SHARE

คัดลอกแล้ว

ฤดูกาลยื่นภาษีมาเยือนอีกครั้ง เชื่อว่าคนวัยทำงานทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ต้องมีหัวหมุนกันเป็นธรรมดา ไหนจะต้องรวมเอาเอกสารกองใหญ่มาคำนวณภาษี และต้องคอยอัปเดตรายการลดหย่อนในแต่ละปีที่อาจใช้กฎเกณฑ์แตกต่างกัน ไปจนถึงปัญหาสุดคลาสิกที่มีคนจำนวนมากยังเข้าใจผิด คิดว่ารายได้ไม่ได้อยู่ในระบบหรือเป็นฟรีแลนช์ไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ เพราะไม่เห็นจะมีสรรพากรมากวนใจเลยสักครั้ง จนหลายคนเลือกที่จะปล่อยให้เทศกาลยื่นภาษีผ่านเลยไป

แต่รู้ไหมว่าการไม่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บางทีเราอาจเสียผลประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะไม่ใช่แค่ ‘จ่ายไป’ อย่างเดียว แต่เรายังมีโอกาส ‘ได้คืน’ กลับมาอีกด้วย

รายการ TOMORROW โดย TODAYBizview ชวน อาจารย์มิก – ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม CEO และผู้ก่อตั้ง iTAX แอปพลิเคชันยื่นภาษี มาแลกเปลี่ยนสารพัดเรื่องเกี่ยวกับภาษี ทำความเข้าใจความรู้พื้นฐานภาษี 101 และมุมมองของอาจารย์มิก ‘คนเสียภาษีคือฮีโร่ของประเทศ’ กับเครื่องมือที่จะช่วยให้คนไทยยื่นภาษีได้ง่ายกว่าที่เคย

สรรพากรรู้ได้อย่างไร ว่าเรามีรายได้เท่าไหร่

อาจารย์มิกเริ่มจากอธิบายคำว่า  ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ ว่ามาจาก 3 คำ คือ ภาษี เงินได้ และ บุคคลธรรมดา ความหมายนี้กําหนดชัดเจนอยู่แล้วว่า บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ ต้องมีหน้าที่เสียภาษี “นำมาสู่คำถามที่ว่า… ฉันเป็นบุคคลธรรมดาไหม ฉันเป็นมนุษย์หรือเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ต้องถามต่อว่า ระหว่างปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้ไหม ถ้ามีรายได้ คุณอาจจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษี” อาจารย์มิกกล่าว

ส่วนคำถามที่ว่าสรรพากรจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนไหนจะต้องเสียภาษีบ้าง โดยเฉพาะอาชีพอิสระหรือพ่อค้า แม่ค้าที่ไม่ได้อยู่ระบบบริษัท อาจารย์มิกให้ความเห็นว่า สรรพากรมีวิธีการตรวจสอบ งานของสรรพากรคือการเก็บภาษี ให้คิดภาพว่าถ้าเป็นอาชีพของเราเอง เราต้องมี KPI ในการทำงาน ดังนั้นหน้าที่ของกรมสรรพากรคือการเก็บภาษีให้ได้มากที่สุด

“ผมเคยแอบไปถามสรรพากรว่าเวลาเขาเห็นคนมียอดฟอลเยอะ ๆ แล้วถือบิลยาวๆ กล่องพัสดุวางเต็มไปหมดเนี่ย เขาทำยังไง เขาก็บอกว่าไม่มีอะไร ถ้าได้สั่งของกับเขาสักครั้ง เดี๋ยวก็มีวิธีไปต่อเอง”

ซึ่งวิธีการตรวจสอบรายได้ของกรมสรรพากร หลักๆ แล้วมีทั้งหมด 3 วิธี

1.) ตรวจสอบธุรกรรมลักษณะเฉพาะ สรรพากรจะทำหน้าที่เช็คกับบัญชีธนาคารเป็นหลัก หากบัญชีไหนมีเงินเข้าประมาณ 3,000 ครั้ง/ปี หรือ 400 ครั้ง รวมเป็นเงินตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป นับเป็นธุรกรรมที่กฎหมายบังคับให้หน่วยงานที่เป็นสถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลให้สรรพากรรับทราบ เพื่อตรวจเทียบกับสิ่งที่เจ้าของบัญชียื่นมา

2.) มีการติดตามและตรวจสอบโดยกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ เป็นวิธี manual ทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตามว่าใครบ้างที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง โดยการลงพื้นที่จริง ตรวจสอบจริง

3.) บังคับให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ให้ข้อมูลบางอย่าง เพื่อให้สรรพากรไปตรวจสอบติดตามต่อไปได้ ซึ่งในความคิดของอาจารย์มิกมองว่าเป็นวิธีที่โหดที่สุด แต่กลับมีคนรู้น้อยที่สุดเช่นกัน

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็ไม่เว้น ถึงไม่บอกข้อมูลแต่สรรพากรรู้ได้อัตโนมัติ 

จากวิธีที่ 3 นำมาซึ่งการตรวจสอบรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในยุคนี้ หลายคนที่ทำอาชีพขายของออนไลน์มองว่าไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในระบบงานประจำ ซึ่งเป็นความที่ผิด สรรพากรสามารถตรวจสอบผ่านแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ได้เช่นกัน

จริงอยู่ที่อำนาจสรรพากรไม่สามารถไปขอตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่ขายดี Top 10 บนแต่ละแพลตฟอร์มได้ แต่สามารถขอข้อมูลของแต่ละร้านค้าได้ ซึ่งวิธีการสืบสาวไปยังร้านค้าแต่ละแห่ง จะพิจารณาจาก “บัญชีพิเศษ” ที่แพลตฟอร์ส่งให้กรมสรรพากร เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าหากแพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในประเทศไทย มียอดขายรวม 1,000 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ต้องส่งบัญชีพิเศษนี้ โดยแจกแจงว่ารายรับที่ได้มานั้นมาจากยอดขายของร้านค้าใดบ้าง

ดังนั้นสรรพากรจึงรู้ได้ทันทีว่าร้านค้าใดมีรายได้ประมาณเท่าไหร่ ขายบนแพลตฟอร์มกี่แห่ง หากเข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแต่ข้อมูลกลับไม่ตรงกับที่ร้านค้ายื่นมาก่อนหน้านี้ จะมีการตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เช่น เรียกเก็บย้อนหลัง รวมถึงเสียค่าปรับ ซึ่งอาจรวมเป็นเงินที่มากกว่าจ่ายให้ถูกต้องตั้งแต่แรก

โดยปกติแล้ว ข้อมูลบัญชีพิเศษจากแพลตฟอร์มต่างๆ จะถูกส่งไปช่วงเดือนพฤษภาคม ในขณะที่บุคคลธรรมดาจะหมดเขตยื่นภาษีประมาณต้นเดือนเมษายนของทุกปี แปลว่าพ่อค้า แม่ค้าจะหมดเวลาส่งข้อสอบก่อน แล้วเฉลยถึงจะตามมาทีหลัง หรือบางเคสไม่มีข้อมูลส่งมาด้วยซ้ำ จึงนำมาสู่คำตอบที่ว่า ‘คุณหนีภาษีหรือเปล่า?’

“มาตรการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2567 แปลว่าข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ว่าคุณขายอะไรบ้าง แพลตฟอร์มไหน จะถูกเก็บมาถึงเดือนธันวาคม แล้วเตรียมส่งภายในพฤษภาคม 2568 แต่คุณหมดเวลาส่งข้อสอบคือต้นเมษายนนี้ (2568) ถ้าคุณไม่ส่งข้อสอบ ไม่ได้ยื่นภาษี ผมว่าตอนพฤษภาเนี่ย ขนลุกแน่นอน…” อาจารย์มิกกล่าว

ส่วนพนักงานประจำที่ขายของออนไลน์เป็นงานเสริม หลายคนเลือกยื่นแค่เงินเดือนของตัวเอง ไม่ได้ยื่นในส่วนขายของออนไลน์ เพราะคิดว่าสรรพากรตรวจสอบไม่พบ อาจารย์มิกบอกว่า สุดท้ายสรรพากรสามารถตรวจสอบได้อยู่ดี หากยื่นภาษีไม่ครบก็ต้องถูกปรับไปตามระเบียบ

เป็นฟรีแลนซ์ – ทำงานให้บริษัทต่างชาติ ต้องเสียภาษีไหม

อาจารย์มิกอธิบายว่า บุคคลธรรมดาที่ทำงานประจำ หรือฟรีแลนซ์ หลักการยื่นภาษีแทบไม่ต่างกัน เพราะได้รับเงินค่าตอบแทนเหมือนกัน แต่ฟรีแลนซ์อาจแตกต่างตรงที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

“มันเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงิน กฎหมายกำหนดไว้ว่าเวลานายจ้างจ่ายเงินให้ใคร แปลว่าผู้รับจ้างจะมีรายได้ ให้หักเขาไปก่อน 3% สมมติรับงาน 10,000 หัก 3% นายจ้างจะต้องเอาเงิน 300 บาทไปส่งสรรพากร พร้อมกับบอกสรรพากรว่าหักมาจากใคร จากยอดเต็มเท่าไหร่ แปลว่าทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สรรพากรจะรู้แล้วว่าคุณมีรายได้กี่บาท”

“การที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มันเป็นหลักฐานชัดเจนแล้วว่าเรามีรายได้ชัวร์ ไม่ต้องหลบหนีเลย ยังไงก็ต้องโดนแน่นอน แต่ผมเคยคุยกับฟรีแลนซ์หลายคน พบว่ายังเข้าใจผิดอยู่พอสมควร เขาเข้าใจว่าหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ไปแล้ว เท่ากับว่าเสียภาษีเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้อง การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเพียงการชําระภาษีล่วงหน้า ยังไม่ใช่ภาษีเสร็จเด็ดขาด คุณแค่จ่ายภาษีไปก่อน แต่คุณยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องไปยื่นภาษี โดยดูจากรายได้ทั้งปี หากเกิน 60,000 บาท ก็ต้องยื่นภาษีอยู่ดี”

“แต่ผมก็เคยเจอฟรีแลนซ์ เถียงกลับมานะ บอกว่า 3 ปี 5 ปีหลังมานี้ ไม่เคยยื่นภาษีเลย สรรพากรไม่เคยมารังควานเลยนะ ผมเลยถามกลับว่าเคยคํานวณภาษีไหมว่าจริง ๆ แล้ว เราจะต้องได้คืนหรือต้องจ่ายเพิ่ม เขาบอกว่า…เขาไม่รู้ เราก็เลยเอาตัวเลขมาดูกัน ปรากฏว่า 5 ปีที่ผ่านมา ที่เขาไม่เคยยื่นภาษีแล้วไม่โดนสรรพากรทวง จริงๆ แล้วเขาต้องได้คืน”

ส่วนในกรณีของ Remote work ได้รับเงินจากต่างประเทศ ก็ต้องเสียภาษีในไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งหลักเกณฑ์ในการยื่นภาษีเพิ่งถูกปรับเปลี่ยนในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กำหนดว่า ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันในปีใดก็ตาม และมีรายได้จากต่างประเทศ เงินก้อนนี้ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลไทย ขึ้นอยู่กับว่ารับโอนรายได้เข้ามาปีไหน จะต้องนำมาคิดภาษีในปีนั้น

“ยกตัวอย่างเช่น ผมอยู่ในไทยมีรายได้จากนิวซีแลนด์ โดยที่ปีนี้ผมอยู่ในไทย 365 วัน ผมต้องเสียภาษีให้รัฐบาลไทย ยกเว้นคุณอยู่ในไทยไม่เกิน 180 วัน เช่น อยู่แค่ 150 วัน แล้วมีรายได้จากต่างประเทศ กรณีนี้ไม่ต้องกังวล ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษี”

หากมีรายได้จากต่างประเทศ และถูกประเทศนั้นเก็บไปบ้างแล้ว จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เครดิตภาษี’ คือเอาภาษีที่จ่ายไปนำมาหักลบกับที่ไทยได้ เช่น ถ้าคํานวณภาษีไทย ต้องเสียภาษีประมาณ 100 บาท แต่เราจ่ายที่ต่างประเทศไปแล้ว 80 บาท ให้นำหลักฐาน 80 บาทมาหักลบ แล้วจ่ายเฉพาะส่วนต่างแค่ 20 บาทก็พอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กฎเกณฑ์ของอนุสัญญาแต่ละประเทศด้วย

iTAX ผู้ช่วยยื่นภาษีโดยไม่ต้องพึ่งตำรา

จากตัวอย่างหลายเคสที่กล่าวมาข้างต้น พบว่าคนไทยจำนวนมากยังมองภาษีเป็นเรื่องยาก และเกิดความสับสนอยู่บ่อยครั้ง เหตุเกิดจากความไม่เข้าใจและไม่มีความรู้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ช่องว่างนี้เองทำให้อาจารย์มิกเกิดไอเดียพัฒนาแอปพลิเคชันจัดการภาษีขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ใช้ชื่อว่า ‘iTAX’ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถใช้แอปนี้คำนวณภาษีของตัวเองได้อย่างถูกต้อง พยายามทำให้การยื่นภาษีไม่ใช่เรื่องยาก แม้คนๆ นั้นจะไม่มีความรู้เรื่องภาษีเลยก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้คนประหยัดภาษีให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันแอป iTAX สามารถเชื่อมโยงข้อมูลภาษีทุกอย่างไปยังระบบของสรรพากร จนไม่ต้องกรอกอะไรเพิ่มให้ยุ่งยาก เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการ อาจารย์มิกอยากให้ช่องทางนี้สามารถซัพพอร์ตการจ่ายภาษีให้เป็นเรื่องง่าย และช่วยสร้างการตระหนักรู้ในหน้าที่ของตนเองให้กับคนไทย

“ผู้เสียภาษีคือฮีโร่ตัวจริงของประเทศนี้ เราจึงพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายที่สุดสำหรับทุกคน ถ้าคนไม่จ่ายภาษีประเทศนี้มันพังไปนานแล้ว ถือว่าคนที่จ่ายภาษีเขาทำสิ่งที่ดีมากเลยนะ แต่บางคนอาจจะยังมีความกลัว ความกังวลในสิ่งที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ไปแก้ปัญหานี้ จนเกิดเป็นโปรเจกต์นี้ขึ้นมา”

คําว่า iTAX ตัวไอตัวแรก คือ Intuitive เป็นภาษีที่รู้โดยสัญชาตญาณ ไม่ต้องเปิดคู่มือ ไม่ต้องเปิดตํารา ไม่ต้องเปิดอะไรทั้งสิ้น ทุกคนสามารถโหลดแอปฯ นี้มาใช้ และจะกลายเป็นมือโปรในการยื่นภาษีได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า การเสียภาษีให้ประหยัดที่สุด คือการทำทุกอย่างให้ถูกต้องตั้งแต่แรก

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า