Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในโลกที่ใครๆ ก็มีอุปกรณ์สร้างคอนเทนต์อยู่ในมือ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่อำนวยความสะดวกให้กับทุกคนได้เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพียงปลายนิ้วสัมผัส หลายคนจึงขยับขึ้นมาจากการเป็นบล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์ ติ๊กต็อกเกอร์ จนมีผู้ติดตามมากมายและถูกจัดว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่สามารถทำรายได้จากการทำคอนเทนต์ให้เหล่าแบรนด์ต่างๆ ที่เลือกว่าจ้างกลุ่มคนเหล่านี้ให้ทำคอนเทนต์ให้ จนขยับขยายใหญ่โตก่อตั้งบริษัท จากงานชั่วคราวเป็นงานประจำ จากรายได้เสริมเป็นรายได้หลักได้สำเร็จ

ทำให้ตอนนี้สื่อมวลชนผู้ที่เคยทำหน้าที่เป็นคนนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือคอนเทนต์ต่างๆ มีคู่แข่งมากขึ้น ไม่ใช่แค่กับสื่อด้วยกันเอง แต่คือโซเชียลเพจ และอินฟลูเอนเซอร์ที่ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อย

ปอง-จักรพงษ์ คงมาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท Moonshot Digital เล่าให้ TODAY ฟังถึงความเหมือนที่แตกต่างของอินฟลูเอนเซอร์ และสื่อมวลชน รวมถึงสิ่งที่แบรนด์มองหาในการว่าจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์สักคนในการช่วยโปรโมตสินค้าและบริการของพวกเขา เพื่อตอบโจทย์ของแบรนด์ที่เป็นลูกค้าของเอเจนซี่ให้ได้มากที่สุด

หน้าที่ของ PR คืออะไร

จักรพงษ์ ระบุว่า PR (Public Relations) มีหน้าที่ช่วยให้ทั้งคนสาธารณะและคนที่อยู่ภายในองค์กรเข้าใจในสิ่งเดียวกัน และมีความสัมพันธ์ มีผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้คนรับรู้สินค้า บริการ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปในทางที่ดี ทำให้คนชื่นชอบแบรนด์นั้นๆ รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ให้คนเข้าถึงแบรนด์ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ดิจิตอล และการสร้างคุณค่าของแบรนด์ เทรนด์ในการทำ PR ในช่วงนี้

แม้ว่า AI จะทำให้ทุกอุตสาหกรรมกำลังปรับตัวเพื่อใช้งานเทคโนโลยีนี้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การทำงานของ PR ยังคงมุ่งเน้นวัตถุประสงค์เดิม คือการทำงานแบบ integrated 360 องศา (การสื่อสารการตลาดทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ ผ่านสื่อและไม่ใช้สื่อ) และต้องเข้าใจความเป็น “มนุษย์” มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ดังนั้นการเข้ามาของ AI จะเป็นเพียง “ผู้ช่วย” ที่ยังต้องให้มนุษย์เป็นคนควบคุมดูแลและตรวจเช็กความถูกต้องเป็นด่านสุดท้ายอยู่ดี เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญคือ แม้ว่าวิธีการจะเปลี่ยนไปตามกระแสโลก แต่สิ่งหนึ่งที่การทำ PR ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือการสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนหรือกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์

“ต่อให้ตอนนี้เรามี ChatGPT, Claude หรือ Gemini แต่สิ่งที่ได้คือคอนเทนต์ทั่วไป เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ มันไม่ได้น่าอ่าน มันได้แค่นั้น แต่การเขียนคอนเทนต์ให้มันแหลมคมกว่านั้นคือ ประสบการณ์ที่ได้ไปท่องเที่ยวมาจริงๆ ต่างหาก ประสบการณ์ที่เราไปดูไปฟังวงดนตรีวงนี้แล้วเรารู้สึกอินและซึ้ง แบบนี้ AI ยังทำแทนมนุษย์ไม่ได้

“เพราะฉะนั้นงานคอนเทนต์ งานเล่าเรื่องเป็นหน้าที่ของมนุษย์ โดยให้ AI มาเป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ให้เขามาแทนเรา”

นอกจากเทรนด์ในการใช้สื่อผ่านดิจิตอลมากขึ้นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่หลายๆ แบรนด์เริ่มให้ความสนใจ คือการทำให้แบรนด์มีคุณค่าในสังคม

“ถ้าแบรนด์บอกว่าเขามีหน้าที่ขายของทำรายได้เฉยๆ แบบนั้นจะรู้สึกว่าแบรนด์นั้นจะนิ่งมาก ไม่ได้ผิดถ้าจะบอกว่าแบรนด์ต้องขายของและมีหน้าที่ทำงาน แต่โดยรากเหง้าแล้วมันมีปรัชญาของแบรนด์ที่ควรเกิดมาแล้วมีคุณค่าบางอย่าง มากกว่าการทำเงินเฉยๆ

“มันมีงานวิจัยอยู่นะว่าคน Gen-Z ยุคปัจจุบัน ถ้าจะซื้อสินค้าและบริการจากแบรนด์สักแบรนด์หนึ่ง พวกเขายอมจ่ายแพงกว่าถึง 10% ให้กับแบรนด์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ หรือแบรด์ที่ทำอะไรเพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ เช่น แบรนด์นี้อาจจะตั้งเป้าหมาย Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) แต่อีกแบรนด์ไม่ได้ออกนโยบายอะไรเลย คน Gen-Z เขาพร้อมจะสนับสนุนแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเขารู้ว่ามันมีบางอย่างที่ Money can’t buy experience. (ประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้)

“เพราะฉะนั้น ทิศทางข้างหน้าของหลายๆ แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหน น่าจะกลับไปพูดถึงคุณค่าของแบรนด์ ที่แบรนด์อยากจะคุยกับโลก และทำเพื่อโลกมากกว่าหาเงินเฉยๆ ซึ่งเราเชื่อว่าหลายๆ แบรนด์ก็เริ่มกันแล้ว”

ทั้งนี้ทั้งนั้น จักรพงษ์ฝากไว้ให้อีกเล็กน้อยว่า สำหรับแบรนด์ที่เริ่มสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์โดยการออกแบบสินค้าและบริการที่มีคอนเซ็ปต์รักษ์โลกแล้ว พบว่าสินค้าและบริการมีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง อาจจะต้องลองดูว่าทำอย่างไรไม่ให้ราคาสูงเกินไปจนคนที่อยากจะช่วยสนับสนุนจับต้องไม่ได้ โดยระบุว่า “สุดท้ายแล้วคุณต้องเป็นแบรนด์ที่ไม่มีดอกจัน”

PR สนใจอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าสื่อมวลชน?

แม้ว่ากระแสการโปรโมตสินค้าและบริการผ่านอินฟลูเอนเซอร์จะพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน แต่จักรพงษ์ปฏิเสธทันควันว่า PR ไม่ได้สนใจอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าสื่อมวลชนแน่นอน

“สื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์มีความถนัดต่างกัน นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่ต่างกัน สื่อมวลชนจะนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบของข่าวหรือสกู๊ป ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์จะนำเสนอในเชิงประสบการณ์การใช้งานจริงมากกว่า

“ในฐานะคนทำ PR เราแนะนำแบรนด์ว่าต้องทํางานกับทั้งสื่อและอินเซนเซอร์ควบคู่กันไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สื่อมวลชนจะนําเสนอแบบที่อินฟลูเอนเซอร์นําเสนอไม่ได้ เพียงแต่ว่าคุณจะต้องทําให้มันเป็น section ที่ชัดเจนอยู่บนสื่อคุณ”

นอกจากนี้จักรพงษ์ยังอธิบายอีกว่า จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญอยู่ที่เนื้อหาที่นำเสนอ ไม่ได้อยู่ที่ว่ากำลังสวมบทบาทเป็นสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์อยู่

“มันไม่เกี่ยวว่าคุณเป็นสื่อมวลชน หรือคุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่มันคือเนื้อหาที่คุณนำเสนอออกมาว่าเป็นแบบไหน เราอาจจะเคยยึดติดกันว่าเราจะนำเสนอในรูปแบบที่เราเคยทำกันมานาน แล้วคนทั่วไปเลยมักมีเลนส์มองว่า สื่อต้องทำเฉพาะข่าว

“แต่ในวันนี้ที่ทุกคนสามารถผลิตคอนเทนต์ได้ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ถ่ายคลิปคนเกิดอุบัติเหตุที่หน้าปากซอยลง Tiktok วินมอเตอร์ไซค์กำลังทำหน้าที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แต่เขายังไม่ใช่นักข่าว เพราะสื่อมวลชนมีเรื่องของความน่าเชื่อถือ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ ดังนั้นสำหรับ PR แล้วคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์กับสื่อมวลชนมันจึงไม่เหมือนกัน”

แต่ถึงกระนั้น จักรพงษ์ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าสำหรับแบรนด์แล้ว อาจมีความคาดหมาย หรือวัตถุประสงค์ในการว่าจ้างหรือทำคอนเทนต์กับอินฟลูเอนเซอร์และสื่อมวลชนแตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าสื่อมวลชนจะทำคอนเทนต์เหมือนตัวเองเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้ สื่อก็สามารถทำคลิปเล่าเรื่อง รีวิว หรือแสดงความคิดเห็นเหมือนเป็นความคิดเห็นจากกองบรรณาธิการ เป็นมนุษย์มีตัวตนเห็นหน้าค่าตากันจริงๆ ได้เหมือนอินฟลูเอนเซอร์ ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์เองก็สามารถทำคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลครบถ้วน น่าเชื่อถือ จนเป็นที่น่าไว้ใจของคนทั่วไปเหมือนเป็นสื่อมวลชนคนหนึ่งได้เช่นกัน

“มันอยู่ที่ช่องทางด้วยว่าทำคอนเทนต์ลงช่องทางไหน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนต์ใน TikTok แล้วสื่อมวลชนควรมีคอนเทนต์ใน TikTok ด้วยไหม ถ้า TikTok กำลังมาแรงมันอาจต้องมีคอนเทนต์ในช่องทางนั้นด้วยหรือเปล่า สื่อเองก็ต้องปรับตัวทำเนื้อหาที่สอดคล้องกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเช่นเดียวกัน แล้วสื่อสารให้แบรนด์รู้ว่าเรามีจุดเด่นตรงไหน”

“มันไม่ใช่ว่าใครดีกว่าใคร แต่เป็นเรื่องของบริบทมากกว่า สื่อมวลชนก็นำเสนอประสบการณ์เหมือนอินฟลูเอนเซอร์ได้ อินฟลูเอนเซอร์จะดูมีความเป็นเพื่อนมากกว่า ดังนั้นสื่อมวลชนสามารถทำให้คนเอื้อมถึงหรือดูเป็นส่วนตัวมากขึ้นได้ไหม อาจต้องใช้วิธีดึงเอา personal branding มาใช้กับนักข่าวได้เหมือนกัน”

“ตัวตน” สำคัญกว่าที่คิด

เราอาจจะเคยเห็นนักข่าวหรือคอลัมน์นิสต์ที่มีชื่อเสียง และมีแฟนคลับประจำช่องหรือคอลัมน์นั้นๆ ตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบันเราก็ยังคงเห็นนักข่าวที่มีลีลาในการอ่านข่าวที่เป็นเอกลักษณ์และมีแฟนคลับติดตามเขาจำนวนมากเช่นเดิม เพราะในหลายๆ ครั้งผู้ชมอาจจะชอบวิธีการเล่าเรื่องของนักข่าวคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ

สำหรับตัวตนของอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ชมชอบวิธีการเล่าเรื่อง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นของเขา เขาอาจจะไม่ได้ต้องการแค่ข้อเท็จจริงอย่างเดียว ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้มากขึ้น

สำหรับสำนักข่าว การแสดงความคิดเห็นระหว่างการนำเสนอข่าวอาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องในบางกรณี แต่ในบางเรื่องบางหัวข้อ อาจแสดงความคิดเห็นในฐานะกองบรรณาธิการได้ ที่ไม่ใช่แค่นักข่าวคนใดคนหนึ่ง และการนำเสนออยู่ที่เหตุผลและความเป็นกลาง ไม่จงใจเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นี่ก็เป็นการนำเสนอที่สร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชมหรือคนอ่านได้เช่นกัน

“ความน่าเชื่อถือ” เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือสื่อมวลชน

“สิ่งสําคัญคือการรักษาเครดิต และยืนระยะได้ดีก็จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า มีข้อมูลจากอเมริการะบุว่าปัจจุบันความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนลดน้อยลงเพราะมีเฟคนิวส์ (ข่าวปลอม) เยอะขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สําคัญก็คือการสร้างความน่าเชื่อถือ คนที่ไม่สามารถรักษาการนําเสนอด้วยความซื่อตรงต่อกลุ่มเป้าหมายตัวเองได้ ท้ายที่สุดแล้วเขาจะพ้นการคัดกรองนี้แล้วก็หายไปเอง”

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรืออินฟลูเอนเซอร์ การรักษาความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นการบ้านของสื่อมวลชนว่าทำอย่างไรคอนเทนต์ของตัวเองจะยังรักษาความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้อย่างคงที่ตลอดไป พร้อมเพิ่มความน่าสนใจ และบวกความเป็น “คน” ลงไปในคอนเทนต์ด้วย เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น รู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปด้วยมากขึ้น

ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ทำคอนเทนต์ได้น่าสนใจและมีจุดเชื่อมโยงกับคนทั่วไปได้มาก แต่ก็ต้องทำคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือ รับผิดชอบในคอนเทนต์ของตัวเองเหมือนสื่อมวลชนคนหนึ่ง ถ้าไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างการสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับตัวเอง ควบคู่ไปกับการรักษาความน่าเชื่อได้ ก็ไม่สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้นานเช่นกัน

เปิดหน้า น่าเชื่อกว่า?

ถ้าอยากจะสร้างคาแร็กเตอร์ในการทำคอนเทนต์ให้ชัดเจน การที่คนทำคอนเทนต์ต้อง “เปิดหน้า” โชว์หน้าตัวเองในบทความ ในวิดีโอ ก็อาจเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างการจดจำ จะเห็นได้ว่านักข่าวที่รายงานข่าวหน้ากล้อง กับอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำวิดีโอโดยตั้งกล้องถ่ายหน้าตัวเอง ก็มักจะได้รับการยอมรับและสร้างฐานแฟนคลับได้ง่ายกว่า

แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายคนที่ทำคอนเทนต์แบบที่ไม่ได้เปิดหน้า แต่ก็มีแฟนคลับติดตามมากมายเช่นกัน รวมถึงเทรนด์การทำคอนเทนต์จาก VTuber ที่คนสวมคาแร็กเตอร์เป็นตัวการ์ตูนหรืออนิเมะแล้วใช้นามแฝง ซึ่งก็สามารถทำคอนเทนต์ได้น่าสนใจและมีแฟนคลับติดตามได้มากเหมือนกัน

ในแง่ของความน่าเชื่อถือ จักรพงษ์มองว่าอาจจะดูน่าเชื่อถือน้อยกว่า แต่หากทำคอนเทนต์ที่ดีอย่างต่อเนื่องได้ ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือได้เหมือนกัน

“ความน่าเชื่อถือส่วนหนึ่งก็มาจากตัวตนของคนที่เราสามารถติดตามจับต้องได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ได้เปิดหน้า หรือเป็น VTuber จะไม่มีความน่าเชื่อถือสักทีเดียว เช่น จ่า (Drama-Addict) หรือ อีเจี๊ยบ เลียบด่วน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างความน่าเชื่อถือหรือมีแฟนคลับติดตามอย่างเหนียวแน่นได้มากขนาดนั้นได้ มันอยู่ที่ว่าคุณสามารถสร้างตัวตนได้ชัดเจน และดูแลแฟนๆ ของคุณได้ในระยะยาวหรือเปล่า รวมถึงควบคุมคุณภาพของเนื้อหาคอนเทนต์ตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วย”

คลิปวิดีโอสั้น คอนเทนต์ที่ PR ก็ยอมรับว่ากำลังมาแรง

การทำ PR ออนไลน์ที่เป็นที่นิยมของหลายๆ แบรนด์ คือ TikTok รวมถึง short-form video อย่าง Instagram Reels และ YouTube Shorts โดยสาเหตุก็มาจากกระแสนิยมในสังคมออนไลน์ และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายๆ คนมาทาง short-form video กันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า long-form video จะหายไป คอนเทนต์ YouTube หรือการดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก็ยังคงเป็นที่นิยมและยังสำคัญอยู่ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่ผู้บริโภคเลือกดูมากกว่า เช่น ถ้าดูคอนเทนต์บนรถไฟฟ้าที่บางคน อาจจะอยากดูอะไรที่จบได้สั้นๆ จึงอาจจะเลือกดูวิดีโอสั้น แต่ถ้าดูคอนเทนต์คืนวันศุกร์หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ก็อาจจะอยากดู long-form video เช่น YouTube และภาพยนตร์-ซีรีส์ในแอปสตรีมมิ่งต่างๆ

ดังนั้นแม้ว่าคนจะทำ short-form video กันเยอะ แต่ long-form video ยังคงมีคนดูอยู่ และยังเป็นคอนเทนต์ที่แบรนด์ก็ยังต้องการอยู่แน่นอน

สิ่งที่แบรนด์มองหาในการว่าจ้างคนทำคอนเทนต์

ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ จักรพงษ์บอกว่าสิ่งสำคัญที่แบรนด์มองหาคือ “คุณภาพ” และ “ปริมาณ” ในเวลาเดียวกัน หากทำคอนเทนต์ที่ดีมีคุณภาพมากๆ แต่เอนเกจเมนต์น้อย ก็อาจจะขายลูกค้าได้ยาก รวมถึงคอนเทนต์ที่เอนเกจเมนต์เยอะมาก แต่ไม่ใช่คอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากนัก ทางเอเจนซี่ก็ไม่อยากแนะนำให้ลูกค้าเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำคอนเทนต์ของลูกค้าแต่ละคนด้วย

คำแนะนำดีๆ ถึงเหล่าสื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์

จักรพงษ์ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า คุณต้องรู้ว่าคุณมีคุณค่ากับคนกลุ่มไหน เนื้อหาของเรามีประโยชน์กับคนกลุ่มไหน กำหนดตัวตนของตัวเองให้ชัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ขยายกลุ่มคนดู ขยายหัวข้อในการทำคอนเทนต์เพิ่มในภายหลังก็ได้

เหมือนกับกูเกิลที่ตอนแรกก็มีแต่เสิร์ชเอนจิน ตอนหลังก็ขยายธุรกิจไปด้านอื่นๆ หรืออินฟลูเอนเซอร์เช่น บิวตี้บล็อกเกอร์ ที่ตอนแรกเน้นเรื่องแต่งหน้า เครื่องสำอาง ตอนหลังก็ค่อยๆ ขยายขอบเขตเนื้อหามาที่เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เป็นต้น

“ยุคนี้เป็นยุคของไมโครเซกเมนต์ (การเจาะจงกลุ่มลูกค้าให้ละเอียด) เราสามารถเริ่มที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ก่อน จากนั้นค่อยขยายกลุ่มแฟนคลับของเราให้ใหญ่ขึ้นอย่างช้าๆ จะทำให้คุณเติบโตได้อย่างมั่นคงมากกว่า คุณต้องรู้ว่าคุณกำลังคุยกับใคร พวกเขาสนใจและไม่สนใจอะไร มันจะทำให้เรากำหนดทิศทางของคอนเทนต์ของเราได้ด้วย สร้างฐานผู้ติดตามในแบบที่เชื่อในสิ่งเดียวกันกับเรา ถ้าหากเรามีกลุ่มผู้ติดตามที่ใกล้เคียงกันกับคนอื่น เราก็ต้องสร้างคาแร็กเตอร์ของเราให้แตกต่าง เพื่อดึงดูดผู้ติดตามที่ชื่นชอบในแบบที่เราเป็นให้ได้มากที่สุด” จักรพงษ์สรุป

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า