SHARE

คัดลอกแล้ว

ในวันที่ยุ่งที่สุดของสัปดาห์ ‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ ในฐานะผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คนปัจจุบันตอบรับนัดของ workpointTODAY เพื่ออัปเดตเรื่องราวความเป็นไปและภาพอนาคตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในวันที่ท้องฟ้ายังไม่เปิดนักสำหรับคนท่องเที่ยว ในขณะที่เสียงอึงอลเล่าลือในความเงียบดังสะท้อนว่า “ท่องเที่ยวไทยอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” 

“สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเราพึ่งพิงตลาดท่องเที่ยวจากต่างประเทศในระดับสูง ถ้าย้อนไปดูในปี 2562 รายได้ประมาณ 2 ใน 3 มาจากตลาดต่างประเทศ” 

ผู้ว่า ททท. คนปัจจุบันเล่าถึงจุดอ่อนของท่องเที่ยวไทยให้เราฟังตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นบทสนทนา พร้อมอธิบายต่อว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศประมาณ 39.8 ล้านคน สร้างรายได้ราว 2 ล้านล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางราว 172 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 1 ล้านล้าน แต่หลังจากเข้าสู่ยุคโควิด-19 และคนไทยต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางได้

ส่งผลให้ในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยทั้งสิ้นเพียง 6.7 ล้านคน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเที่ยวในประเทศราว 95-100 ล้านคน-ครั้ง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยหดตัวเหลือแค่ 7.5 แสนล้าน หรือลดลงราว 70-80% จากปี 2562

และเพราะห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีขนาดใหญ่ ครอบคลุมเกี่ยวข้องหลายส่วน ทำให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การท่องเที่ยวหยุดชะงักไม่ได้มีแค่ผู้ประกอบการ แต่ยังมีแรงงานในภาคท่องเที่ยวอีกจำนวนมากด้วย

สิ่งที่ทุกคนล้วนให้ความสนใจและรอฟังในวันนี้จึงเป็น “เมื่อไรท่องเที่ยวไทยจะฟื้นคืนสู่ปกติ”

“การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการฟื้นตัวเต็มที่ แต่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างยึดโยงกับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากตลาดต่างชาติ”

ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยุทธศักดิ์จึงเชื่อว่าผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องปรับตัว หาแนวทางสร้างรายได้ที่แตกต่างจากในอดีต เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้แม้โควิด-19 จะยังดำเนินอยู่

“64 จะเป็นปีเป็นเรื่องของการปรับตัว 65 เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง” ผู้ว่า ททท.ย้ำ

โดยในห้วงเวลาที่หลายฝ่ายมองหาแก่นแกนใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ททท.ได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูภายใต้แผนพลิกฟื้นฉบับใหม่อย่าง ‘แผนฟีนิกซ์’ ครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 2564-2465 หวังพลิกฟื้นการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ สร้างการท่องเที่ยวไทยให้เป็นการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูงบนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและอยู่บนอุปทานที่เหมาะสม โดยเน้นหนักในการลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติและเน้นทำตลาดศักยภาพหารายได้มากกว่าปริมาณ เพื่อรับกับโลกยุคหลังโควิด

‘ยุทธศักดิ์’ ยืนยันว่า สิ่งสำคัญที่จำจะต้องเปลี่ยนแปลงคือ ‘การลดจำนวนนักท่องเที่ยว’ แต่ ‘เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว’ เพื่อปรับภาพท่องเที่ยวไทยจากตลาดแมส (mass tourism) ให้เป็นจุดหมายปลายทางคุณภาพ สร้างการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบจนสามารถขายสินค้าท่องเที่ยวที่มีราคาดีแตกต่างจากที่ผ่านมา  

โดยในปี 2564 ททท.เสนอเน้นทำตลาดในประเทศ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยที่ยังคงมีกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนโสด คนทำงาน วัยเก๋า ครอบครัว ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ รวมถึงกลุ่มคนไทยเที่ยวนอกที่มีจำนวนมากกว่า 12 ล้านคนและยังไม่สามารถออกเดินทางไปท่องเที่ยวได้ในระยะเวลาอันใกล้ กลุ่มเอ็กแพทหรือชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักถาวรภายในประเทศไทยที่มีจำนวน 2 ล้านคน มีกำลังซื้อและสามารถเดินทางตลอดเวลา และยังมีกลุ่มประชุมสัมมนาที่มีความสำคัญต่อกลไกการขับเคลื่อนประเทศ

ส่วนในปี 2565 ที่จะต้องขยับกลับรุกตลาดต่างชาติ จะให้ความสำคัญกับการทำตลาดที่มีความเฉพาะมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงอย่างเช่นกลุ่มที่รักสุขภาพ กลุ่มที่มารักษาตัว กลุ่มแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ 

โดยมีเป้าหมายขยับค่าใช้จ่ายต่อคนต่อการเดินทางจาก 47,000 บาท ไปเป็น 62,000 บาทหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ภายในปี 2565 ปลายทางคือในปี 2565 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะสามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวใกล้เคียงกับปี 2562 แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่ง

‘ยุทธศักดิ์’ เชื่อว่า ในปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ในไตรมาสที่ 3 หรือช่วงครึ่งหลังของปีไปแล้ว ดังนั้น จึงคาดหวังว่ารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมในปี 2564 จะสามารถสะสมได้ราว 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดในประเทศประมาณ 7 แสนล้าน และรายได้จากตลาดต่างประเทศประมาณ 5 แสนล้าน จากนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 10 ล้านคนหรือเหลือเกือบ 1 ใน 4 ของปี 2562

ส่วนต่อเนื่องไปในปี 2565 คาดว่าประเทศไทยจะสามารถสะสมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 20 ล้านคน หรือราว 50% ของปี 2562 แต่จะสามารถทำรายได้ใกล้เคียงกับปี 2562 โดยการจับกลุ่มตลาดศักยภาพ แม้จำเป็นจะต้องรวมปัจจัยสถานการณ์การแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์ในไทยรวมถึงในต่างประเทศเพิ่มเติมเข้ามาอีก และคาดว่าภายในปี 2566 ตัวเลขท่องเที่ยวไทยจะคืนสู่ตัวเลขก่อนโควิด-19

แต่ถึงอย่างนั้น ‘ยุทธศักดิ์’ ก็ยอมรับว่า ท่องเที่ยวไทยไม่อาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

“ก็คงไม่เหมือนเดิมครับ มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่เราเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะต้องกลับมา เรามีประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงมาหลายหน เจอความท้าทายนับครั้งไม่ถ้วน สถานการณ์โรคระบาดก็เคยเจอมาแล้วอย่างเช่นโรคซาร์ส เจอสึนามิก็เคยเจอมาแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านั้นทำให้เห็นถึงความมีพลวัตของภาคการท่องเที่ยวไทยซึ่งทุกๆ ครั้งก็กลับมาได้ซึ่งครั้งนี้ก็เหมือนกัน ททท.เชื่อว่าจะกลับมาและกลับมาแข็งแรงกว่าเดิม”

“แต่โดยวิธีการไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้และต้องเปลี่ยนแปลงไป โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้าเราจะให้บริการแบบเดิมรับมือกับนักท่องเที่ยวแบบเดิมยังไงก็อยู่ไม่ได้”

โลกหลังโควิดจึงต้องมุ่งสู่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

“ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในระดับประเทศจะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น มุ่งสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง (high value tourism) ใน 3 เรื่อง ทั้งมีมูลค่าสูงในเรื่องของเศรษฐกิจ มูลค่าสูงในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และมูลค่าสูงในเรื่องของสังคม โดยอยู่บนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ มีปริมาณนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม (optimum scale) ดังนั้น ภาพเดิมที่เคยเกิดในอดีตอย่างเช่นคนเยอะเต็มหาดก็จะหายไป หรือภาพการท่องเที่ยวที่ไปทรมาณสัตว์ เอารัดเอาเปรียบ ถ้ามันอยู่บนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบแล้วสิ่งนี้ก็จะหายไปเหมือนกัน”

ยุทธศักดิ์ บอกว่า ททท.เห็นภาพอนาคตท่องเที่ยวไทยหลังวิกฤตชัดเจน นักท่องเที่ยวคุณภาพจะเพิ่มมากขึ้น แนวทางการตลาดตอบกลุ่มเป้าหมายกำลังซื้อสูง สินค้าทางการท่องเที่ยวและธรรมชาติจะฟื้นฟูดีสวยงาม แตกต่าง หลากหลาย โดดเด่น และสามารถทำราคาได้ โดยประเทศไทยมีภาพลักษณ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวได้สูงอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ในห้วงเวลาแห่งความท้าทายในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ททท.จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ปล่อยทุกคนต้องเดียวดายและสูญเสียจากสมรภูมิโควิด-19 นี้อย่างแน่นอน โดย ททท.พร้อมจะสนับสนุนทุกคนที่ยังมีใจสู้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า