SHARE

คัดลอกแล้ว

TBS METAVERSE presented by workpointTODAY x Thammasat Business School งานสัมมนาที่ชวนเหล่ากูรูมาเจาะลึกถึงโอกาสในโลกคริปโตเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชน

‘เอกลาภ ยิ้มวิไล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) เริ่มกล่าวในหัวข้อ How to Win in Cryptocurrency ว่า ทุกวันนี้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนมากขึ้น จากเดิมที่มีประวัติหลากหลาย ทั้งอีมันนี่ เกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย

แต่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สถาบันการเงิน กองทุน บริษัทใหญ่ๆ เริ่มกระโดดเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น และนั่นส่งผลให้สถานการณ์ของตลาดคริปโตฯ ยึดโยงอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย

ยกตัวอย่างปีที่แล้ว (2564) ที่ตลาดคริปโตฯ เข้าสู่ตลาดกระทิง ดีมานด์สูง ซัพพลายอ่อนแอ ทำให้คริปโตฯ ราคาขึ้นรุนแรง โดยเฉพาะบิตคอยน์ที่สูงขึ้นเกินความเป็นจริงอย่างมาก เศรษฐกิจโลกเองก็อยู่ในสภาพตลาดกระทิงเช่นกัน

โดยย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน จีดีพีเพิ่มขึ้นมหาศาล ธนาคารกลางสหรัฐฯ และทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีเงินมาลงทุนมากขึ้น เกิดการจ้างงาน สภาพคล่องปรับตัวสูงขึ้น เกิดการลงทุนรวมถึงตลาดคริปโตฯ ด้วย

ส่วนตอนนี้ที่เข้าสู่สภาพตลาดหมีทั้งตลาดหุ้นและตลาดคริปโตฯ ก็เป็นผลมาจากการพยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (หลังจากอัดฉีดเงินเข้าระบบมากเกินไปจนทำให้เงินเฟ้อ) นอกจากนี้ ยังมาจากเรื่องการเมือง ภาวะสงคราม น้ำมันแพง การกำกับดูแลมากขึ้นเป็นพิเศษ

กฎหลักตลาดหมี ‘กำไรเท่าตัวต้องขายทุนออก’

ในสภาพเช่นนี้นักลงทุนควรถือเงินสดไว้ 50% ของพอร์ต และกระจายการลงทุนให้มากกว่าเดิม กล่าวคือ สำหรับการลงทุนในคริปโตฯ ก็ควรจะกระจายการลงทุนไปในหลายๆ เหรียญ นอกจากนี้ ต้องกระจายไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้นกู้ ทอง ไม่ควรลงทุนในคริปโตฯ อย่างเดียว

“สำหรับนักลงทุนตลาดหมี ไม่ควรลงทุนโดยเน้นสร้างผลตอบแทน แต่ควรลงทุนเพื่อไม่ให้ขาดทุน และเอาชนะเงินเฟ้อมากกว่า สิ่งที่จะแนะนำนักลงทุนตลอดคือ ถ้าได้กำไรเท่าตัว ควรขายทุนออก เพราะว่าพอเอาทุนออกแล้วก็จะไม่ขาดทุน”

เอกลาภ แนะนำเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงตลาดหมี ควรใช้วิธี Dollar Cost Averaging (DCA) หรือทยอยลงทุนทุกเดือน เพราะถ้าย้อนดูตลาดปีที่แล้ว มีอยู่ 6 เดือนตลาดเป็นบวก อีก 6 เดือนตลาดเป็นลบ เราไม่สามารถทำนายได้ว่าช่วงไหนจะขึ้นหรือลง

“แต่ถ้าลองไปดูบิตคอยน์ หากลงทุนแบบ DCA เป็นเงิน 30,000 ดอลลาร์ทุกเดือน เป็นเวลา 2 ปี ตอนนี้จะได้กำไร 136% แล้ว ดังนั้น DCA จึงเป็นเหมือนการออมผ่านบิตคอยน์ที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่น”

อย่างไรก็ตาม ทิ้งท้ายว่า การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง คริปโตฯ เองก็เช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนต้องดูโมเมนตัมต่างๆ ให้ดี พิจารณาเหตุการณ์ ปัจจัย ดัชนีอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

บทบาทของทางการ ‘กำกับ’ vs. ‘ส่งเสริม’

ส่วนในเซสชั่นที่สองอำพรพันธุ์ วีระพงษ์ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในหัวข้อ Regulatory Role in the Digital Asset Markets ว่า ในโลกของคริปโตเคอร์เรนซี บทบาทระหว่าง ‘การกำกับ’ และ ‘การส่งเสริม’ เป็นความท้าทายของผู้กำกับดูแล (Regulators) ทั่วโลก

แม้หลายประเทศจะยังไม่ยอมรับว่าคริปโตเคอร์เรนซีในฐานะเงินตามกฎหมาย แต่ก็มีบางประเทศ เช่น เอลซัลวาดอร์ ที่ให้การยอมรับแล้ว ส่วนประเทศไทยยังไม่ยอมรับให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) แต่ถ้าใครอยากชำระก็ไม่มีใครห้าม แต่จะบังคับให้ทุกคนรับคริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้

อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้มีแต่คริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังมีโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Digital) และโทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) อีกด้วย ซึ่งมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง (Risk-based)

แต่ถึงมีการกำกับดูแล ก.ล.ต.ก็ยืนยันว่าการขออนุญาตต่างๆ ไม่ได้มีภาระหรืออุปสรรค (Burden) เช่น สำหรับผู้ระดมทุน (Issuer) ก.ล.ต.ก็มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวก็ช่วยย่อยข้อมูลกับนักลงทุนรายย่อยด้วย

อนาคตการตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย

ส่วนทิศทางการดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลต่อจากนี้ จะต้องอัปเดตว่าในอนาคตจะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาบ้าง หน้าตาของตลาดจะเป็นอย่างไร

แต่จากปัจจุบันที่มีการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) มากขึ้น ก.ล.ต.จึงต้องทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลไม่ให้กระทบเสถียรภาพของระบบการเงินไทย

ในส่วนของ ธปท.จะเป็นผู้ดูแลตลาดเงิน เช่น สกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ (CBDC) ภายใต้โครงการอินทนนท์ที่ ธปท.ได้เริ่มโครงการนำร่อง (Pilot Project) สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) ไปแล้ว

และมีแผนจะเริ่ม Pilot Project สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC) ในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนศึกษาแนวทางกำกับเหรียญที่มีความมั่นคงแน่นอน (Stablecoin) ที่มีเงินบาทหนุนหลังอีกด้วยในอนาคต ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับประเทศมากขึ้น

ในส่วนของ ก.ล.ต.จะเป็นผู้ดูแลตลาดทุน เช่น Utility Token ไม่พร้อมใช้ และ Investment Token อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับหลักทรัพย์มาก ก.ล.ต.จึงอยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ให้รองรับสินทรัพย์ดิจิทัลกลุ่มนี้ด้วย

ปัจจุบันได้ส่งร่างกฎหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 โดยคาดหวังว่า หากสินทรัพย์กลุ่มนี้ได้อยู่ถูกที่ถูกทางเป็นหลักทรัพย์ จะช่วยให้ง่ายต่อกรมสรรพากรในการเก็บภาษี รวมถึงช่วยให้การกำกับดูแลไม่มีช่องโหว่

นอกจากนี้ มองว่าในอนาคตความเสี่ยงอาจไม่ใช่แค่การลงทุน เช่น ความเสี่ยงการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ หรือความเสี่ยงการผิดสัญญา เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแก้กฎหมายของประเทศที่ปัจจุบันมีการพูดถึงกันอยู่ เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้บริโภค ได้รับประโยชร์สูงสุด

‘เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล’ ที่ปรึกษาการเงินในโลกคริปโต

เซสชั่นที่สาม ‘อัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานันท์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด กล่าวในหัวข้อ The Future of Alternative Asset Investment ว่า สิ่งที่ เอ็กซ์สปริงฯ ทำในฐานะ ICO Portal คือ การเสอขายโทเคนที่อ้างอิงหรือแบคด้วยสินทรัพย์จริง

อย่าง ‘สิริ ฮับ โทเคน’ (SiriHub Token) ก็แบคด้วยกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีการเปิดใช้งานให้เช่าจริง มีผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee) ดูแลเก็บรักษาและติดตามทรัพย์สินจริง ซึ่งต่างจากคริปโตฯ ที่ไม่มีสินทรัพย์จริงแบคอยู่

วิธีการลงทุนในโทเคนจะมีความซับซ้อนน้อยกว่าคริปโตฯ ถ้าใครเคยลงทุนซื้อหุ้นกู้ตามแอปพลิเคชั่นธนาคารก็จะพอนึกภาพออก เริ่มจากโหลดแอปฯ สมัครบัญชี ทำการยืนยันตัวตัน (KYC) เลือกโทเคนที่จะลงทุนได้เลย

ความท้าทายของ ICO Portal คือ การลงทุนในโทเคนยังเป็นเรื่องใหม่มาก มีเรื่องที่ต้องอธิบายนักลงทุนเยอะ ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ

ในอนาคต เอ็กซ์สปริง ก็ดี หรือ ICO Portal เจ้าอื่นๆ ก็ดี อาจสร้างโทเคนการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นที่มาแรง นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เพราะถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าคริปโตฯ และรันบนบล็อกเชน มีความทันสมัยกว่าระบบลงทุนในหุ้นที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาเปิด-ปิดตลาด

บล็อกเชน 101 จุดกำเนิด-อนาคตโลกธุรกิจ

ส่วนในเซสชั่นสุดท้าย ‘อาณัติ ลีมัคเดช’ ศาสตราจารย์ภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ Blockchain for Business Innovation ว่า เทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ เกิดขึ้นพร้อมกับ ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ หรือว่าสกุลเงินดิจิทัลเข้ารหัส ในปี 2552

โดยผู้สร้างที่เป็นเจ้าของงานศึกษาความยาว 8 หน้า A4 อย่าง ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ ที่จนวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริงของเขา แม้ว่าเทคโนโลยีและสกุลเงินดิจิทัลที่เขาคิดค้นขึ้นจะกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ความตั้งใจแรกของ ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ คือ สร้าง ‘เงินอิเล็กทรอนิกส์’ ที่ไม่มีตัวกลาง แตกต่างกับการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารหรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มี ‘ธนาคาร’ หรือว่า ‘ผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน’ เป็นตัวกลาง แต่พอตัดตัวกลางออกไป ทำให้ไม่มีคนทำหน้าที่ตัวกลางบันทึกบัญชี

จึงเป็นต้นกำเนิดของ ‘บล็อกเชน’ เทคโนโลยีที่เปิดให้ ‘ทุกคน’ สามารถเข้ามาร่วมกัน ‘จดบันทึก’ ธุรกรรม พร้อมเปิดข้อมูลเป็นสาธารณะ โดยใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure: PKI) ต้องมีกุญแจส่วนตัวถึงจะสามารถเข้าถึงเงินได้

ด้านการทำงานพื้นฐานของ ‘บิตคอยน์’ จะเกิดขึ้นบนลูปลักษณะนี้ คือ 1) ธุรกรรมใหม่ถูกส่งออกไปถึงทุกโนด (node) >> 2) แต่ละโนดรับธุรกิจใหม่เข้าสู่บล็อก >> 3) แต่ละโนดพิสูจน์ธุรกรรมใหม่ (proof-of-work) >> 4) เมื่อโนดใดโนดหนึ่งพิสูจน์ธุรกรรมสำเร็จ แจ้งให้ทุกโนดรับทราบ >> 5) ทุกโนดตรวจสอบย้อนกลับ >> 6) ทุกโนดยอมรับธุรกิจและสร้างบล็อกสำหรับธุรกรรมใหม่

กระบวนการทำงานนี้ทำให้เครือข่ายบิทคอยน์มีความมั่นคงและยากต่อการโจรกรรม ยิ่งมี ‘โนด’ หรือจำนวนเครื่องในระบบมากขึ้นเท่าไร เครือข่ายก็จะยิ่งมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันเครือข่ายของบิตคอยน์มีจำนวนโนดกว่า 15,223 โนด ประมาณเป็นจำนวนเครื่องกว่าล้านเครื่อง

ทำให้จำเป็นจะต้องมี ‘กระบวนการจูงใจ’ ให้คนเข้ามาเป็น ‘โนด’ โดยซาโตชิใช้วิธีให้บิตคอยน์เป็นเครื่องตอบแทน โนดใดสามารถพิสูจน์ธุรกรรม (proof-of-work) ได้ก็จะได้รับบิตคอยน์ไป โดยความยากของโจทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากการถือกำเนิดของบิตคอยน์ก็มี ‘คริปโตฯ’ ตัวอื่นๆ บนบล็อกเชนอื่นๆ ถือกำเนิดขึ้นตามมา อย่างเช่น ‘อีเธอเรียม’ ที่พยายามจะแก้ไขจุดอ่อนของบิตคอยน์ อย่างเช่นลดเวลาการพิสูจน์ธุรกรรมจาก 10 นาทีเหลือเพียง 13 วินาทีเท่านั้น นอกจากนั้น ยังสามารถสร้างโปรแกรมและรันโปรแกรมในเครือข่ายได้ด้วย

วิวัฒนาการของ Web 2.0 สู่ Web 3.0 ก็เริ่มต้นจากจุดนี้เช่นกัน เพราะบล็อกเชนสามารถเปิดให้สร้างสมาร์ทคอนแทรคได้ สร้างโทเคนได้ และมีเส้นทางอื่นๆ แยกออกจากคริปโตฯ ออกไปอย่างเช่น DeFi หรือ GameFi

ปัจจุบัน ผลสำรวจของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ระบุว่า 9 ใน 10 ของธนาคารกลางนานาชาติทั่วโลก กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการผลิตเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือ CBDC

สอดคล้องกันกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนหน้านี้ว่า สังคมเงินสด หรือแม้แต่เครดิต เดบิต ต่างๆ มีต้นทุนสูงมากและมีภาคส่วนที่ต้องแบกรับต้นทุนที่มองไม่เห็นนี้ ทำให้หลายหน่วยงานทั่วโลกพยายามมองหาโอกาสเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

‘อาณัติ’ ให้ความเห็นว่า โลกธุรกิจเริ่มถูกดิสรัปจากการเข้ามาของบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี ให้ต้องปรับตัวตามสังคมที่เริ่มเคลื่อนไป หน่วยงานแรกที่ควรเริ่มใช้บล็อกเชนในการทำงานต่างๆ คือ ภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อไป

รับชมย้อนหลังผ่านทาง Facebook และ YouTube ของ workpointTODAY

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า