SHARE

คัดลอกแล้ว

ตามคาด แต่ก็ยังน่าตกใจมาก ว่าสหรัฐจัดหนักไทยขนาดนี้ เพราะเดิมเราคาดว่าไทยจะโดนปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ อีก 10% มีผลทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ ลดลง 3,106 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ คิดเป็น 108,714 ล้านบาท

แต่ปรากฎว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาประกาศมาตรการภาษีใหม่ในวันที่ 2 เม.ย. ตามเวลาอเมริกา จัดหนักไทยและหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียแบบเกินที่ประเมินไว้ โดยสหรัฐฯ มีการนำตัวเลขภาษีตอบโต้พิเศษมาคิดรวมด้วย

โดยการขึ้นภาษี 10% จะเริ่ม วันเสาร์ที่ 5 เมษายน ส่วนกลุ่มภาษีตอบโต้พิเศษ เริ่มมีผลวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน

‘ทรัมป์’ ระบุว่า นี่เป็นมาตรการที่เข้าใจง่ายมากๆ และไม่มีอะไรเข้าใจง่ายไปกว่านี้แล้ว คือการต่างตอบแทน หมายถึงประเทศอื่นทำกับอเมริกาเท่าไหร่ เราก็จะหั่นครึ่งจากที่เขาเก็บ แล้วทำกลับไปเหมือนกัน

รายชื่อประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี ปรากฎชื่อประเทศไทยจะถูกเก็บภาษีต่างตอบแทน 36% เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่า อัตราภาษีที่ไทยเก็บสหรัฐฯ โดยคำนวณจากการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน และกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี สูงถึง 72%

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปหาก่อนเลยว่า 72% มาจากไหน

“Trump เล่นคิดว่าไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ (รวม nontariff barriers) 72%! ทั้งๆที่ค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าแค่ประมาณ 10% แปลว่าเขาคิด value ของ nontariff barrier เยอะมาก หรือไม่ก็ focus ตรงสินค้าที่เราคิดภาษีเขาเยอะๆ เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย หรือไม่ก็เขียนผิด” ดร.พิพัฒน์ ระบุในโพสต์

ดร.พิพัฒน์ยังระบุสามทางเลือก คือ

-‘สู้’ แบบ แคนาดา ยุโรป หรือจีน
-‘หมอบ’ คือเจรจาหาทางลงที่สหรัฐฯ พอใจ เช่นปรับลดภาษี ยอมเปิดตลาด ไปจนถึงนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
-‘ทน’ ถ้าเราหาทางออกไม่ได้

ส่วน ‘ทรัมป์’ เสนอว่า หากไม่ต้องการเผชิญอัตราภาษีที่สูงเช่นนี้ ประเทศต่างๆ ต้องทำลายอัตราภาษีของตัวเอง ปรับลดกำแพงต่อสินค้าสหรัฐฯ ไม่บิดเบือนค่าเงิน พร้อมย้ำว่า มาตรการทางภาษีครั้งนี้เป็นการปกกป้องประเทศ จากใครก็ตามที่อาจจะทำลายเศรษฐกิจอเมริกา

และยังย้ำด้วยว่า หากธุรกิจไหนต้องการภาษีเป็นศูนย์ ก็แค่ย้ายมาผลิตในอเมริกา เพราะที่อเมริกาไม่มีเรื่องภาษีนำเข้า

[ ทุกอย่างไม่เหมือนสงครามการค้าแบบหนก่อน ]

KKP Research เคยออกบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ที่นำเสนอผลกระทบของไทยไว้ว่า เห็นได้ชัดว่าตอนนี้นโยบายการค้าของทรัมป์ไม่ใช่แค่สงครามการค้าเหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้วตอนเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก บวกกับถ้าดูสภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้ ต้องยอมรับว่าไม่เหมือนทศวรรษที่แล้ว ดังนั้นการเตรียมรับมือแบบเดิมอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป

ที่สำคัญผลกระทบที่คาดว่าอาจจะมีต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมทีส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่สหรัฐฯ อาจบีบให้ไทยเปิดตลาดให้แก่สินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้นซึ่งอาจเพิ่มการแข่งขันและมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆอีกด้วย

จุดประสงค์หลักในการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ ไม่ใช่เพื่อสร้างสงครามการค้า แต่เป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯ สามารถใช้ในการเจรจา เพื่อให้สหรัฐฯ แก้ปัญหาขาดดุลการค้ากับหลายประเทศ และแรงงานในสหรัฐจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิต และการแข่งขันของสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิทางปัญญาที่สหรัฐมองว่าไม่เป็นธรรม

ในมุมมองของประธานาธิบดีทรัมป์ เครื่องมือสำคัญที่สหรัฐฯ จะใช้เจรจาการค้าที่เป็นธรรมคือการใช้ภาษีนำเข้า ในการต่อรองกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นผู้อพยพ ยาเสพติด ค่าใช้จ่ายทางการทหาร การเปิดตลาดให้สหรัฐฯ และประเด็นการค้าและธุรกิจอื่นๆ

ในกรณีของไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศเล็กในสายตาของสหรัฐฯ และดูผิวเผินไม่ใช่เป้าที่จะถูกขึ้นภาษีแต่ในมุมมอง KKP research มองว่ามีหลายประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสี่ยงเข้าข่ายเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายรองของสหรัฐฯ คือ

[ การเกินดุลการค้าอาเซียน-สหรัฐฯ ]

อาเซียนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ นั่นทำให้การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐ ต่อประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 2 เมษายน มีดังนี้

กัมพูชา 49%
ลาว 48%
เมียนมา 44%
ศรีลังกา 44%
เวียดนาม 45%
ไทย 36%
จีน 34%
อินโดนีเซีย 32%
ไต้หวัน 32%
ปากีสถาน 29%
อินเดีย 26%
ญี่ปุ่น 24%
มาเลเซีย 24%
บรูไน 24%
ฟิลิปปินส์ 17%
สิงคโปร์ 10%

จะเห็นว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนสูง โดยสินค้าหลักที่ถูกเพ่งเล็งคือ อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ และยางรถยนต์

[ สินค้า ‘ทางผ่าน’ จากจีน ]

หลังสงครามการค้าปี 2018 ดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน-สหรัฐฯ เปลี่ยนไปในลักษณะที่สงสัยว่าจีนใช้ไทยเป็นฐานส่งออกเพื่อเลี่ยงภาษี โดยสินค้าเช่น แผงโซลาร์เซลล์ อาจเป็นตัวอย่างที่ถูกจับตามอง

ไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ในอัตราสูง รวมถึงมาตรการป้องกันสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็น “มาตรการกีดกันการค้า” ที่ทำให้ไทยได้เปรียบโดยไม่เป็นธรรม

การประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจมีความซับซ้อนสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สำคัญแนวทางผลลัพธ์ของการเจรจาหากเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูผลกระทบที่เป็นไปได้ว่าจะมีแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจไทย คือ

– สินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ เสี่ยงสูญเสียโอกาส หากมีการขึ้นภาษี สินค้าหลัก เช่น ฮาร์ดดิสก์และยางรถยนต์ อาจสูญเสียตลาดสำคัญ

– สินค้าจีนที่ส่งผ่านไทยลดลง บริษัทจีนที่เคยใช้ไทยเป็นฐานส่งออกอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เช่น ลาวหรืออินโดนีเซีย เพื่อลดความเสี่ยงจากมาตรการภาษี

– การเปิดตลาดสินค้าเกษตร สหรัฐฯ อาจบังคับให้ไทยลดภาษีสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมูและเนื้อไก่ ซึ่งจะเพิ่มการแข่งขันในประเทศและกระทบผู้ผลิตภายใน

[ ทางรอดของไทย เตรียมกรอบเจรจากับสหรัฐฯให้พร้อม

ทางรอดหลักๆ คือ ภาครัฐต้องเตรียมแผนสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดโดยเฉพาะกลยุทธ์ในการเจรจากับสหรัฐฯ เช่น สหรัฐฯ น่าจะต้องการอะไรจากไทย และมีสิ่งใดที่ไทยจะสามารถนำเสนอต่อสหรัฐฯ และผลกระทบในแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างรอบด้าน

บทเรียนสำคัญในทุกการเจรจาข้อตกลงการค้า คือทุกข้อตกลงจะมีผู้ได้และเสียประโยชน์อยู่

กรอบในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงจีน ประเทศไทยควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยทั้ง ผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ การจ้างงาน และผลต่อผู้บริโภคซึ่งแต่ละกลุ่มอาจได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน

วันนี้ชัดเจนว่าเกมการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไปอีกครั้ง ไทยแม้จะเป็นประเทศเล็ก แต่ความเชื่อมโยงในห่วงโซ่การค้าระดับโลกทำให้เราไม่อาจหลีกเลี่ยงแรงกระแทกนี้ได้

.
#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า