SHARE

คัดลอกแล้ว

ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติจากการระบาดของโควิด-19 คนที่ยังมีงานทำอยู่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เข้าข่ายผู้โชคดี เพราะวิกฤติครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด 

แต่ผู้ชายที่ชื่อ ธรินทร์ ธนียวัน กลับตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของแกร็บ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดของบริษัท ที่เป็นเบอร์ต้นๆ ด้านธุรกิจเรียกรถและธุรกิจส่งอาหารของประเทศ

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ธรินทร์ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการตัดสินใจครั้งนี้ โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่าอยากออกมาทำตามความฝันและกรุยทางสำหรับบทต่อไปของชีวิต

“กับแกร็บเนี่ย ตอนแรกผมเริ่มคิดจะออกตั้งแต่ปลายปีก่อนแล้ว” ธรินทร์เริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปในการตัดสินใจครั้งนี้ ที่หลายคนรู้สึกสงสัยเพราะตัวเขาเองเข้ามารับตำแหน่งได้เพียง 2 ปีเศษ และธุรกิจก็ยังคงไปได้ดี

“เรามองความท้าทายอีกแบบหนึ่ง ตั้งแต่ผมเข้ามาผมจะมีเช็กลิสต์ของตัวเอง… ในหัวของเราจะมีตัวเลขหรือหลักไมล์บางอย่าง แล้วถ้ามันติ๊กไปหมดทุกอันแล้ว สำหรับผมก็เหมือนกับไม่มีความท้าทายต่อไปที่เหมาะสมให้เราทำต่อ”

 

ความท้าทายของธรินทร์

ย้อนไปเมื่อมี.ค. 2561 แกร็บได้ประกาศแต่งตั้งนายธรินทร์ ธนียวัน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

แน่นอนว่าสิ่งนี้คือความท้าทายสำหรับตัวเขา หลังจากที่ทำงานกับ Lazada มาได้ 3 ปีครึ่งในฐานะหัวหน้าแผนกการตลาด และ หัวหน้าฝ่ายการค้า การได้ก้าวไปเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดในสาขาประเทศไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับภูมิภาค ถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญในหน้าที่การงาน

ธรินทร์เองที่มีความสนใจด้านธุรกิจออนไลน์มองว่า จากธุรกิจ 4 ประเภทได้แก่ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจส่งของ ธุรกิจเกม และธุรกิจอีเพย์เมนต์ เขาเคยทำมาแค่อย่างเดียวเท่านั้น คืออีคอมเมิร์ซ การมีธุรกิจอีกประเภทยื่นข้อเสนอเข้ามาทำให้เขารู้สึกสนใจ โดยเหตุผลหลักที่ให้คือ ตัวเขา ”ยังไม่รู้เรื่อง” จึงอยากโดดเข้าไป และยังเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

“ตอนนั้นเราอยากเข้าไปทำให้มันเป็นหัวข้อใหม่ เราไม่รู้อยู่แล้วว่าธุรกิจนี้ตอนจบมันจะเป็นยังไง ใครจะไปรู้ว่าอยู่ดีๆ โควิดจะมา แล้วธุรกิจโรงแรมจะเป็นแบบนี้ แล้วในตำแหน่งหน้าที่ตรงนี้ เราสามารถตัดสินใจได้ในระดับหนึ่งว่าทิศทางธุรกิจจะเป็นยังไง นั่นคือสาเหตุที่เข้ามาดู เราชอบในความท้าทายที่จะตามมา”

3 ปัญหาของแกร็บ

เมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้ว ความท้าทายที่รอเขาอยู่คือการเข้าไปแก้ปัญหา 3 ข้อ ที่ธรินทร์มองว่าตัวบริษัทในส่วนของประเทศไทยกำลังประสบอยู่

“แกร็บเมื่อตอนปี 2018 มักจะอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ทะเลาะกับแท็กซี่ ทะเลาะกับวินมอเตอร์ไซค์ พูดง่ายๆ คือไม่มีเพื่อน”

นี่คือปัญหาอันดับแรกที่ธรินทร์มองว่าต้องมีการหาพันธมิตรทางด้านกลยุทธ์เข้ามา ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มบริษัทของไทย เพื่อจะลบภาพความเป็นบริษัทที่ “ไม่มีเพื่อน” ออกไป

ธรินทร์จัดการกับความท้าทายนี้ได้ด้วยการดึงกลุ่มเซ็นทรัลและเครือธนาคารกสิกรไทยเข้ามาสนับสนุน โดยสามารถระดมทุนจากทั้งสองบริษัทได้ถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8 พันล้านบาท) 

ข้อที่สองคือการปรับการทำงานในส่วนของตัวบริษัทในประเทศไทย ซึ่งธรินทร์ยอมรับว่ามีการปรับเปลี่ยนมากพอสมควร และก็เป็นเรื่องปกติที่คนที่เคยทำแบบเดิมมานานแล้ว อาจรู้สึกไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการตั้งคำถามว่าทำแล้วมันจะดีหรือเปล่า

“ความสงสัยพวกนี้ พอผ่านไป 2 ปีครึ่งกับตำแหน่งที่แกร็บ (ประเทศไทย) อยู่ มันไม่มีใครมาแย้งได้แล้ว จากวันนั้นมาถึงวันนี้ แกร็บ (ประเทศไทย) ที่เราบริหารมาเนี่ย มันอยู่ในจุดที่ไม่มีใครมาดูถูกเราได้แล้ว”

“We are no longer nobody, in Thailand, or inside the group of Grab.”

หรือแปลได้ว่า เราไม่ใช่คนที่ไม่มีตัวตนอีกแล้ว ทั้งในประเทศไทย หรือในกลุ่มบริษัทแกร็บก็ตามที คือบทสรุปในหัวข้อนี้ของธรินทร์ ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างภายในองค์กร

เรื่องสุดท้ายคือการดำเนินธุรกิจ โดยหลังจากที่แกร็บทำการควบรวมกิจการกับ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับการเข้ามารับตำแหน่งของธรินทร์แล้ว จึงเรียกได้ว่าในด้านธุรกิจการเรียกรถ พวกเขาแทบจะเป็นเบอร์ใหญ่เจ้าเดียวในตลาดไทยเลยก็ว่าได้ นั่นทำให้ความท้าทายที่ธรินทร์มองหา คือการฝ่าฟันในสมรภูมิด้านบริการส่งอาหาร ซึ่งในวันนั้นแกร็บฟู้ดเองยังเป็นธุรกิจที่ยังไม่รู้จะออกมาเป็นอย่างไร แต่พอมาถึงวันนี้ เราได้เห็นมีมอเตอร์ไซค์ที่ใส่แจ็คเกตสีเขียวของแกร็บวิ่งกันทั่วเมืองแล้ว

“แกร็บฟู้ดจริงๆ เริ่มช้ากว่าคู่แข่งตั้งหลายคน ไม่ว่าจะเป็นไลน์แมนก็เริ่มมานานแล้ว ฟู้ดแพนด้าก็เริ่มมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าเรื่องการส่งอาหารผมมองว่ามันคืออีคอมเมิร์ซ แล้วเราทำอีคอมเมิร์ซมาก่อน ผ่านไปไม่ถึงปี ตำแหน่งของเราในตลาดถือเป็นตำแหน่งที่ใหญ่มาก น่าจะเป็นหนึ่งในเบอร์ใหญ่ของตลาดเลย”

มองหาโอกาสในวิกฤติ

“ความอิ่มตัวในงานมันเยอะแล้ว มันถึงจุดที่ว่าคุณไปทำงานแต่คุณรู้แล้วว่าคุณทำได้” อดีตซีอีโอแกร็บพูดถึงจุดเริ่มต้นของการคิดเรื่องลาออก

“พอมันทำได้แล้ว ด้วยอายุของเราตอนนี้ เราเลยมองว่า เราจะจบกับที่นี่จริงๆ เหรอ ความท้าทายในชีวิตมันมีมากกว่านี้ไหม ถ้าไม่หยุดก็จะไม่มีการบังคับตัวเองให้คิดเรื่องพวกนี้”

จากที่ธรินทร์เล่าว่าเขาเริ่มตัดสินใจตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีสถานการณ์โรคระบาดที่ได้เปลี่ยนโลกที่เราเคยรู้จักก่อนหน้านี้ไปพอสมควร ทำให้เราอยากทราบว่าวิกฤติครั้งนี้ทำให้เขาลังเลหรือไม่ แต่ด้วยความแน่วแน่ของเขา อีกทั้งยังมองว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ทำให้เขายังยืนยันการตัดสินใจของตนเอง

“ก็ตัดสินใจไปแล้ว จะให้มาบอกว่าเศรษฐกิจแย่เลยจะอยู่ต่อ เราไม่ใช่คนอย่างนั้น”

“ผมอาจจะมองว่ายิ่งธุรกิจในตลาดมีวิกฤติมากเท่าไหร่ มันยิ่งต้องมีโอกาสอะไรบางอย่างเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าเราออกมาหาโอกาสในช่วงที่ไม่มีวิกฤติอะไรเลยมันยิ่งยากกว่าอีก เพราะเราไม่รู้จะทำอะไร คนอื่นเค้าทำไปหมดแล้ว”

แม้ตัวธรินทร์เองจะยังไม่ได้บอกชัดเจนว่าเขาจะทำอะไรต่อไป แต่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาเขายืนยันว่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมากกว่าช่วงเวลา 6 เดือนก่อนจะออกจากแกร็บเสียอีก เพราะเมื่อออกมาแล้วได้ลองมองจากอีกมุมมองหนึ่ง แทนที่จะมองจากตำแหน่งซีอีโอของแกร็บ แต่เปลี่ยนมาเป็นมุมมองของผู้บริโภคและนักลงทุนอิสระบ้าง ทำให้ได้เห็นบางสิ่งบางอย่างในแง่มุมที่ต่างออกไป

“เมื่อก่อนเราตีกรอบไว้ ในตำแหน่งของเรา… แต่พอออกมาแล้ว กรอบตรงนี้มันไม่มี” 

“ไม่ได้บอกว่ามันจะสำเร็จ แต่กรอบมันหายไป มันมองอะไรได้กว้างขึ้น… ต่อให้อีก 1-2 ปีหลังจากออกมาจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ แต่อย่างน้อยก็คือว่ายังได้เรียนรู้อะไรใหม่”

การเข้ามาของ 2 ธนาคารใหญ่ในธุรกิจส่งอาหาร

ในวันนี้เขาอาจไม่ได้นั่งเก้าอี้ผู้บริหารของธุรกิจรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ แต่ประสบการณ์กว่า 2 ปีที่ต้องทำการตัดสินใจในเรื่องสำคัญหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ผู้คนอยากรู้ว่าเขามองการเปิดตัวผู้ให้บริการส่งอาหารรายใหม่ 2 รายอย่าง Robinhood และ Eatable อย่างไรบ้าง

“ตลาด Food Delivery มีมูลค่าหลายหมื่นกว่าล้าน เค้าจะไม่โดดเข้ามาได้ยังไง” ธรินทร์เริ่มต้นหัวข้อนี้ด้วยน้ำเสียงที่ไม่รู้สึกประหลาดใจ

“และถ้าพูดตามตรงคือเป็นตลาดต่างชาติคุมอยู่ตอนนี้ แกร็บเองก็มาเลเซีย โกเจ็กก็อินโดนีเซีย ฟู้ดแพนด้าก็เยอรมัน ดีมากเลยที่มีคนไทยโดดเข้ามาเล่นตรงนี้ รู้สึกว่ามันเป็นสีสันของตลาด ทั้งกับผู้บริโภค ร้านอาหาร รวมถึงพนักงานและคนส่งอาหาร”

แต่สิ่งหนึ่งที่คงต้องรอดูต่อไป คือทั้งสองรายจะเติบโตไปในทิศทางใด เนื่องจากในการเปิดตัว ทั้งคู่ประกาศค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ต้องการเข้ามาแข่งกับรายใหญ่ โดยต้องการเป็นทางเลือกเล็กๆ ให้กับผู้บริโภคเท่านั้น ในกรณีของธนาคารไทยพาณิชย์มีการประกาศว่าจะใช้เงินลงทุนในปีแรกกับแอปพลิเคชัน Robinhood เพียง 100 ล้านบาท

“เม็ดเงินที่ประกาศ ถ้าถามผมถือว่าเป็นเม็ดเงินที่ค่อนข้างน้อย ได้แต่หวังว่าคงมีอะไรมากกว่านั้น แต่ก็เป็นสีสันของการตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับตลาดของไทยตอนนี้“

“กสิกรไทย หรือ ไทยพาณิชย์ เองก็คงมีกลยุทธ์ของตัวเอง สมมุติคุณไม่เก็บค่าคอมมิสชันร้านอาหาร คุณจะเอาอะไรไปจ่ายคนขับ คุณจะให้ใครไปจัดโปรโมชันให้ลูกค้า หรือคุณจะเอาข้อมูล (data flow) มาเพื่อปล่อยเงินกู้อย่างเดียว แต่เค้าคงคิดมาค่อนข้างเยอะแล้ว ซึ่งน่าสนใจมากว่า 6 เดือนต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร”

คำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ “ต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ เพื่อโอกาสในอนาคต”

นอกจากมุมมองในเรื่องธุรกิจที่เคยบริหารมาแล้ว ทำให้เราอยากทราบถึงมุมมองของเขาต่อการทำงานโดยทั่วไปบ้าง

“สมัยนี้ผมไม่รู้ว่าบางคนไปฟังไลฟ์โค้ชมากไปหรือเปล่า ที่ให้ทำในสิ่งที่ชอบ แต่ชีวิตจริงมีงานอะไรวะที่จะชอบ 100% ผมเป็นซีอีโอผมยังไม่ชอบเลย มีงานประมาณ 70% ที่ผมไม่ชอบตอนเป็นซีอีโอ แต่ก็ต้องทำ”

ในฐานะคนที่ผ่านการทำงานมาตั้งแต่ตำแหน่งล่างสุดจนถึงตำแหน่งบนสุดขององค์กร ธรินทร์มองว่าคนรุ่นใหม่ที่เขาเจอหลายคนมักจะมีแนวคิดที่ต้องการจะทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบและอยากทำเท่านั้น คำแนะนำของเขาก็คือ ให้พยายามหาจุดสมดุลในสิ่งที่อยากทำและไม่อยากทำ ซึ่งจะทำให้ทุกคนรู้ว่าคุณพร้อมที่จะเสียสละบางเรื่อง และนั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้ก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ 

“มันไม่งานไหนที่จะตอบโจทย์ 100% เป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งต้องเป็นงานงี่เง่าที่ไม่อยากทำ แต่คุณต้องทำอันนั้นเพื่อที่จะมีโอกาสได้ทำสิ่งที่อยากทำและคนให้คุณค่ากับมัน นี่คือสิ่งที่เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ”

นอกจากนั้นแล้ว ธรินทร์ยังได้แบ่งช่วงของการเรียนรู้ในชีวิตการทำงาน ตามมุมมองของเขาออกเป็น 4 ช่วง และสรุปข้อคิดในด้านการทำงานจากประสบการณ์ที่ผ่านมา 3 บริษัทได้แก่ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป, ลาซาด้า และแกร็บ

“20-25 ทำงานจับกังไปก่อน ทำงานในด้านปฏิบัติการ (Operation) ที่มันสามารถทำได้ก่อน ช่วง 26-30 เนี่ย มันขึ้นอยู่กับว่าหลัง 30 คุณต้องการจะทำอะไร ให้ใช้เวลาเรียนรู้กับคนที่คุณควรเรียนรู้ให้มากที่สุด”

“เลือกนาย อย่าเพิ่งไปเลือกงาน ไม่ใช่เลือกนายที่ทำงานสบายนะ ให้เลือกนายที่คาแรคเตอร์พอเข้ากันได้ แล้วเขาสอนคุณในช่วง 5 ปีให้ทำงานที่เป็นเรื่องของการจัดการได้ ฉะนั้นความรู้และสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้ในช่วงนั้น ก็เอาไปเพื่อจะใช้เป็นความสามารถในช่วง 30 ต้นๆ 30 ปลายๆ”

“อนาคตถ้าอยากทำงานบริษัทยาวๆ ช่วงอายุ 35-40 ปี ต้องเล่นการเมืองเป็น และเราก็ต้องมาดูว่าใครเล่นการเมืองเป็นในบริษัท ก็ต้องจำเอาไว้ แต่ก็ต้องถามว่าอยากเล่นหรือเปล่า ถ้าไม่อยากเล่นควรจะตามเขามั้ย หรือจะไปอีกทางหนึ่ง พยายามรีวิวโอกาสทุก 6 เดือน ลองถอยออกมาดู โอกาสมีเต็มตลาดไม่ว่าจะเป็นช่วงโควิดหรือไม่โควิด ผมเพิ่งมาเห็นด้วยตัวเองในอายุ 36 ยิ่งช่วงอย่างนี้ก็ยังมี บางทีมีในสิ่งที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำ” ธรินทร์ทิ้งท้าย

ฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม “ธรินทร์ ธนียวัน”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า