Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

อนุวัติ วิเชียรณรัตน์ คือประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง 4NOLOGUE บริษัทเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ครบวงจร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้จุดพลุให้วงการศิลปินไทย (T-POP) กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเมื่อสองปีก่อน จากการปั้นโปรเจ็กต์พิเศษ 9×9 (ไนน์บายนาย) โดยรวมไอดอลหนุ่ม 9 คนมาพัฒนาทักษะรอบด้านทั้งการแสดง ร้องเพลง และเต้น เพื่อออกผลงานต่าง ๆ ในฐานะศิลปินเป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนจะปิดโปรเจ็กต์ด้วยคอนเสิร์ตใหญ่ที่อิมแพ็คอารีนา

“คิดโปรเจ็กต์นี้อยู่หนึ่งปี ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเรียกเลย แต่เราอยากทำโปรเจ็กต์ไอดอลไทยที่ทำให้คนยอมรับความสามารถ เราก็คิดแล้วคุยกับพาร์ทเนอร์ว่าจะทำอะไรได้บ้าง มีใครบ้าง จากความคิดกระจัดกระจายในหนึ่งปีสุดท้ายก็กลับมาสู่จุดมุ่งหมายคือการสร้างศิลปินไทยที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานสากล” เขาเริ่มเล่าถึงโปรเจ็กต์ใหญ่นี้ด้วยรอยยิ้มภูมิใจ

T-POP มาตรฐานสากล เป้าหมายการทำงานของ 4NOLOGUE

“เราไม่ได้จะทำบอยแบรนด์เกาหลี เราอยากทำศิลปินไทยมาตรฐานสากล” คือเป้าหมายที่อนุวัติย้ำเสมอ

การประกาศตัวเช่นนี้ทำให้คนตั้งความหวังไว้สูง บางส่วนก็มองว่าอาจจะไปไม่รอด แต่เขาไม่ยอมแพ้

“เนื่องเราทำหลังคนอื่น คือเรียกว่าทำหลังเกาหลีที่เป็น Main Stream ของโลกใบนี้ ในมุมการทำงานไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ หรือเพลง เราทำทีหลังเขาเกือบ 20 ปี เราต้องรู้แล้วว่าสิ่งที่เราวางแผนไว้จะโดนอะไร ก็อปเกาหลีบ้าง จะดีเหรอ พี่ต่อจะร้องเพลงได้เหรอ เจเจเต้นได้ไง เติร์ดยังเด็กอยู่เลย แจ๊กกี้คือใคร เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะโดน แต่ถ้าเรายอมแพ้ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดเลยนะ”

เมื่อวางเป้าหมายไว้ในระดับสากล ศิลปินต้องถูกขับเคี่ยวฝึกซ้อมทักษะรอบด้าน เพื่อแสดงถึงศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และเมื่อผลงานปรากฏให้เห็นชัดก็ไม่ทำให้คนผิดหวัง

เมื่อเราอยากจะไปให้ถึงมาตรฐานสากลที่วางไว้ เราก็ต้องวางชิ้นงานทั้งหมดว่าทำไมต้องมีละครที่เข้มข้นขนาดนั้น ทำไมต้องฝึกร้องฝึกเต้นเป็นปี ๆ เพราะเราอยากแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่เป็นสากล

“พอวันหนึ่งเขาเห็นศิลปินแสดงได้เก่งมากน่าประทับใจ แล้วยังร้องได้ เต้นได้อีก วันที่ Documentary ประมวลทุกอย่างว่าเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง เจออะไรมาบ้าง เขาเรียนกี่หมื่นชั่วโมง ไม่ใช่สิบไม่ใช่ร้อยชั่วโมง ความทุ่มเทตรงนี้ ถ้าวันนี้เรากำลังชอบผลงานเขาอยู่ จะชอบอีกร้อยเท่าเลย เมื่อคนดูรับรู้ความทุ่มเทเหล่านั้นไปได้ ไนน์บายนายก็ไม่หายไปจากโซเชียล จากความรู้สึก”

อย่างไรก็ตาม หากพูดกันในแง่ของตัวเลขรายได้ อนุวัติยอมรับว่า โปรเจ็กต์ไนน์บายนายที่เขาปลุกปั้นอยู่ในเกณฑ์ขาดทุน แต่หากมองว่า สิ่งที่ทำคือการลงทุนหรือการเปลี่ยนความเชื่อของคน ถือว่าเขาได้กำไร

จริง ๆ โปรเจ็กต์ศิลปินไทยที่ทำตอนนี้เรียกว่าขาดทุนนะ แต่เราไม่เคยคิดว่าขาดทุน ขาดทุนคือภาษาตัวเลขที่โลกนี้เขาคุยกัน เราเรียกสิ่งที่ทำว่า ‘การลงทุน’ คุณลงทุนกับศิลปิน เป็นคนที่มีชีวิต ที่วันหนึ่งยังร้องไม่ได้ เต้นไม่ได้ ทัศนคติความคิดทุกอย่างเขายังต้องเติบโต คุณจะไปหวังกำไรแบบทำวันนี้แล้วได้พรุ่งนี้ ทำเดือนนี้ได้เดือนหน้า มันเป็นไปไม่ได้เลย เราต้องเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ก่อนว่า สิ่งที่เราทำวันนี้ เราลงทุนเพื่ออนาคต

“ไนน์บายนายขาดทุนในเชิงตัวเลข แต่เชิงสัญลักษณ์หรือเชิงที่ทำให้ความเชื่อของคนเปลี่ยนไปว่า ทุกอย่างฝึกได้ ร้องไม่ได้ก็ฝึกได้ เต้นไม่ได้ก็ฝึกได้ ไนน์บายนายเป็น flagship ที่ผลักดันวงการ T-POP ให้เกิด นั่นคือกำไรของผม”

การยอมรับจากแฟนคลับคือข้อพิสูจน์

อนุวัติเชื่อว่า ผู้คนที่เสพงานเพลง งานศิลปะย่อมมาจากความรู้สึกรักและชอบ รวมไปถึงความผูกพัน ยิ่งไปกว่านั้นคือการให้คุณค่ากับศิลปิน

“ทุกวันนี้คนที่ยอมจ่ายเงินสิบบาท ยี่สิบบาท สองร้อยหรือห้าพัน เขาคิดนะ เขาจะโหลดเพลง หรือจะซื้อซีดีหนึ่งแผ่นทั้งที่ไม่มีเครื่องเล่นทำไม เขาซื้อก็เพราะเขาให้คุณค่ากับสิ่งที่ศิลปินทำ ที่ค่ายทำ เขาให้คุณค่าเขาจึงซื้อ ดังนั้นเราก็ทำสิ่งที่มีคุณค่าออกมา พอเขารับรู้ถึงคุณค่า ก็จะเกิดคำว่า แฟนคลับของศิลปิน

“ผมว่าแฟนเพลงไทยเปิดใจมากขึ้นเยอะเลยนะ ผมเชื่อว่าแฟนเพลงกลุ่มที่ชอบเพลงสากล เพลงเกาหลี เขามีมาตรฐานสูง เขาไม่ได้ดูแค่หน้าตาหล่อสวยแล้วไปกรี้ด ไม่ใช่เลย เขาดูทุกอย่างทั้งการพูด การตอบคำถาม การใช้ชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่าง ผมว่าบางทีเขารู้เรื่องศิลปินมากกว่าค่ายรู้อีก”

การที่บัตรคอนเสิร์ตปิดโปรเจ็กต์ไนน์บายนายที่อิมแพคอารีนา Sold out จนต้องเพิ่มรอบ คือปรากฎการณ์ความสำเร็จของวงการ T-POP ที่หายไปจากเมืองไทยไปนานเป็นสิบปี

“เพราะฉะนั้นวันหนึ่งที่เขาไม่ได้มี Perception เกี่ยวกับศิลปินไทย เพราะศิลปินวัยรุ่นไทยหายไปจากตลาดเมืองไทยมานานมากแล้ว เพราะฉะนั้นพอมีไนน์บายนายกลับมา ก็ไม่แปลกที่จะโดนสบประมาทก่อนว่า มันจะดีได้ไง แต่พอวันหนึ่งพอเขาเห็นผลงาน จะเป็นใครได้ที่มาเต็มอิมแพ็คอารีนา ก็พวกเขานี่แหละที่ยอมรับและเปิดใจมา”

เอกลักษณ์เฉพาะคือสิ่งที่ต่อยอดไปสู่สากล

อนุวัติเน้นว่า ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือสิ่งที่จะทำให้ T-POP ต่อยอดไปสู่ระดับสากลได้ ดังนั้นเมื่อต้องการเป็นผู้นำ เขาจึงไม่ตามไปในกระแสตลาด แต่ขอมุ่งมั่นทำตามความเชื่อและคุณภาพที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้คนจดจำและยอมรับในที่สุดดีกว่า

“สิ่งที่เราต้องหวงแหนคือ Signature และภาพความเป็นเรา วันนี้ถ้า 4NOLOGUE ทำอะไรก็ตามที่ปล่อยไปในตลาดแล้วคนส่วนมากเก็ตเรา แล้ววิ่งมาหาเราเพราะเขาชอบสิ่งนั้น ความเป็นผู้นำจะหายไป เราต้องการชิ้นงานที่เป็นเอกลักษณ์ และเราไม่อยากเสียเอกลักษณ์นั้น เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นซิกเนเจอร์ เราต้องการให้คนดูรู้ว่านี่คือศิลปินของ 4NOLOGUE นี่คือ Trinity (ทรินิตี้) นี่คือไนน์บายไนน์ เราไม่อยากให้คนสับสนว่า วงเก้าคนน่ะ วงสี่คน ค่ายอะไรสักอย่าง นั่นคือสิ่งที่เรากลัว ”

ดังนั้น เราต้องโฟกัสและทำในสิ่งที่เราชื่อว่ามีคุณภาพ ต้องเอาความเป็นสากลมาใส่ ผมพูดบ่อยมากว่าขอทำอะไรก็ตามที่เป็น World Standard ไม่ใช่ที่เราคิดเอง ไม่ใช่เชื่อว่ามันดีแล้วเราทำ แต่เรามองว่านี่คือมาตรฐานสากลทั้งการร้องแบบนี้ เต้นแบบนี ทำดนตรีแบบนี้

“ความเป็นสากลอาจเข้าไม่ถึงทุกคนที่เสพดนตรีในเมืองไทย แต่มีคนที่เข้าใจ เราขอทำอะไรที่มีซิกเนเจอร์และมีคนที่เข้าใจ แล้วเขาก็พร้อมเข้ามาหาเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ดีกว่าทำแล้วทุกคนเข้าถึง แต่จำศิลปินของเราไม่ได้”

คิดไปให้ถึงระดับโลก

เมื่อวางมาตรฐานการทำงานไว้ในระดับสากล แน่นอนว่า 4NOLOGUE ไม่ได้มองตลาดไว้แค่ในขอบเขตภูมิภาคใด ในเมื่อโลกเชื่อมต่อกันได้ หมุดหมายที่อนุวัติวางไว้คือไปไกลในระดับโลก

“ผมคิดโคตรง่ายเลย ในโลกปัจจุบันนี้ เราควรคิดอะไรก็ตามที่ขายทั้งโลกไหม มันง่ายแค่นั้นเลย ทำไมต้องคิดว่าเราต้องขายใครในเมื่อทุกคนสามารถเป็นลูกค้าของเราได้หมด แต่ไม่ได้ถึงกับว่าเราทำปุ๊บแล้วคนทั้งโลกจะยอมรับเราได้หมดนะ แต่เราต้องคิดก่อนไหมว่า โลกนี้คือตลาดของเรา”

“มันควรจะหมดคำถามว่า เราทำศิลปินเพื่อขายประเทศไหน ที่ไทยหรือในเอเชีย เราจะไปอินเตอร์ได้ยังไง คำถามพวกนี้ทำให้เราคิดแบบไม่ไปไหนหรือเปล่า ทั้งที่จริงแล้ว เราบอกว่าเราอยากทำอะไรที่เป็น World Standard ก็เพื่อให้โลกใบนี้เขารับรู้สิ่งนั้นได้ นี่คือเป้าหมายที่เราปักธง แล้วกลับมาทำงาน”

การทำงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อนุวัติมีความหวังและมองเห็นปลายทาง เขาจึงทุ่มเทสร้างผลงานในมาตรฐานที่เขาเชื่ออย่างต่อเนื่อง

“พูดง่าย ๆ ว่าถ้าคุณจะไปตรงนั้น คุณผลิตงานมาชิ้นหนึ่งแล้วทั้งโลกจะยอมรับเลย คุณเก่งเกินไปนะ มันต้องใช้เวลา และกลับมาเรื่องเดิมว่า ต้องมีเอกลักษณ์ ต้องมีความเป็นตัวเอง คนต้องจำคุณได้ ในแง่ของสินค้า คนต้องจำค่ายได้ ต้องจำ วงได้ และเมื่อมองว่าโลกนี้ตลาดของเรา เราทำทุกอย่างเป็นสากล เราอยากไปทั้งโลก นี่คือเป้าหมายของเรา แต่เราจะได้ไปเมื่อไหร่ ไปยังไง เราทำอยู่ เราก็จะทำต่อไปอยู่อย่างนี้ ต่อไปเรื่อย ๆ”

“หรือแม้วันนี้เราทำเพลงออกมา คนบอกว่า ทำไมเพลงฟังยาก เอาจริงก็ไม่ยากหรอก เพลงเกาหลียากกว่าอีก คนไทยฟังไม่ยากกว่าเหรอ แต่ว่าเขาคุ้นเคย เขาเชื่อ เขาก็ไปเรียนภาษาเกาหลีเพื่อจะเข้าใจไอดอลของเขา ซึ่งนั่นยากกว่าเยอะ หรือเพลงสากลภาษาอังกฤษก็ยากกว่าภาษาไทยแน่นอน ที่ผ่านมาไม่มีศิลปินแบบนั้นในไทย พอออกมาปุ๊บก็ยากเลย เพราะไม่เคยมี เราก็เข้าใจ แต่ถ้าเราทำแบบนี้ไปสามปีห้าปีก็ต้องดีขึ้นไหม ก็ต้องมีความหวังแบบนี้หรือเปล่า”

T-POP ต้องเป็น Soft Power

ในมุมมองของอนุวัติ เขาเห็นว่า T-POP คือวัฒนธรรม เพราะนอกเหนือจากงานเพลงแล้ว ยังเป็นการการนำเสนอศิลปินในทุกแง่ ทั้งวิธีการพูด การเดิน การกิน การอยู่ ส่วนผลงานต้องขยายจากงานเพลงไปสู่การเล่นละครและในอีกหลายมิติ

ส่วนการผลักดันให้ T-POP กลายเป็น Soft Power ให้ได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญสองส่วน

“ส่วนแรกคือมหภาค เป็นส่วนของภาครัฐที่ต้องเข้ามาสนับสนุน ผมว่าภาครัฐอาจรู้เรื่องนี้แล้ว เขาอาจทำรีเสิร์ชเรื่องนี้อยู่ ซึ่งควรทำได้แล้ว เพราะ Soft Power ทำให้โลกนี้รู้จักประเทศเราได้อีกมุมหนึ่งที่มากกว่าการท่องเที่ยว อีกส่วนคือเรื่องของ World Standard ในการทำงาน”

ถึงตรงนี้เขาขยายความว่าการทำงานในระดับ World Standard จะผลักดันให้ T-POP เป็นวัฒนธรรมที่ส่งออกได้ ต้องอาศัยทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ และเขาเชื่อมั่นว่าคนไทยมีฝีมือที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

“ด้านคุณภาพ ถ้าวันนี้ทุกค่ายทำผลงานออกมาในมาตรฐานสูงระดับ World Standard ทั้งหมด ก็สนุกเลย เราต้องการสิ่งนั้น ต้องใช้มาตรฐานโลกกับทุกศิลปินที่จะเกิดขึ้นในวงการไทย เราถึงจะไปต่อ

“ส่วนด้านปริมาณ คือเราต้องทำในปริมาณที่มากพอ วันนี้มีวงเดียวสองวง มันเปลี่ยนวัฒนธรรมไม่ได้หรอก มันต้องมีมากกว่านั้น ทั้งรัฐบาลสนับสนุน มี Content Provider เป็นค่าย ทำงานกันแบบมาตรฐานสากล แบบนี้ไปได้ดีแน่นอน

“คนไทยเราเก่งจริง ๆ แต่ตอนนี้มีข้อจำกัด ลงทุนไม่ได้ ทำไปกลัวคนดูไม่ชอบ คนจะรับแบบนี้ได้ไหม ซึ่งคุณไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้าเขาฟังเพลงเกาหลี เพลงสากลได้ เท่ากับเขาฟังเพลงที่เป็น World Standard มานานแล้ว ดูถูกกันไม่ได้ ทำแบบที่เป็นมาตรฐานสากลแต่มีความเป็นไทย แล้วทำให้มีเอกลักษณ์ของแต่ละค่ายที่ไม่เหมือนกัน ไม่นานหรอก เดี๋ยวก็ได้แล้ว แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่ามีคนทำหรือยัง เราก็รออยู่”

ส่งออก Soft Power สู่ตลาดสากล

หากพูดถึงผู้นำด้าน Soft Power คงหนีไม่พ้นประเทศเกาหลีใต้ ที่ประสบผลสำเร็จในการส่งออกวัฒนธรรมในช่วงเพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อนุวัติชี้ให้เห็นว่าวิธีคิดแบบเกาหลีมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

“เอาง่าย ๆ ว่าทุกวันนี้คุณรู้จักมาม่าเกาหลี รู้จักเครื่องสำอาง มาส์กหน้า วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวเกาหลีก็มีน้อยกว่าเราเยอะนะ แต่ว่า Soft Power นั่นแหละที่ทำให้เรากินแบบเขา การที่พระเอกนางเอกต้องมาส์กหน้า ทำศัลยกรรม ใช้โทรศัพท์มือถือซัมซุง ทุกสิ่งทุกอย่างคือสิ่งที่ซึมซับไปกับโลกโดยที่ไม่รู้ตัว จนทำให้สินค้าหรืออุตสาหกรรมของเขา GDP โตเร็วก็มาจากซอฟต์พาวเวอร์นี่แหละ พลังมันสูงมาก”

“ถ้าคุณดูวิธีคิดของเขา เช่นเพลง กัมนังสไตล์ เขาเอาชื่อ District เหมือนเอาย่านนานามาพูดเป็น ‘นานาสไตล์’ แล้วถามว่าคนทั้งโลกรู้จักกังนัมไหมตอนนี้ หรือ อิแทวอนคลาส ซึ่งอิแทวอนเป็นย่านใหม่ของเขาที่อยากโปรโมท เป็นย่านฮิป ๆ เหมือนทองหล่อบ้านเรา ที่พวกศิลปินดาราไปซื้อคอนโดแถวนั้น พอเขาอยากโปรโมทพื้นที่นี้ ก็ทำเป็นซีรีส์ อิแทวอนคลาส ทำธุรกิจและทำทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดเลย”

เมื่อย้อนกลับมองให้ดีแล้ว ประเทศไทยมีวัฒนธรรมอันหลากหลายที่สามารถส่งออกสู่ตลาดสากลได้ เพียงแต่เวลานี้ยังติดเรื่องความคิดในกรอบเดิม ๆ

วันนี้ถ้าเกิดว่าพระเอกหล่อ ๆ ที่เรากรี้ดกินผัดไทให้เห็น หรือเอาผ้าไทยสวย ๆ มาทำเป็นแฟชั่นให้เก๋มาก หรือสอดแทรกทุกอย่างที่เป็นไทยเข้าไป เรามีเยอะกว่าเขาตั้งเยอะ แต่มันขาดการทำตรงนี้ ให้เป็นเรื่องของวัฒนธรรม การกิน การใช้ชีวิตบางอย่างให้ออกมาในรูปแบบที่โมเดิร์นขึ้น มันเข้าถึงได้มากขึ้น ร่วมสมัยมากขึ้น เราไม่ได้มีแค่ทุ่งนา วัวควาย แต่ภาพที่ต่างประเทศมองเรายังเป็นอย่างนั้นอยู่เลย

“ไม่ต้องคิดอะไรมาก วันนี้เราไป World Expo ซึ่งเป็น Exhibition ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศไทยก็ยังเอาสิ่งนี้ไปอยู่เลย ไม่ใช่ไม่ดีนะ มันคือรากเหง้าของเรา แต่เรามีอีกหลายด้านที่เรายังไม่เคยเอาไปเปิดให้เขาเห็น จนวันนี้ต่างชาติยังมองว่า เรายังขี่ควายกันอยู่หรือเปล่า หรือเรายังขี่ม้ากันอยู่ไหม ผมว่าไม่ใช่”

ท้ายที่สุดแล้ว อนุวัติยังคงเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่ก้าวไปสู่ในระดับสากลได้ และเขายืนหยัดที่จะผลักดันให้ศิลปินไทยไปสู่ในระดับสากลให้สำเร็จ

“ผมเชื่อมั่นในศักยภาพประเทศไทย คนไทย ผมมีความรักตรงนี้มาก รักภาษาไทย อาหารไทย แต่เด็กไทยไม่ได้รับโอกาสเหมือนกับแบมแบม หรือลิซ่า หรือน้องเตนล์ที่เขาได้รับจากเกาหลี ผมรู้สึกว่าเราเป็นคนไทยคนหนึ่งที่สามารถทำในส่วนนี้ได้ ก็อยากทำให้ แล้ววันหนึ่งจะได้ไม่มารู้สึกผิดหวังว่า ทำไมวันนั้นเราไม่ทำ นี่คือแรงผลักดันให้ผมทำต่อไป”

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า