอกจากนั้นนายมนัสยังได้บอกตำรวจเพิ่มเติมด้วยว่า “ผมรู้ว่าวีระเป็นพวกลักลอบขนของผิดกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย”

ด้านกระบวนการลักลอบขนยาเสพติดครั้งดังกล่าว หนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald ได้นำรายละเอียดที่ได้จากเอกสารของศาลออสเตรเลียมาเขียนไว้อย่างละเอียด

เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 1993 นายศรศาสตร์บินไปซิดนีย์เป็นคนแรก แล้วเช็กอินที่ห้องหมายเลข 1011 ของโรงแรม Palang บริเวณหาด Bondi  หลังจากนั้นอีก 2 วันให้หลัง ผู้หญิงที่ชื่อภาก็บินออกจากกรุงเทพฯ โดยมีบันทึกระบุว่านายมนัสบอกกับนายศรศาสตร์ว่าในคืนก่อนที่ภาจะขึ้นบิน เธออยู่กับนายมนัส

โดยหลักฐานจากตำรวจกลางออสเตรเลียระบุว่า นายมนัสได้พูดว่า “คืนนั้นเราไม่ปล่อยให้เธอคลาดสายตา เธออยู่ใต้การจับตาของเราตลอดตั้งแต่ 1 ทุ่มจนถึงตีห้าครึ่ง”  นอกจากนี้นายมนัสยังระบุด้วยว่า เขาอยู่ที่นั่นด้วยในขณะที่ภานำสิ่งของบางอย่างใส่ไปในกระเป๋าเดินทาง

แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายที่ออสเตรเลีย ซึ่งนายศรศาสตร์และนาย Constantino ต้องไปรับตัวผู้หญิงที่ชื่อภาจากสนามบินซิดนีย์ เธอกลับไม่อยู่ที่นั่นตามนัดหมาย รายละเอียดในเอกสารจากศาลออสเตรเลียระบุว่า นายศรศาสตร์ต้องโทรกลับไปประเทศไทย และนายมนัสก็โมโหมาก โดยบอกกับนายศรศาสตร์ว่า “คุณทำงานไม่ได้อย่างที่ผมต้องการ”

ต่อมาผู้หญิงที่ชื่อภาไปปรากฎตัวที่โรงแรม Gazebo Hotel ในย่านคิงสครอส โดยทิ้งเฮโรอีนไว้ในห้องหมายเลข 713 ของโรงแรม Parkroyal ใกล้กับท่าเรือดาร์ลิง ในช่วงเวลานี้เองที่เปิดโอกาสให้ตำรวจกลางออสเตรเลียได้สับเปลี่ยนยา และติดตั้งเครื่องดักฟัง

ต่อมานายศรศาสตร์ตามตัวผู้หญิงที่ชื่อภาจนเจอที่โรงแรม Gazebo เธอให้กุญแจห้องหมายเลข 713 กับนายศรศาสตร์ รวมถึงกล่องไม้ขีดไฟที่มีที่รายละเอียดโรงแรม Parkroyal อยู่ด้วย

และจากเหตุการณ์ที่ภาไม่ปรากฏตัวที่สนามบินในซิดนีย์ตามแผน ทำให้ผู้ร่วมขบวนการอีกคนที่ชื่อมานพตัดสินใจไม่บินจากไทยไปที่ออสเตรเลีย ดังนั้นนายมนัสจึงต้องบินไปออสเตรเลียตามลำพัง

นายมนัสเดินทางถึงออสเตรเลียเมื่อวันที่ 14 เมษายน 1993 เวลา 20.18 น. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจออสเตรเลียจับตาและดักฟังอยู่ เอกสารบันทึกข้อเท็จจริงของตำรวจที่ประกอบคดีระบุว่านายมนัสและนายศรศาสตร์ออกจากโรงแรม Palang โดยหอบกระเป๋าเดินทางขึ้นแท็กซี่ไปยังโรงแรม Parkroyal

เมื่อถึงโรงแรม Parkroyal นายศรศาสตร์ได้เช็กอินเข้าห้องหมายเลข 609 และมอบกุญแจห้อง 713 (ซึ่งเป็นห้องที่ผู้หญิงชื่อภาทิ้งเฮโรอีนเอาไว้) ให้นายมนัส เพื่อให้นายมนัสไปเอาของที่ถูกซ่อนไว้ใต้เตียงออกมา  ต่อมานายศรศาสตร์ได้เอาบรรจุภัณฑ์สีน้ำตาลไปใส่ไว้ในกระเป๋าเอกสารสีดำ และนำกลับไปที่โรงแรม Palang ที่บริเวณหาด Bondi  ในเอกสารจากศาลออสเตรเลียยังมีการระบุด้วยว่าพวกเขาทั้งสองแวะที่ร้านฮอทด็อกในย่านแคมป์เบล พาเรด และทานอาหารเย็นที่ร้านชื่อตุ๊กตุ๊กเรสเทอรอง

เมื่อกลับถึงห้องที่โรงแรม Palang ในขณะที่รอผู้ร่วมขบวนการชาวออสเตรเลียมารับของอยู่นั้น นายมนัสกล่าวกับนายศรศาสตร์ว่า “ของอยู่กับเรานานๆ แบบนี้ไม่ดีแน่”

ชาวออสเตรเลียที่ร่วมขบวนการที่เดินทางมาถึงก่อนคือนาย Constantino จากนั้นนาย Calabrese จึงตามมาสมทบ

ต่อมาในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนไม่นาน (ช่วงเริ่มต้นของวันที่ 15 เมษายน 1993) ซึ่งนับแล้วก็เป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่นายมนัสเดินทางถึงออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่จากหน่วย Operation Drover ที่สะกดรอยตามคนกลุ่มนี้เป็นเวลาเกือบสัปดาห์ก็บุกเข้าไปในห้อง ทั้งสี่คนถูกจับด้วยข้อหาสมคบคิดกันนำเฮโรอีนเข้าประเทศออสเตรเลีย และไม่มีใครได้รับการประกันตัว

นายศรศาสตร์รับสารภาพเป็นคนแรก ส่วนนายมนัสยืนยันจะสู้คดี และเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 1993 ศาลก็บอกกับนายมนัสว่าเขาจะถูกจำคุก 9 ปี  หลังจากนั้นนายมนัสก็เริ่มให้การเป็นคุณแก่ตำรวจและรับสารภาพในที่สุด ในการสอบสวนครั้งหนึ่งนายมนัสสัญญาว่าจะ “บอกเรื่องของวีระให้หมดทุกเรื่อง” รวมถึงเรื่องที่เขาสั่งให้ฆ่าคนด้วย นอกจากนี้ ทางตำรวจยังอ้างว่านายมนัสได้ให้ข้อมูล ว่าพวกคนลับลอบขนเฮโรอีนเข้าออสเตรเลียนั้น ใช้วิธีการใส่ยาไว้ในถุงยางอนามัยและกลืนลงท้อง

นายมนัสและนายศรศาสตร์ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามปล่อยตัวก่อนครบกำหนด 4 ปี

นายมนัสและนายศรศาสตร์ได้ขออุทธรณ์ให้ลดโทษพวกเขาลง หลังจากที่นาย Constantino ได้รับโทษเพียงขั้นต่ำด้วยการจำคุก 2 ปีครึ่ง แต่ศาลปฏิเสธการอุทธรณ์ดังกล่าว

สุดท้ายแล้วทั้งนายมนัสและนายศรศาสตร์ถูกปล่อยตัวในวันที่ 14 เมษายน 1997 หรือคิดเป็นระยะเวลา 4 ปีถ้วน นับแต่ถูกควบคุมตัวครั้งแรกช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 15 เมษายน 1993  และหลังจากถูกปล่อยตัว เขาทั้งสองถูกส่งตัวกลับไทยทันที

รายละเอียดจากเอกสารของศาลออสเตรเลียที่หนังสือพิมพ์ The Sydney Morning Herald นำมาเสนอดังกล่าวนี้ มีหลายส่วนที่ไม่ตรงหรือขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ร.อ.ธรรมนัส ได้แถลงข่าวที่รัฐสภาชั่วคราว อาคารทีโอที ยืนยันว่าตนไม่เคยนำเข้า ผลิต หรือจำหน่ายยาเสพติดใดๆ แต่ “เป็นเรื่องโอละพ่อ” ที่ทำให้ถูกดำเนินคดีข้อหารู้ว่ามีการค้ายาเสพติดแต่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ทั้งที่แท้จริงตนไม่รู้ ทำให้ต้องโทษจำคุก 8 เดือนและออกมาใช้ชีวิตอีก 4 ปีที่ซิดนีย์ ก่อนถูกส่งกลับมาไทยโดยไม่มีคดีติดตัว

“หลักฐานเหล่านี้สามารถไปตรวจสอบจากศาลของประเทศอสเตรเลีย ณ นครซิดนีย์ได้ว่าที่ผมพูดวันนี้เป็นความจริงไหม” ร.อ.ธรรมนัส กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา

สรุปและเรียบเรียงจาก https://www.smh.com.au/national/from-sinister-to-minister-politician-s-drug-trafficking-jail-time-revealed-20190906-p52opz.html

อ่านเพิ่มเติม “ธรรมนัส” แถลงไม่เคยค้ายา ที่โดนจำคุก 8 เดือนเป็นอีกข้อหา ระบุตอนกลับไทยไม่มีคดีติดตัว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า