SHARE

คัดลอกแล้ว

กลยุทธ์ขึ้นภาษีนำเข้าทั่วโลกครั้งใหม่ กลายเป็นแรงสั่นสะเทือนเชิงโครงสร้างที่ทั่วโลกต้องจับตา สำหรับประเทศไทย ผลกระทบเริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อมาตรการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ มีอัตราสูงถึง 36% และปรับเป็น 37% ในเวลาต่อมา ซึ่งนับเป็นระดับตัวเลขที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การค้า โดยเฉพาะกับสินค้าส่งออกหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าว จำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงสถานการณ์สงครามการค้าเวลานี้ว่า ตอนนี้สหรัฐฯ เปิดฉากสงครามการค้าแบบไร้พรมแดน ไม่เลือกประเทศหรือภูมิภาคใด จากที่เคยประกาศนโยบายการเก็บภาษีตอบโต้ รอบแรกที่เก็บจาก แคนาดา เม็กซิโก จีน และผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น เหล็กและอลูมิเนียม รถยนต์ และอาจลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมยาและเซมิคอนดักเตอร์

เบื้องหลังท่าทีของทรัมป์มีเป้าหมายหลักในการกระตุ้นการจ้างงานในอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยพยายามผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ลดการเกินดุลการค้ากับอเมริกา และหันมานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันโดยตรงต่อไทยทั้งในด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และการจัดสมดุลภายในประเทศที่ยังอิงการส่งออกเป็นหลัก เพื่อรับมือกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับโลกนี้

ไทยจำเป็นต้องมีการปรับยุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างจริงจังใหม่ในระดับมหภาค โดยมีแนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. การเตรียมการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมกับเปิดนำเข้าสินค้าที่ประเทศไทยจำเป็นและสหรัฐฯต้องการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตรบางประเภทที่มีโควต้า อาวุธ เครื่องดื่ม โดยพยายามให้เกิดความสูญเสียกับภาคการผลิตในประเทศน้อยที่สุด

2. การผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณและใช้นโยบายการคลังที่แม่นยำเพื่อประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเตรียมงบประมาณเพื่อประคองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 3. เสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เข้มแข็งทั้งในด้านการกระตุ้นการลงทุน การกระจายตลาด และการเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลดต้นทุนการผลิตและการส่งออก

และ 4. การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายในอาเซียนและพันธมิตร FTA (เขตการค้าเสรี) เพื่อกระจายสินค้าและเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดิม โดยเฉพาะสหรัฐฯ พร้อมเร่งเดินหน้าเจรจา FTA กับประเทศพันธมิตรให้มากขึ้น และใช้กรอบความร่วมมือระดับอาเซียน เช่น อาเซียน+3 หรือ +6 รวมถึง RCEP ให้มีประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ในการช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับไทยในเวทีการค้าระดับโลก และป้องกันความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจควบคุมได้

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตา คือ เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่นถึง 54% ทำให้จีนเร่งกระจายสินค้าเข้ามายังภูมิภาค รวมถึงไทยในฐานะตลาดเป้าหมายสำคัญ ซึ่งหากไม่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุม อาจเกิดภาวะ “สินค้าไหลทะลัก” ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยโดยตรง ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเดินหน้าทำการเจรจาควบคู่ไปกับการคัดกรองการนำเข้าสินค้าอย่างเป็นระบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างรอบด้าน

“ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งกระจายการส่งออกให้กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาตลาดใหม่เพื่อรองรับความเสี่ยงจากตลาดเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ โดยกระทรวงพาณิชย์ควรเร่งรัดการประสานความร่วมมือกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมทั้งเดินหน้าใช้ข้อตกลงการค้าเดิมและทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าใหม่อย่างมีประสิทธิผลให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเปิดประตูการค้าใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเศรษฐกิจโลก อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือการทำให้ข้อตกลงการค้าเสรีเดิมหรือกับคู่ค้าใหม่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิผล การลดความซ้ำซ้อนของการตรวจสอบของสินค้าในวงกว้างผ่านการทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement หรือ MRA) การลดความสลับซับซ้อนของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และการเดินหน้าข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล ก็จะช่วยให้กระบวนการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น

รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวต่ออีกว่า ในด้านการลงทุนนั้น ถึงแม้เม็ดเงินทุนจากต่างชาติคงมีแนวโน้มชะลอตัวจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง ประเทศไทยควรเตรียมตัวต่อเนื่องให้พร้อมเพื่อเป็น “จุดหมายปลายทาง” สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความปลอดภัยและเสถียรภาพทางธุรกิจ พร้อมต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนผ่านการดำเนินนโยบายที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาในการพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนา 3 เสาหลักไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือ เกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และภาคบริการ พร้อมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ทั้งการขนส่ง พลังงาน และดิจิทัล อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาในการเลือกฐานผลิต

ในช่วงความไม่แน่นอนเช่นนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน่าจะมีส่วนช่วยในการลดแรงสะเทือนจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวได้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตเหล็กหรืออะลูมิเนียม ขณะเดียวกัน ประเทศไทยควรเร่งใช้แนวทาง “One Stop Service” ที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดตั้งขึ้นให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนประหยัดเวลาและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันผู้ประกอบการไทยให้เชื่อมโยงตัวเองเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของบรรษัทข้ามชาติ (MNEs) เพื่อเตรียมพร้อมทำให้ประเทศกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการผลิตในระดับภูมิภาค

สุดท้าย ในภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากแรงสั่นสะเทือนของสงครามการค้าระดับโลกนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อสร้างแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยให้มี “สายป่าน” ที่ยาวพอในการรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น

รัฐบาลควรเตรียมมาตรการด้านการใช้จ่ายอย่างมีเป้าหมาย เช่น การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนเฉพาะด้านในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบและที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการไปแล้ว อย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้จัดตั้งกองทุนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ประเทศไทยควรมีการพิจารณานำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและยืนหยัดท่ามกลางแรงปะทะทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

“อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีที่ฐานการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา และสินค้าบางกลุ่มอาจต้องชะลอตัว หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาด้านการค้าอย่างเป็นรูปธรรม อาจส่งผลกระทบให้จีดีพี (GDP) ของไทยในปีนี้ลดลงต่ำกว่า 2.0% ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน

ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เร่งกระจายตลาด และเตรียมพร้อมเจรจานโยบายการค้ากับประเทศคู่ค้ารวมถึงสหรัฐฯ อย่างจริงจัง เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงการพยายามเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อน 3 เสาหลักและอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับตัวและการวางรากฐานเชิงนโยบายอย่างรอบด้านจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถพลิกเกมเศรษฐกิจไทยสู่โฉมใหม่ที่แข่งขันได้ในระดับโลกภายใต้ยุคพลวัตที่ไร้เสถียรภาพแห่งนี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า